แรดขาวเหนือตัวผู้ตัวสุดท้ายตายแล้ว หรือนี่คือจุดจบ?

แรดขาวเหนือ ตัวผู้ตัวสุดท้ายตายแล้ว หรือนี่คือจุดจบ?

นักอนุรักษ์พากันเศร้าโศกเสียใจต่อการจากไปของแรดขาวเหนือตัวผู้ตัวสุดท้ายในโลก เมื่อคืนวันจันทร์ที่ 19 มีนาคม  2018 ตามเวลาท้องถิ่นในเคนยา

แรดตัวดังกล่าวมีชื่อว่า “ซูดาน” มันมีอายุ 45 ปี และใช้ช่วงเวลาสุดท้ายของชีวิตอยู่ภายใต้การคุ้มครองอย่างแน่นหนาจากเจ้าหน้าที่ติดอาวุธ ภายในศูนย์อนุรักษ์โอล เพเยตา ประเทศเคนยา ย้อนกลับไปเมื่อช่วงต้นเดือน ซูดานทุกข์ทรมานอย่างหนักจากอาการติดเชื้อที่ขาหลังด้านขวา ด้วยความที่มันอายุมากแล้วและมีสุขภาพที่ย่ำแย่ เมื่ออาการติดเชื้อลุกลามเลวร้ายขึ้น ในที่สุดเจ้าหน้าที่ศูนย์จึงตัดสินใจการุณยฆาตเจ้าซูดานเสีย ส่งผลให้ปัจจุบันมีแรดขาวเหนือเหลืออยู่เพียงแค่สองตัวภายในศูนย์โอล เพเยตา มันทั้งคู่เป็นตัวเมีย และเป็นแรดขาวเหนือสองตัวสุดท้ายที่เหลืออยู่บนโลกใบนี้

(การศึกษาใหม่พบว่า นกโดโดจากมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดแท้จริงแล้วถูกฆาตกรรม)

 

หมดสิ้นความหวัง?

ความตายของซูดานคือการสูญเสียครั้งใหญ่ของสายพันธุ์นี้ แต่ที่ผ่านมานักอนุรักษ์พยายามอย่างหนักเพื่อช่วยให้ซูดานผลิตทายาท ก่อนหน้านี้เคยมีแคมเปญสร้างความตระหนักถึงสถานะของซูดานในฐานะ “ตัวสุดท้ายบนโลก” ด้วยการใช้แอพพลิเคชั่นหาคู่ที่ชื่อว่าทินเดอร์ เพื่อระดมทุนช่วยเหลือแก่โครงการมาแล้ว

“ณ วันนี้ เราได้เป็นประจักษ์พยานสำคัญของการสูญสิ้นเผ่าพันธุ์ที่อยู่รอดมานานหลายล้านปี แต่ไม่อาจมีชีวิตรอดต่อไปได้ในยุคสมัยของเรา” Ami Vitale ช่างภาพจากเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิกเขียนถึงความตายของซูดานไว้ในอินสตาแกรม ในฐานะช่างภาพผู้ติดตามเรื่องราวของมันมานาน

Vitale เองอยู่กับซูดานด้วยในช่วงเวลาที่มันถูกย้ายมาจากสวนสัตว์ประเทศเช็กมายังศูนย์อนุรักษ์ในเคนยา เมื่อปี 2009 นักวิทยาศาสตร์คาดหวังว่าสภาพภูมิอากาศแบบทวีปแอฟริกาจะกระตุ้นให้แรดขาวเหนือสืบพันธุ์ได้มากขึ้น

ทั้งนี้ทางศูนย์ได้เก็บเซลล์สืบพันธุ์ของซูดานเอาไว้ ด้วยความหวังว่าจะสามารถใช้ผสมเทียมกับแรดขาวเหนือตัวเมียอีกสองตัวที่เหลือในอนาคต เนื่องจากว่าพวกมันทั้งหมดอยู่ในวัยที่เลยช่วงเวลาเจริญพันธุ์มาแล้ว ดังนั้นความหวังที่เหลือจึงถูกฝากไว้ที่เทคโนโลยีและกระบวนการภายในห้องปฏิบัติการ

เจ้าหน้าที่ติดอาวุธคุ้มครองความปลอดภัยของซูดานตลอดเวลา ไม่ว่ามันจะทำอะไรก็ตาม
ภาพถ่ายโดย Ami Vitale

 

เกิดเป็นแรดในแอฟริกา

ในปี 2014 มีประชากรแรดขาวเหนือเหลืออยู่ 7 ตัวบนโลก และทั้งหมดใช้ชีวิตอยู่ในสวนสัตว์ แต่ในฤดูร้อนปี 2015 จำนวนแรดขาวเหนือลดลงเหลือเพียง 4 ตัว และไม่กี่เดือนต่อมาก็เหลือเพียง 3 ตัวในที่สุด

นั่นทำให้แรดเหล่านี้ต้องมีเจ้าหน้าที่ติดอาวุธคอยคุ้มกันตลอด 24 ชั่วโมง เช่นเดียวกับช้างที่ถูกล่าเอางา ชะตากรรมของแรดในแอฟริกาเองก็ถูกล่าเพื่อเอานอและผิวหนังเช่นกัน แม้ว่าพวกมันจะมีสถานะคุ้มครองและอาศัยอยู่ในศูนย์อนุรักษ์ก็ตาม

“ความตายของซูดานคือตัวอย่างของการสูญเสียมรดกสำคัญที่แอฟริกามี เรามาถึงจุดนี้ได้อย่างไร? และเราจะอธิบายเรื่องนี้แก่คนแอฟริกาในรุ่นต่อๆ ไปว่าอย่างไร?” Kaddu Sebunya ประธานมูลนิธิสัตว์ป่าแอฟริกากล่าวระหว่างการแถลงข่าว

ในปี 2013 แรดดำตะวันตก แรดอีกสายพันธุ์หนึ่งถูกประกาศว่าสูญพันธุ์ ส่วนแรดดำตะวันออกมีประชากรหลงเหลืออยู่ราวหนึ่งพันตัว และมันจะเป็นแรดสายพันธุ์ต่อไปที่จะเผชิญกับความเสี่ยงที่จะสูญพันธุ์

ขณะนี้ทีมนักอนุรักษ์เองกำลังหาวิธีการปกป้องสายพันธุ์ญาติของแรดขาวเหนือ พวกมันคือแรดขาวใต้ที่ปัจจุบันมีประชากรราว 20,000 ตัว และคาดหวังว่าความตายของซูดานจะเป็นบทเรียนสำคัญที่ช่วยให้ทั่วโลกตระหนักถึงความสำคัญของการอนุรักษ์ ตลอดจนยุติกระบวนการลักลอบค้าสัตว์ป่า ซึ่งนอกเหนือจากแรดแล้วยังมีสัตว์ป่าอีกมากมายที่ต้องสังเวยชีวิตของพวกมันให้แก่วงจรนี้

เรื่อง ซาร่าห์ กิบเบ็นส์

 

อ่านเพิ่มเติม

ตัวนิ่ม สัตว์ที่โดนล่ามากที่สุดในโลก

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.