ทำไมสัตว์น้ำใต้ทะเลลึกจึงมักมีสีดำ?

ทำไมสัตว์น้ำใต้ทะเลลึกจึงมักมีสีดำ?

ในมหาสมุทรอันกว้างใหญ่ไพศาล สัตว์น้ำใต้ทะเลลึก หลากหลายชนิดจำเป็นต้องพรางตัวให้รอดจากผู้ล่าและเพื่อการล่า แต่สำหรับใต้ทะเลลึกที่ไม่มีสิ่งแวดล้อมรอบๆ ให้กลมกลืนด้วยแล้ว พวกมันจะทำอย่างไร? ทางออกก็คือการมีสีดำ ปลาไวเปอร์และสัตว์อีกหลายชนิดวิวัฒนาการให้ร่างกายของมันมีสีดำ สีดำที่ว่านั้นดำสนิทจนมันสามารถแฝงกายซ่อนตัวอยู่ได้ แม้รอบตัวจะมีแต่น้ำก็ตาม

“เมื่อคุณมองไปที่พวกมัน โดยเฉพาะเมื่ออยู่ในน้ำด้วยแล้ว มันจะเหมือนกับหลุมดำเลยครับ” Sönke Johnsen นักชีววิทยาด้านสัตว์น้ำจากมหาวิทยาลัย Duke ผู้ศึกษาเกี่ยวกับโลกใต้ทะเลลึกกล่าว

นักวิทยาศาสตร์พยายามหาคำตอบว่า อะไรคือสิ่งที่ช่วยให้ “ปลาสีดำ” เหล่านี้ดูราวกับกลืนหายไปกับความมืด ในผลการศึกษาใหม่ Johnsen และทีมวิจัยของเขา Karen Osborn พบโครงสร้างขนาดเล็กละเอียดในผิวของปลาที่ทำหน้าที่ดักจับโฟตอน หรืออนุภาคของแสงเอาไว้ ซึ่งช่วยให้มันดูดซับแสงเกือบทั้งหมดที่สัมผัสได้ รายงานการค้นพบล่าสุดนี้ถูกเผยแพร่ในงานประชุมทางชีววิทยา

“เราเคยคาดหวังกันว่าจะพบเม็ดสีจำนวนมากในผิวของมัน” Osborn นักสัตววิทยาสาขาสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง จากพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา Smithsonian กล่าว “แต่สิ่งที่เราพบนั้นคือเครื่องมือพิเศษเหนือกว่าเม็ดสี ที่ช่วยให้สัตว์น้ำใต้ทะเลลึกมีสีดำเข้มมากที่สุดเท่าที่จะมีได้”

 

โลกใต้ทะเลลึก

เมื่ออาหารเป็นสิ่งหายากในโลกใต้ทะเลลึก ดังนั้นทุกชีวิตจึงสามารถตกเป็นอาหารได้ด้วยเช่นกัน สัตว์น้ำใต้ทะเลลึกอย่าง ปลาแองเกลอร์วิวัฒนาการให้ตนมีไฟล่อเหยื่อ ในขณะที่ปลาสายพันธุ์อื่นๆ มีอวัยวะผลิตแสงเป็นพิเศษที่เรียกว่า photophores

“ลองจินตนาการถึงโลกที่คุณฉายไฟไปแล้วไม่มีอะไรสะท้อนกลับมาดูสิ” Johnsen กล่าว ดังนั้นแล้ววิธีที่ดีที่สุดคือการเลียนแบบผืนน้ำขนาดใหญ่ที่ไม่มีที่สิ้นสุด รวมทั้งดูดกลืนแสงเพื่อความแนบเนียนของการพรางตัว ซึ่งกลยุทธ์นี้แค่ลำพังเม็ดสีเข้มนั้นไม่เพียงพอ Johnsen กล่าวว่ากุญแจสำคัญคือผิวหนังแบบพิเศษ

หากปลาใต้ทะเลลึกมีผิวหนังเรียบลื่นเป็นมัน แสงที่ตกกระทบจะสะท้อนเข้าไปยังดวงตาของผู้ล่าที่กำลังรอคอยอย่างหิวกระหาย แต่ด้วยผิวหนังพิเศษที่มีโครงสร้างเล็กละเอียดเหล่านี้สามารถช่วยกักเก็บอนุภาคของแสงเอาไว้ ซึ่งในผลการทดลองล่าสุด Osborn ทำการทดลองกับโครงสร้างผิวหนังของปลาสีดำจำนวน 7 ชนิด เธอพบโครงสร้างของเม็ดสีขนาดเล็กเช่นเดียวกับที่พบในมนุษย์ เรียงตัวในรูปแบบที่ซับซ้อนเพื่อกักเก็บแสงไม่ให้สะท้อนออกไป

จากรายงานของ Johnsen และ Osborne ในปลาทะเลสีดำบางชนิด ผิวหนังของมันสามารถดูดกลืนแสงได้ถึง 99.99% นั่นแปลว่าจะมีเพียงอนุภาคแสงเพียงอนุภาคเดียวเท่านั้นที่สามารถสะท้อนออกไปได้ จากทั้งหมดพันอนุภาคที่ตกกระทบ

Dragon fish สายพันธุ์ Eustomias pacificus อาศัยอยู่บริเวณหมู่เกาะฮาวาย
ภาพถ่ายโดย Sonke Johnsen

 

ดำยิ่งกว่าดำ

นอกเหนือจากปลาทะเลสีดำแล้ว บนโลกใบนี้ยังมีสัตว์อื่นๆ อีกที่มีสีดำสนิทไม่แพ้กัน นกปักษาสวรรค์ออสเตรเลียได้ชื่อว่าเป็นนกที่มีสีดำเข้มที่สุด ขนของมันสามารถดูดกลืนแสงได้ถึง 99.95% นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าโครงสร้างอันซับซ้อนบนเส้นขนของนกปักษาสวรรค์ตัวผู้ ถูกวิวัฒนาการขึ้นเพื่อเน้นจุดอื่นๆ ที่เป็นสีสันอันสดใส ซึ่งลวดลายสีสันอันงดงามของนกสายพันธุ์นี้คือความได้เปรียบที่ตัวเมียจะเลือกผสมพันธุ์ด้วย

ลักษณะอันโดดเด่นที่สรรพสัตว์ใช้เป็นกลยุทธ์ในการเอาตัวรอดเหล่านี้บรรดานักวิทยาศาสตร์กำลังสนใจที่จะศึกษาเพื่อพัฒนาวัสดุสังเคราะห์เช่น กล้อง, กล้องโทรทรรศน์ หรือแผงโซล่าเซลล์ ที่มีสีดำเข้มกว่าเดิม ไม่แน่ว่าผิวหนังของปลาจากใต้ทะเลลึกเหล่านี้อาจเป็นแรงบันดาลใจให้แก่นวัตกรรมใหม่ๆ ในอนาคต

เรื่อง Elizabeh Anne Brown

Dragonfish นักล่าแห่งใต้ทะเลลึกที่อาศัยอยู่ในความลึกมากกว่า 3 กิโลเมตร ทางตะวันออกของมหาสมุทรแอตแลนติก
ภาพถ่ายโดย Sonke Johnsen

 

อ่านเพิ่มเติม

ปลาถ้ำตาบอดอาจเป็นกุญแจใหม่ในการรักษาเบาหวาน

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.