“เท่าที่รู้ การศึกษาครั้งนี้เป็นการศึกษาครั้งแรกสุดที่แสดงให้เห็นว่าฉลามสามารถเปล่งเสียงได้” ทีมวิจัยเขียนไว้ในรายงานใหม่ที่เผยแพร่บนวารสาร Royal Society Open Science
โลมาที่ส่งเสียงวี๊ดวิ้ว วาฬที่ร้องเพลงเสียงดัง ออร์ก้าที่สื่อสารกันไปมา และปลาอีกจำนวนมากที่ฮึมฮัม สิ่งมีชีวิตเหล่านี้เปล่งเสียงออกมาภายใต้คลื่นทะเลราวซึ่งทำให้ผืนน้ำเหล่านี้กลายเป็นพื้นที่ที่คึกคักและวุ่นวาย แต่กลับมีสิ่งมีชีวิตหนึ่งที่อยู่อย่างเงียบงันมาตลอดจนนักวิทยาศาสตร์ต้องประหลาดใจ
มันคือฉลาม นักล่าที่ไม่เคยมีใครได้ยินเสียงของมันมาก่อนจนได้สมญานามสั้น ๆ ว่า ‘นักล่าแห่งความเงียบ’ ไม่เพียงแค่เงียบปกติเท่านั้นฉลามเองก็ไม่ได้มีอวัยวะผลิตเสียงเหมือนกับปลาชนิดอื่น ๆ ด้วยซ้ำ มันจึงไม่น่าแปลกใจที่ผู้เชี่ยวชาญทุกคนจะเชื่อว่ามันไม่สามารถส่งเสียงใด ๆ ได้จริง
“เชื่อกันว่าฉลามเป็นสัตว์ที่เงียบ ไม่สามารถส่งเสียงได้” ดร. แคโรลิน นีเดอร์ (Carolin Nieder) ทว่า พวกเขาคิดผิด ฉลามสามารถส่งเสียงได้และพวกมันก็ไม่ได้เงียบตลอดเวลา
เรื่องดังกล่าวเริ่มต้นขึ้นในปี 2021 เมื่อ ดร. นีเดอร์ กำลังทำงานวิจัยระดับปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยออกแลนด์ ในนิวซีแลนด์เกี่ยวกับการสังเกตพฤติกรรมฉลามสายพันธุ์ ‘ฉลามริก’ (rig shark; Mustelus lenticulatus) อยู่ แต่แล้วมันก็เริ่มมีเสียงคลิ๊ก ๆ เมื่อเธอจับพวกมันระหว่างการทดลองในห้องปฏิบัติการณ์
“ตอนที่ฉันได้ยินเสียงครั้งแรก ฉันคิดว่า… เสียงนั้นเหมือนประกายไฟ” ดร. นีเดอร์ กล่าว “ตอนแรกเราไม่รู้ว่ามันคืออะไร เพราะฉลามไม่ควรส่งเสียงใด ๆ ฉันจำได้ว่าเมื่อกลับถึงบ้าน ฉันก็คิดมากขึ้นเรื่อย ๆ ว่าเสียงเหล่านั้นช่างแปลกประหลาดเหลือเกิน”
แม้จะไม่สามารถตรวจสอบเสียงคลิ๊กอันลึกลับเหล่านั้นได้ในขณะนั้น แต่ปริศนานี้ก็ติดอยู่ในใจของ ดร. นีเดอร์ มาตลอด จนในที่สุดโอกาสก็มาถึงเมื่อตอนที่ ดร. นีเดอร์ เป็นนักวิจัยหลังปริญญาเอกที่ห้องปฏิบัติการณ์ที. เอรานมูนนี่ ของสถาบันสมุทรศาสตร์วูดส์โฮล
ฉลามริกที่ถูกเลี้ยงไว้ในห้องทดลองทางทะเลขนาดใหญ่ภายใต้สภาพน้ำและอาหารที่เหมาะสมทั้งหมด 10 ตัว -ตัวผู้ 5 และตัวเมีย 5- แต่ครั้งนี้แตกต่างจากครั้งก่อนคือมีการบันทึกเสียงอย่างละเอียดและระมัดระวังด้วยไมโครโฟนใต้น้ำ
ทีมวิจัยพบว่าเมื่อพวกเขาเคลื่อนย้ายฉลามอย่างเบามือ พวกมันจะเริ่มส่งเสียงคลิ๊กคล้ายกับที่สังเกตเห็นได้เมื่อหลายปีก่อน สิ่งที่น่าประหลาดใจก็คือ เสียงคลิ๊กแต่ละครั้งสั้นมาก โดยกินเวลาเฉลี่ย 48 มิลลิวินาที ซึ่งเร็วกว่าการกระพริบตาของมนุษย์
แต่ที่พิเศษก็คือ มันดังมาก โดยดังถึง 155 เดซิเบลซึ่งเทียบกับเสียงปืนลูกซองและเกิดขึ้นในช่วงความถี่กว้างตั้งแต่ 2.4 ถึง 18.5 กิโลเฮิรตซ์ เสียงคลิ๊กส่วนใหญ่เป็นจังหวะเดียว และเกิดขึ้นภายใน 10 วินาทีแรกของการจัดการพร้อมกับลดลงเรื่อย ๆ เมื่อเวลาผ่านไป
“เมื่อสัตว์เริ่มคุ้นเคยกับการทดลองประจำวัน พวกมันก็หยุดส่งเสียงร้องโดยสิ้นเชิง ราวกับว่ามันเคยชินกับการถูกจับและกิจวัตรประจำวันของการทดลอง” ดร. นีเดอร์ กล่าว “สิ่งนี้ทำให้เราคิดว่าบางทีเราอาจกำลังสังเกตพฤติกรรมการส่งเสียงมากกว่าจะสังเกตเห็นสิ่งแปลกปลอม”
ทีมวิจัยยังพบว่าเสียงคลิ๊กประมาณร้อยละ 70 นั้นเกิดขึ้นเมื่อฉลามกำลังเแกว่งไปมาอย่างช้า ๆ 25% เกิดขึ้นเมื่อฉลามสบัดหัวหรือลำตัวไปมา และอีก 5% เกิดขึ้นเมื่อพวกมันอยู่นิ่ง
ปลาหลายชนิดสามารถสามารถส่งเสียงได้ขณะที่พวกมันว่ายน้ำด้วยการใช้กระเพาะ ซึ่งเป็นอวัยวะที่เต็มไปด้วยก๊าซที่ช่วยในการลอยตัวและทำให้สัตว์สามารถสื่อสารกันได้ แต่ฉลามนั้นไม่มีอวัยวะดังกล่าว ดังนั้นมันจึงเป็นคำถามว่าพวกมันส่งเสียงได้อย่างไร?
คำตอบที่อาจเป็นไปได้ประการหนึ่งก็คือ เสียงคลิ๊กดังเหล่านั้นมาจากฟันที่แข็งแรงของฉลาม ฟันที่มีลักษณะคล้ายแผ่นโลหะเหล่านี้ออกแบบมาเพื่อบดขยี้สัตว์จำพวกกุ้งหรือปูที่มีเปลือกแข็ง การกัดหรือขบฟันอาจสร้างเสียงได้ รายงานระบุว่า รูปแบบและความถี่ที่สม่ำเสมอของเสียงยังบ่งชี้ว่าเกิดจากความตั้งใจไม่ใช่บังเอิญ
“ฉันคิดว่ามีแนวโน้มมากว่าฉลามจะส่งเสียงเมื่อพวกมันถูกโจมตี” ดร. นีเดอร์ กล่าว พร้อมเสริมว่าปลาชนิดอื่น ๆ จำนวนมากก็ทำการขบฟันหรือกัดขากรรไกรเพื่อพยายามไล่หรือเบี่ยงเบนความสนใจของนักล่า
ที่น่าสังเกตก็คือความถี่ของเสียงนั้นสูงกว่าเกินกว่าที่ฉลามริกจะได้ยิน (โดยทั่วไปแล้วฉลามริกได้ยินอยู่ที่ราว ๆ 800 เฮิรตซ์) ดังนั้นมันจึงไม่ใช่การสื่อสารกันภายในสปีชีส์อย่างแน่นอน จึงมีความเป็นไปอย่างยิ่งว่าพวกมันน่าจะส่งเสียงเพื่อเป็นสัญญาณเตือนหรือรูปแบบหนึ่งของการล่า
นักวิจัยจำเป็นต้องศึกษาฉลามสายพันธุ์อื่น ๆ เพื่อให้ได้ข้อมูลเพิ่มเติมว่าฉลามอีกมากกว่า 500 สายพันธุ์ทั่วโลกนั้นมีความสามารถแบบเดียวกันนี้หรือไม่
“ฉันคิดว่ามีโอกาสที่ฉลามชนิดอื่นจะส่งเสียงคล้ายกัน” ดร. นีเดอร์ กล่าว “เอกสารนี้จะช่วยให้(เรา)เริ่มฟังเสียงฉลาม และบางทีเราอาจเรียนรู้สิ่งที่น่าสนใจมากขึ้นเกี่ยวกับระบบนิเวศษและวิถีชีวิตของพวกมันในระบบนิเวศที่หลากหลาย”
สืบค้นและเรียบเรียงข้อมูล
วิทิต บรมพิชัยชาติกุล
ที่มา
https://royalsocietypublishing.org/d
https://www.scientificamerican.com
https://www.smithsonianmag.com