“นกอัลบาทรอส”จะไม่ผสมพันธุ์นอกสถานที่ และไม่ผสมพันธุ์กับนกตัวอื่นที่ไม่ใช่คู่ของมัน ฟังดูเป็นเรื่องโรแมนติกในโลกของสรรพสัตว์ แต่บนเกาะอัลบาทรอส ใกล้รัฐแทสเมเนีย ของออสเตรเลีย นักวิทยาศาสตร์กำลังกังวลใจว่าการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศกำลังทำลายความโรแมนติกเหล่านี้
ด้วยอุณหภูมิที่เพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้ลูกนกไม่อาจเอาชีวิตรอดได้ จากผลการศึกษาในปี 2015 นักวิทยาศาสตร์พบว่ามีลูุกนกจำนวนมากที่เสียชีวิตจากความร้อนของสภาพอากาศ นอกจากนั้นระดับน้ำทะเลและปริมาณน้ำฝนที่เพิ่มมากขึ้น ยังเป็นการยากที่นกอัลบาทรอสเหล่านี้จะสามารถสร้างรังที่มีคุณภาพได้อีกด้วย
และนกอัลบาทรอสยังต้องเผชิญกับผลกระทบจากการประมง เมื่อแหล่งอาหารลดจำนวนลงพวกมันต้องใช้ระยะเวลาที่ยาวนานขึ้นในการหาอาหาร ดังนั้น องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (WWF) ร่วมด้วยสถาบันวิจัยผลกระทบทางทะเลออสเตรเลีย และมูลนิธิอัลบาทรอสในแทสเมเนียจึงร่วมกันคิดหาวิธีแก้ปัญหา เพื่อช่วยให้นกเหล่านี้สามารถปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปได้
เมื่อเดือนกรกฎาคมปีที่ผ่านมา เฮลิคอปเตอร์ได้ปล่อยเอารังนกเทียมที่ถูกสร้างขึ้นจากคอนกรีตมวลเบาผสมด้วยกาบมะพร้าวจำนวน 120 รังลงสู่เกาะ และ ณ ตอนนี้ WWF รายงานดูเหมือนว่าวิธีแก้ปัญหานี้จะใช้ได้ผล
พ่อแม่นกที่เลือกใช้รังนกเทียมในการเลี้ยงดูลูกอ่อน พวกเขาพบว่าลูกนกดังกล่าวจะมีโอกาสรอดชีวิตเพิ่มขึ้น 20% เมื่อเทียบกับลูกนกที่อาศัยอยูในรังที่ถูกสร้างจากวัสดุธรรมชาติ
(นกนั้นถึงจะสมองเล็กแต่พวกมันฉลาดกว่าที่คุณคิด)
ข้อมูลจาก Nikhil Advani ผู้อำนวยการพิเศษของ WWF ด้านสภาพอากาศ, การสื่อสารและความหลากหลายทางชีวภาพระบุว่า ในตอนแรกนักวิทยาศาสตร์และทีมงานไม่มั่นใจนักว่านกอัลบาทรอสจะสนใจรังที่สร้างจากมนุษย์หรือไม่ แต่ผลลัพธ์ที่ได้นั้นเกินคาด พวกมันไม่เพียงแค่สนใจรังนกเทียม แต่ยังปรับแต่งรังดังกล่าวเพิ่มเติมด้วยโคลนและวัสดุจากพืชอีกด้วย
“สัตว์บางสายพันธุ์ก็ปรับตัวเข้ากับสภาพอากาศได้ดี แต่จะทำเช่นนั้นได้พวกมันต้องมีที่อยู่อาศัยที่มีคุณภาพก่อน” Advani กล่าว
ขณะนี้รังนกเทียมเป็นเพียงแค่แนวทางเดียวเท่านั้นในการช่วยเหลือพวกมัน ซึ่ง Advani เองก็คาดหวังว่าด้วยความช่วยเหลือนี้จำนวนของลูกนกอัลบาทรอสที่รอดจนเติบโตจะเพิ่มสูงขึ้น
เรื่อง ซาร่าห์ กิบเบ็นส์
อ่านเพิ่มเติม