กิ้งก่าโบราณเองก็สลัดหางเพื่อหนีจากผู้ล่า

กิ้งก่าโบราณเองก็สลัดหางเพื่อหนีจากผู้ล่า

กิ้งก่าโบราณขนาดเล็กที่มีชีวิตอยู่เมื่อร้อยล้านปีก่อนมีกลยุทธ์พิเศษในการหลอกล่อผู้ล่า เพื่อไม่ให้พวกมันต้องตกเป็นอาหาร นั่นคือการสลัดหางทิ้งเสีย

รายงานจากวารสาร Nature ทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยโทรอนโทศึกษาฟอสซิลของกระดูกหางกิ้งก่าโบราณซึ่งประกอบด้วยชิ้นกระดูกจำนวน 70 ชิ้น พวกเขาพบว่าส่วนหางตรงกลางของมันมีร่องรอยการเชื่อมต่อของกระดูกคล้ายกับรอยประของกระดาษชำระ กระดูกดังกล่าวแตกหักง่าย เมื่อผู้ล่าคว้าหางของมันไว้หมายที่จะกินตัวมัน หางจะถูกสะบัดออกตามรอยดังกล่าว ซึ่งส่งผลให้หางขาดออกและเปิดโอกาสให้ตัวมันวิ่งหนีไป

เจ้ากิ้งก่าตัวนี้เป็นที่รู้จักในชื่อ Captorhinus น้ำหนักตัวประมาณ 4 ปอนด์ครึ่ง กิ้งก่าสายพันธุ์นี้มีชีวิตอยู่เมื่อ 289 ล้านปีก่อน ทักษะการเอาตัวรอดด้วยวิธีนี้ยังคงพบเห็นได้ในกิ้งก่าปัจจุบัน เช่น จิ้งจก แต่มักจะพบในจิ้งจกที่ยังไม่โตเต็มวัยเนื่องจากส่วนหางยังคงเป็นกระดูกอ่อน ในจิ้งจกที่โตเต็มที่แล้วหางของมันจะเชื่อมต่อกับส่วนลำตัวจึงไม่สามารถทำได้

ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะบรรดากิ้งก่าที่ยังไม่โตเต็มที่นี้มักถูกล่าโดยกิ้งก่าที่โตกว่าเช่นกัน ฉะนั้นแล้วจึงสมเหตุสมผลที่กิ้งก่าตัวน้อยเหล่านี้จำเป็นต้องมีกลยุทธ์พิเศษในการเอาตัวรอด

ภายในระยะเวลา 30 ล้านปี เจ้ากิ้งก่าโบราณ Captorhinus ได้เดินทางท่องไปทั่วทวีปแพนเจีย เทคนิคการเอาตัวรอดด้วยการสลัดหางนี้ช่วยให้กิ้งก่าเด็กสามารถมีชีวิตรอดจากผู้ล่าและเติบโตต่อไปได้ ทั้งนี้ฟอสซิลที่ถูกค้นพบนี้มีอายุราว 70 ล้านปี และนับเป็นฟอสซิลของกิ้งก่าที่เก่าแก่ที่สุดที่สามารถสลัดหางเอาตัวรอดได้ เท่าที่เคยมีการค้นพบมา

เรื่อง Heather Brady

 

อ่านเพิ่มเติม

ฟอสซิลรอยเท้าเก่าแก่ที่สุดของการวิ่งสองขาในกิ้งก่า

© COPYRIGHT 2024 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.