เพราะมีอสรพิษจึงมีเรา เมื่องูคือตัวขับเคลื่อนวิวัฒนาการ

ภาพเขียนการต่อสู้ระหว่างเทพธอร์กับยอร์มุนกานดร์ งูยักษ์ที่ถือกำเนิดขึ้นจากโลกิและนางยักษ์แองเกอร์โบดา ตามคำทำนายวันสิ้นโลกของชาวไวกิ้ง งูยักษ์จะสู้กับเทพธอร์ และถูกเทพธอร์กำจัดไปในที่สุด แต่เทพธอร์เองก็จะเสียชีวิตจากพิษงูเช่นกัน
ขอบคุณภาพจาก https://www.ancient-origins.net

 

เพราะมี อสรพิษ จึงมีเรา เมื่องูคือตัวขับเคลื่อนวิวัฒนาการ

“พระเจ้าตรัสจริงๆ หรือว่า ‘เจ้าต้องไม่กินผลจากต้นใดๆ ในสวนนี้’?” งูร้องถามเอวา  “พวกเรากินผลของทุกต้นในสวนได้ แต่พระเจ้าตรัสจริงๆ ว่า ‘เจ้าต้องไม่กินผลของต้นไม้ที่อยู่กลางสวน และเจ้าต้องไม่แตะต้องมัน มิฉะนั้นเจ้าจะตาย’” เธอตอบ

“เจ้าจะไม่ตายแน่นอน เพราะพระเจ้าทรงทราบว่าเมื่อใดที่เจ้ากินผลไม้นั้น เจ้าจะตาสว่างขึ้นและจะเป็นเหมือนพระเจ้า คือรู้ผิดชอบชั่วดี” ถ้อยคำของงูเย้ายวนให้เอวาลองกินผลไม้ เธอชักชวนให้อดัมลองด้วย และเมื่อพระเจ้าทรงทราบทั้งคู่ก็ถูกขับไล่ออกจากสวนเอเดน (ปฐมกาลบทที่ 3)

“The Fall of Adam and Eve as depicted in the Sistine Chapel” ภาพเขียนบรรยายเหตุการณ์ในสวนเอเดน โดย ไมเคิลแองเจโล
ขอบคุณภาพจาก วิกิพีเดีย

นี่คือเรื่องราวความร้ายกาจของงูในคัมภีร์ไบเบิล ทว่าในโลกของชาวมายา งูกลับถูกยกย่องเคารพนับถือดั่งเทพ พวกเขาสร้างวิหารบูชางู และเชื่อว่าสายรุ้งที่พาดผ่านบนท้องฟ้าเกิดจากเทพงู เช่นเดียวกับชาวแอซเท็กในเม็กซิโก ที่เคารพนับถือเทพเควตซัลโคตล์ (Quetzalcoatl) ผู้มีร่างเป็นงูใหญ่ ในฐานะเทพแห่งลมและฝน และหากข้ามฝั่งมาที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้บริเวณลุ่มแม่น้ำโขง ผู้คนเชื่อกันว่างูใหญ่หรือนาคเป็นผู้สร้างเมืองและคุ้มครองสายน้ำที่หล่อเลี้ยงชีวิตของคนนับล้าน

เหตุใดงูจึงเกี่ยวพันรัดร้อยกับหลากหลายความเชื่อมากมาย ทั้งที่บางชนชาตินั้นไม่เคยพบปะแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมกันมาก่อน? ทั้งยังกลายมาเป็นสัญลักษณ์ตั้งแต่ความคดโกง ไว้ใจไม่ได้ ไปจนถึงคุณความดี และการให้กำเนิด เป็นไปได้หรือไม่ว่าเรื่องราวมหัศจรรย์ทั้งหมดนี้มีที่มาจากสิ่งเดียวที่มนุษย์ทุกเผ่าพันธุ์มีร่วมกัน นั่นคือ “ความกลัว”

ภาพเขียนของเทพเควตซัลโคตล์ (Quetzalcoatl) เทพเจ้าแห่งลมและฝนในความเชื่อของชาวแอซเท็ก
ขอบคุณภาพจาก วิกิพีเดีย

 

อสรพิษที่น่าหวาดหวั่น

น้อยคนมากที่จะไม่กลัวงู มิต้องจินตนาการถึงงูใหญ่ยักษ์เช่นอนาคอนดา บางครั้งแค่เหลียวเห็นวัตถุทรงยาวคล้ายงูยังชวนให้สะดุ้งโหยง ความหวาดกลัวหรือตกใจเมื่อเห็นงูไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร ในขณะเดียวกันกลับเป็นประโยชน์เสียด้วยซ้ำแก่บรรพบุรุษของเรา ในช่วงเวลาที่พวกเขายังคงอาศัยอยู่ในป่า

มีทฤษฎีที่น่าสนใจทฤษฎีหนึ่งระบุว่า บนเส้นทางวิวัฒนาการร่วมกันระหว่างสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมและงูก่อให้เกิดสิ่งใหม่ๆ ในขณะเดียวกันก็หล่อหลอมตัวตนของเราจนเป็นเช่นทุกวันนี้ Lynne Isbell นักมานุษยวิทยา จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียชี้ว่า การดำรงอยู่ของงูตามธรรมชาติในฐานะผู้ล่าผลักดันให้ไพรเมตต้องวิวัฒนาการกลยุทธ์ใหม่ๆ เพื่อรับมือกับอสรพิษที่น่าหวาดหวั่นเหล่านี้ สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมบางชนิดจึงพัฒนาประสาทรับกลิ่นช่วยให้รับรู้ว่ามีงูอยู่ใกล้ๆ ก่อนที่งูจะโจมตีเข้าถึงตัวเพื่อหลีกเลี่ยงที่จะตกเป็นอาหารของงู

สัตว์ต่างๆ มองเห็นโลกเป็นเช่นไร เมื่อเปรียบเทียบกับมนุษย์ ชมได้ที่นี่

ก่อนหน้านี้นักวิทยาศาสตร์คิดว่าความจำเป็นในการจับแมลง เด็ดผลไม้ หรือห้อยโหนต้นไม้ คือจุดผลักดันให้ไพรเมตต้องวิวัฒนาการดวงตาของพวกมันให้ดียิ่งขึ้น ทว่าในช่วงหลายปีมานี้ แนวคิดที่ว่าการมีดวงตาที่ใช้การได้ดีขึ้นเพื่อสอดส่องระวังภัยจากงูนับเป็นอีกหนึ่งแนวคิดที่น่าตื่นเต้นไม่น้อย จากหลักฐานทางฟอสซิลบ่งชี้ว่างูอยู่คู่กับสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมยุคแรกๆ มาตั้งแต่ 100 ล้านปีก่อน ฉะนั้นการมีดวงตาที่สามารถมองเห็นสีสัน ความลึก และภาพสามมิติจึงเป็นอาวุธสำคัญที่ช่วยให้ไพรเมตสามารถเอาตัวรอดจากงูที่กำลังพรางตัวอยู่อย่างแนบเนียนได้ ซึ่งในทางกลับกันเมื่อไพรเมตวิวัฒนาการให้เห็นผู้ล่าก่อนตกเป็นเหยื่อ ด้านงูเองก็วิวัฒนาการกลยุทธ์ใหม่เช่นกัน นั่นคือ “พิษ” ซึ่งถือกำเนิดขึ้นเมื่อราวๆ 60 ล้านปีก่อน และถือเป็นชัยชนะสำคัญที่ทำให้งูยังคงน่ากลัวมาจนทุกวันนี้

มากไปกว่านั้น การมีอยู่ของงูยังช่วยพัฒนาระบบประสาทและสมองของเรา นักประสาทวิทยาจากมหาวิทยาลัยโทยามะ ในญี่ปุ่น ร่วมกับมหาวิทยาลัยบราซีเลีย ในบราซิล วิจัยกลุ่มเซลล์ประสาท pulvinar ที่ตั้งอยู่บริเวณสมองส่วนทาลามัสว่าอาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับงู เนื่องจากในไพรเมตมักมีกลุ่มเซลล์ประสาทนี้มากกว่าสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอื่นๆ

ภาพกราฟิกของ Tetrapodophis งูสี่ขาที่เคยมีชีวิตอยู่เมื่อ 113 ล้านปีก่อน ในบราซิลปัจจุบัน นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าขาดังกล่าวไม่ใช่ขาที่ใช้เดิน แต่ใช้ในการขุดรู จับเหยื่อ และกอดรัดคู่ระหว่างการผสมพันธุ์ บ่งชี้ว่างูมีวิวัฒนาการบนพื้นดิน และไม่ได้มาจากสัตว์เลื้อยคลานในทะเล
ศิลปกรรมโดย Julius Cstonyi

ในการทดสอบพวกเขาติดขั้วไฟฟ้าบริเวณประสาทดังกล่าวให้กับลิงแม็กแคกเลี้ยงที่ไม่เคยพบเจอกับสัตว์เลื้อยคลานมาก่อน เพื่อดูว่าหากฉายภาพของงูให้ชมการทำงานของสมองลิงจะเป็นเช่นไร ผลการทดลองพบว่าเมื่อเปรียบเทียบกับภาพอื่นๆ ภาพงูกระตุ้นการทำงานของเซลล์ประสาทได้ดีและรวดเร็วกว่า นั่นหมายความว่าลิงมีความไวต่อภาพงูเป็นพิเศษ นอกจากนั้นพวกเขายังพบว่าปฏิกิริยาที่เซลล์ประสาทมีต่องูนั้นไวกว่าภาพของใบหน้าที่กำลังโกรธเกรี้ยวเสียอีก ซึ่งถือเป็นการคุกคามในโลกของลิงแม็กแคก โดยปฏิกิริยาจากภาพของงูอยู่ที่ 15 มิลลิวินาที ส่วนภาพใบหน้าโกรธเซลล์ประสาทตอบสนองที่ความไว 25 มิลลิวินาที

นั่นคือเรื่องราวของงูและบรรพบุรุษของเราตั้งแต่ยุคดึกดำบรรพ์ Isbell เองเชื่อว่าความหวาดกลัวที่จะตกเป็นเหยื่อนั้นยังคงฝังลึกในตัวเราตลอดวิวัฒนาการที่ผ่านมา และในที่สุดเมื่อเราวิวัฒน์จากเอปมาสู่มนุษย์ที่สามารถใช้ภาษา สัญลักษณ์ จนสร้างอารยธรรมได้ ความกลัวงูจึงถูกถ่ายทอดมาเป็นตำนานปรัมปราแทน นั่นจึงเป็นเหตุผลว่าทำไมผู้คนในหลายชนชาติจึงมีเรื่องราวเล่าขาน การเคารพนับถือและบูชางู สิ่งเหล่านี้ปรากฏผ่านหลักฐานเป็นลวดลายรูปงูบนเครื่องปั้นดินเผาอายุหลายพันปี โดยเฉพาะแหล่งโบราณคดีหลายแห่งของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งแหล่งที่มีชื่อเสียงที่สุดคือแหล่งโบราณคดีบ้านเชียง จังหวัดอุดรธานี ดังเช่นคำกล่าวของ Harry Greene นักชีววิทยาวิวัฒนาการ และผู้เชี่ยวชาญด้านงูจากมหาวิทยาลัยคอร์เนลที่ว่า

“งูและเรามีประวัติศาสตร์ร่วมกันมานาน นานตั้งแต่ก่อนที่เราจะเป็นเราเช่นทุกวันนี้เสียอีก”

 

พลังแห่งเรื่องเล่า

ทฤษฎีของ Isbell และการทดลองกับลิงแม็กแคกฉายภาพเบื้องต้นให้เห็นว่า “ความกลัว” ผลักดันวิวัฒนาการและแปรเปลี่ยนจากการเอาชีวิตรอดในป่าจากผู้ล่า มาสู่ตำนานนิทานปรัมปราได้อย่างไร ทว่าอะไรคือความสำคัญของการถ่ายทอดเรื่องราวงูในสวนเอเดน และนาคแห่งแม่น้ำโขงให้ยังคงเล่าสู่กันฟังต่อไป? นักวิชาการหลายท่านเชื่อว่า พลังของเรื่องเล่าขานและตำนานเหล่านี้คือกุญแจสำคัญของการรวมกลุ่มในมนุษย์ ทั้งยังเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้โฮโมเซเปียนส์เหลือรอดเป็นมนุษย์สปีชีส์เดียวในปัจจุบัน ไม่สูญพันธุ์ไปอย่างมนุษย์นีแอนเดอร์ทัล หรือมนุษย์เดนิโซวัน ผู้เป็นญาติของเรา

ในหนังสือ “Sapiens” ที่บอกเล่าประวัติศาสตร์กว่าจะมาเป็นมนุษย์ดังเช่นทุกวันนี้ โดย ยูวัล โนอาห์ แฮรารี นักปรัชญาและนักประวัติศาสตร์ชาวอิสราเอลให้นิยามของตำนาน นิทาน เรื่องเล่าเหล่านี้ว่ามีส่วนสำคัญในการปฏิวัติกระบวนการรับรู้และความคิดของมนุษย์โฮโมเซเปียนส์เมื่อ 70,000 – 30,000 ปีก่อน สิ่งนี้เชื่อมโยงกับการถือกำเนิดภาษาของเรา เมื่อความยึดหยุ่นของภาษาเอื้อให้มนุษย์สามารถสื่อสารข้อมูล และสัญลักษณ์ต่างๆ ทั้งที่มีบนโลกหรือไม่มีอยู่จริงได้ และพวกเราไม่ได้มีความสามารถแค่ในการสร้างเรื่อง แต่ยังเชื่อเรื่องที่เราสร้างอย่างสุดหัวใจอีกด้วย

พระกฤษณะปราบนาคกาลียะ ในทะเลสาบกาลินที แห่งเมืองยมุนา ในความเชื่อของชาวฮินดูใต้โลกมีพญานาคใหญ่อาศัยอยู่ และเมื่อขยับตัวจะเกิดแผ่นดินไหว
ขอบคุณภาพจาก http://inannareturns.com/gita/krishna17.htm

แฮรารีมองว่าตำนานการสร้างโลก หรือเทพนิยายที่เล่าขานความกล้าหาญของวีรบุรุษถักทอผู้คนเข้าด้วยกัน และก่อให้เกิดความร่วมมือในแบบมหาศาล เปรียบเทียบกับฝูงลิงชิมแปนซีที่มีสมาชิกไม่เกิน 50 ตัว จ่าฝูงและสมาชิกในฝูงจะต้องทำกิจกรรมร่วมกันตั้งแต่การแบ่งปันอาหาร เกาหลัง สวมกอด เพื่อสร้างความสามัคคีให้แก่กลุ่ม ข้อจำกัดนี้ทำให้พวกมันไม่สามารถขยายจำนวนสมาชิกไปมากกว่านี้ได้ ในขณะที่ชนเผ่าหรือชาวเมืองสามารถมีสมาชิกหลายร้อยไปจนถึงหลักพันได้ โดยอาศัยตำนานความเชื่อในจินตนาการเป็นตัวประสานเชื่อมโยง พลังของจินตนาการเหล่านี้คือปัจจัยสำคัญที่ทำให้คนแปลกหน้าสามารถร่วมมือกันทำสิ่งที่ยิ่งใหญ่ได้ภายใต้ความเชื่อที่พวกเขามีร่วมกัน และในที่สุดก็พัฒนาไปเป็นศาสนา และชาติ ในเวลาต่อมา

อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันเรายังคงไม่ทราบชัดเจนถึงสาเหตุการสูญพันธุ์ของมนุษย์สปีชีส์อื่นๆ ฉะนั้นพลังในการจินตนาการจึงเป็นเพียงแค่ปัจจัยหนึ่งในอีกหลายๆ ปัจจัยที่เอื้อให้มนุษย์สามารถก่อร่างสร้างอารยธรรมมาจนเช่นทุกวันนี้ได้ นีแอนเดอร์ทัลอาจนับถืองูเป็นเทพเจ้า และเดนิโซวันอาจเชื่อว่าพวกเขาถือกำเนิดมาจากงู ประเด็นนี้มีความเป็นไปได้จากหลักฐานภาพเขียนฝาผนังถ้ำรูปสัตว์อายุเก่าแก่หลายหมื่นปี ในช่วงเวลาก่อนที่มนุษย์โฮโมเซเปียนส์จะเดินทางเข้าไปตั้งถิ่นฐานยังพื้นที่นั้นๆ

 

มองงูมุมใหม่

บนโลกใบนี้มีงูราว 3,400 ชนิด แต่มีงูพิษเพียง 600 ชนิดเท่านั้น หรือคิดเป็น 17% ทว่าด้วยความกลัวหรือสัญชาตญาณทำให้หลายครั้งไม่ว่าจะพบเจองูพิษหรือไม่มีพิษก็ตาม ผู้คนมักตีพวกมันให้ตายก่อนพิจารณาเสียด้วยซ้ำเพื่อป้องกันตนเอง

แต่ในความเป็นจริงแล้วสัตว์เลื้อยคลานแทบทุกชนิดจะไม่ทำร้ายมนุษย์ก่อน (ในกรณีที่ไม่ได้ไปเหยียบ หรือบุกรุกรังมันเข้า) ดังนั้นวิธีที่ดีเมื่อต้องเผชิญหน้ากับงูคือการอยู่นิ่งๆ และค่อยๆ ถอยหนีออกมาอย่างช้าๆ ปกติแล้วพิษของงูมีปริมาณจำกัดและมีไว้เพื่อล่าเหยื่อ ฉะนั้นในตามธรรมชาติงูจะไม่เสียน้ำพิษไปกับมนุษย์ที่ตัวใหญ่เกินกว่าที่มันจะกินได้ เมื่อเห็นว่ามนุษย์ไม่มีท่าทีคุกคาม ในที่สุดแล้วงูจะเป็นฝ่ายเลื้อยหนีไปเอง หรือหากพบเจองูเลื้อยเข้ามาในบ้านควรปล่อยงูไว้เช่นนั้น และติดต่อเจ้าหน้าที่กู้ภัยหรือหน่วยงานที่มีความเชี่ยวชาญเช่น “สายด่วนงูเข้าบ้าน” ให้มาจับไป

งูคือผู้ควบคุมประชากรสัตว์ในระบบนิเวศ และเป็นสมดุลทางธรรมชาติ หากปราศจากงูแล้วสัตว์บางชนิดเช่นสัตว์ฟันแทะ หรือสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำอาจเพิ่มปริมาณขึ้นมากจนธรรมชาติเสียสมดุลได้ เมื่อมองในมุมนี้จะพบว่าการดำรงอยู่ของสัตว์ทุกชนิดมีคุณค่าในตัวมันเอง ทว่าเรื่องเล่าและความกลัวฝังหัวยากที่จะลบเลือน และส่งผลให้ทุกวันนี้ยังคงมีงูถูกตีตายโดยไม่จำเป็น แต้มต่อที่เรามีโดยเฉพาะอย่างยิ่งบนเส้นทางวิวัฒนาการที่กว่าจะมาเป็นมนุษย์ในทุกวันนี้ งูควรได้รับคำขอบคุณมากกว่าที่จะถูกทำร้าย เพราะหากวันหนึ่งที่งูถูกล้างผลาญไปจนหมดและเหลือแค่เรา วันนั้นตำนานเล่าขานเรื่องราวของงูก็จะหมดความหมายไปด้วยเช่นกัน

 

อ่านเพิ่มเติม

นาค ความผูกพันในหลากมิติของชนลุ่มน้ำโขง

 

แหล่งข้อมูล

Fear of Snakes Drove Pre-Human Evolution

Did Snakes Help Build the Primate Brain?

Babies Prove Your Fear of Spiders and Snakes Is Completely Rational

Sapiens: A Brief History of Humankind by Yuval Noah Harari

 

© COPYRIGHT 2024 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.