ดนตรีคือพลัง! รู้จักกับคนรุ่นใหม่ผู้ใช้เสียงเพลงสะท้อนความจริง

ผู้เข้าชมนิทรรศการ Inside Pussy Riot ทดลองสวมไอ้โม่งและถูกจับขังคุกเช่นเดียวกับที่สมาชิกวงเผชิญหลังร้องเพลงต่อต้านประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ในมหาวิหารเซ็นต์ เดอ ซาร์เวีย ประเทศรัสเซีย เมื่อปี 2012
ขอบคุณภาพจาก Kenny Mathieson, Saatchi Gallery

 

ดนตรีคือพลัง! รู้จักกับคนรุ่นใหม่ผู้ใช้เสียงเพลงสะท้อนความจริง

“ประเทศไร้ Corruption ที่ไม่มีการตรวจสอบ ประเทศที่นาฬิกา รมต. เป็นของศพ ประเทศที่มีสภาเป็นห้องนั่งเล่นของนักรบ ประเทศที่เขียนรัฐธรรมนูญให้กองทัพใช้ตีนลบ…ประเทศกูมี ประเทศกูมี”

บางส่วนจากบทเพลง “ประเทศกูมี” โดย Rap Against Dictatorship ที่ขณะนี้มียอดเข้าชมในยูทูปเกือบ 9 ล้านวิวแล้ว และกำลังกลายเป็นประเด็นที่ผู้คนสนใจมากที่สุด ด้านผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเราคงไม่ทราบว่าจะรับมือกับกระแสในโลกออนไลน์นี้อย่างไร จึงออกมาข่มขู่ไว้ก่อนว่าการแชร์เพลงประเทศกูมีในโลกโซเชียลอาจเข้าข่ายผิดกฎหมาย! ทว่าในทางกลับกันวิธีการต่อต้านอย่างเห็นได้ชัดนี้ไม่ต่างอะไรกับการราดน้ำมันเข้ากองเพลิง…

เพราะดนตรีทรงพลังเช่นนี้ ในอดีตที่ผ่านมาเสียงเพลงจึงถูกใช้เป็นอาวุธต่อสู้กับความอยุติธรรมในสังคม ทั้งยังทำหน้าที่พูดแทนเสียงในใจประชาชนเมื่อถูกปิดปากโดยรัฐ และในทางกลับกันบทเพลงยังถูกใช้เป็นเครื่องมือขับกล่อมแนวคิด ดังตัวอย่างจากบรรดาเพลงปลุกใจให้รักชาติและภักดีต่อผู้นำของเกาหลีเหนือ ทว่าด้านเกาหลีใต้เองก็ตอบโต้ด้วยบทเพลง K-Pop ผ่านลำโพงกระจายเสียงขนาดมหึมา เพื่อสะท้อนว่าอิสรภาพยังมีที่อีกฝั่งของชายแดน

พลังที่เห็นได้เด่นชัดที่สุดคือช่วงสงครามเวียดนาม ในเวลานั้นมีศิลปินมากมายถ่ายทอดความโหดร้าย และไร้ประโยชน์ของสงคราม พร้อมทั้งเรียกร้องสันติภาพผ่านบทเพลง ไม่ว่าจะเป็น Blowing In The Wind ของ Bob Dylan ที่กระตุ้นให้ทุกคนลุกขึ้นมาทำอะไรสักอย่าง อย่ามัวแต่นิ่งเฉย เพื่อสร้างสังคมที่ดีกว่า หรือ OHIO ของ Neil Young ที่ได้แรงบันดาลใจมาจากเหตุยิงนักศึกษาเสียชีวิตระหว่างการสลายการชุมนุมต่อต้านการส่งทหารไปรบในสงครามเวียดนาม และที่ขาดไม่ได้คือเพลง Imagine ของ John Lennon บทเพลงอมตะระดับโลกที่ทุกวันนี้เมื่อเกิดเหตุความรุนแรงจากการก่อการร้ายขึ้น เนื้อเพลงเรียกร้องโลกอันสงบสุขนี้ยังคงดังปลอบประโลมทุกครั้ง

 

Bobi Wine (Robert Kyagulanyi)

ภาพถ่ายของ Bobi wine โดย Simon Maina, AFP

“When our leaders have become misleaders and mentors have become tormentors. When freedom of expression becomes the target of oppression, opposition becomes our position.” ส่วนหนึ่งของเนื้อเพลงจากบทเพลง “Situka” ที่มีความหมายว่า “ลุกขึ้นสู้” โดย Bobo Wine ศิลปินชาวยูกันดา ผู้เริ่มต้นอาชีพนักร้องในต้นทศวรรษ 2000 ตลอด 15 ปีที่ผ่านมาในการทำงานเพลง ตัวเขามีผลงานมากกว่า 70 เพลง โดยบทเพลงที่โดดเด่นของ Wine มีเนื้อหากระตุ้นให้ผู้คนลุกขึ้นมาใช้สิทธิของตนเอง เพราะประเทศนี้มีผู้นำที่ครองอำนาจมาตั้งแต่ปี 1986 และยังไม่มีท่าทีที่จะลงจากตำแหน่งง่ายๆ

Wine เติบโตขึ้นมาในสลัมของกรุงกัมปาลา ปัจจุบันตัวเขาอายุ 36 ปี นั่นหมายความว่าเขาเห็นโยเวรี มูเซเวนี ประธานาธิบดีคนปัจจุบันอยู่ในตำแหน่งมาตั้งแต่ 4 ขวบ ในเดือนเมษายน ปี 2017 เส้นทางชีวิตของ Wine พลิกผันจากนักร้องไปสู่นักการเมือง เมื่อเขาลงสมัครเลือกตั้งเป็นส.ส.ของยูกันดา การวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาลอย่างตรงไปตรงมาคือสื่งที่ทำให้ผู้คนชื่นชอบ และเพิ่มคะแนนความนิยมให้แก่พรรคฝ่ายค้านมากขึ้น อีกทั้ง Wine ยังกลายมาเป็นสัญลักษณ์ของคนรุ่นใหม่ที่ไม่ยอมก้มหัวให้แก่อำนาจ และเป็นความหวังของผู้ที่เหนื่อยหน่ายจากการเห็นมูเซเวนีครองอำนาจมานาน 32 ปี

เรื่องราวของ Wine กลายเป็นที่สนใจจากสื่อมวลชนทั้งในและนอกประเทศเมื่อเขาถูกจับกุมและทุบตีโดยเจ้าหน้าที่รัฐเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา จากการเดินรณรงค์ให้ผู้สมัครอิสระอื่นๆ ลงแข่งขันเลือกตั้ง ในระหว่างการพักรักษาตัวในสหรัฐฯ Wine เล่าว่า เขาถูกทรมานและฉีดยาเข้าไปในร่างกายหลายครั้ง และขณะนี้ทางรัฐบาลยูกันดาได้ตั้งข้อหากบฏให้แก่เขาเรียบร้อย อย่างไรก็ดี Wine ยืนยันที่จะกลับไปต่อสู้ในบ้านเกิด แม้ว่าจะเสี่ยงต่อการลอบสังหารก็ตาม ด้านประธานาธิบดีมูเซเวนีที่ปัจจุบันอายุ 73 ปี ได้ใช้อำนาจเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญที่เดิมกำหนดเพดานอายุไว้ที่ 75 ปี เพื่อให้ตัวเขาสามารถลงสมัครเลือกตั้งได้อีกครั้งในปี 2021 ที่จะถึงนี้

 

Mayam Mahmoud

ภาพถ่ายของ Mayam Mahmoud โดย Mohamed Azazy

“Who said that femininity is about dresses. Femininity is about intelligence and intellect. It is also about the way she was raised” ส่วนหนึ่งจากท่อนแร็ปของ Mayam Mahmound ชาวอียิปต์ คุณอาจประหลาดใจหากทราบว่าประเทศนี้เพิ่งจะนิยามคำว่า “ล่วงละเมิดทางเพศ” และออกบทลงโทษชัดเจนเมื่อปี 2013 นี้เอง แม้ว่าที่ผ่านมาจะมีหญิงอียิปต์ถูกคุกคามทางเพศมากมายในทุกวัน

“ฉันพบว่าแร็ปเปอร์ผู้ชายมักพูดถึงผู้หญิงในทางไม่ดีกับเสื้อผ้าที่เธอใส่ และกล่าวโทษเธอที่ก่อปัญหาขึ้นเอง ซึ่งมันไม่ถูกต้อง ฉันเลยแร็ปปัญหาที่ผู้หญิงเจอให้ฟังบ้าง” Mahmoud กล่าวระหว่างให้สัมภาษณ์กับ Mic.com เธอโด่งดังจากรายการ Arabs Got Talent เมื่อปัญหาการล่วงละเมิดทางเพศที่พบได้มากมายในอียิปต์ถูกสาธยายออกมาเป็นบทเพลง นอกจากนั้นยังสะท้อนสภาพสังคมของอียิปต์ที่มีความไม่เท่าเทียมเมื่อบทลงโทษแก่ผู้หญิงมีมากกว่าผู้ชาย

Mahmound เริ่มต้นร้องแร็ปตั้งแต่ 10 ขวบ เมื่อแม่ของเธอสอนให้รู้จับบทกวี แม้ว่าครอบครัวจะกังวลเนื่องจากภาพลักษณ์ของนักร้องแร็ปมักเป็นผู้ชายก็ตาม ปัจจุบันเธอกลายมาเป็นแรงบันดาลใจให้ผู้หญิงหลายคนเลิกปิดปากเงียบเมื่อเผชิญกับการคุกคาม ในปี 2013 แร็ปเปอร์หญิงคนนี้ก่อตั้งเพจ Carnival of Freedom เพื่อเปิดพื้นที่บนโลกออนไลน์ให้ผู้หญิงอียิปต์สามารถแสดงความคิดเห็นได้เต็มที่ต่อประเด็นต่างๆ ในแบบที่พวกเธอไม่สามารถทำได้ในชีวิตจริง และในปี 2014 Mahmound ได้รับรางวัล Index Art Award จากความพยายามในการเรียกร้องสิทธิความเท่าเทียมให้แก่ผู้หญิงที่ผ่านมา

 

Pussy Riot

ภาพของ Pussy Riot โดย Mitya Aleshkovsky / TASS

วงพังดนตรีพังก์หญิงล้วนสวมหมวกไอ้โม่งที่ดูแล้วก็ไม่น่าจะมีอะไรโดดเด่น แต่หารู้ไม่ว่าพวกเธอคือหนึ่งในศัตรูของประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน แห่งรัสเซีย จากวีรกรรมสุดแสบมากมายไม่ว่าจะเป็นการบุกเข้าไปร้องเพลงที่มหาวิหารเซ็นต์ เดอ ซาร์เวีย เรียกร้องให้พระแม่มารีปกป้องรัสเซีย ด้วยการขับไล่ปูตินออกนอกประเทศก่อนการเลือกตั้งครั้งใหม่จะมาถึง! หรืออย่างวีรกรรมล่าสุดที่พวกเธอแต่งตัวเลียนแบบตำรวจวิ่งลงไปยังสนามแข่งขันฟุตบอลโลกนัดชิงระหว่างฝรั่งเศสและโครเอเชีย พร้อมเรียกร้องให้รัฐบาลปล่อยตัวนักโทษการเมือง แน่นอนว่าการร้องเต้นในโบสถ์ครั้งนั้นส่งผลให้พวกเธอดังเป็นพลุแตก แต่ทว่าสมาชิกบางคนของวงต้องถูกขังลืมถึงสองปีโดยไม่มีการไต่สวน และสมาชิกอีกจำนวนหนึ่งต้องหลบหนีออกนอกประเทศ

เนื้อหาเพลงของ Pussy Riot มักโจมตีไปที่นโยบายทุจริตและเรื่องสกปรกของประธานาธิบดีปูตินที่ใช้อำนาจในทางที่ผิด นอกจากนั้นพวกเธอยังเป็นเฟมินิสต์ด้วย เช่นในปี 2016 Pussy Riot ปล่อยเพลง Straight Outta Vagina เพื่อตอกย้ำให้ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐฯ ให้ระลึกได้ว่าตัวเขามาจากไหน และไม่ควรพูดจาดูถูกผู้หญิง “Don’t play stupid / don’t play dumb / vagina’s where you’re really from!” บางส่วนจากเนื้อเพลง

หลังสมาชิกถูกปล่อยตัว (นานาชาติออกมาประณามการจับกุมและตัดสินโทษครั้งนั้นว่าไร้มนุษยธรรม) Pussy Riot ยังคงมุ่งมั่นในจุดยืนเดินสายประท้วงต่อต้านรัฐบาลปูตินต่อไป โดยมองว่าเป็นเผด็จการริดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชน  ตลอดจนวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของตำรวจรัสเซียที่ชอบจับกุมผู้เห็นต่างทางการเมืองด้วย แต่ต่างจากเดิมตรงที่ครั้งนี้พวกเธอมีชื่อเสียงโด่งดังแล้ว และไม่ต้องสวมหมวกไอ้โม่งปิดบังหน้าตาตลอดเวลา ทั้งยังมีคอนเสิร์ตของตัวเองจัดขึ้นในหลายประเทศทั่วยุโรปอีกด้วย

 

The Rebel Riot

ภาพจากเฟซบุ๊ก The Rebel Riot Band

ปกติแล้วดนตรีพังก์ที่มีท่วงทำนองรุนแรงมักมีความเป็นขบถต่อต้าน ตั้งแต่การต้านดนตรีกระแสหลักไปจนถึงอำนาจรัฐบาล ฉะนั้นแล้วจึงไม่น่าแปลกใจที่อดีตประเทศซึ่งถูกปกครองด้วยระบอบเผด็จการมานานอย่างเมียนมาจะมีวงดนตรีพังก์เช่นกัน The Rebel Riot ก่อตั้งขึ้นในปี 2007 เนื้อหาเพลงของพวกเขาครอบคลุมตั้งแต่ปัญหาชนกลุ่มน้อย, การละเมิดสิทธิมนุษยชน, ความแคลงใจที่มีต่อการเปลี่ยนผ่านระบอบเผด็จการมาสู่ประชาธิปไตยไม่เต็มใบ ไปจนถึงความขัดแย้งทางศาสนาที่เหตุการณ์ใหญ่อย่างพระสงฆ์นำกลุ่มชาวพุทธล้อมปราบชาวโรฮิงญาเมื่อปี 2007 ก็ถูกนำมาบอกเล่าผ่านบทเพลงด้วยเช่นกัน และล่าสุดพวกเขายังวิจารณ์แนวคิดของพระวีระธุ พระเมียนมาชื่อดังผู้เผยแพร่คำสอนยุยงให้ชาวพม่าเกลียดชังชาวมุสลิม

“ผู้คนที่นี่บ้ากันมาก มีคนที่คลั่งศาสนาพร้อมจะฆ่าคนอื่นได้ทุกเมื่อ จริงๆ มันก็น่าเศร้าเพราะคนในประเทศเราส่วนใหญ่นับถือพุทธศาสนา ซึ่งพุทธศาสนาเป็นศาสนาแห่งความสันติและมักจะสอนให้ผู้คนรักกัน แต่ผู้คนกลับทำสิ่งที่ตรงกันข้าม ในสิ่งที่พุทธศาสนาไม่ได้สอนไว้” บทสัมภาษณ์ของ Kyaw Kyaw มือกีต้าร์ของวงที่ให้ไว้กับ Voice TV เมื่อครั้งมาเล่นคอนเสิร์ตที่เมืองไทยสะท้อนให้เห็นถึงแนวคิดของศิลปินที่แม้จะถูกฉาบไปด้วยเสื้อผ้าหน้าผมหลุดโลก แต่ภายในกลับเต็มเปี่ยมไปด้วยความรักและการโหยหาสันติภาพ

ปัจจุบันพวกเขายังคงเดินสายเล่นดนตรีต่อต้านรัฐบาลเผด็จการ และประณามองค์กรศาสนาที่เผยแพร่ลัทธิความเกลียดชังต่อไป ด้วยความหวังว่าเสียงดนตรีของพวกเขาจะก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงแก่ชาวเมียนมารุ่นใหม่ เรื่องราวของ The Rebel Riot ยังถูกถ่ายทอดเป็นภาพยนตร์สารคดีด้วย ในชื่อ “My Buddha Is Punk” โดย อันเดรียส ฮาร์ตมันน์ ผู้กำกับชาวเยอรมัน

 

Dark Phantom

Dark Phantom ขณะแสดงคอนเสิร์ตในเทศกาลดนตรีเมืองเออร์บิล ประเทศอิรัก, AFP

แม้จะเผชิญกับคำข่มขู่จากกลุ่มก่อการร้าย หรือการขาดแคลนอุปกรณ์เพราะสงคราม แต่พวกเขาจะยังคงเล่นดนตรีต่อไป Dark Phantom ก่อตั้งขึ้นในปี 2007 โดย Murad Khalid และ Rabeen Hasem ทั้งยังเป็นวงเฮฟวีเมทัล วงแรกของเมืองคีร์คูก ในอิรัก โดยได้แรงบันดาลใจจากซีดีเพลงวง Metallica ที่พวกเขาได้รับมาจากทหารอเมริกัน เมื่อครั้งที่สหรัฐอเมริกาเข้ามาทำสงครามในอิรักปี 2003

บทเพลงของ Dark Phantom บอกเล่าถึงปัญหาคอร์รัปชั่นทางการเมือง และความขัดแย้งทางศาสนา ที่กลายมาเป็นปัญหาฝังรากลึกในสังคมอิรัก ทว่าวัฒนธรรมแบบเฮฟวีเมทัลนั้นไม่ได้เป็นที่นิยมในประเทศ มีหลายครั้งที่ผู้คนคิดว่าเสียงร้องของพวกเขาน่าสะพรึงกลัว และอิหม่ามประจำเมืองก็ว่ากล่าวการแสดงของพวกเขาว่าเป็นดนตรีของปีศาจ นอกจากนั้นนักรบไอซิสเองยังออกประกาศข่มขู่เอาชีวิตพวกเขา เนื่องจากมองว่าดนตรีแบบตะวันตกเป็นสิ่งต้องห้าม เหตุการณ์ในครั้งนั้นทำให้สมาชิก Dark Phantom ต้องปิดเพจ ลบคลิปวิดีโอของพวกเขาออกจากโซเชียลมีเดียทั้งหมด และเลือกที่จะซ้อมดนตรีอย่างเงียบๆ เพื่อรักษาชีวิตไว้

จนกระทั่งในปี 2014 เมื่อสงครามต่อต้านไอซิสเริ่มต้นขึ้น และเมืองคีร์คูกถูกควบคุมโดยกองทัพเพชเมอร์กาของชาวเคิร์ดแทน บรรยากาศของเมืองที่ดีขึ้นทำให้ Dark Phantom ตัดสินใจกลับมาทำการแสดงอีกครั้ง อัลบั้มล่าสุดของพวกเขาถูกปล่อยออกมาในปี 2016 มีชื่อว่า “Nation of Dogs” และในเร็วๆ นี้ Dark Phantom ยังมีแผนที่จะไปทัวร์คอนเสิร์ตร่วมกับวงเฮฟวีเมทัลในซีเรีย ที่กรุงดามัสกัส, เมืองลาตาเกีย และเมืองฮอมส์ เพื่อแสดงให้เห็นว่าเฮฟวีเมทัลไม่ได้ถูกแบ่งแยกด้วยพรมแดน และสงครามก็ไม่อาจทำลายเสียงดนตรีของพวกเขาได้

 

อ่านเพิ่มเติม

ค้นพบเครื่องดนตรีอายุ 1,700 ปี ยังคงเล่นได้

 

แหล่งข้อมูล

10 บทเพลง ประณามการทำสงคราม และเรียกร้องสันติภาพ

With Bobi Wine, people power could finally win in Uganda

Bobi Wine: The pop star seeking ‘people power’

An egyptian rapper is using her music to fight back against sexual harassment

Pussy Riot วงนี้แสบเพื่อเสรีภาพ

ย้อนวีรกรรม Pussy Riot วงพังก์จอมป่วนฟุตบอลโลก

My Buddha Is Punk: ความพังก์ที่มากกว่าดนตรี

แฟชั่นพังค์ในชุดศาสดา วิพากษ์วิกฤตศาสนาของเมียนมา

วงพังค์รุ่นใหม่ของพม่าแต่งเพลงต่อต้านความขัดแย้งทางศาสนา

Iraqi heavy metal band Dark Phantom takes its ‘fight for freedom’ to Syria

In Iraq, Heavy Metal is Considered the Devil’s Music

 

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.