ยกเลิกการค้นหา MH370 หลังสี่ปีไร้วี่แวว

ยกเลิกการค้นหา เที่ยวบิน MH370 หลังสี่ปีไร้วี่แวว

การหายไปของเที่ยวบิน MH370 ของสายการบิน Malaysia Airlines อาจกลายเป็นปริศนาตลอดกาล เมื่อรัฐมนตรีกระทรวงคมนาคมของมาเลเซียออกมาประกาศว่า ภารกิจการค้นหาทั้งหมดจะยุติลงในวันที่ 29 พฤษภาคม 2018 นี้ หลังทุ่มงบประมาณมหาศาลไปกับการค้นหาตลอด 4 ปีที่ผ่านมา แต่ยังคงไร้วี่แววของเครื่องบินเคราะห์ร้ายลำนั้น พร้อมเน้นย้ำว่าทางการมาเลเซียจะไม่มีการค้นหาเพิ่มเติมใดๆ อีกแล้ว

ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 8 มีนาคม ปี 2014 เครื่องบินโบอิ้ง 777 เที่ยวบิน MH370 พร้อมผู้โดยสาร 239 คนซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวจีน เดินทางจากกรุงกัวลาลัมเปอร์ไปยังกรุงปักกิ่ง กัปตันของเที่ยวบินนี้คือ ซาฮารี อาห์มัด ชาห์ อายุ 53 ปี ผู้มีประสบการณ์ขับเครื่องบินมานานกว่า 30 ปี ส่วนนักบินผู้ช่วยชื่อ ฟาริก ฮามิด อายุ 27 ปี และเพิ่งทำงานกับสายการบิน Malaysia Airlines ได้เพียง 6 ปีกว่าเท่านั้น

เที่ยวบิน MH370 เดินทางในเส้นทางการบินปกติขึ้นไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ แต่หลังจากบินเหนือทะเลจีนใต้ได้ไม่ถึงชั่วโมง เที่ยวบิน MH370 ก็ขาดการติดต่อไป โดยคำพูดสุดท้ายจากกัปตันระบุว่า “ราตรีสวัสดิ์ มาเลเซีย 370” ซึ่งเป็นคำพูดตอบกลับแก่เจ้าหน้าที่หอบังคับการบินในเวียดนาม จากการตรวจจับเรดาห์ทางทหารพบว่า เครื่องบินเปลี่ยนเส้นทางการบินวกกลับไปยังคาบสมุทรมลายูแทน ซึ่งเชื่อกันว่าเที่ยวบินยังคงบินลงไปทางทิศใต้เรื่อยๆ เหนือมหาสมุทรอินเดียใต้ก่อนจะตกลงและหายสาบสูญ

กระบวนการค้นหาเครื่องบินในมหาสมุทรอินเดียกินพื้นที่ 710,000 ตารางกิโลเมตร นำทีมโดยมาเลเซีย, จีน และออสเตรเลีย ประมาณตัวเลขค่าใช้จ่ายโดย Darren Chester รัฐมนตรีกระทรวงโครงสร้างพื้นฐานและการขนส่งระบุว่าอยู่ที่ราว 151 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นเงินไทยราว 4,800 ล้านบาท โดยค่าใช้จ่ายส่วนใหญ่ทางรัฐบาลมาเลเซียเป็นผู้รับผิดชอบ และถือเป็นค่าใช้จ่ายที่แพงที่สุดในการค้นหาเครื่องบินเท่าที่เคยมีมาในประวัติศาสตร์

ในความเป็นจริงมาเลเซียเองต้องการที่จะหยุดค้นหามาตั้งแต่เดือนมกราคม ปี 2017 แล้ว แต่ด้วยแรงกดดันจากบรรดาครอบครัวของผู้สูญหายทำให้ทางรัฐบาลมาเลเซียลงนามในข้อตกลงที่จะค้นหาเพิ่มเติมอีกครั้งเป็นเวลา 90 วัน เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา โดยเซ็นสัญญามูลค่า 70 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 2,000 ล้านบาทร่วมกับบริษัท Ocean Infinity ของสหรัฐฯ เพื่อค้นหาในบริเวณทางตอนเหนือของพื้นที่เดิม โดยบริษัทระบุว่าหากไม่พบจะไม่รับค่าจ้าง (No find, No fee)

แผนที่แสดงพื้นที่และความลึกที่ถูกค้นหา ข้อมูลจากเดือนกรกฎาคม ปี 2017 โดย Geoscience Australia, AFP

ตลอดสี่ปีของการการค้นหา เจ้าหน้าที่พบชิ้นส่วนของเครื่องบินจำนวนหนึ่ง แต่มีเพียงไม่กี่ชิ้นเท่านั้นที่ได้รับการยืนยันว่าเป็นชิ้นส่วนจากปีกขวาของเที่ยวบิน MH370 โดยพบที่แทนซาเนีย, มอริเชียส และเกาะเรอูนียง ซึ่งห่างไกลจากจุดที่เชื่อกันว่าเป็นบริเวณที่เที่ยวบินดังกล่าวหายไปมาก

ทำไมการหายไปของเที่ยวบิน MH370 จึงเป็นปริศนาที่ยากจะคลี่คลาย? ส่วนหนึ่งมาจากการที่เจ้าหน้าที่ไม่ทราบตำแหน่งของจุดตกที่แน่ชัดท่ามกลางมหาสมุทรอินเดียอันกว้างใหญ่ไพศาล ประกอบกับไม่มีข้อมูลและร่องรอยอื่นๆ เพิ่มเติม แม้พวกเขาจะสร้างแบบจำลองคอมพิวเตอร์ และค้นหาตามเส้นทางที่คาดว่าน่าจะเป็นจุดที่ MH370 หายไปแล้วก็ตาม แต่เมื่อไม่พบอะไรยิ่งนานวันผ่านไป ความเป็นไปได้และความหวังที่จะพบคำตอบก็ลดน้อยลงเรื่อยๆ

ย้อนกลับไปเมื่อเดือนเมษายน ปี 2014 หลังเหตุการณ์ไม่นาน มีรายงานพบสัญญาณจากกล่องดำของเครื่องบินลำดังกล่าว แต่จากความลึกมากถึง 4,500 เมตรนั้นยากต่อการเก็บกู้ อีกทั้งแบตเตอร์รี่ในกล่องดำนั้นก็มีอายุเพียงแค่ 30 วันเท่านั้น สำนักข่าว Washington Post ได้ทำกราฟิกแสดงระดับความลึกของสัญญาณจากกล่องดำมาให้ได้ชมกัน ซึ่งเมื่อได้ชมแล้วคงจะพออนุมานได้ว่าเศษซากอื่นๆ ของตัวเครื่องบินเองนั้นก็น่าจะจมอยู่ในระดับความลึกที่ยากต่อการค้นหาเช่นเดียวกัน

ชมกราฟิกแสดงความลึกของกล่องดำ ที่นี่

 

แผนที่แสดงเส้นทางการบินของเที่ยวบิน MH370 เส้นประสีน้ำเงินคือเส้นทางตามแผนการบิน ส่วนเส้นประสีแดงคือเส้นทางที่คาดว่าเที่ยวบินน่าจะไป

ทฤษฎีสมคบคิด

ปริศนาของการหายไปอันแสนลึกลับนี้ก่อให้เกิดทฤษฎีสมคบคิดมากมาย บ้างเชื่อว่าโศกนาฏกรรมของเที่ยวบิน MH370 นี้ไม่ได้เกิดจากอุบัติเหตุ หรือน้ำมันหมดเป็นแน่ และเหล่านี้คือส่วนหนึ่งของทฤษฎีสมคบคิดที่เกิดขึ้นตลอดหลายปีที่ผ่านมา

ไฮแจ็ค – Norman Davies ผู้เขียนหนังสือ Beneath Another Sky: A Global Journey into History เชื่อว่าเที่ยวบินลำนี้อาจขนส่งเทคโนโลยีบางอย่างไปยังกรุงปักกิ่ง และถูกปล้นกลางทาง โดยเขาระบุว่าผู้ก่อการร้ายชาวอเมริกันอาจพยายามที่จะหยุดเครื่องบิน และเอาเครื่องลงจอดยังเกาะดีเอโก การ์เซีย ซึ่งเป็นที่ตั้งฐานทัพของสหรัฐฯ ในมหาสมุทรอินเดีย แต่แล้วเครื่องก็ถูกแฮ็คระยะไกลจากใครบางคนอีกครั้ง เพื่อขัดขวางไม่ให้ผู้ร้ายทำสำเร็จ

ผู้โดยสารลึกลับ – ผู้โดยสารที่ไม่ได้รับเชิญบางคนดิ่งเครื่องลงสู่มหาสมุทร ทฤษฎีนี้เกิดขึ้นจากรายงานที่ระบุว่า ผู้สูญหายมีทั้งหมด 239 คน ในจำนวนนี้เป็นผู้โดยสาร 226 คน (อีกสี่คนในรายชื่อไม่ได้ขึ้นเครื่อง) และมีลูกเรืออีก 12 คน รวมเป็น 238 คนเท่านั้น จึงเป็นไปได้ว่าอาจมีผู้โดยสารที่ไม่ได้รับเชิญเกินมา 1 คน? อย่างไรก็ตาม จำนวนผู้โดยสารจริงอาจผิดพลาด หรือเปลี่ยนแปลงในนาทีสุดท้ายก็เป็นได้

รอยแตกบนเครื่องบิน – ย้อนกลับไป 6 เดือนก่อนเกิดเหตุ หน่วยงานตรวจสอบการบินสหรัฐฯ ประกาศเตือนให้สายการบินตรวจสอบรอยแตกรอยรั่วของเครื่องบินโบอิ้งรุ่น 777 ซึ่งอาจส่งผลต่อความดันบรรยากาศในเครื่องบินได้ ฉะนั้นแล้วเป็นไปได้ที่ว่าเครื่องบินอาจเกิดระเบิดกลางอากาศจากความหลงลืมเล็กๆ น้อยๆ นี้ อย่างไรก็ตามทฤษฎีนี้ยังไม่ตอบคำถามที่ว่า เหตุใดเที่ยวบิน MH370 จึงบินออกนอกเส้นทางไปยังมหาสมุทรอินเดีย?

สถานที่ตั้งของอนุสรณ์สถานรำลึกถึงเหตุการณ์เที่ยวบิน MH370 บริเวณแม่น้ำ Swan ในเมืองเพิร์ท ของออสเตรเลีย
ภาพถ่ายโดย Western Australia

สามเหลี่ยมเบอร์มิวดาเอเชีย – หนึ่งในทฤษฎีที่โด่งดังที่สุดบนโซเชียลมิเดียระบุว่า อาจมีสามเหลี่ยมเบอร์มิวดาแห่งที่สองอยู่ในมหาสมุทรอินเดีย ซึ่งก่อให้เกิดการอับปางของเรือเดินสมุทรและเครื่องบินหลายลำ ด้านรัฐมนตรีมาเลเซียเองเคยออกมาสนับสนุนแนวความคิดดังกล่าวโดยระบุว่า บริเวณพื้นที่ที่เที่ยวบิน MH370 หายไปนั้นอยู่ตรงข้ามกับสามเหลี่ยมเบอร์มิวดาในมหาสมุทรแอตแลนติกพอดี อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เขาพูดนั้นผิด เพราะรายงานจาก The Sunday Times ระบุว่าพื้นที่ตรงกันข้ามของบริเวณที่ MH370 หายไปแท้จริงแล้วอยู่ในทะเลแคริบเบียนต่างหาก

แผนฆ่าตัวตาย – Larry Vance ผู้เชี่ยวชาญด้านอุบัติเหตุการบินเผยกับรายการ 60 Minutes Australia ตัวเขาเชื่อว่า กัปตันผู้ขับเครื่องบินนั้นเป็นคนปิดเครื่องมือสื่อสารและปรับลดความดันอากาศในเครื่องบิน ซึ่งส่งผลให้ผู้โดยสารหมดสติ จากนั้นก็ดิ่งเครื่องลงมหาสมุทรเพื่อฆ่าตัวตาย โดยมีสาเหตุมาจากโรคซึมเศร้าหลังถูกภรรยาขอหย่า แต่จนถึงวันนี้ก็ยังไม่มีหลักฐานใดๆ มายืนยันแนวความคิดดังกล่าวว่าเป็นเรื่องจริง

เกาหลีเหนืออยู่เบื้องหลัง – ไม่น่าแปลกใจที่ประเทศลึกลับที่สุดในโลกจะถูกโยงเข้ามาเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ลึกลับ โดยเชื่อกันว่าเครื่องบินอาจถูกขีปนาวุธของเกาหลีเหนือยิงเข้า เนื่องจากในวันที่ 5 มีนาคม ปี 2014 เครื่องบินของสายการบินไชน่าเซาท์เทิร์นแอร์ไลนส์ระบุว่า พวกเขาบินผ่านเส้นทางที่เกาหลีเหนือยิงขีปนาวุธ หลังขีปนาวุธถูกยิงออกไปแค่เพียง 7 นาทีเท่านั้น และในอีกสามวันถัดมา เครื่องบินของสายการบินมาเลเซียแอร์ไลนส์ก็หายไปอย่างปริศนา

MH370 และ MH17 คือลำเดียวกัน – MH17 คือเที่ยวบินของสายการบินมาเลเซียแอร์ไลนส์ที่เดินทางจากกรุงอัมสเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์ไปยังกรุงกัวลาลัมเปอร์ มาเลเซีย เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม ปี 2014 แต่ถูกยิงตกในยูเครนโดยขีปนาวุธไม่ทราบที่มา ซึ่งเชื่อกันว่าอาจเป็นฝีมือของกองกำลังรัสเซีย (หรือกองกำลังที่รัสเซียให้การหนุนหลัง) ที่เข้าใจผิดว่าเครื่องบินลำดังกล่าวเป็นเครื่องบินทหาร รายงานจาก humansarefree.com ทฤษฏีนี้เชื่อว่าเครื่องบินถูกไฮแจ็คไปยังฐานทัพดีเอโก การ์เซีย จากนั้นอีกไม่กี่เดือนถัดมา เครื่องบินก็จงใจทำให้ถูกยิงตกในยูเครน เพื่อใส่ร้ายรัสเซีย อย่างไรก็ดีผลจากการสืบสวนชิ้นส่วนจากเที่ยวบิน MH17 ยืนยันชัดเจนว่าเป็นคนละลำกับเที่ยวบิน MH370

บนโลกออนไลน์ สมาชิกกลุ่ม Voice370 ซึ่งเป็นครอบครัวและญาติของผู้สูญหายรวมกันเขียนจดหมายถึงรัฐบาลชุดใหม่ของมาเลเซีย เรียกร้องให้เปิดเผยข้อมูลของเที่ยวบิน MH370 และการค้นหาอย่างละเอียด รวมไปถึงขอร้องให้ทางรัฐบาลพิจารณาค้นหาต่อไป เพราะพวกเขายังคงรอคอยคำตอบ แม้จะผ่านมาสี่ปีแล้วก็ตาม ในขณะที่เฟซบุ๊คเพจ MH370 Families เองก็ยังคงอัพเดทผลการค้นหาเป็นระยะๆ ซึ่งหากคุณผู้อ่านสนใจติดตามสามารถคลิกเข้าไปดูได้ ที่นี่

 

อ่านเพิ่มเติม

อลหม่านการบิน

 

แหล่งข้อมูล

ครบรอบ 3 ปี MH370 หายสาบสูญ พบเจออะไรบ้าง?

ปมบินมรณะ MH370 หายลึกลับ โต้กันวุ่นทฤษฎีดราม่า กัปตันนำเครื่องดิ่งทะเลเอง

MH370 หายไปไหน? เผยทฤษฎีสมคบคิดเกิดอะไรกับเครื่องบิน 4 ปีหาไม่เจอ

การหายสาบสูญของเที่ยวบิน MH370 อุบัติเหตุที่ลึกลับสุดในประวัติฯ การบินพาณิชย์

The Depth of Problem

The Search for Missing Malaysian Airlines Flight MH370 Is Ending After Four Years

MH370 search to end on May 29 after four years

What happened to flight MH370, when did the Malaysia Airlines plane disappear and is the search ongoing?

The search for MH370 ends next week. Here are the theories behind the plane’s disappearance.

MH370 conspiracy theories: what happened to the missing Malaysia Airlines flight?

© COPYRIGHT 2024 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.