นักวิจัยไทยค้นพบ “แมลงหางดีด” 3 ชนิดใหม่ของโลก

พบ แมลงหางดีด สายพันธุ์ใหม่ของโลก 3 ชนิดในไทย นักวิทยาศาสตร์ชี้โลกร้อนกลายเป็นภัยคุกคามใหญ่ต่อการอยู่รอดของพวกมัน

ทีมวิจัยที่นำโดย รองศาสตราจารย์ ดร.โสภาค จันทฤทธิ์ นักวิจัยจากสถาบันวิจัยความเป็นเลิศความหลากหลายทางชีวภาพแห่งคาบสมุทรไทย และนางสาวนงนภัส มณี นักศึกษาระดับปริญญาโท สาขาวิทยาศาสตร์ชีวภาพ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) พร้อมกับนักวิทยาศาสตร์หลากหลายประเทศ ได้ร่วมกันค้นพบ แมลงหางดีด ชนิดใหม่ของโลกทั้ง 3 ชนิด ได้แก่ Coecobrya microphthalma sp. nov. จากถ้ำลึก จ.สระบุรี, Alloscopus sago sp. nov. จากป่าสาคู จ.พัทลุง และ Alloscopus jantapasoae sp. nov. จากถ้ำลึก จ.ตรัง ซึ่งไม่พบที่อื่นในโลกอีกแล้ว

“การค้นพบชนิดพันธุ์ใหม่ทั้งสองชนิดนี้ ทำให้จำนวนชนิด alloscopus ที่บันทึกไว้ในประเทศไทยเพิ่มขึ้นเป็น 6 ชนิด” ทีมวิจัยเขียนไว้ในรายงาน “โดยมี 17 ชนิดที่ได้รับการยอมรับทั่วโลก นอกจากนี้ยังช่วยเพิ่มข้อมูลอัปเดตเกี่ยวกับ alloscopus ชนิดพันธุ์ทั่วโลกอีกด้วย”

แมลงหางดีด

คณะวิทยาศาสตร์ ม.อ. ระบุแมลงหางดีดเป็นสิ่งมีชีวิตที่อยู่ระหว่างสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังกลุ่มครัสเตเชีย (crustacean) และแมลงที่แท้จริง (true-insect) อธิบายเพิ่มเติมก็คือ True-inscect นั้นสามารถเรียกอีกชื่อได้ว่า True Bugs ซึ่งจัดอยู่ในอันดับแมลงเฮเทอโรปเทอรา (Heteroptera)

แมลงที่แท้จริงนั้นมีอยู่ประมาณ 40,000 ชนิดทั่วโลก โดยมีลักษณะทั่วไปคือ มีปีกสองคู่ (คู่หน้าและคู่หลัง) มีปากภายนอกคล้ายเข็มใต้ผิวหนัง ซึ่งช่วยให้พวกมันสามารถดูดของเหลวจากใต้ผิวดิน พืช หรือสัตว์ได้ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนก็คือ มวนเพชฌฆาต (Assassin Bug), ตัวเรือด (Bedbugs) และอื่น ๆ

อย่างไรก็ตามแมลงหางดีดนั้นมีปากภายใน ขณะเดียวกันก็มีปล้องและมีรยางค์คู่ยื่นออกมา ดังนั้นมันจึงเหมือนอยู่กึ่งกลางระหว่างครัสเตเชียนและแมลงที่แท้จริง ทว่าแมลงหางดีดก็ประสบความสำรเร็จอย่างยิ่งในการกระจายพันธุ์ พวกมันแทบจะพบได้ทั่วโลก

“ปัจจุบันสกุล Alloscopus Börner, 1906 เป็นหนึ่งในกลุ่ม Heteromurinae ที่รู้จักกันดีที่สุด สกุลนี้แพร่หลายและมีรายงานว่าพบในแหล่งที่อยู่อาศัยหลากหลายประเภท ทั้งเรือนยอดไม้ ดิน และใต้ดิน การกระจายพันธุ์ส่วนใหญ่ขยายพันธุ์ในเขตร้อนชื้น ตั้งแต่เอเชียตะวันออก เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไปจนถึงโอเชียเนีย” ทีมวิจัยเขียน

โดยสกุล Alloscopus ชนิดใหม่ทั้งสองตัวที่พบในประเทศไทยนี้อาศัยอยู่ในถ้ำที่มีความชื้นสูงและมืดมิด จึงทำให้พวกมันมีสีขาวซีด นอกจากนี้ยังมีลักษณะเด่นก็คือไม่มีตาและไม่มีหนามเมือก ซึ่งรายละเอียดความแตกต่างทั้งหมดได้รับการรายงานไว้บนวารสาร ZooKeys

ความน่ากังวลจากการค้นพบ

อย่างไรก็ตาม อีกสายพันธุ์ที่เพิ่งค้นพบใหม่ดูจะมีเรื่องให้น่ากังวลมากกว่า ซึ่งก็คือ Coecobrya microphthalma sp. nov. ที่พบในถ้ำลึก จ.สระบุรี แมลงหางดีดตัวใหม่นี้มีลักษณะทางสัณฐานวิทยาเด่นก็คือมันมีจุดสีส้มบนตัว ขณะที่ส่วนอื่นตรงกับสายพันธุ์ทั่วไปในสกุลของมันเอง

เพื่อให้เข้าใจมากขึ้นว่าสิ่งมีชีวิตเหล่านี้ได้รับผลกระทบอย่างไรบ้างจากมนุษย์ทั้งทางตรงและทางอ้อม ไปจนถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศที่กำลังคุกคามความหลากหลายทางชีวภาพ ทีมวิจัยจึงได้เก็บตัวอย่างมาเพื่อทดลองบางอย่าง

“สิ่งมีชีวิตทุกชนิดมีความอ่อนไหวต่อความผันผวนของอุณหภูมิในระดับต่าง ๆ เนื่องจากอุณหภูมิโดยรอบส่งผลกระทบโดยตรงต่อกระบวนการทางสรีรวิทยาและพฤติกรรมของพวกมัน” ทีมวิจัยเขียนไว้ในอีกรายงานที่เผยแพร่บนวารสาร Insects ว่า “การศึกษาความทนทานต่ออุณหภูมิจึงเป็นก้าวแรกสู่ความเข้าใจถึงความเปราะบางของสิ่งมีชีวิตต่อภาวะโลกร้อนที่กำลังดำเนินอยู่”

วิธีก็คือ นำ Coecobrya microphthalma sp. nov. มาเพาะเลี้ยงในห้องปฏิบัติการพร้อมกับทดสอบแมลงเหล่านี้ในสภาพแวดล้อมอุณหภูมิที่แตกต่างกัน 7 แบบได้แก่ 27°C เป็นตัวควบคุม และ 30, 32, 33, 34, 35 และ 36°C เป็นกลุ่มทดลอง

ผลลัพธ์เผยให้เห็นว่า แมลงหางดีดสายพันธุ์นี้ไม่สามารถอยู่รอดได้ที่อุณหภูมิสูงกว่า 32°C หลังจากสัมผัสความร้อนเป็นเวลา 7 ถึง 14 วันติดต่อกัน แต่ที่น่ากังวลยิ่งกว่าก็คือ ที่อุณหภูมิ 27, 30 และ 32°C (สัมผัสระยะสั้น ๆ) แม้พวกมันจะมีชีวิตอยู่รอดและผลิตไข่ได้

แต่ระยะเวลาการผลิตไข่กับจำนวนไข่ที่ออกมาก็ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ยิ่งไปกว่านั้นที่อุณหภูมิ 32°C แม้จะมีตัวอ่อนออกมาพร้อมกับลอกคราบไปยังระยะตัวเต็มวัย  แต่ตัวอย่างก็ไม่สามารถผลิตรุ่นลูกหลานต่อไปได้ กล่าวอย่างง่ายที่สุด เมื่ออุณหภูมิสูงขึ้นเพียงนิดเดียว พวกมันก็ได้รับผลกระทบอย่างชัดเจน

“ผลการศึกษาใหม่นี้ถือเป็นส่วนสำคัญในการสำรวจการตอบสนองของสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังในถ้ำต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่อาจเกิดขึ้นในเขตร้อน” ทีมวิจัยกล่าวและว่า “แม้ข้อมูลจะจำกัดอยู่เพียงชนิดเดียว แต่การพัฒนานโยบายที่เหมาะสมเพื่อการปกป้องและอนุรักษ์ถ้ำจำเป็นต้องใช้ชุดข้อมูลขนาดใหญ่กว่ามาก”

ทั้งนี้หากปรากฎการณ์โลกร้อนยังดำเนินต่อไป สิ่งมีชีวิตเฉพาะถิ่นอย่างแมลงหางดีดที่เพิ่งค้นพบใหม่ อาจหายไปโดยที่เรายังไม่ทันได้รู้จักมันเป็นอย่างดีเลย

สืบค้นและเรียบเรียง

วิทิต บรมพิชัยชาติกุล

 

ที่มา

https://www.mdpi.com

https://zookeys.pensoft.net

https://www.sci.psu.ac.th


อ่านเพิ่มเติม : ผลการวิจัยใหม่เผย เต่าสามารถมองโลกในแง่ดี – ร้าย ได้คล้ายมนุษย์

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.