กอบกู้ศักดิ์ศรีหญิงม่าย

กอบกู้ศักดิ์ศรี หญิงม่าย

เนิ่นนานก่อนฟ้าสาง หญิงม่าย แห่งวฤนทาวันพากันเร่งฝีเท้าไปตามตรอกมืดๆขรุขระ เลี่ยงหลบแอ่งโคลนและขี้วัวสดใหม่ ริมทางเท้ามีจุดแจกอาหารซึ่งทุกเช้าอาสาสมัครจะตั้งเตาแก๊สยักษ์ต้มชาหม้อใหญ่  หญิงม่ายเหล่านี้รู้ว่าต้องไปถึงแต่เช้า เพราะถ้ามาช้าเกินไป ชาอาจหมด “ตอนเช้าๆฉันรีบไม่ไหว ฉันไม่ค่อยสบาย” หญิงม่ายผู้หนึ่งบ่น “แต่เราต้องรีบ  เพราะไม่รู้ว่าจะพลาดอะไรไปบ้าง”

ตอนนั้นเป็นเวลาตีห้าครึ่ง อรุณรุ่งเยียบเย็น พระจันทร์เสี้ยว หญิงม่ายสองสามคนนุ่งส่าหรีสีสดใส แต่ส่วนใหญ่นุ่งสีขาว ในอินเดียนี่คือเครื่องบ่งชี้สถานะของผู้หญิงที่สูญเสียสามีไป ไม่ว่าจะเมื่อเร็วๆนี้ หรือหลายสิบปีมาแล้วก็ตาม

ไม่มีใครเคยนับจำนวนหญิงม่ายในวฤนทาวันอย่างจริงจัง  รายงานบางฉบับประมาณว่ามีอยู่สองหรือสามพันคน บางฉบับให้ตัวเลขสูงถึง 10,000 คนหรือมากกว่านั้น  วฤนทาวันและเมืองเล็กๆที่อยู่ใกล้เคียงเป็นศูนย์กลางทางจิตวิญญาณ เนืองแน่นไปด้วยวิหารพระกฤษณะ  และอาศรมที่ตลอดทั้งวันจะได้ยินเสียงสวดภชัน (bhajan) หรือเพลงบูชาดังก้องกังวานโดยมีเหล่าหญิงม่ายยากจนที่นั่งเบียดเสียดกันบนพื้นเป็นผู้ขับขาน  ถึงแม้ปกติหน้าที่นี้จะเป็นของผู้แสวงบุญหรือนักบวช แต่หญิงม่ายเหล่านี้จะได้รับอาหารร้อนๆ หรือบางครั้งก็เสื่อรองนอนยามค่ำคืน  เพื่อแลกกับการร้องเพลงบูชาซ้ำแล้วซ้ำเล่า บางครั้งอาจยาวนานครั้งละสามหรือสี่ชั่วโมง

หญิงม่ายยังอาศัยอยู่ตามศูนย์พักพิง  ห้องเช่ารวม  และยามไร้ที่ซุกหัวนอนในร่อาคาร ก็อาศัยผ้าใบกางค้างแรมกันข้างถนน วฤนทาวันอยู่ห่างจากเดลีไปทางใต้ราว 150 กิโลเมตร แต่หญิงม่ายมาจากทั่วประเทศ โดยเฉพาะรัฐเบงกอลตะวันตกซึ่งผูกพันกับพระกฤษณะเป็นพิเศษ  บางครั้งพวกเธอติดสอยห้อยตามครู (guru) หรือผู้นำทางจิตวิญญาณที่ไว้วางใจมาที่นี่  แต่บางครั้งกลับเป็นญาติๆ ที่พาสมาชิกม่ายในครอบครัวมาทิ้งไว้ตามอาศรมหรือหัวมุมถนน  ก่อนจะขับรถจากไป

อินเดีย: ชุมชนแม่ม่ายในเมืองที่มีวัดวาอารามสำคัญดึงดูดหญิงฮินดูจากเนปาลและบังกลาเทศด้วยเช่นกัน ภักดี ทาศี หญิงม่ายวัย 75 ปีจากบังกลาเทศผู้นี้ อาศัยอยู่หลังอารามริมแม่น้ำแห่งหนึ่งในเมืองนวทวีป รัฐเบงกอลตะวันตก มานานถึง 25 ปี เธอสวดมนต์ในอาศรมครั้งละหลายชั่วโมงเพื่อแลกอาหารและที่พัก

แม้แต่ญาติพี่น้องที่ไม่ได้ขับไล่หญิงม่ายออกจากบ้านก็อาจแสดงออกไม่ว่าจะทางคำพูดหรือการกระทำว่า  บทบาทหน้าที่ในครอบครัวของเธอสิ้นสุดลงแล้ว  หญิงม่ายในอินเดียต้องแบกตราบาปแห่งเคราะห์ร้ายที่อายุยืนยาวกว่าสามีไปตลอด  พวกเธอ “มีชีวิตทางกาย แต่ตายแล้วทางสังคม” ตามคำของวสันฐา ปาตรี นักจิตวิทยาในเดลี  ผู้เขียนเรื่องชะตากรรมของหญิงม่ายในอินเดีย  และเพราะวฤนทาวันเป็นที่รู้จักในฐานะ “เมืองแม่ม่าย” แหล่งที่พอจะหาอาหารร้อนๆ มิตรภาพ และจุดหมายในชีวิตได้   หลายคนจึงมุ่งหน้ามาที่นี่ตามลำพังโดยรถประจำทางหรือรถไฟ  ดังที่เคยเป็นมาหลายชั่วอายุคน “ไม่มีใครในหมู่พวกเราอยากกลับบ้านหรอกค่ะ” หญิงร่างสูงยาวชื่อกนักลตะ อธิการี บอกจากเตียงในห้องพักของศูนย์พักพิงที่เธออาศัยอยู่รวมกับหญิงม่ายอีกเจ็ดคน “เราไม่พูดกับครอบครัวอีก ตอนนี้เราคือครอบครัวของกันและกัน”

เธอนั่งขัดสมาธิอยู่บนเตียง ทั้งที่แขนขางอบิดผิดรูปด้วยวัยและโรคภัย ส่าหรีสีขาวของเธอคลุมศีรษะไว้หลวมๆ ขนบการโกนศีรษะหญิงม่ายหลังสามีตายเคยแพร่หลายในอินเดียนัยว่าเพื่อประกาศให้สังคมรู้ว่า หญิงผู้นี้ไม่จำเป็นต้องมีเสน่ห์ดึงดูดเยี่ยงอิสตรีอีกต่อไป  และอธิการีก็ดูเหมือนเพิ่งโกนศีรษะได้ไม่นาน “ฉันโกนผมเพราะผมของฉันเป็นของเขา” เธอบอกและเสริมว่า ความงามยิ่งใหญ่ที่สุดของผู้หญิงคือเรือนผมและเสื้อผ้า ในเมื่อสิ้นสามีแล้ว ฉันจะมีสิ่งเหล่านั้นไว้ทำไม”

ตอนนี้อธิการีอายุเท่าไร “เก้าสิบหก” แล้วเธออายุเท่าไรตอนสามีตาย “สิบเจ็ดค่ะ”

ฉันมาที่วฤนทาวันเพราะตลอดช่วงเวลาหนึ่งปี  เอมี ทันซิง ช่างภาพกับฉัน ตระเวนเยือนชุมชนของแม่ม่ายในสามพื้นที่ที่แตกต่างกันทั่วโลก  เราไม่ได้มุ่งสำรวจประเด็นเกี่ยวกับการสูญเสียส่วนบุคคล  แต่ต้องการตีแผ่ว่า สังคมสามารถตีตราตัวตนหรืออัตลักษณ์ใหม่ที่ไม่เป็นธรรมแก่หญิงที่สูญเสียสามีอย่างไร ทั้งในฐานะตัวกาลกิณี ผู้ถูกอัปเปหิ ตัวก่อกวนผู้เสียสละ และเหยื่อ

บอสเนีย: เพื่อนรักสมัยเด็กซึ่งแต่งงานกับสองพี่น้องที่ถูกสังหารในสงครามบอสเนีย ฟาตา เลเมช (ซ้าย) กับฮามีดา เลเมช ปัจจุบันอาศัยและทำสวนกับหญิงม่ายสงครามอีกสี่คนในหมู่บ้านสเกตชี

ในปี 2011 เมื่อองค์การสหประชาชาติประกาศให้วันที่ 23 มิถุนายนเป็นวันแม่ม่ายสากล (International Widow’s Day) คำอธิบายอย่างเป็นทางการที่เคร่งขรึมจริงจังระบุว่า แม่ม่ายในหลายวัฒนธรรมมีความสุ่มเสี่ยงจากทั้งขนบที่กดขี่ข่มเหง  ความยากจน  ผลกระทบจากสงครามที่คร่าชีวิตสามีของพวกเธอ  ถึงขนาดที่ว่าการตกพุ่มม่ายในตัวเองอาจถือเป็นหายนะทางสิทธิมนุษยชนเลยทีเดียว  ในบอสเนียและเฮอร์เซโกวีนา  เราอยู่กับแม่ม่ายสงครามกลุ่มหนึ่งนานหนึ่งเดือนพวกเธอใช้เวลายี่สิบปีค้นหาและฝังชิ้นส่วนกระจัดกระจายของชายกว่า 7,000 คนที่ถูกสังหาร ในยูกันดา เรารู้จักความหมายใหม่ของวลี “มรดกแม่ม่าย” ซึ่งไม่ได้หมายถึงสินทรัพย์ที่หญิงม่ายได้รับ   แต่หมายถึงการที่ญาติฝ่ายสามีไม่เพียงยึดทรัพย์สินอันเป็นมรดกที่เธอได้รับไปโดยมิชอบ  แต่ยังเห็นเธอเป็นมรดกชิ้นหนึ่งที่จะยกให้เป็นภรรยาหรือคู่นอนของญาติคนใดที่พวกเขาเห็นชอบก็ได้

เราวางแผนไปวฤนทาวันและพาราณสี เมืองใหญ่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของโกลกาตา  ซึ่งเป็นจุดหมายของหญิงม่ายหลายพันคนเช่นกัน  โดยตั้งใจให้ตรงกับช่วงที่มีการจัดกิจกรรมส่งเสริมแนวคิดเรียบง่ายที่ว่า  ควรเปิดพื้นที่ให้หญิงม่ายมีส่วนร่วมในเทศกาลเฉลิมฉลองต่างๆด้วย ทั่วอินเดีย เทศกาลทิวาลี (Diwali) และโฮลี (Holi) คือช่วงเวลาแห่งการฉลองอันน่ารื่นรมย์ของผู้คน  ในเทศกาลทิวาลีจะมีการให้ของขวัญ  จุดเทียน และดอกไม้ไฟสว่างไสว ส่วนเทศกาลโฮลีเป็นการเฉลิมฉลองบนท้องถนนเพื่อให้ผู้คน “เล่นโฮลี” ตามที่คนอินเดียเรียก นั่นคือการสาดน้ำและฝุ่นสีต่างๆ ใส่กันอย่างสนุกสนาน

บอสเนีย: ไฮรา ชาติช ผู้ก่อตั้งองค์กรสตรีแห่งซเรเบรนิตซา ซึ่งสูญเสียสามีและลูกชายในเหตุสังหารหมู่มื่อปี 1995 นั่งพักอย่างเหนื่อยอ่อนระหว่างเตรียมงานรำลึกวันครบรอบเหตุการณ์ องค์กรแห่งนี้ยังคงเรียกร้องความเป็นธรรมให้ผู้ชายที่ถูกกองกำลังชาวเซิร์บสังหารโหดในช่วงหนึ่งสัปดาห์ของสงครามบอสเนีย

สำหรับผู้หญิงที่สังคมคาดหวังให้ใช้ชีวิตที่เหลืออย่างมีศักดิ์ศรีแบบไร้ปากเสียง  การร่วมฉลองเทศกาลรื่นเริงเช่นนี้เป็นสิ่งที่ไม่อาจยอมรับได้เลย  “ทันทีที่ตกพุ่มม่าย สังคมจะบอกว่า  คุณไม่ได้รับอนุญาตให้ฉลองเทศกาลอะไรอีก” วินีตา เวอร์มา เจ้าหน้าที่องค์กรการกุศลแห่งหนึ่ง บอกฉัน “แต่เราอยากให้ผู้หญิงเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของสังคม พวกเธอมีสิทธิใช้ชีวิตของตัวเองอย่างเต็มที่ค่ะ”

เวอร์มาเป็นรองประธานองค์กรสุลาภอินเตอร์เนชั่นแนลของอินเดีย  ซึ่งจัดบริการสนับสนุนและให้เงินช่วยเหลือรายเดือนแก่หญิงม่ายในศูนย์พักพิงที่วฤนทาวันและพาราณาสี เมื่อไม่กี่ปีก่อน สุลาภอินเตอร์เนชั่นแนลเริ่มจัดงานทิวาลีและโฮลีให้หญิงม่ายในทั้งสองเมือง โดยเริ่มจากการจัดเล็กๆ เพื่อหยังเชิง  ก่อนจะจัดอย่างเต็มรูปแบบในเวลาต่อมา

ยูกันดา: หนึ่งสัปดาห์หลังสามีเสียชีวิต โซโลเม เซชิมูลี วัย 54 ยืนขวางประตูบ้านของเธอกับสามีในเขตลูเวโรอย่างองอาจ ญาติสามีกวัดแกว่งอาวุธบุกเข้ามาในวันทำพิธีฝังศพ และพยายามใช้กำลังข่มขู่คุกคามเพื่อยึดบ้านของเธอ

พอถึงปี 2015 การจัดงานฉลองในวฤนทาวันและพาราณสี  หรือที่บางครั้งสื่อเรียกว่า  “เมืองแม่ม่าย” ก็ตั้งใจย้ายออกมาจัดกลางแจ้ง ไม่มีเสียงประณามปรากฏในสื่ออินเดีย และตอนที่ฉันกับทันซิงอยู่ในอินเดีย เสียงบ่นเดียวที่เราได้ยินเกี่ยวกับแผนการจัดงานฉลองเทศกาลให้หญิงม่ายก็คือ งานเหล่านี้มุ่งสร้างภาพมากกว่าจะสร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างจริงจัง

“การเปลี่ยนแปลงที่แท้จริงต้องมาจากสังคมที่ขับไล่หญิงม่ายมาตั้งแต่ต้น” เกาตัม นักสังคมสงเคราะห์ที่อยากลบคำว่า “ม่าย” ออกจากพจนานุกรม บอก  เมื่อฉันถามว่าหญิงม่ายเหล่านี้ควรติดป้ายอะไรถึงจะดี  เธอก็คิดเรื่องนี้ไว้ก่อนแล้วเช่นกัน “แม่ไงคะ” เธอตอบ “ถ้าไม่ใช่แม่ ก็ลูกสาว ไม่ก็พี่สาวหรือน้องสาว เธอยังเป็นภรรยาด้วย ก็แค่สามีไม่มีชีวิตอยู่แล้วเท่านั้น”

เรื่อง ซินเทีย กอร์นีย์

ภาพถ่าย เอมี ทันซิง

 

อ่านเพิ่มเติม

“เจ้าสาววัยเด็ก” ปัญหาที่ถูกลืมในอินเดีย

© COPYRIGHT 2024 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.