นักวิทยาศาสตร์ค้นพบฟอสซิล โมซูรา เฟนโทนี ‘ผีเสื้อทะเล’ อายุ 506 ล้านปี

“สัตว์นักล่าอายุ 506 ล้านปีตัวนี้ ที่มี 3 ตา ใช้ก้นหายใจ

และได้รับการตั้งชื่อตาม ‘มอธร่า’ ไคจูในตำนานของญี่ปุ่น”

โลกในยุคแคมเบรียน (Cambrian Period) นั้นสถานที่ไม่เหมือนทุกวันนี้ มันเต็มไปด้วยสิ่งมีชีวิตแปลกประหลาดกลุ่มใหม่ ๆ เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะสิ่งมีชีวิตที่มีโครงสร้างแข็งอยู่ภายนอกอย่างเปลือกหรือกระดูก จนนักวิทยาศาสตร์เรียกเหตุการณ์นั้นว่า ‘การระเบิดของแคมเบรียน’ หรือก็คือความหลากหลายทางชีวภาพได้พุ่งสู่จุดสูงสุด 

หลักฐานของเหตุการณ์ดังกล่าวถูกเก็บรักษาไว้ในฟอสซิลซึ่งซ่อนอยู่ในชั้นหินต่าง ๆ ทั่วโลก มันแสดงให้เห็นว่าครั้งหนึ่งโลกเคยมีสิ่งมีชีวิตที่แปลกประหลาดกว่าใครจะจินตนาการได้ และการค้นพบ ‘โมซูรา’ ก็ทำให้มันแปลกมากขึ้นไปอีก ตามรายงานใหม่ที่เผยแพร่บนวารสาร Royal Society Open Science 

นักล่าที่ไม่เหมือนใคร

โมซูรา เฟนโทนี (Mosura fentoni) ตัวนี้ถูกค้นพบในชั้นหินเบอร์เจสเชลในแคนาดา โดยมีขนาดใหญ่เท่ากับนิ้วชี้ของมนุษย์เท่านั้น รายงานระบุว่ามันดูเหมือนจะมีตา 3 ดวง พร้อมกรงเล็บหนามแหลม ปากกลมแต่มีฟันเรียงราย และด้านข้างลำตัวที่มีปีกเอาไว้สำหรับว่ายน้ำ

การวิเคราะห์เผยให้เห็นว่ามันน่าจะเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มสัตว์ขาปล่องขนาดเล็กในยุคแรก ๆ ที่สูญพันธุ์ไปนานแล้ว ซึ่งมีชื่อเรียกว่า เรดิโอดอนต์ (radiodonts) ทว่าโมซูราตัวนี้ดจะมีอะไรบางอย่างที่ไม่เหมือนญาติของมัน นั่นคือ บริเวณลำตัวที่คล้ายช่องท้อง

“โมซูรามีปล้องที่เรียงกันแน่น 16 ปล้อง โดยมีเหงือกอยู่บริเวณส่วนท้ายของลำตัว” โจ มอยชิอุค (Joe Moysiuk) นักบรรพชีวินวิทยาจากพิพิธภัณฑ์แมนิโทบา และผู้ร่วมเขียนรายงาน กล่าว “นี่เป็นตัวอย่างอันยอดเยี่ยมของการบรรจบกันของวิวัฒนาการกับกลุ่มสิ่งมีชีวิตสัตว์ใหญ่เช่น แมงดาทะเล ตัวกะปิ และแมลงขาปล้องต่าง ๆ ที่มีอวัยวะใช้หายใจอยู่บริเวณส่วนท้ายของลำตัวร่วมกัน” 

ทีมนักวิทยาศาสตร์ไม่แน่ใจว่าทำไม โมซูรา ถึงมีการปรับตัวที่น่าสนใจเช่นนี้ แต่คงเกี่ยวข้องกับความชอบในถิ่นที่อยู่อาศัยเฉพาะ หรือลักษณะทางพฤติกรรมที่ต้องการการหายใจที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นก็เป็นไปได้ 

ผีเสื้อทะเล 

นอกจากจะหายใจทางก้นแล้ว ความพิเศษของมันก็คือลักษณะที่คล้ายกับผีเสื้อ เนื่องจากแผ่นข้างลำตัวซึ่งดูคล้ายกับปีกผีเสื้อ นักวิทยาศาสตร์จึงคิดว่ามันน่าจะได้ชื่อที่คล้ายกับผีเสื้อไคจูของญี่ปุ่นที่หลายคนอาจรู้จัก นั่นคือ มอธรา (Mothra) 

อย่างไรก็ตามแม้จะคล้ายกับผีเสื้อ แต่ตำแหน่งบนต้นไม้แห่งการวิวัฒนาการนั้นห่างจากผีเสื้อปัจจุบันมาก โมซูรา อยู่บนกิ่งที่ลึกกว่ามากในสาขาของสัตว์ขาปล้อง 

“เรดิโอดอนด์ เป็นสัตว์ขาปล้องกลุ่มแรกที่แตกแขนงออกไปในต้นไม้วิวัฒนาการ ดังนั้นพวกมันจึงให้ข้อมูลเชิงลึกที่สำคัญเกี่ยวกับลักษณะบรรพบุรุษของกลุ่มทั้งหมด” ฌ็อง-แบร์นาร์ กาครง (Jean-Bernard Caron) นักบรรพชีวินวิทยาสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังจากพิพิธภัณฑ์โรยัลโอทาริโอ กล่าว 

“สายพันธุ์ใหม่นี้เน้นย้ำว่าสัตว์ขาปล้องในยุคแรก ๆ เหล่านี้มีความหลากหลายที่น่าประหลาดใจอยู่แล้ว และมีการปรับตัวในลักษณะที่เทียบเคียงได้กับญาติในยุคปัจจุบันที่ห่างไกลได้” 

ยิ่งไปกว่านั้นฟอสซิลของ โมซูรา ยังเผยให้เห็นรายละเอียดด้านกายวิภาคภายในที่พบในสัตว์ขาปล้องยุคหลังด้วยเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นบางส่วนของระบบประสาท ระบบไหลเวียนโลหิต และระบบย่อยอาหาร 

“มีแหล่งฟอสซิลเพียงไม่แห่งในโลกที่ให้ข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับกายวิภาคภายในของสัตว์ในระดับนี้ เราสามารถเห็นร่องรอยที่แสดงถึงมัดเส้นประสาทในดวงตา ซึ่งเกี่ยวข้องกับการประมวลผลภาพเช่นเดียวกับที่มีในสัตว์ขาปล่องที่มีชีวิต รายละเอียดเหล่านี้ช่างน่าทึ่งจริง ๆ” กาครง บอก

แทนที่จะมีหลอดเลือดแดงและหลอดเลือดดำภายใน เพื่อไหลเวียนเลือดในลักษณะเดียวกับสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมส่วนใหญ่ โมซูรา กลับมีระบบโลหิต ‘แบบเปิด’ กล่าวคือ หัวใจของโมซูราจะสูบฉีดเลือดเข้าไปในโพรงขนาดใหญ่ของร่างกายที่เรียกกันว่าช่องว่าง 

“ช่องว่างของระบบไหลเวียนเลือดที่เก็บรักษาไว้อย่างดีในโมซูรา ช่วยให้เราตีความในลักษณะที่คล้ายกันได้ แต่ก็ไม่ชัดเจนเท่าที่เราเคยเห็นมาก่อนหน้านี้ในฟอสซิลอื่น ๆ ดังนั้นเอกลักษณะของมันจึงยังคงเป็นที่ถกเถียงกันอยู่” มอยชิอุค กล่าว 

แต่เนื่องจากโครงสร้างฟอสซิลเหล่านี้ยังคงได้รับการเก็บรักษาไว้อย่างดีและแพร่หลายในฟอสซิลหลายชิ้น มันยืนยันว่าระบบไหลเวียนเลือดประเภทนี้มีต้นกำเนิดมาตั้งแต่โบราณ และสัตว์ในยุคดึกดำบรรพ์ก็ใช้มันได้อย่างดี 

จากฟอสซิล 61 ชิ้นของโมซูรา ทั้งหมดยกเว้นชิ้นเดียวถูกรวบรวมโดยพิพิธภัณฑ์รอยัลออนแทรีโอตั้งแต่ปี 1975 ถึง 2022 โดยส่วนใหญ่มาจากเหมืองหินเรย์มอนด์ในอุทยานแห่งชาติโยโฮ บริติชโคลัมเบีย

“คอลเลกชันในพิพิธภัณฑ์ทั้งเก่าและใหม่ล้วนเป็นขุมทรัพย์แห่งข้อมูลอันล้ำค่าเกี่ยวกับอดีต หากคุณคิดว่าเคยเห็นสิ่งเหล่านี้มาก่อนแล้ว คุณก็แค่ต้องเปิดลิ้นชักในพิพิธภัณฑ์” มอยซิอุคกล่าว

สืบค้นและเรียบเรียง

วิทิต บรมพิชัยชาติกุล

ที่มา

https://royalsocietypublishing.org

https://www.popsci.com

https://gizmodo.com

https://phys.org


อ่านเพิ่มเติม : พบฟอสซิล Hell Ant สายพันธุ์ใหม่

คาดเป็นฟอสซิสมดที่เก่าแก่ที่สุดในโลก

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.