พฤติกรรมที่หาดูได้ยาก เหล่าชิมแปนซีรุมฆ่าหัวหน้าเก่า

พฤติกรรมที่หาดูได้ยาก เหล่า ชิมแปนซี รุมฆ่าหัวหน้าเก่า

ทีมนักวิจัยได้พบกับเหตุการณ์อันน่าสยดสยองในปี 2013 ณ สาธารณรัฐเซเนกัล การศึกษาชิมแปนซีในแต่ละฝูงใช้เวลาศึกษานานกว่าทศวรรษ พวกเขาพบว่า ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นเป็นชนวนไปสู่ความตาย

แต่การเข่นฆ่ากันเองในฝูงเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นไม่บ่อยนัก…

ทีมนักวิจัยได้เผยแพร่ผลการศึกษาลงในวารสาร International Journal of Primatology และพวกเขายังสามารถบันทึกวีดีโอพฤติกรรมความรุนแรงของฝูงชิมแปนซีที่กระทำต่อหัวหน้าเก่าของพวกมัน

“มันเป็นอะไรที่เหลือเชื่อมากเลยค่ะ” จิลล์ พรีทซ์ นักมานุษยวิทยาจากมหาวิทยาลัยไอโอวาเสตท กล่าว และเธอยังได้รับทุนสนับสนุนจากเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ในการศึกษาครั้งนี้ด้วย “ฉันรู้สึกกระอักกระอ่วนอยู่หลายวันทีเดียว ลองคิดดู ถ้าคุณต้องจบชีวิตลงด้วยฝีมือของเพื่อนตัวเอง”

ย้อนกลับไปในปี 2007 ฟูดูโกเป็นจ่าฝูงของชิมแปนซี (Pan troglodytes verus) มีสมาชิกใต้อาณัติกว่าสามร้อยตัวพวกมันอาศัยอยู่ในเขตฟองโกลี เขตทุ่งสะวันนาทางตะวันตกเฉียงใต้ของเซเนกัล

แต่ทว่า การก่อกบฏเพื่อขับไล่จ่าฝูงออกจากพื้นที่ได้เริ่มขึ้น เหตุการณ์นี้กินเวลาห้าปี จนในที่สุด จ่าฝูงถูกสังหารด้วยน้ำมือของสมาชิกอันดับต่ำกว่า แรงจูงใจในการฆาตกรรมครั้งนี้คาดว่าเกิดจากการแย่งคู่ผสมพันธุ์

“การทำร้ายศัตรูนั้น เป็นเรื่องที่เขาใจได้ แต่การฆ่าเพื่อนร่วมฝูงช่างเป็นปริศนา…มีเรื่องราวที่น่าสนใจอยู่มากระหว่างความร่วมมือและความขัดแย้ง” ไมเคิล วิลสัน นักมานุษยวิทยาจากมหาวิทยาลัยมินนิโซตา กล่าว เขากำลังศึกษาเรื่องพฤติกรรมความก้าวร้าวในชิมแปนซี

“มันทำให้ผมนึกถึงภาพยนต์เรื่อง โซปราโน” (ภาพยนต์แนวฆาตกรรม)

 

การเมืองในหมู่ไพรเมท

นับตั้งแต่ปี 2005 พรีทซ์และคณะได้ทำการทุ่มเทศึกษาฝูงชิมแปนซีในฟองโกลีอย่างใกล้ชิด หนึ่งในฝูงที่เขาสำรวจอาศัยอยู่ทางตะวันตกของแอฟริกา ซึ่งเป็นที่ที่เอปเติบโตมาอย่างคุ้นชินกับการวิจัยของมนุษย์

การสำรวจของพรีทซ์เห็นถึงชีวิตประจำวันของชิมแปนซีเต็มไปด้วยการเมือง ภายในฝูงจะมีตำแหน่งผู้นำเป็นตัวผู้เรียกว่า “แอลฟา” โดยมีตัวผู้ตัวอื่นเป็นพันธมิตรคอยให้การสนับสนุน และมีตัวเมียพร้อมซิมแปนซีวัยเยาว์คอยขนาบข้าง เมื่อตัวเมียโตเต็มวัยพร้อมสืบพันธุ์ มันจะออกไปหาฝูงใหม่ ในขณะที่ตัวผู้จะเติบโตต่อไปในฝูงที่ตัวเองเกิดมา และแข่งขันกับตัวผู้ตัวอื่นเพื่อให้ได้มาซึ่งความเป็นใหญ่ “มันค่อนข้างจะเหมือนละครน้ำเน่าเลยค่ะ” พรีทซ์บอก

ในช่วงต้นปี 2005 พรีทซ์และนักวิจัยคนอื่น ๆ มีความเห็นตรงกันว่า ฟูดูโกเป็นแอลฟาของฝูงนี้ โดยสังเกตจากพฤติกรรมที่ชอบขู่คำรามใส่สมาชิกตัวอื่น ๆ ลักษณะของคิ้วและความยโสโอหังอย่างผู้นำ ทำให้ผู้ช่วยนักวิจัยคนหนึ่งเรียกมันว่า ซัดดัม ตามชื่อของเผด็จการชาวอิรัก ซัดดัม ฮุซเซน

แต่ในเดือนกันยายน 2007 ฟูดูโกสูญเสียอำนาจในการเป็นจ่าฝูงให้ตัวผู้อันดับถัดมาชื่อ มามาดู มันถูกทำร้ายอย่างสาหัสจนต้องเดินกะโผลกกะเผลก ในที่สุด เมื่อเดือนมีนาคม 2008 มันถูกขับไล่ออกจากฝูงที่นำโดยมามาดูและบริวาร หลังจากที่มันหายไปจากเขตฟองโกลี พรีทซ์คิดว่าฟูดูโกคงตายแล้ว

ฟูดูโกสร้างความประหลาดให้เธอด้วยการปรากฏตัวอีกครั้งหลังจากเวลาล่วงไปเก้าเดือน แต่การกลับมาครั้งนี้ มันมาพร้อมกับความขลาดกลัว ไม่ใช่อย่างผู้นำเช่นเมื่อก่อน มันคอยหลบอยู่หลังต้นไม้บ้าง ตามพุ่มหญ้านอกเขตฟองโกลีบ้าง เป็นเวลากว่าห้าปีที่ฟูดูโกต้องอยู่อย่างคนถูกเนรเทศ ภายใต้การนำของแอลฟาตัวใหม่ มามาดูพี่ชายของดาวิด

มามาดูและดาวิดต้อนรับฟูดูโกกลับเข้าฝูงอีกครั้ง แต่ตัวผู้วัยรุ่นตัวอื่น ๆ ในฝูงปฏิบัติกับมันอย่างไร้ความปราณี พวกวัยรุ่นมักจะไล่ฟูดูโกออกจากฝูงและส่งเสียงร้องอย่างเกรี้ยวกราด เป็นเสียงร้องที่คณะวิจัยไม่เคยได้ยินในพฤติกรรมปกติของชิมแปนซี

 

ฉากแห่งโศกนาฏกรรม

ก่อนตะวันรุ่งของเช้าวันที่ 15 มิถุนายน 2013 พรีทซ์และผู้ช่วยของเธอ ไมเคิล ซาเดียโค ได้ยินเสียงโหวกเหวกห่างออกไปราวครึ่งไมล์จากพี่พักของพวกเขา ฝูงชิมแปนซีกำลังเคลื่อนที่อย่างรวดเร็วไปลงไปทางใต้จากรังของพวกมัน พร้อมร้องคำรามกึกก้อง พรีทซ์กำลังป่วยจากพิษไข้มาลาเรีย เธอจึงให้ซาเดียโคไปดูเหตุการณ์

สิ่งที่ซาเดียโคเห็นช่างน่าสลด ฟูดูโก ชิมแปนซีอายุ 17 ปี กลายเป็นศพ ที่มือของมันมีรอยกัดและขีดข่วนเป็นจำนวนมาก สมาชิกสองตัวในฝูงกำลังรุมทึ้งและลากร่างไร้ลมหายใจไปมา ในขณะเดียวกัน สมาชิกตัวอื่น ๆ ก็ทุบลงไปที่หัวและลำตัว ที่เท้ามีรูโหว่ขนาดใหญ่ที่เกิดจากการกัด และแผลนี้น่าจะเป็นสาเหตุการเสียเลือดจนตาย

เมื่อแสงอรุณสาดทอพ้นขอบฟ้า พรีทซ์และคณะยังคงเฝ้าดูสมาชิกในฝูงทั้งตัวผู้และตัวเมียใช้ความรุนแรงกับร่างของฟูดูโก โดยเฉพาะการฉีกกินเนื้อในส่วนลำตัว ลำคอ และกัดเข้าไปที่อวัยวะเพศ

แต่ไม่ใช่ชิมแปนซีทุกตัวในฝูงจะแสดงความเป็นปฏิปักษ์ต่อศพของฟูดูโก อย่างกรณีมามาดู เหมือนมันพยายามลากพันธมิตรตัวหนึ่งของมันไปรอบ ๆ และขู่คำรามใส่หน้า ดาวิดแทบจะไม่แตะต้องศพเลย แต่สิ่งที่ทำให้พรีทซ์ประหลาดใจคือ แม่ของมามาดูและดาวิด ที่ฉีกทึ้งศพกินอย่างเกรี้ยวกราด “มันแสดงออกอย่างชัดเจนว่าไม่ไยดีต่อฟูดูโก” เธอบอก “ฉันไม่รู้จะอธิบายยังไงค่ะ”

พรีทซ์สันนิษฐานการฆาตรกรรมฟูดูโกครั้งนี้ว่า อาจจะเกิดจากแรงขับทางเพศ

ซาเดียโกตั้งข้อสันนิษฐานไปในทางเดียวกันว่า ฟูดูโกอาจจะพยายามเข้าใกล้ตัวเมียที่กำลังติดสัด การต่อสู้เพื่อแย่งตัวเมียงอย่างดุเดือดจึงเกิดขึ้น

จากการทบทวนวรรณกรรมในปี 2014 พรีทซ์, วิลสัน, และผู้เชี่ยวชาญด้านไพรเมทกว่า 28 คน ลงความเห็นว่า ความรุนแรงจนนำไปสู่ความตายในหมู่ชิมแปนซีส่วนใหญ่เกิดจากการแย่งคู่ผสมพันธุ์และแย่งชิงทรัพยากร

“การฆ่ากันเองในฝูงดูเหมือนว่าจะเกี่ยวข้องกับการสืบพันธุ์ เป็นการต่อสู้ระหว่างตัวผู้” วิลสันบอก “สัญญาณการต่อสู้เพื่อการสืบพันธุ์ค่อนข้างชัดเจน และการจบชีวิตของอีกฝ่ายนับว่าเป็นความรุนแรงขั้นสูงสุด”

 

เกือบจะเหมือนมนุษย์?

พฤติกรรมการฉีกกินเนื้อของชิมแปนซีมีการบันทึกไว้ตั้งแต่ยุค 1970 เป็นภาพชวนน่าขยะแขยงพอสมควร เช่น ตัวเมียวัยเจริญพันธุ์กัดกินอวัยวะเพศของตัวผู้

การตายของชิมแปนซีสะท้อนความรุนแรงในมนุษย์ซึ่งเป็นญาติสายพันธุ์ใกล้ชิด ยังคงเป็นประเด็นที่ต้องถกเถียงกันต่อไป

สำหรับวิลสัน เขาเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างพฤติกรรมความรุนแรงในชิมแปนซีและในมนุษย์อย่างไม่ตะขิดตะขวงใจ แต่ไม่ใช่กับพรีทซ์ “ฉันรู้สึกไม่ค่อยอยากจะพูดถึงการฆาตรกรรมในมนุษย์เท่าไหร่ มันเป็นเรื่องซับซ้อนมาก”

เมื่อชิมแปนซีในฝูงแยกย้ายออกจากศพฟูดูโก พรีทซ์และลูกทีมของเธอได้นำศพไปฝังในจุดที่เจ้าหน้าที่สังเกตเห็นพฤติกรรมของชิมแปนซีได้

ชิมแปนซีที่เหลือในฝูงดูผ่อนคลายลง แต่ยังคงดูกระวนกระวายกับสิ่งที่เกิดขึ้น ตลอดทั้งคืนนั้น มีเสียงร้องดังมาจากบริเวณใกล้ ๆ หลุมศพของฟูดูโกตลอดทั้งคืน

“พวกมันยังคงหวาดกลัวต่อศพอยู่ค่ะ” เธอบอก “พวกมันไม่มีความคิดเรื่องความตาย…และไม่สามารถยุติความรุนแรงได้”

หลังจากเหตุการณ์ผ่านไปร่วมปี พรีทซ์และคณะยังคงศึกษาพฤติกกรมชิมแปนซีที่เหลือในฝูงต่อไป มามาดูถูกขับออกจากลุ่มเช่นเดียวกับที่มันทำกับฟูดูโก และดาวิดขึ้นครองตำแหน่งแอลฟา พรีทซ์รู้สึกว่า มามาดูยังคงอยู่ที่ไหนซักแห่งนอกฟองโกลี และมันก็ฉลาดพอที่จะไม่กลับมาร่วมกลุ่ม

เรื่อง ไมเคิล เกรชโค

 

อ่านเพิ่มเติม

ชิมแปนซีเลือกกินสมองลูกลิงก่อนส่วนอื่น

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.