ศาสนาเชน: วิถีแห่งอหิงสา

ศาสนาเชน : วิถีแห่งอหิงสา

“จัยจีเนนดระ” น้ำเสียงแผ่วเบาที่เปล่งออกมา พร้อมอากัปกิริยาการยกมือไหว้อย่างนอบน้อม อาจเป็นคำทักทายที่ไม่คุ้นหูใครหลายคน เมื่อเทียบกับคำทักทายยอดฮิตอย่าง “นมัสเต” ของภารตชนแต่นี่เองคือจุดเริ่มต้นในการเดินทางเพื่อตามหาที่มาของความหมาย “ขอให้เชนจงมีชัย” ของผม

หลายพันปีก่อน ณ ดินแดนชมพูทวีปอันรุ่มรวยไปด้วยการแสวงหาคุณค่าความหมายทางจิตวิญญาณสายธารความเชื่อเก่าแก่ที่หยั่งรากลึกมายาวนาน หล่อหลอมจนเกิดเป็นศาสนาพราหมณ์-ฮินดูที่มีอิทธิพลอย่างสูงต่อการชี้นำทางสังคมในดินแดนแห่งนี้ ทว่าในช่วงเวลาที่ศาสนาพราหมณ์-ฮินดูรุ่งเรืองอยู่นั้น ในดินแดนชมพูทวีปยังให้กำเนิดลัทธิความเชื่อทางจิตวิญญาณใหม่อีกสองศาสนา ได้แก่ ศาสนาเชนและศาสนาพุทธ ซึ่งเกิดจากการ “ปฏิวัติ” ความเชื่อทางศาสนาพราหมณ์-ฮินดู โดยที่ทั้งเชนและพุทธต่างเป็นศาสนาแบบอเทวนิยม (ต่างจาก”พหุเทวนิยม” ของพราหมณ์-ฮินดู) ในความหมายที่ว่า มนุษย์และธรรมชาติเป็นตัวกำหนดความจริงของชีวิตมิได้ขึ้นอยู่กับพระเจ้าหรือเทพเจ้า

หลักฐานทางประวัติศาสตร์ระบุว่า ศาสนาเชน ถือกำเนิดก่อนคริสตกาลราว 600 ปี และยังร่วมสมัยกับพุทธศาสนาศาสดาหรือผู้ให้กำเนิดศาสนาเชนคือพระมหาวีระ ผู้มีพระประวัติคล้ายคลึงกับพระพุทธเจ้าอย่างมาก จนบางครั้งหลายคนถึงกับหลงเข้าใจผิดคิดว่า ทั้งสองพระองค์เป็นบุคคลคนเดียวกัน

นักบวชเชนกำลังสักการะพระรูปพระโคมเฏศวร บุตรองค์ที่สองของพระอทินาถภควันต์ปฐมตีรถังกร ศาสดาองค์แรกของศาสนาเชน พระรูปนี้ประดิษฐานอยู่ที่เมืองศรวณพลโคละ รัฐกรณาฏกะ

พระมหาวีระประสูติในวงศ์กษัตริย์ลิจฉวี ผู้ครองนครเวสาลี แคว้นวัชชี ดินแดนทางตอนเหนือของประเทศอินเดียเมื่อราว 635 ปีก่อนคริสตกาล ขณะมีพระชนมายุ 30 พรรษา พระมหาวีระทรงสละชีวิตทางโลกและเสด็จออกผนวชมุ่งแสวงหาโมกขธรรมอย่างจริงจัง พระองค์ทรงบำเพ็ญสมาธิและอัตตกิลมถานุโยค (การทรมานตน) โดยปราศจากเครื่องทรง ทั้งทรงถือสัจวาจาไม่ยอมเอ่ยปากพูดคุยกับใครเป็นระยะเวลายาวนานถึง 12 ปี จนบรรลุธรรมขั้นสูงสุด หลุดพ้นจากกิเลสทั้งปวง จากนั้นจึงทรงละวางสัจวาจาเพื่อออกประกาศศาสนา ซึ่งได้ชื่อในเวลาต่อมาว่า “เชน” แปลว่า “ชนะ”

ศาสนาเชน มีปรัชญาความเชื่อเรื่องการเวียนว่ายตายเกิดเช่นเดียวกับพราหมณ์-ฮินดู และพุทธศาสนา ทุกชีวิตมิอาจดับสูญ มนุษย์ สัตว์ พืช จุลินทรีย์ และไม่เว้นแม้กระทั่งธาตุดิน นํ้า ลม ไฟ ทั้งหมดล้วนแล้วแต่มีชีวิตที่ต้องพึ่งพาตัวเอง ไม่สามารถพึ่งพาชีวิตอื่นได้ ทุกชีวิตมีกรรมอันเป็นผลของการกระทำที่จะส่งผลในเรื่องของการเวียนว่ายตายเกิดหรือสังสารวัฏ ศาสดาในศาสนาเชนมีอีกชื่อหนึ่งว่า “ตีรถังกร” ชาวเชนเชื่อว่า ที่ผ่านมาตีรถังกรประสูติมาในโลกแล้ว 24 พระองค์ โดยพระมหาวีระคือตีรถังกรองค์ที่ 24

ปัจจุบัน มีชาวอินเดียนับถือศาสนาเชนอยู่เพียงราวห้าล้านคน จากจำนวนประชากรทั้งหมดกว่า 1,200 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 0.4 ของประชากรทั้งประเทศ สาธุชนชาวเชนมีอยู่ทั่วทุกภาคของประเทศอินเดีย แต่ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในรัฐแถบตะวันตกและตอนใต้ เช่น ราชสถานคุชราต มัธยประเทศ และกรณาฏกะ นอกจากนี้ ยังมีชาวเชนโพ้นทะเลอีกจำนวนหนึ่งที่ไปตั้งรกรากในต่างประเทศ เช่น ยุโรป เอเชีย และสหรัฐอเมริกา สาธุชนชาวเชนมักประกอบอาชีพด้านค้าขาย ครูบาอาจารย์ นักธุรกิจ นักลงทุน เสียเป็นส่วนใหญ่ แต่ไม่ประกอบอาชีพด้านเกษตรกรรม เพราะการปลูกพืชผลทางการเกษตรมีความเสี่ยงที่จะไปเบียดเบียนที่อยู่อาศัยและทำลายสิ่งมีชีวิตที่อยู่ใต้พื้นดิน ซึ่งถือเป็นการกระทำที่ผิดต่อหลักอหิงสธรรม หลักธรรมสำคัญที่สุดข้อหนึ่งในศาสนาเชน การที่ศรัทธา-ชนชาวเชนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพค้าขาย พวกเขาจึงมักรํ่ารวยและบริจาคเงินให้วัดเพื่อทำนุบำรุงศาสนา

บนถนนจาวรีบาซาร์ในนิวเดลี เมืองหลวงของประเทศอินเดีย ผมเดินฝ่ากระแสคลื่นภารตชนที่วุ่นวายสับสนเป็นระยะทางเกือบสามกิโลเมตร จากที่พักในย่านชุมทางรถไฟสถานีนิวเดลีมุ่งหน้าไปยังถนนจาดนีจ๊อก ที่ตั้งของวัดเชนเก่าแก่และมีชื่อเสียงมากแห่งหนึ่ง วัดแห่งนี้สร้างขึ้นในศตวรรษที่สิบหก ศิขรสีแดงชาดสามยอดกระทบกับแสงอาทิตย์ยามเย็นเด่นเป็นสง่า เป็นที่มาของชื่อวัดว่า “ศรีทิคัมพรเชนลา” วัดเชนแห่งนี้เป็นวัดในนิกายทิคัมพรหนึ่งในสองนิกายหลักของศาสนาเชน (อีกนิกายหนึ่งคือเศวตัมพร ทั้งสองนิกายยังมีนิกายแยกย่อยออกไปอีก

เมื่อคนแปลกหน้าต่างศาสนาพร้อมอุปกรณ์บันทึกภาพมาเยือน บรรดาสาธุชนจึงคอยจับจ้องพวกเราชนิดไม่ยอมให้คลาดสายตา ผู้ดูแลวัดเดินประกบเราทุกฝีก้าว ผมพยายามถามไถ่ถึงแก่นสารสาระของศาสนา ก็ไม่ได้คำตอบจากผู้ดูแล ราวกับว่าพวกเขาหวงแหนอะไรบางอย่าง ที่นั่นมีเพียงข้อมูลที่เขียนไว้ตามผนังและหนังสือบทสวดมนต์ภาษาปรากฤตที่วางไว้สำหรับผู้มาประกอบพิธีทางศาสนา

ที่นี่ผมได้พูดคุยกับศรัทธาชนชาวเชนจำนวนหนึ่งซึ่งแวะเวียนมาสวดมนต์ประติกรมนะ (อโหสิกรรมต่อบาป) ในยามเย็นหลังเลิกงาน และสนทนาธรรมกับเหล่าจีเซีย (แม่ชี) ใต้ร่มไม้ใหญ่ภายในลานธรรม ซึ่งมีเพียงรั้วเหล็กเตี้ย ๆ เป็นกำแพงกั้นระหว่างโลกทางธรรมกับโลกภายนอกที่เวลานี้อึงอลไปด้วยเสียงแตรรถที่บีบประชันกันราวกับกำลังทำสงคราม “คนพวกนี้หัวเก่า ปิดกั้นคนนอกศาสนา คุณลองหาโอกาสมาใหม่วันพรุ่งนี้แล้วกัน” สาธุชนวัยหนุ่มคนหนึ่งบอกพวกเราในที่สุด

 

มุนี ศรุตนันที วัย 83 ปี นักบวชเชนนิกายทิคัมพร กำลังเดินช้าๆ ไปยังอีกอาคารหนึ่ง เพื่อศึกษาหลักธรรม เขาสละทางโลกเพื่อออกบวชตั้งแต่อายุ 66 ปี หลังเกษียณอายุจากตำแหน่งอาจารย์ในมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งของอินเดีย

อรุณรุ่งของวันใหม่ ท่ามกลางความสับสนวุ่นวายกลางเมืองหลวงแดนภารตะ ผมกับผู้ช่วยจับจองที่นั่งบนรถไฟตู้นอน เดินทางไปยังหมู่บ้านฟัลนา และต่อไปยังเมืองเล็ก ๆ ชื่อ รานัคปุระ ในรัฐราชสถาน อยู่ห่างจากกรุงนิวเดลีไปทางตะวันตกประมาณ 680 กิโลเมตร “นํ้าไหล ไฟก็มา” มะกัน ไรก้า หนุ่มพื้นเมือง ไว้หนวดดูเคร่งขรึมตามแบบฉบับชาวราชสถาน พูดถึงรีสอร์ตเล็ก ๆ ในหุบเขารานัคปุระที่เขาเป็นผู้ดูแล มะกันในวัย 23 ปีดูเป็นผู้ใหญ่เกินวัย หุบเขาแห่งนี้อุดมไปด้วยแหล่งนํ้าตามธรรมชาติ แม้จะเป็นช่วงหน้าร้อนที่ผืนดินร้อนระอุราวกับเตาอบ

เช้าวันรุ่งขึ้น มะกัน ไรก้า พาผมและผู้ช่วยซ้อนมอเตอร์ไซค์ไปยังวัดเชนรานัคปุระ ห่างจากที่พักของเราไปประมาณสองกิโลเมตร วัดเชนแห่งนี้สร้างขึ้นในศตวรรษที่สิบสี่ เพื่ออุทิศถวายแด่พระตีรถังกรองค์ที่หนึ่ง พระนามว่า อทินาถภควันต์ มีรูปแบบสถาปัตยกรรมงดงามอลังการเสาหินอ่อน 1,444 ต้น และผนังสลักลวดลายงามวิจิตร ทั้งหมดรังสรรค์ขึ้นอย่างยิ่งใหญ่เพื่อเป็นประจักษ์พยานถึงพลังศรัทธาที่มีต่อศาสนา

เช้าตรู่อย่างนี้ผมแทบไม่ได้ยินเสียงอะไร นอกจากเสียงไม้กวาดครูดไปตามพื้นคอนกรีต หญิงชราชาวพื้นเมืองกำลังทำความสะอาดลานวัด และเสียงคนสวดมนต์พึมพำ “รอผมอยู่ตรงนี้ พวกคุณเข้าไปไม่ได้” มะกันบอกพวกเรา เขาเดินตามเสียงสวดมนต์เข้าไปยังคูหาหินอ่อนขนาดประมาณ 50 ตารางเมตร หลังผ่านไปราวครึ่งชั่วโมง ชายวัยกลางคนในชุดผ้าสีขาวคลุมไหล่พร้อมผ้าปิดปากเดินนำมะกันออกมา ทั้งสองมุ่งหน้าไปยังธรรมศาลา มะกันหันมาบอกให้พวกเราเดินตามเขาเข้าไป

ชายผู้นั้นคือ ทิพยะ จันทรามุนี นักบวชเชนนิกายเศวตัมพรซึ่งเดินทางมาจำวัด ณ ธรรมศาลาแห่งนี้เมื่อสัปดาห์ก่อน ท่านทิพยะ จันทรามุนี กล่าวกับพวกเราราวกับรู้ถึงจุดมุ่งหมายในการเดินทางมาของพวกเรา ท่านสาธยายถึงหัวใจของศาสนาเชนว่าคือหลักอหิงสา การที่มนุษย์ละเว้นจากการฆ่า การทำร้าย และการเบียดเบียนทุกรูปแบบ ทั้งในความคิด วาจา และการกระทำ ผู้นับถือศาสนาเชนจึงเป็นมังสวิรัติโดยสมบูรณ์ แต่จะมีพืชผักบางชนิดที่เป็นข้อห้าม เช่น หอม กระเทียมมันฝรั่ง และพวกรากไม้ เพราะการกินพืชผักเหล่านี้ถือเป็นการทำลายชีวิตของพืชในทันที ต่างจากธัญพืชอย่างข้าวสาลีที่จะสิ้นอายุขัยเองเมื่อผลิดอกออกผล

ศรัทธาชนชาวเชนนิกายเศวตัมพรใช้ผ้าปิดปากระหว่างทำพิธีบูชาทางศาสนา เพื่อป้องกันแมลงหรือสิ่งมีชีวิตที่อาจเล็ดลอดเข้าปาก อันเป็นการทำลายชีวิตอย่างไม่เจตนาและขัดหลักอหิงสธรรม

ระหว่างบทสนทนา ผมถามท่านทิพยะ จันทรามุนี ว่า ทำไมต้องมีผ้าปิดปากตลอดเวลา ท่านตอบว่า เพื่อป้องกันแมลงและกระทั่งจุลินทรีย์ต่าง ๆ ที่อาจบินพลัดเข้าปากเราซึ่งจะกลายเป็นการฆ่าโดยไม่รู้ตัว “พวกเราปิดปากตลอดเวลาทุกครั้งที่ทำพิธีบูชาต่าง ๆ” ท่านยังกล่าวถึงหลักธรรมปฏิบัติของนักบวชเชน หรือ มหาพรตห้าข้อ อันประกอบด้วย 1) เว้นจากการฆ่า 2) เว้นจากการกล่าวเท็จ 3) เว้นจากการลักทรัพย์ 4) เว้นจากการมีเพศสัมพันธ์ และ 5) เว้นจากการยึดถือในสิ่งต่าง ๆ ว่าเป็นของตน นอกจากนี้ยังต้องฝึกควบคุมอายตนะทั้งห้า อันได้แก่ ตา หู จมูกลิ้น กาย และใจ ทั้งนักบวชและคฤหัสถ์ห้ามบริโภคอาหารหลังดวงอาทิตย์ตกเด็ดขาด ท่านบอกว่าโลกทุกวันนี้ท้าทายต่อวิถีดั้งเดิมของเชนมาก “นักบวชอย่างเราเชื่อว่า กิเลสคือตัวเราเอง ยิ่งทรมานตนมากเท่าไร เราก็ยิ่งชนะกิเลสมากเท่านั้น” ท่านทิพยะ จันทรามุนี กล่าว

เมื่อผมถามถึงนักบวชในนิกายทิคัมพร ท่านตอบว่า “เราไม่ได้พบเจอนักบวชเหล่านั้นมาหลายปีแล้ว การพบนักบวชทิคัมพรเป็นเรื่องยาก เราแทบจะไม่รู้เรื่องราวของนิกายสุดโต่งนี้เลย เพราะพวกเขาจาริกตลอดเวลา ไม่มีแผนการล่วงหน้า ไม่มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง ชาวบ้านแถวนี้เคยพบเห็นนักบวชทิคัมพรครั้งสุดท้ายเมื่อประมาณสองปีที่แล้วหลังจากนั้นก็ไม่มีใครเคยเห็นอีกเลย” ท่านทิพยะ จันทรามุนีกล่าวจบก็ลุกขึ้นทันทีเพื่อไปฉันอาหาร ระหว่างเดินไปยังโรงทาน ท่านใช้แส้สีขาวทำจากขนแกะคอยปัดกวาดไปรอบ ๆ ตัว เพื่อป้องกันแมลงหรือสัตว์เล็กสัตว์น้อยที่อาจพลัดหลงมาบนวิถีทางของท่าน

 

พลบคํ่า แสงตะวันค่อย ๆ หลีกทางให้ความมืดและม่านหมอกที่โรยตัวปกคลุม ค่างหนุมานหลายสิบตัวถือสถานะสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ของตนตามอย่างเทพเจ้าฮินดูหยิบฉวยอาหารของพวกเราหน้าห้องพัก มะกันแนะนำให้เรารู้จักกับพ่อของเขา ชายสูงวัยในชุดเทอบันสีแดง จมัน ราม ไรก้า วัย 59 ปี เป็นพ่อครัวในโรงอาหารสำหรับชาวเชนในวัดเชนรานัคปุระ ซึ่งถือเป็นงานประจำที่สร้างรายได้ให้ครอบครัวไรก้าอีกทาง นอกเหนือจากการเลี้ยงสัตว์

มะกันเล่าว่า ครอบครัวของเขาเกิดในชนเผ่าไรก้า ซึ่งเป็นชนเผ่าพื้นเมืองในราชสถาน “พวกเราเลี้ยงสัตว์มาตั้งแต่บรรพบุรุษ และนับถือศาสนาฮินดู นามสกุลผมนั่นแหละที่บ่งบอกตัวตนของเราได้ดีที่สุด” เขาบอก พ่อของเขาทำงานในวัดเชนมาได้แปดปีแล้ว ทุกปีจะมีสาธุชนชาวเชนเดินทางมายังวัดแห่งนี้จำนวนมาก เพื่อทำบุญและสักการบูชาศาสดา “ชาวเชนที่เราพบส่วนใหญ่เป็นคนดี มีการศึกษา และฐานะค่อนข้างรํ่ารวย ส่วนคนที่ประพฤติตนไม่ดีก็มีนะ” มะกันพูดพลางชี้นิ้วไปที่กองขวดวิสกี้ชื่อดังจากยุโรป “คนพวกนี้มักมากับครอบครัวแล้วอาศัยจังหวะแยกตัวออกมาดื่มสุรา แต่ก็มีจำนวนน้อยมากชาวเชนไม่มีชนชั้นวรรณะ ต่างจากพวกเราที่เรื่องเหล่านี้ยังคงฝังรากลึกในชีวิตประจำวัน ผมชอบพวกเขาตรงที่จิตใจดี และที่สำคัญ ผมกำลังคบหาอยู่กับหญิงสาวที่นับถือศาสนาเชนด้วย” มะกันเล่าอย่างภาคภูมิ “แต่ตอนนี้เธอไม่อยู่ เดินทางไปทำธุระกับทางบ้านที่มุมไบไม่อย่างนั้นผมจะพามาแนะนำให้พวกคุณรู้จัก”

“ผมเคยเห็นนักบวชชีเปลือยไม่กี่ครั้งในชีวิต ครั้งสุดท้ายที่หมู่บ้านเล็ก ๆ แห่งหนึ่งเมื่อนานมาแล้ว ตอนนั้นผมเดินทางไปเต้นรำในงานเทศกาลประจำปีของที่นั่น พวกนักบวชชีเปลือยจะเดินตัวเปล่าเล่าเปลือย มีเพียงกานํ้าและไม้กวาดหางนกยูง พวกเรากลัวนักบวชทิคัมพรมาก กลัวว่าท่านจะสาปเรา” มะกันเล่าถึงนักบวชทิคัมพร “พวกเราส่วนใหญ่ในอินเดียที่ไม่ใช่พวกหัวรุนแรงทางศาสนาให้ความเคารพศาสนาฮินดู ศาสนาพุทธ ศาสนาเชน หรือซิกข์ ซึ่งล้วนถือกำเนิดบนผืนแผ่นดินของเรา คุณเองก็เห็นชาวฮินดูและชาวซิกข์บางคนยังเข้าไปชมวัดและสักการบูชาองค์ตรีถังกร บางครอบครัวก็แต่งงานข้ามศาสนา แต่พวกเขายังคงนับถือศาสนาเดิมของครอบครัวและเปิดรับศาสนาของคู่ครองด้วย เหมือนตัวผมและแฟนสาว นี่มันคืออินเดียโฉมใหม่โดยแท้” มะกันพูดพลางยิ้มน้อยยิ้มใหญ่

 

อาจารยะ สัจจิทานันที นักบวชเชนนิกายทิคัมพร แม่ชีอารยิกา ฤทธิศรี และศาสตราจารย์ ชีวันธรกุมาร เค. เหตเปเฏยืนสนทนาธรรมระหว่างรอเข้าสักการะพระรูปพระโคมเฏศวร ที่เมืองศรวณพลโคละ

นครสีขาวนามอุทัยปุระ ล้อมรอบไปด้วยทะเลสาบที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกให้มาเยี่ยมเยือน ในเขตเมืองเก่าของอุทัยปุระ ย่านถนนเนรูบาซาร์ บรรยากาศอบอวลไปด้วยการค้าขายรูปแบบดั้งเดิมตามวิถีภารตะ ผมเดินทางมาที่นี่ตามข้อมูลที่ได้จากสาธุชนชาวเชนในรัฐคุชราต “นเรศ” แนะนำให้เรารีบมาก่อนจะสายเกินไป ผมสังหรณ์ใจว่าเราอาจพบนักบวชทิคัมพรที่นี่

กลางตรอกเล็ก ๆ อันเป็นทางสัญจรของผู้คนและวัว ภายในอาคาร “อุมัรภวัน” อายุหลายร้อยปี ผมพบชายชาวอินเดียนั่งจับกลุ่มอ่านหนังสือพิมพ์กันอยู่ จึงยื่นกระดาษเขียนข้อความภาษาฮินดีให้พวกเขา ชายคนหนึ่งในกลุ่มนำทางเราไปยังห้องเล็ก ๆ ใต้อาคารเก่า ชายวัยกลางคนที่เฝ้าอยู่ที่นั่นแสดงท่าทีปฏิเสธ และห้ามไม่ให้เราเข้าไป ทันใดนั้นก็มีเสียงตะโกนจากภายในห้องทำนองว่าอนุญาตให้เราเข้ามาได้ ผมต้องถอดเข็มขัดหนัง ซึ่งเป็นเครื่องแต่งกายชิ้นเดียวที่ทำจากซากสัตว์ไว้นอกห้อง

ท่านปรมะ ปูชยะ มุนี ศรี เอกซออาฐ ศานติ สาคร มหาราช นักบวชทิคัมพร และแม่ชีอีก 3 คน พร้อมชาวบ้านอีกกว่าสิบชีวิต รวมตัวกันอยู่ ณ ที่แห่งนั้นผมประหลาดใจมาก เมื่อท่านปรมะ ปูชยะ มุนี ศรี เอกซออาฐ ศานติ สาคร ล่วงรู้ถึงการมาเยือนของพวกเรา ท่านบอกให้นั่งพัก ก่อนหันไปบอกกับสาธุชนภายในห้องให้มาสนทนาต่อในวันรุ่งขึ้น นี่เป็นการพบกับนักบวชนิกายทิคัมพรครั้งที่สองสำหรับผม หลังจากพบเจอโดยบังเอิญเมื่อหกปีก่อนที่หมู่บ้านแห่งหนึ่งในเมืองอัครา ผมสังเกตว่า ทุกครั้งที่ผมขยับกายเข้าใกล้นักบวชทิคัมพร บรรดาลูกศิษย์จะแสดงกิริยาขัดขวางทันที

ยามเช้าภายในห้องอาหารเล็กๆ ในเมืองศรวณพลโคละ คลาคลํ่าไปด้วยนักแสวงบุญทั้งชาวเชนและชาวฮินดู แม้ความเชื่อจะต่างกัน แต่อาหารทั้งหมดล้วนแล้วแต่เป็นอาหารมังสวิรัติ

ปัจจุบันมีนักบวชนิกายทิคัมพรอยู่ประมาณ 1,200 – 1,500 รูป เทียบง่าย ๆ คือ ประชากรอินเดียหนึ่งล้านคนต่อนักบวชทิคัมพรหนึ่งรูป นักบวชเหล่านี้จะอาศัยอยู่ตามป่าเขา ธรรมศาลา หรือในชุมชนโดยสาธุชนเป็นผู้จัดหาให้ บางครั้งรวมกลุ่มตั้งแต่สองถึงเจ็ดรูป หรือไม่ก็อยู่ตามลำพังทำให้ยากที่จะทราบจำนวนที่แน่นอน นักบวชทิคัมพรจะอาศัยอยู่แต่ในประเทศอินเดียเท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นด้วยระยะทาง หรือกฎหมายห้ามเปลือยกายในที่สาธารณะของบางประเทศก็ตาม ทุก ๆ วัน นักบวชนิกายทิคัมพรจะเดินธุดงด์ด้วยเท้าเปล่าเป็นระยะทาง 20 – 30 กิโลเมตรเพื่อเผยแผ่ศาสนา โดยไม่ใช้ยานพาหนะอย่างเด็ดขาดมีเพียงไม้กวาดที่ทำจากขนนกยูงไว้คอยปัดแมลง และกานํ้าสำหรับบรรจุนํ้าดื่มเท่านั้น การจาริกไปยังสถานที่ต่าง ๆ จะถูกกำหนดในช่วงอาทิตย์แรกของปี ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสภาพร่างกายและสถานที่ ในหนึ่งปีพวกเขาจะใช้เวลาเดินทางนานแปดเดือน และจำวัดที่เดิมได้นานไม่เกิน 30 วัน เว้นก็แต่ช่วงเข้าพรรษาสี่เดือนในฤดูฝนเท่านั้น นักบวชทิคัมพรถือศีล 108 ข้ออย่างเคร่งครัด พวกเขาเชื่อว่าการธุดงค์และบำเพ็ญตบะทรมานร่างกายอย่างสุดโต่งคือวิถีทางทำลายกิเลสที่ติดตัวมาตั้งแต่อดีตชาติ เพื่อบรรลุโมกขธรรมในโลกปัจจุบัน

นักบวชทิคัมพรจะไม่อาบนํ้า และนอนบนพื้นราบเท่านั้น มีการถอนผมสองครั้งต่อปี และต้องถอนผมตัวเองให้เสร็จภายในหนึ่งชั่วโมง หากเกิดอุบัติเหตุ ต้องรักษาตัวเองแต่ในกรณีฉุกเฉินที่จำเป็นต้องขึ้นรถพยาบาล เมื่อรักษาอาการบาดเจ็บหายดีแล้วจะต้องกลับมาบวชใหม่เพราะศีลขาด เมื่อนักบวชทิคัมพรแก่ตัวลงจนเดินทางจาริกต่อไม่ได้ จะต้องสาบานตนหรือที่เรียกว่า “สันเลขนา” เพื่ออาศัยอยู่ในสถานที่แห่งเดียวตราบจนร่างกายสิ้นอายุขัย ผู้คนในชุมชนจะเป็นผู้จัดการงานศพ เมื่อเผาร่างแล้วจะนำเถ้ากระดูกไปฝังดิน

ท่านปรมะ ปูชยะ มุนี อายุ 44 ปี บวชมาแล้ว 22 พรรษา ก่อนหน้านี้ท่านเป็นอาจารย์สอนหนังสือในโรงเรียน และได้ติดตามเป็นลูกศิษย์นักบวชทิคัมพรรูปหนึ่ง ก่อนจะตัดสินใจออกบวช “นี่ตะวันก็ใกล้จะตกแล้ว พวกคุณกลับมาในวันพรุ่งนี้แล้วกัน มีโรงแรมเล็ก ๆ อยู่ใกล้ ๆ คุณพักที่นี่ไม่ได้ เพราะพวกคุณไม่ได้เป็นสาธุชนชาวเชน” ท่านบอกเราอย่างเมตตา

 

กิจกรรมในเช้าวันรุ่งขึ้นเริ่มด้วยพิธีชลบูชาพระมหาวีระยามอรุณรุ่ง แม่ชีดีปา แม่ชีกัลปนา แม่ชีบะซันตี และพระผู้ประกอบพิธี พร้อมด้วยฆราวาสผู้ติดตามท่านปรมะ ปูชยะ มุนี ศรี เอกซออาฐ ศานติ สาคร มหาราช ต่างท่องบทสวดพร้อมกับสรงนํ้ารูปหล่อองค์พระมหาวีระ ก่อนออกเดินทางจากธรรมศาลาไปยังลานธรรมที่สาธุชนชาวเชนจัดเตรียมไว้เพื่อการเทศนาธรรมภายใน “ทาวน์-ฮอลล์” หรือศาลาประชาคมในเมืองอุทัยปุระ

ปลายนิ้วทั้งห้าของมือขวาที่จรดกันและแตะไว้บริเวณหัวไหล่ขวา เป็นภาษากายที่บอกให้ฆราวาสรู้ว่านักบวชทิคัมพรกำลังออกบิณฑบาต ก่อนรับบาตร ท่านปรมะปูชยะ มุนี จะเข้าฌานเพื่อนิมิตถึงรูปแบบอาหารหรือผู้ที่จะนำอาหารมาถวาย หากไม่ตรงตามนิมิตในวันนั้น ท่านจะไม่รับถวายอาหารไปตลอดทั้งวันจนถึงวันใหม่ นักบวชเชนนิกายทิคัมพรจะรับอาหารด้วยฝ่ามือ (แตกต่างจากนักบวชนิกายเศวตัมพรที่รับอาหารด้วยบาตร) โดยประกบฝ่ามือทั้งสองเข้าด้วยกัน และใช้นิ้วก้อยคล้องกันไว้ให้มีลักษณะเป็นรูปถ้วย หากระหว่างฉันอาหารนิ้วก้อยเกิดหลุดออกจากกัน นักบวชทิคัมพรจะหยุดฉันอาหารมื้อนั้นทันที พวกเขาฉันอาหารเพียงวันละมื้อและอาหารจะถูกบดขยี้ให้ละเอียดด้วยนิ้วมือเพื่อตรวจดูว่าไม่มีสัตว์ขนาดเล็กหรือเมล็ดพันธุ์ที่สามารถงอกหรือเจริญเติบโตซ่อนอยู่ หลังฉันอาหารเสร็จสิ้น นักบวชทิคัมพรจะดื่มนํ้าไม่ได้เลยแม้แต่หยดเดียวตลอดทั้งวันนั้น

ในหนึ่งวัน ท่านปรมะ ปูชยะ มุนี จะจำวัดเพียงสามชั่วโมง และจัดสรรเวลาที่เหลือสำหรับการทำสมาธิ ประกอบพิธีกรรม ศึกษาคัมภีร์ทางศาสนา และตำราเรียนต่าง ๆ ไม่จำกัดทุกองค์ความรู้ ในห้องของท่านมีตำราภาษาฮินดี ภาษาปรากฤต และภาษาอังกฤษมากมายวางกองอยู่ ผมถามท่านว่า ถ้ามีคนมาทำร้ายทุบตี ท่านจะปฏิบัติตอบเช่นไร “โดยหลักอหิงสาเป็นแก่นของการบำเพ็ญตบะ เราจะไม่โต้ตอบ ถ้าเราถูกทุบตีจนตายนั่นคงเป็นกรรมที่ติดตัวมาจากชาติปางก่อน แต่ถ้าการที่เรายึดหลักอหิงสาไม่โต้ตอบ แล้วทำให้ผู้ที่กระทำต่อเราสำนึกผิด เกิดแสงสว่างขึ้นในจิตใจได้นั้นย่อมเป็นเรื่องที่ดีจงมีชีวิตอยู่และให้ผู้อื่นมีชีวิตอยู่ด้วย” ท่านกล่าวทิ้งท้าย

 

แม้จะต่างศาสนา ทว่าศรัทธาชนชาวฮินดูกลับให้ความเคารพนักบวชเชนนิกายทิคัมพร ซึ่งเป็นแบบอย่างของผู้สละแล้วซึ่งทุกสิ่งในทางโลกเพื่อแสวงหาโมกขธรรม อันเป็นเป้าหมายสูงสุดทางจิตวิญญาณ

ที่เมืองศรวณพลโคละ แหล่งจาริกแสวงบุญสำคัญที่สุดแห่งหนึ่งของผู้นับถือศาสนาเชน ผมใช้เวลาเดินทางกว่า 40 ชั่วโมงบนรถโดยสารประจำทาง เพื่อมาเยือนเมืองอันเงียบสงบแห่งนี้ เมืองศรวณพลโคละตั้งอยู่ในรัฐกรณาฏกะทางตอนใต้ของอินเดีย ห่างจากกรุงนิวเดลี 2,300 กิโลเมตร ที่นี่ผมพบกับวันทนา เชน อาจารย์วิชาคณิตศาสตร์ในโรงเรียนมัธยมศึกษาตอนปลายแห่งหนึ่งจากกรุงนิวเดลี เธอใช้เวลาพักร้อนยาวนานกว่าสองสัปดาห์เพื่อจาริกแสวงบุญไปยังสถานที่สำคัญต่าง ๆ ในศาสนาเชน “นี่เป็นครั้งที่สามแล้วที่ฉันกลับมาที่นี่” เธอบอก และเล่าว่า เมืองศรวณพลโคละเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์สำหรับชาวเชน เพราะเป็นที่ประดิษฐานรูปเคารพที่แกะสลักจากหินแกรนิตก้อนเดียว จารึกภาษากันนัฑที่ฐานบอกเล่าถึงเรื่องราวในอดีตรูปเคารพนี้มีความสูง 17.38 เมตร สร้างขึ้นในช่วงศตวรรษที่เก้า มีชื่อเรียกว่า “พระโคมเฏศวร” หรือ “พระพหุพลี” (ผู้มีแขนที่มีพลัง) พระโคมเฏศวรใช้สถานที่แห่งนี้ฝึกบำเพ็ญตบะจนบรรลุเป็นพระอฤหันต์ หรือผู้สิ้นแล้วซึ่งกิเลสทั้งปวงจนชีวาตมันหลุดพ้น พระอฤหันต์ในศาสนาเชนนั้นเทียบเท่ากับพระอรหันต์ในพุทธศาสนานั่นเอง

ยามเช้าภายในห้องอาหารเล็กๆ ในเมืองศรวณพลโคละ คลาคลํ่าไปด้วยนักแสวงบุญทั้งชาวเชนและชาวฮินดู แม้ความเชื่อจะต่างกัน แต่อาหารทั้งหมดล้วนแล้วแต่เป็นอาหารมังสวิรัติ

ในอดีตมีนักบวชทิคัมพรมาบำเพ็ญตบะจนร่างกายแตกดับ ณ ที่แห่งนี้เป็นจำนวนมาก ปัจจุบันยังมีให้พบเห็นอยู่บ้าง วันทนาบอกว่า ชาวอินเดียส่วนใหญ่ที่สัญจรผ่านมา ไม่ว่าจะนับถือศาสนาใด มักหยุดพักที่เมืองแห่งนี้ และทุก ๆ เช้าพวกเขาจะเดินขึ้นบันไดหลายร้อยขั้นที่ทั้งชันและอันตราย เพื่อมาสักการบูชาพระโคมเฏศวรโดยเชื่อว่าจะเป็นมงคลแก่ชีวิต

วันทนา เชน เป็นชาวเชนนิกายเตระปันถะ ซึ่งเป็นหนึ่งในนิกายย่อยของนิกายทิคัมพร วันนี้เธอตั้งใจจะมาทำสมาธิและสวดมนต์ก่อนจะเดินทางต่อไปยังเมืองอื่นในวันรุ่งขึ้น หลังเธอขอตัวไปทำสมาธิ เราได้พบกันอีกครั้งที่ร้านอาหารใต้โรงแรม วันทนาเล่าถึงความเป็นไปในสังคมเชนยุคปัจจุบัน เธอเป็นหนึ่งในกลุ่มคนเคร่งศาสนา แต่ก็ยอมรับหลักธรรมปฏิบัติที่ผ่อนปรนมาจาก “มหาพรต” หรือหลักธรรมสำหรับนักบวช มาสู่ “อนุพรต” ซึ่งเป็นข้อปฏิบัติสำหรับคฤหัสถ์อย่างเธอ วันทนาบอกว่า ความเคร่งครัดของเธอควรมีผลกระทบต่อคนรอบข้างให้น้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ เธอยกกรณีเวลาเดินทางไปต่างประเทศและต้องใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับผู้คนต่างวัฒนธรรม “หลักอหิงสาคือหลักการที่ดีมากในสังคมโลกปัจจุบันค่ะถ้าทุกคนสามารถเข้าถึงและนำไปประยุกต์ใช้อย่างจริงจังหลายสิ่งหลายอย่างคงเข้ารูปเข้ารอยมากกว่านี้” เธอออกความเห็น “คุณรู้ไหม มีพรรคการเมืองใหญ่พรรคหนึ่งของอินเดียเอาสัญลักษณ์ฝ่ามือของศาสนาเชนไปเป็นสัญลักษณ์ของพรรค แล้วหลังจากนั้น พรรคการเมือง พรรคนั้นก็ชนะการเลือกตั้งอย่างถล่มทลาย แต่ที่น่าขันคือ พวกเราชาวเชนกลับไม่มีพรรคการเมืองของตนเอง แตกต่างจากศาสนาอื่นในอินเดีย”

กลิ่นหอมจากดอกไม้ที่ประดับประดาตามธงเชนรอบองค์พระมหาวีระ เนื่องในวันเฉลิมฉลองงานมหาวีระชยันติ งานสำคัญครั้งนี้ตระเตรียมล่วงหน้ามาหลายวัน ย่านธุรกิจในเมืองไมซอร์ต่างปิดกิจการชั่วคราวเพื่อเฉลิมฉลองสาธุชนชาวเชนในเมืองไมซอร์แบ่งออกเป็นนิกายทิคัมพรประมาณ 1,000 ครัวเรือน และนิกายเศวตัมพร 2,000 ครัวเรือน “วันนี้เป็นวันของพวกเรา พวกเราชาวเชนทุกคนจะมารวมตัวกันที่วัดเพื่อร่วมเฉลิมฉลองในวันสำคัญ” เอส วิโนด กุมาร ประธานสมาคมศรีมหาวีระ เสวาสันสถาน กล่าวกับเรา

หลังศึกษาหลักธรรมคำสอนมาตลอดทั้งวัน ศิษยาดีปา ศิษยากัลปนา และศิษยาบะซันตี ออกมายืดเส้นยืดสายและสูดอากาศภายนอก สตรีทั้งสามต่างอุทิศชีวิตให้ศาสนาเชนมาไม่ตํ่ากว่าคนละ 10 ปี

ในวันนี้ชาวเชนจะออกมาฟังเทศน์ที่วัดและแต่งกายด้วยชุดสีขาว มีขบวนแห่องค์พระมหาวีระไปตามท้องถนนพร้อมเต้นรำกันอย่างสนุกสนาน คนสูงวัยจะนั่งสวดมนต์ นมัสการมหามันตราภายในวัด พร้อมเรียงเมล็ดข้าว ถั่ว และดอกไม้ เป็นรูปสวัสติกะ แสดงถึงวัฏจักรแห่งการเวียนว่ายตายเกิด รวมทั้งสัญลักษณ์รูปแบบอื่นตามความเชื่อของแต่ละคน เมล็ดพันธุ์ข้าวที่สาธุชนนำมาประกอบพิธี จะรวบรวมนำไปบริจาคให้ผู้ยากไร้ต่อไป

จิรัน วี เด็กหนุ่มวิศวกรไฟฟ้าอนาคตไกล บุตรชายของเอส วิโนด กุมาร เล่าว่า “วัยรุ่นชาวเชนอย่างพวกเรามีบ้างที่ใช้ชีวิตในที่อโคจร ในสถาบันการศึกษา เรามีเพื่อนร่วมชั้นเรียนต่างศาสนามากมาย แต่เราก็ใช้ชีวิตร่วมกันในงานปาร์ตี้มีเครื่องดื่มแอลกอฮอลล์มากมายเป็นสิ่งเย้ายวน แต่เราจะมองข้ามและไม่ให้ความสนใจ แต่ก็ไม่ใช่ทุกคนหรอกนะครับ” เขาพูดจบแล้วเสียงหัวเราะก็ตามมา

แม้สาธุชนชาวเชนจะมีจำนวนเพียงน้อยนิด แต่พวกเขาอาจเป็นกลุ่มคนที่ทรงอิทธิพลที่สุดกลุ่มหนึ่งในอินเดีย บางคนถึงกับตั้งฉายาให้ว่า “ฟันเฟืองแพลทินัม” ชาวเชนไม่เพียงจ่ายภาษีรวมกันคิดเป็นมูลค่าสูงถึงร้อยละ 24 ของยอดรวมทั้งประเทศในปีที่ผ่านมา แต่ยังบริจาคเพื่อกิจกรรมการกุศลต่าง ๆ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 62 อีกทั้งเป็นเจ้าของอาคารสถานที่ และโครงการอสังหาริมทรัพย์ต่าง ๆ ราวร้อยละ 28 ในอินเดีย หนังสือพิมพ์ส่วนใหญ่ในอินเดียมีเจ้าของเป็นชาวเชน พวกเขาคือกลุ่มคนจำนวนน้อยไม่ถึงร้อยละหนึ่งของประชากร แต่กลับเป็นกลุ่มคนที่จัดว่ารํ่ารวยที่สุดในอินเดีย ชาวเชนเกือบทั้งหมดเป็นผู้มีการศึกษา พวกเขาเป็นเจ้าของสถานศึกษามากมายในอินเดีย นักบวชเชนส่วนใหญ่ล้วนแล้วแต่เป็นผู้มีการศึกษาสูง จึงเป็นที่ยอมรับในหมู่ผู้นับถือศาสนาเชนและคนต่างศาสนาที่เปิดใจยอมรับทุกหลักการความเชื่อ “แต่ละชีวิตเกื้อกูลซึ่งกันและกัน นี่แหละคือความ-หมายของชีวิตครับ ผมเชื่อในหลักอหิงสธรรมที่ท่านศาสดามหาวีระกล่าวไว้ก่อนนิพพาน พวกเราชาวเชนไม่ว่าจะนิกายทิคัมพรหรือเศวตัมพร ต่างยึดถือหลักธรรมนี้เป็นยอดคำสอนสูงสุด” จิรัน วี ทิ้งท้าย

คำพูดของจิรันทำให้ผมหวนนึกถึงอมตวาจาของมหาตมาคานธี เอกบุรุษผู้นำเอกราชกลับสู่อินเดีย คานธีพูดถึงหลักอหิงสาไว้ว่า “ความหมายของคำว่า ‘อหิงสา’ ตามตัวอักษรนั้น อาจมีความหมายถึงการไม่ใช้ความรุนแรงแต่สำหรับข้าพเจ้าแล้ว มันมีความหมายที่สูงส่งอย่างยิ่งและเป็นความหมายที่สูงส่งอย่างไร้ขีดจำกัดเสียด้วย”

เรื่อง ทรงวุฒิ อินทร์เอม และ อธิวัฒน์ ศิลปเมธานนท์

ภาพถ่าย ทรงวุฒิ อินทร์เอม​

 

อ่านเพิ่มเติม

สายธารแห่งศรัทธาชนในพิธีกุมภ์เมลา

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.