นักวิทยาศาสตร์ชี้ โลกนี้อาจมีสัตว์ 1- 3 ล้านชนิดที่ยังไม่ถูกค้นพบ

“ความหลากหลายทางชีวภาพนั้นเป็นสิ่งที่ซับซ้อนและกว้างใหญ่

บางทีสักแห่งในมุมหนึ่งของโลก

อาจมีสิ่งมีชีวิตชนิดใหม่แอบซ่อนอยู่อย่างเงียบ ๆ”

โครงการใหม่จากนักวิทยาศาสตร์หลายสถาบันกำลังตรวจสอบวิวัฒนาการของสายพันธุ์ว่าพวกมันจะมีอยู่กี่ชนิดและเกิดขึ้นใหม่ได้เร็วแค่ไหน ข้อมูลเชิงลึกเหล่านี้จะช่วยให้ผู้เชี่ยวชาญเข้าใจถึงผลกระทบที่สิ่งมีชีวิตต้องเผชิญจากการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ และความหลากหลายทางชีวภาพที่กำลังลดน้อยลง

“จุดประสงค์ของการศึกษาครั้งนี้คือการเปิดเผยความแตกต่างในแง่ของความเร็วของวิวัฒนาการสายพันธุ์ใหม่ และเพื่อหาคำตอบสำหรับสายพันธุ์ต่าง ๆ ที่มีอยู่ทั้งหมด ซึ่งรวมถึงสายพันธุ์ทั้งหมดที่วิทยาศาสตร์ยังไม่รู้จัก” ศาสตราจารย์เจมส์ โรซินเดลล์ (James Rosindell) ผู้เชี่ยวชาญด้านทฤษฎีความหลากหลายทางชีวภาพ จากอิมพรีเรลคอลเลจ ลอนดอน กล่าว 

สำหรับการคาดการณ์อะไรบางอย่างที่จะเกิดขึ้นในอนาคตเช่น การพยากรณ์อากาศนั้น จำเป็นต้องมีแบบจำลองโมเดลสภาพอากาศที่แม่นยำเพื่อจะคุณได้ว่าพรุ่งนี้ฝนจะตกหรือไม่ เช่นเดียวกัน หากต้องการรู้ว่าสัตว์แต่สายพันธุ์พัฒนาตัวเองไปได้เร็วแค่ไหน เราก็จำเป็นต้องมีแบบจำลองที่สามารถคำนวณสิ่งที่เกิดขึ้นได้เช่นกัน ซึ่งทีมวิจัยได้มุ่งเน้นไปที่สัตว์บกก่อน

“คำถามหลักสองข้อที่เราต้องการคำตอบก็คือ สัตว์บกบนโลกมีกี่สายพันธุ์ และสัตว์บกสายพันธุ์ใหม่ ๆ นั้นวิวัฒนาการได้เร็วเพียงใด” ศาสตราจารย์ โรซินเดลล์ กล่าว 

วิธีการใหม่

เพื่อตอบคำถามดังกล่าวทีมวิจัยทดลองผสมผสานแนวคิด 2 แนวคิดด้วยกันนั่นคือ แบบจำลองที่มีชื่อว่า ‘มาดิงลีย์’ (Madingley) ซึ่งเป็นแบบจำลองที่ใช้ทำนายจำนวนสิ่งมีชีวิตแต่ละชนิดในแต่ละส่วนของโลกได้ 

ขณะเดียวกันพวกเขาก็เสริมมันเข้าไปด้วยอีกทฤษฎีหนึ่งคือ ทฤษฎีความเป็นกลาง (Neutral theory) ที่อธิบายถึงจำนวนของสายพันธุ์ที่มีอยู่ในสิ่งแวดล้อม โดยเชื่อมโยงจำนวนสายพันธุ์ ความเร็วที่สายพันธุ์ใหม่เกิดขึ้น และจำนวนสิ่งมีชีวิตแต่ละชนิดเข้าด้วยกัน 

“ความแปลกใหม่ของการศึกษานี้ก็คือ เราได้นำแบบจำลองมาดิงเลย์เข้าผสมกับทฤษฎีความเป็นกลางเป็นครั้งแรก” ศาสตราจารย์ โรซินเดลล์ กล่าว “การฝึกฝนทำให้เราสามารถประมาณจำนวนสายพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตบนบกของโลกได้ รวมถึงจำนวนที่วิทยาศาสตร์ยังไม่ทราบทั้งหมด” 

การจำลองเผยให้เห็นว่าสัตว์บกที่มีร่างกายขนาดเล็กจะมีอัตราการขยายพันธุ์ที่สูงกว่า ซึ่งหมายความว่าพวกมันมีโอกาสที่จะพัฒนาตัวเองได้เร็วกว่าเมื่อเทียบกับสัตว์ที่ขนาดใหญ่กว่า ในทำนองเดียวกันเมื่อทีมวิจัยได้ลองเปรียบเทียบสัตว์กินเนื้อและสัตว์กินพืช พวกเขาก็พบว่าสัตว์กินเนื้อนั้นมีอัตราวิวัฒนาการสูงที่สุด 

รูปแบบที่เพิ่มขึ้นเหล่านี้ทำให้มีความแตกต่างในด้านการหาอาหาร การอยู่รอด และการปรับตัวในระยะยาวเพิ่มขึ้นอีกขั้นหนึ่ง เมื่อรวบรวมข้อมูลทั้งหมดแล้ว ทีมวิจัยประเมินว่ายังมีสัตว์อีกกว่า 1-3 ล้านสายพันธุ์ที่ยังไม่ถูกค้นพบบนโลก 

สิ่งมีชีวิตเหล่านี้อาจมีขนาดเล็กเกินไป หายากเกินไป หรืออยู่ห่างไกลเกินไปจนไม่สามารถค้นพบได้ง่าย ๆ ความหลากหลายทางชีวภาพที่ซ่อนอยู่นี้อาจส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อความเข้าใจเกี่ยวกับระบบนิเวศบนบกที่ซับซ้อน 

“ผลลัพธ์สุดท้ายเป็นจะเป็นแบบจำลองของสิ่งมีชีวิตทั้งหมดบนโลกที่มีองค์ประกอบทางนิเวศวิทยา และสิ่งแวดล้อมที่จำเป็นในการตอบคำถามเกี่ยวกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นภายใต้สถานการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กับการสูญเสียถิ่นที่อยู่อาศัยที่แตกต่างกัน” ศาสตราจรย์ โรซินเดลล์ กล่าว 

“สิ่งมีชีวิตจำนวนเท่าใดจะสูญพันธุ์ เหตุการณ์นี้จะเกิดขึ้นที่ใดบนโลก และในท้ายที่สุดสิ่งนี้จะทำให้เราสามารถมุ่งหน้าสู่สถานการณ์ที่เอื้ออำนวยมากขึ้นสำหรับอนาคตของสิ่งมีชีวิตบนโลกได้” 

สืบค้นและเรียบเรียง

วิทิต บรมพิชัยชาติกุล

ที่มา

https://academic.oup.com

https://www.imperial.ac.uk

https://www.earth.com


อ่านเพิ่มเติม : นักวิทยาศาสตร์พบ ต้นไม้ในปานามา

ใช้ ‘สายฟ้า’ ในการจัดการกับศัตรู

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.