ตั้งแต่มีรายงานการพบเห็นนกกระเต็นเฮอคิวลิสเมื่อปี 1999 และ 2003 ก็ยังไม่มีใครเจอนกชนิดนี้อีกในประเทศไทย ซึ่งทำให้มันเป็นนกกระเต็นในตำนานที่ไม่มีใครคิดว่าจะได้เจอ ผมเองก็คิดแบบนี้เช่นกัน ทำให้คิดอยากไปตามถ่ายนกชนิดนี้ที่ประเทศลาวช่วงสิ้นปีนี้ ในจุดที่มีคนถ่ายภาพได้เป็นประจำทุก ๆ ปี
นกกระเต็นเฮอคิวลิสเป็นนกที่มักอาศัยอยู่ตามลำธารในป่าติดกับพื้นที่เกษตรกรรมโดยจะจับปลากินเป็นอาหารเหมือนกับนกกระเต็นเกือบทุกชนิด ประเทศที่มีคนเจอทุก ๆ ปี ได้แก่ อินเดีย เวียดนาม จีน และลาว แต่ในไทยมีเพียงสองรายงานเท่านั้นเมื่อนานมากแล้ว และไม่มีภาพถ่าย สถานภาพของมันก็ยังไม่ชัดเจนว่าเป็นนกประจำถิ่นหรืออพยพและข้อมูลของนกชนิดนี้ในไทยแทบไม่มีอยู่เลย ทำให้นกชนิดนี้หายากกว่านกอย่าง นกแต้วแล้วยักษ์ หรือ นกกะรางหางแดง เลยก็ว่าได้
วันที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2568 สิ่งที่ไม่คาดคิดได้เกิดขึ้น ขณะที่ผมกำลังสำรวจหานกกางเขนน้ำอยู่ตามลำธารริมถนนทางขึ้นบ้านเมืองคองกับพี่บอลและลุงโจ ไกด์ที่พาผมหานกเป็นประจำบริเวณภาคเหนือ ก็มีนกกระเต็นตัวหนึ่งบินมาเกาะบนกิ่งไม้เหนือแอ่งน้ำในลำธารพร้อมร้องเสียงดัง “ปิ้ด ปิ้ด ปิ้ด” เราลดกระจกลงยื่นกล้องออกไปถ่าย ระหว่างที่มันกระโดดอาบน้ำอยู่อย่างสบายใจ ทุกคนคิดแบบเดียวกันว่ามันคงต้องเป็นนกกระเต็นน้อยหลังสีน้ำเงิน เพราะเราเพิ่งได้เจอมันเมื่อไม่กี่นาทีก่อน
แต่ถ่ายกันได้ไม่นาน ผมก็สังเกตถึงสีที่เข้มกว่าปกติของนกตัวนี้ และทักขึ้นว่า “สีเหมือนกระเต็นเฮอคิวลิสจัง” ยังไม่มีใครคิดอะไรมาก ส่วนผมก็ยังรู้สึกว่ามันต้องใช่แน่ เพราะผมชอบดูรูปกระเต็นหายากตัวนี้บ่อย ๆ ทางอินเตอร์เนต พี่บอลพูดขึ้นว่า “ไม่ใช่หรอก เฮอคิวลิสอะไรจะมาอยู่แถวนี้” และนกก็บินจากไป จุดนั้นไม่มีสัญญาณโทรศัพท์ แต่พี่บอลได้ดาวน์โหลดข้อมูลนกไทยไว้ในแอปพลิเคชัน Merlin Bird ID บนโทรศัพท์
เราหันหน้าหากันด้วยความตื่นเต้นแบบยังงง ๆ นั่งดูรูปที่ถ่ายกันมาได้ และเทียบลายมาร์กกับในแอปพลิเคชัน ความมั่นใจของเรายังอยู่ที่ประมาณ 70% ว่านี่คือเฮอคิวลิส และไม่ใช่ “บลูเอียร์” หรือกระเต็นน้อยหลังสีน้ำเงิน นกยังร้องอยู่ใกล้ ๆ และพี่บอลก็เตรียมหยิบไมค์มาอัดเสียง แต่ไม่ถึง 10 วินาที นกก็หยุดส่งเสียง หายไปอย่างไร้เงา ปล่อยให้เรายังคงต้องสงสัยว่า “สรุปมันคือนกอะไร”
พี่บอลพูดขึ้นว่า “ลงไปกางบลายด์กัน“ เราสามคนก็กระโดดลงจากรถแบบรน ๆ ว่าจะทำยังไงต่อ ผมชี้ไปที่ต้นกล้วยที่อยู่ติดลำธาร พอจะใกล้ชิดกับนก แต่ก็ยังไม่โดดเด่นจนเกินไป ท้ายรถเรามีบังไพรขยายข้างที่นั่งได้สามคน พวกเราก็รีบหยิบอุปกรณ์ทุกอย่างและลงไปเซ็ตมุมถ่ายอย่างรวดเร็ว
ทุกคนนั่งกันด้วยความเงียบและตื่นเต้นมาก ๆ และในระหว่างรอก็มีนกกางเขนน้ำหลังเทาวัยเด็กมาป้วนเปี้ยนอยู่ตามก้อนหินในลำธาร ประมาณ 5 โมงเย็น แสงเริ่มน้อยลงและนกก็ดูไม่มีวี่แววที่จะโผล่มาอีกครั้ง เราจึงตัดสินใจเก็บของ ไปรอการยืนยัน ID จากผู้เชี่ยวชาญ แล้วค่อยกลับมาที่เดิมในเช้าวันรุ่งขึ้น
เท่านั้น ทุกคนฉลองกันด้วยความใจชื้นขึ้นทันทีและเซอร์ไพรส์แบบสุด ๆ เพราะได้รับการคอนเฟิร์มว่า “ใช่ 100%” จากพี่ต้น อายุวัต เจียรวัฒนกนก คณะกรรมการสมาคมอนุรักษ์นกและธรรมชาติแห่งประเทศไทย ตัวผมตื่นเต้นจนทำตัวไม่ถูก เรากินอาหารเย็นกันจนอิ่มและเข้านอนกันพร้อมลุ้นว่าวันถัดไปนกจะปรากฏตัวให้ได้ถ่ายอีกหรือไม่
เช้ามืดวันรุ่งขึ้นประมาณ 05.40 น. พวกเราก็รีบขับรถออกจากที่พักไปรับพี่ต้น ใกล้ ๆ จุดที่เราเจอนกและพากันไปกางบังไพรริมถนน จุดนั้นไม่มีสัญญาณโทรศัพท์ ผมก็นั่งตบยุงเล่นไปทั้งวัน บ่ายสามก็แล้ว แต่ก็ยังไม่มีความเคลื่อนไหวใด ๆ ล่วงเลยไปจนค่ำ เจ้าเฮอคิวลิสก็ไม่โผล่มาให้ได้เห็น เราจึงตัดสินใจถอย แล้วแยกย้ายกันกลับบ้าน
ทริปนี้จากที่รับประทานแห้วมารัว ๆ ตั้งแต่ถึงเชียงใหม่ กลับกลายเป็นหนึ่งในทริปที่คุ้มค่าที่สุดตั้งแต่ผมเริ่มถ่ายนกมาเลยทีเดียว ขอบคุณธรรมชาติที่พาให้เราได้มาเจอกับน้องเฮอร์ตัวนี้ ถ้าผ่านมาก่อนสักนาทีเดียวก็อาจไม่ได้มีเรคคอร์ดนี้แล้ว
เรื่องและภาพถ่าย วสุ วิทยนคร