ลอนดอนผงาด

เดอะชาร์ดตั้งตระหง่านในฐานะตึกสูงที่สุดของลอนดอน ทำให้สัญลักษณ์เก่าๆ อย่างทาวเวอร์บริดจ์ดูเล็กไปถนัดตา ขณะนี้กำลังมีการก่อสร้างตึกระฟ้ากว่า 70 แห่ง ซึ่งส่อแววว่าจะทำให้เส้นขอบฟ้าของลอนดอนเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม

ลอนดอนผงาด

สวนพฤกษศาสตร์คิวตั้งอยู่เหนือคุ้งน้ำของแม่น้ำเทมส์ ห่างจากใจกลางกรุงลอนดอนขึ้นไปทางต้นน้ำราว 11 กิโลเมตร เป็นแหล่งพักใจสงบงามจากป่าคอนกรีตและไอเสียรถยนต์  รุ่มรวยไปด้วยพืชนับพันชนิดที่รวบรวมมาจากซอกมุมอันไกลโพ้นของเครือจักรภาพ การเดินทอดน่องผ่านแปลงกุหลาบพันปีจากหิมาลัย และกอหญ้าจากแทสมาเนียทำให้เรามองเห็นสายสัมพันธ์อันกว้างไกลที่อังกฤษมีต่อโลกภายนอก

ทว่าแม้แต่ที่สวนคิว เราก็ไม่อาจหลุดพ้นไปจากวังวนของชีวิตสมัยใหม่ไปได้  สวนแห่งนี้ตั้งอยู่ใต้เส้นทางบินสู่ท่าอากาศยานฮีทโรว์โดยตรง  ระหว่างที่ฉันกำลังชื่นชมต้นโอ๊กเก่าแก่ใหญ่ยักษ์ที่โยกย้ายถิ่นฐานมาจากเทือกเขาอัลบอร์ซของอิหร่านในรัชสมัยสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย  เครื่องบินโดยสารก็ทยอยบินลงมาอย่างไม่ขาดสาย ทิ้งช่วงห่างลำละ 27-40 วินาที  รุกขกรของสวนคิวจำเวลาได้ขึ้นใจ เครื่องบินต่อแถวพร้อมจะโฉบลงมายังสนามบินสองทางวิ่งที่ได้ชื่อว่าจอแจที่สุดในโลก

ห่างลงไปทางใต้ของแม่น้ำประมาณ 16 กิโลเมตร คือที่ตั้งของประตูน้ำกั้นแม่น้ำเทมส์ ซึ่งเป็นระบบป้องกันน้ำท่วม คลื่นพายุซัดฝั่ง และระดับทะเลที่สูงขึ้น ประตูน้ำทั้งสิบบานซึ่งทำจากเหล็กกล้าสามารถยกสูงได้เท่ากับตึกห้าชั้น

ในบางช่วงที่จอแจที่สุดของวัน  “ราวกับผึ้งตอมไหน้ำผึ้งเลยครับ” ตามคำกล่าวของนักบินพาณิชย์คนหนึ่งซึ่งพูดถึงการจราจรอันแออัดของฮีทโรว์ไว้ในหนังสือรวบรวมประวัติศาสตร์จากคำบอกเล่าของลอนดอนยุคใหม่ โดยเคร็ก เทย์เลอร์

พูดถึงผึ้งตอมไหน้ำผึ้ง ลอนดอนทั้งใหญ่โตขึ้นและมั่งคั่งกว่าที่เคยเป็นมา ที่นี่ป็นบ้านของผู้คนกว่า 8.8  ล้านคน และส่อแววว่าจะเพิ่มขึ้นอีกสองล้านคนภายในปี 2050  ประชากรที่ค่อยๆ เพิ่มขึ้นตลอดสามทศวรรษ  เปลี่ยนโฉมหน้าของลอนดอนจากสภาพไม้ใกล้ฝั่ง เป็นมหานครที่มีความสำคัญระดับโลก เป็นศูนย์กลางด้านการเงินระดับแนวหน้า และมีเศรษฐกิจที่เติบโตเร็วที่สุดแห่งหนึ่งของโลก

วิสัยทัศน์สำหรับย่านคิงส์ครอสมีอาทิ การบูรณะสิ่งก่อสร้างที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ 20 แห่ง และเพิ่มสิ่งก่อสร้างใหม่ๆ ในพื้นที่ราว 170 ไร่ สถานีรถไฟคิงส์ครอสได้รับการแปลงโฉมให้แลดูทันสมัยขึ้นกว่าเดิม แต่ละปีมีคนใช้สถานีรถไฟแห่งนี้ 47 ล้านคน

เศรษฐกิจที่ขยายตัวส่งผลให้การก่อสร้างเติบโตอย่างรวดเร็ว ซึ่งรวมถึงเมกะโปรเจ็กต์บูรณะฟื้นฟูที่ใหญ่ที่สุดในยุโรปหลายโครงการ  ระบบระบายน้ำเสียด้วยอุโมงค์ใหญ่ยักษ์จะลอดผ่านใต้แม่น้ำเทมส์เพื่อกันไม่ให้สิ่งปฏิกูลเล็ดรอดเข้าสู่ที่ราบลุ่มน้ำท่วมถึง ส่วนเส้นขอบฟ้าของลอนดอนจะได้รับการแปลงโฉมด้วยอาคารสูงอีกกว่า 500 อาคารในมหานคร ซึ่งเคยหลีกเลี่ยงตึกระฟ้ามาช้านาน  ครอสเรลล์ (Crossrail) ซึ่งเป็นโครงการรถไฟใต้ดินความเร็วสูงมูลค่าหกแสนล้านบาทที่สร้างเพื่อลดความแออัดของรถไฟใต้ดินลอนดอน (London Tube) ซึ่งเป็นระบบรถไฟใต้ดินแห่งแรกของโลก  กำหนดเปิดเดินรถสายเอลิซาเบท (Elizabeth Line) ในปีหน้า  โดยจะเพิ่มความคล่องตัวในการเชื่อมต่อระหว่างเขตตะวันตกของลอนดอน และเขตตะวันออกซึ่งอยู่ระหว่างการพัฒนา

พื้นที่ต่างๆ ในใจกลางเมืองกำลังถูกนำมาเชื่อมต่อกลับเป็นผืนเดียวกัน ตามโครงการบูรณะแหล่งอุตสาหกรรมให้เป็นย่านชุมชนสำหรับอนาคต โดยมุ่งเน้นที่ถนนคนเดิน พื้นที่สาธารณะ และสิ่งซึ่งอาจจะเป็นแนวทางใหม่ นั่นคือ การสนับสนุนผู้ประกอบการท้องถิ่น มากกว่าเครือข่ายห้างค้าปลีกขนาดใหญ่

ผู้มาเยือนชมวิวจากยอดตึกเลขที่ 20 ถนนเฟนเชิร์ช ซึ่งรู้จักกันในอีกชื่อหนึ่งว่า ตึกวอล์กกีทอล์กกี (วิทยุสื่อสาร) แม้รูปทรงตึกจะก่อให้เกิดการถกเถียงอย่างเผ็ดร้อน แต่เมื่อปีที่แล้ว ตึกนี้ถูกขายให้กับบริษัทในฮ่องกงเป็นมูลค่าเกือบ 55,000 ล้านบาท สร้างสถิติราคาตึกแพงที่สุดในลอนดอน

คิงส์ครอส (King’s Cross) อดีตชุมทางขนส่งถ่านหินและธัญพืชที่ทรุดโทรม และในระยะหลังขึ้นชื่อว่าเป็นแหล่งโสเภณีและยาเสพติด กำลังใกล้เสร็จสิ้นกระบวนการแปลงโฉมที่ใช้เวลานานสองทศวรรษ โครงการพัฒนารวมถึงการบูรณะสถานีรถไฟคิงส์ครอส และเซนต์แพนคราส  (สถานีหลังเป็นชุมทางรถไฟยูโรสตาร์ไปปารีส) วิทยาเขตแห่งใหม่สำหรับวิทยาลัยศิลปะและการออกแบบ  สถานที่แสดงดนตรี น้ำพุ  ตลอดจนโครงการที่พักอาศัยทั้งระดับหรูและปานกลาง เมื่อปลายปีที่แล้ว กูเกิลเริ่มก่อสร้าง “อาคารระพื้น” ความสูง 11ชั้น  ซึ่งจะมีส่วนยาวมากกว่าเดอะชาร์ด ซึ่งเป็นอาคารสูงที่สุดของลอนดอน และจะมีพื้นที่รองรับพนักงาน 7,000 คน  ขณะที่เฟสบุ๊กก็มีโครงการจะย้ายเข้าไปอยู่ในอาคารข้างๆ โดยขยายสำนักงานเพื่อรองรับพนักงาน 6,000 คน

ห่างออกไปราวเจ็ดกิโลเมตรทางใต้ของแม่น้ำเทมส์  บริษัทแอ๊ปเปิ้ลจะเข้าไปครอบครองห้องทำความร้อนของโรงไฟฟ้าแบตเตอร์ซีซึ่งเป็นอาคารประวัติศาสตร์  โดยบูรณะให้กลายเป็นจุดเด่นของย่านไนน์เอล์มส (Nine Elms) การลงทุนของกูเกิลและแอ๊ปเปิ้ลในพื้นที่ขนาดใหญ่และโดดเด่นเช่นนั้น  ไม่ต่างจากการลงมติไว้วางใจให้ชื่อเสียงของลอนดอนในฐานะศูนย์กลางด้านเทคโนโลยีแห่งหนึ่งของโลก

ด้วยเครือข่ายคลองความยาวรวมกันเกือบ 200 กิโลเมตรในลอนดอน อาทิ คลองรีเจนต์สในย่านคิงส์ครอสในภาพ เรือบ้านได้กลายเป็นทางออกสำหรับค่าเช่าบ้านบนบกที่แพงเกินเอื้อม แต่ชาวเรือกำลังเผชิญกับปัญหาค่าจอดเรือที่เพิ่มสูงขึ้นและกฎข้อบังคับใหม่ๆ ที่จำกัดทางเข้าออก

ความเจริญรุ่งเรืองของลอนดอนมาพร้อมกับปัญหาต่างๆ ของเมืองใหญ่   และขณะที่ปัญหารุมเร้าเหล่านั้นเลวร้ายลง  ก็ทำให้หลายคนตั้งข้อสงสัยว่า มหานครอันยิ่งใหญ่ของพวกเขากำลังสูญเสียเสน่ห์จูงใจไปหรือไม่ ปัญหาจราจรย่ำแย่ มลพิษทางอากาศเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตด้วยโรคหอบหืดในเด็กและคนชรามากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ราคาที่ดินที่พุ่งสูงขึ้นผลักดันราคาบ้านขึ้นไปจนสุดเอื้อมสำหรับชาวลอนดอนที่มีฐานะปานกลาง

และแล้วราวกับโชคชะตาพลิกผัน  ก็เกิดเรื่องที่น่าปวดใจ  นั่นคือการที่ลอนดอนกำลังเผชิญกับเบร็กซิต (Brexit – การพ้นสภาพจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปของสหราชอาณาจักร)  ทำให้หลายฝ่ายออกมาประเมินอย่างหดหู่ว่ายุครุ่งเรืองของลอนดอนอาจมาถึงจุดจบเสียแล้ว

“พวกเรายังไม่รู้จริงๆ ว่า  เบร็กซิตจะออกมาในรูปไหน  หรือจะมีผลกระทบต่อลอนดอนอย่างไร” เป็นความเห็นของ ริชาร์ด บราวน์  ผู้อำนวยการด้านวิจัยของศูนย์ลอนดอน (Centre for London)  ซึ่งเป็นองค์กรวิจัยระดับมันสมอง “เบรกซิตเกิดขึ้นประจวบเหมาะกับช่วงเวลาที่โลกกำลังขาดเสถียรภาพอย่างมากเสียด้วย  ก็เลยทำให้เส้นทางสู่การเจริญเติบโตที่ดูเหมือนราบรื่น  กลายเป็นเรื่องไม่แน่นอน”

ความรุ่งเรืองจะแปรเปลี่ยนเป็นร่วงโรยจริงหรือ  ลอนดอนจะรับมือกับความท้าทายต่างๆ และยังคงรักษาสถานภาพเป็นเมืองค้าขายที่ยิ่งใหญ่ของโลก ตลอดจนเป็นเมืองที่น่าอยู่ต่อไปได้หรือไม่  เป็นเรื่องยากที่จะนึกภาพว่า ลอนดอนกำลังอยู่ในสภาวะหมิ่นเหม่  โดยเฉพาะเมื่อปั้นจั่นยังหมุนอยู่เหนือโครงการก่อสร้างต่างๆ ทั่วเมือง และทุกวันผู้คนยังพากันหลั่งไหลมายังสนามบินฮีทโรว์และสถานีรถไฟต่างๆ  มิหนำซ้ำยังเป็นการมองข้ามพลังความแข็งแกร่งทางประวัติศาสตร์ที่หยั่งลึกอยู่ในสายเลือดของลอนดอน และโอบอุ้มกลุ่มหมู่บ้านที่รวมตัวกันแห่งนี้มาตลอดระยะเวลา 2,000 ปี

หนึ่งในสองกิจการทางใต้ของลอนดอน คือตัวอย่างที่แสดงให้เห็นถึงความคิดอันเฉียบแหลมและความยั่งยืน ได้แก่ โกรว์อิ้งอันเดอร์กราวนด์ (Growing Underground) ที่ใช้เครือข่ายหลุมหลบภัยสมัยสงครามโลกครั้งที่สองเป็นฟาร์มปลูกพืชผักแบบไร้ดิน

ชาวลอนดอนชอบพูดถึงความสามารถในการฟื้นตัวของลอนดอน   ซึ่งมีตั้งแต่รอดพ้นกาฬโรคระบาดหลายต่อหลายครั้ง ไฟไหม้ใหญ่เมื่อปี 1666 ไปจนถึงการโจมตีทิ้งระเบิดของเยอรมนีในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง เป็นหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่า ลอนดอนจะผงาดเหนือความท้าทายทั้งหลายที่กำลังเผชิญอยู่ในปัจจุบัน รวมทั้งการหย่าร้างกับยุโรป

“ลอนดอนอยู่ในสถานะพิเศษเหมือนกับไม่สามารถแตะต้องได้ครับ” ปีเตอร์ กริฟฟิทส์  บรรณาธิการอำนวยการของโครงการศึกษาด้านเมืองต่างๆ ของลอนดอนสกูลออฟเอคอนอมิกส์ มหาวิทยาลัยลอนดอน กล่าวและเสริมว่า “ลอนดอนล้ำหน้าไปไกลกว่าเมืองอื่นๆ จนสามารถรับมือกับสิ่งต่างๆ ขณะที่เมืองอื่นๆ ทำไม่ได้”

เรื่อง      ลอรา พาร์กเกอร์

ภาพถ่าย  ลูกา โลกาเตลลี

 

อ่านเพิ่มเติม

ชมความสว่างไสวยามค่ำคืนของเมืองต่างๆ

 

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.