เยือนดินแดนซึ่งคนตายไม่เคยหลับใหลบนเกาะ ซิซิลี

เยือนดินแดนซึ่งคนตายไม่เคยหลับใหลบนเกาะ ซิซิลี

ซิซิลี – ณ วัดของบาทหลวงคณะกาปูชินในเมืองปาแลร์โม เมืองหลวงของแคว้น ซิซิลี ซึ่งตั้งอยู่ ณ จัตุรัสอันเงียบสงัดใกล้กับสุสาน หากเดินลงบันไดผ่านรูปสลักไม้ของแม่พระมหาทุกข์ เราจะพบประตูที่นำไปสู่ห้องเก็บศพใต้ดิน ห้องนี้มีขนาดใหญ่โตมโหฬาร พร้อมเพดานโค้งและทางเดินที่ทอดยาวไปทางมุมด้านขวา อากาศภายในห้องเย็นเยียบ อับชื้น และเหม็นเปรี้ยวจากกลิ่นฝุ่นและเสื้อผ้าที่เปื่อยยุ่ย ตามหิ้งบนผนังมีศพร่วม 2,000 ศพตั้งเรียงรายอยู่ในหีบที่ผุพัง พวกเขาแต่งองค์ทรงเครื่องด้วยเสื้อผ้าที่ดีที่สุดหรือเครื่องแบบชุดเก่งราวกับจะแต่งตัวไปอวดใคร

เรื่อง        เอ. เอ. กิลล์

ภาพถ่าย วินเซนต์ เจ. มูซี

ที่เมืองปาแลร์โม ซากศพของชายจากศตวรรษที่ 19 วางเรียงรายเป็นแถวอยู่บนผนัง ย้อนหลังไปเมื่อปี 1599 ศพที่แห้งเองตามธรรมชาติเป็นแรงบันดาลใจให้นักบวชทำมัมมี่บรรดาบาทหลวงขึ้น ในไม่ช้าฆราวาสก็ขอเอาอย่างบ้าง ดารีโอ ปีออมบีโน-มัสการี นักมานุษยวิทยา บอกว่า “ผู้คนมองว่าการทำมัมมี่เป็นสิ่งปาฏิหาริย์ เพราะเป็นการแทรกแซงโดยตรงจากพระผู้เป็นเจ้า”

ในยุโรป การผึ่งศพให้แห้งและการรักษาสภาพศพเป็นธรรมเนียมปฏิบัติอันเป็นเอกลักษณ์ของซิซิลี แม้จะพบในพื้นที่อื่นๆของอิตาลีบ้างก็ตาม แต่ส่วนใหญ่อยู่ในซิซิลีที่ซึ่งความสัมพันธ์ระหว่างคนเป็นกับคนตายเหนียวแน่นเป็นพิเศษ ปรากฏการณ์นี้ก่อให้เกิดคำถามว่า พวกเขาทำเช่นนี้ไปเพื่ออะไร และเพราะเหตุใดจึงนำซากศพเหล่านี้มาจัดแสดง

ใต้มหาวิหารแห่งโนวาราดีซิชีลยาที่สร้างขึ้นในศตวรรษที่ 15 มีมัมมี่ของบาทหลวงอยู่ 6 ศพ ที่ปีไรโนและซาโวกาพบมัมมี่อย่างน้อย 50 ศพ ขณะที่ปาแลร์โมพบเกือบ 2,000 ศพ
แผนที่: National Geographic; ที่มา: ดารีโอ ปีออมบีโน-มัสกาลี

ร่างไร้วิญญาณเหล่านี้อยู่ในอากัปกิริยาต่างๆที่บ่งบอกถึงบุคลิกและอุปนิสัยใจคอของแต่ละคน ขากรรไกรของพวกเขาอ้าค้างราวกับกำลังกรีดร้องแต่ไม่มีเสียงเล็ดลอดออกมา ฟันที่ผุกร่อนแสยะยิ้มคุกคาม เบ้าตาจ้องมองออกมาอย่างสิ้นหวัง ผิวหนังหยาบกร้านหุ้มกระดูกแก้มที่แห้งตอบและข้อนิ้วที่หลุดลุ่ย ซากศพเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นของคนร่างเล็ก แขนทั้งสองข้างอยู่ในท่ากอดอก ขณะที่ลำตัวถูกรั้งให้ตั้งตรงด้วยลวดและตะปู ศีรษะตกพับอยู่บนไหล่ ร่างกายค่อยๆเสื่อมสภาพลงพร้อมๆกับท่วงท่าฝืนสังขารลอกเลียนคนเป็น

ใบหน้าอันเหี่ยวแห้งเยี่ยมหน้ามองจากห้องเก็บศพใต้ดินในอิตาลี เหล่ามัมมี่ในซิซิลีกำลังเผยเรื่องราวของชีวิตและความตายที่เกิดขี้นเมื่อหลายร้อยปีก่อน

คูหาเก็บศพเหล่านี้แบ่งแยกชัดเจนระหว่างนักบวชกับฆราวาส ด้านหนึ่งเราจึงพบบรรดาแพทย์ ทนาย และตำรวจในเครื่องแบบ แล้วยังมีคูหาสำหรับสตรีที่มัคคุเทศก์บอกว่า เราสามารถชื่นชมแฟชั่นของวันวานได้ แต่ซากศพเหล่านั้นสวมเสื้อผ้าขาดรุ่งริ่ง ขะมุกขะมอม และซีดจางจนกลายเป็นสีเทาหม่นๆ แทบไม่เหลืออะไรให้ชื่นชมได้เลย คูหาเล็กๆอีกด้านหนึ่งอุทิศแก่ผู้ตายที่เป็นพรหมจรรย์ ถัดไปเป็นห้องเล็กๆสำหรับทารก เด็กน้อยในเครื่องแต่งกายสำหรับโอกาสพิเศษเหล่านี้ตั้งเรียงรายอยู่ราวกับตุ๊กตาผีดิบ เด็กผู้หญิงคนหนึ่งนั่งบนเก้าอี้เด็ก มีโครงกระดูกเล็กๆอีกโครงวางอยู่บนตัก ซึ่งอาจเป็นน้องน้อยของเธอ ดูๆไปก็น่าสงสารและน่าขันระคนกัน

โรซาเลีย ลอมบาร์โด หนูน้อยวัยสองขวบที่เสียชีวิตด้วยโรคปอดบวมเมื่อปี 1920 เป็นหนึ่งในศพท้ายๆ ที่ได้รับการบรรจุในห้องเก็บศพใต้ดินในปาแลร์โม แต่สภาพศพของเด็กหญิงดูราวกับว่าเธอเพิ่งเสียชีวิตเมื่อวาน นี่คือผลงานชั้นยอดของนักดองศพนาม อัลเฟรโด ซาลาเฟีย

มัมมี่ศพแรกและเก่าแก่ที่สุดเป็นนักบวชชื่อ ซิลเวสโตร ดา กุบบีโอ ซึ่งอยู่ที่นี่มาตั้งแต่ปี 1599 (คำว่า “มัมมี่” เป็นศัพท์ภาษาอาหรับแปลว่า บิทูเมน [bitumen] ซึ่งคล้ายกับยางไม้สีดำที่ชาวอียิปต์โบราณใช้เป็นสารกันเสีย) ซากศพส่วนใหญ่มีอายุอยู่ในช่วงศตวรรษที่สิบเก้า โดยแรกเริ่มมีเฉพาะนักบวชและบาทหลวงที่พำนักอยู่ในวัดแห่งนี้เท่านั้น พอเวลาผ่านไปจึงเริ่มมีศพของฆราวาสเข้ามาสมทบ ไม่ว่าจะเป็นผู้สนับสนุนทางการเงิน บุคคลสำคัญ ตลอดจนผู้มีชื่อเสียง ไม่มีใครรู้แน่ชัดว่าการทำมัมมี่เริ่มต้นขึ้นได้อย่างไร บางทีอาจเนื่องมาจากการค้นพบโดยบังเอิญว่า ศพที่ถูกทิ้งไว้ในห้องใต้ดินซึ่งมีสภาพแวดล้อมเฉพาะ กล่าวคือเป็นหินปูนที่มีรูพรุนและเย็นเป็นพิเศษจะช่วยให้ศพแห้งแทนที่จะเน่าเปื่อย จากนั้นธรรมเนียมและขั้นตอนปฏิบัติที่เกี่ยวข้องจึงเกิดขึ้นตามมา โดยศพที่เพิ่งเสียชีวิตจะถูกนำไปเก็บไว้ในห้องซึ่งมีตะแกรงหรือรางทำจากดินเผาวางอยู่บนช่องระบายน้ำ เพื่อให้ของเหลวจากศพซึมออกมาและศพจะค่อยๆแห้ง หลังจากผ่านไปแปดเดือนถึงหนึ่งปี ศพเหล่านี้จะถูกนำมาทำความสะอาดด้วยน้ำส้มสายชู ก่อนจะสวมใส่เสื้อผ้าที่ดีที่สุด และบรรจุลงในโลงหรือแขวนไว้ตามผนัง

มัมมี่นกบวชยืนอาบแสงเรืองรองอยู่ในคูหาของตนที่เมืองปีไรโน ผู้คนมักแวะเวียนมายังห้องเก็บศพใต้ดินเพื่อสวดภาวนาแด่วิญญาณของญาติพี่น้อง และขอให้พวกเขาช่วยเป็นตัวกลางสื่อสารกับพระเจ้าแทนตน
เสื้อคลุมสีเลือดหมูและหมวกสีดำบนซากศพที่เมืองปาแลร์โมเหล่านี้ ทำให้เรารู้ว่าพวกเขาเป็นนักบวช มัมมี่ส่วนใหญ่ในซิซิลีเป็นศพของนักบวชหรือชนชั้นสูง รวมไปถึงผู้สนับสนุนทางการเงินของคณะกาปูชิน ผลการวิเคราะห์เผยว่า หลายคนทนทุกข์จากความป่วยไข้ด้วยโรคของผู้มีอันจะกิน

“ไม่มีใครรู้แน่ชัดว่าการทำมัมมี่เริ่มต้นขึ้นได้อย่างไร บางทีอาจเนื่องมาจากการค้นพบโดยบังเอิญว่า ศพที่ถูกทิ้งไว้ในห้องใต้ดินซึ่งมีสภาพแวดล้อมเฉพาะ กล่าวคือเป็นหินปูนที่มีรูพรุนและเย็นเป็นพิเศษจะช่วยให้ศพแห้งแทนที่จะเน่าเปื่อย”

ประเพณีการเก็บรักษาศพของบรรพบุรุษกระทำกันในหลายพื้นที่ แต่แทบไม่มีที่ไหนที่จัดแสดงศพในลักษณะนี้ ซิซิลีมีพื้นเพทางวัฒนธรรมที่หลากหลาย ผู้คนต่างเชื้อชาติมาที่นี่พร้อมกับนำธรรมเนียมปฏิบัติและความเชื่อทางศาสนาของตนเองติดตัวมาด้วย จากนั้นจึงเกิดการผสมผสานกันขึ้น ประเพณีหลายอย่างยังคงปรากฏให้เห็นในปัจจุบัน แม้ต้นกำเนิดหรือที่มาจะถูกลืมเลือนไปนานแล้วก็ตาม มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่าธรรมเนียมปฏิบัตินี้อาจเป็นร่องรอยที่เหลืออยู่ของสิ่งที่เก่าแก่กว่า นั่นคือพิธีกรรมก่อนคริสต์ศาสนาที่ว่าด้วยความเชื่อในพลังอำนาจของซากศพ แต่ใช่ว่าทุกศพจะแห้งไปเอง บางศพก็เน่าเปื่อย ดังนั้นการรักษาศพจึงอาจเป็นการเจริญรอยตามพระประสงค์ของพระผู้เป็นเจ้า เพราะพระหัตถ์ของพระองค์จะทรงโอบอุ้มเฉพาะบางคนที่ประกอบคุณงามความดีแก่โลกเท่านั้น เช่นเดียวกับที่มีการนำอัฐิของบรรดานักบุญมาช่วยในการสวดมนต์ภาวนาและเสริมสร้างศรัทธา บางทีพระผู้เป็นเจ้าก็อาจทรงเก็บรักษาศพเหล่านี้ไว้เพื่อจรรโลงศรัทธาก็เป็นได้ หรือบางทีห้องเก็บศพใต้ดินอาจสร้างขึ้นเพื่อเป็นคติเตือนใจ เฉกเช่นภาพเขียนแนว วานีตา หรือมรณานุสติ ที่คอยย้ำเตือนให้เราตระหนักถึงการปล่อยวางความทะเยอทะยานทั้งปวง ยอมรับความตายที่ไม่อาจหลีกเลี่ยง ตลอดจนรู้เท่าทันอหังการและความโง่เขลาในการแสวงหาความมั่งคั่งทางโลกด้วย

ประตูกลที่อยู่หน้าแท่นบูชาของมหาวิหารแห่งโนวาราดีซิชีลยานำไปสู่ห้องเก็บศพใต้ดิน ตามธรรมเนียมแล้ว ศพของนักบุญจะได้รับการฝังไว้ใต้แท่นบูชาเพื่อให้ปกปักรักษาโบสถ์ บรรดาฆราวาสเลยอยากได้อานิสงส์ไปด้วย ยิ่งที่ฝังศพอยู่ใกล้แท่นบูชามากเท่าไร ก็ยิ่งได้รับความนิยมมากเท่านั้น

ซาโวกาเป็นหมู่บ้านอันเงียบสงบที่ทอดตัวไปตามเนินเขาจนสุดปลายด้านตะวันออกของเกาะซิซิลี บนยอดเขามีสำนักชีอยู่แห่งหนึ่ง ซึ่งภายนอกดูเหมือนโรงแรมที่พักราคาถูกมากกว่าจะเป็นอาคารกอทิกจากยุคกลาง ที่นี่มีแม่ชีอยู่เพียงสองคน ทั้งคู่เป็นชาวอินเดียจากรัฐฌาร์ขัณฑ์ พวกเธอสวมเสื้อสเวตเตอร์ขนสัตว์ทับชุดส่าหรี ในห้องด้านข้างห้องโถงใหญ่มีศพยี่สิบกว่าศพนอนเรียงรายอยู่ในโลงไม้อัดชั่วคราว เพื่อให้นักวิทยาศาสตร์ได้ศึกษา

ซากศพเหล่านี้ให้ข้อมูลมหาศาลเกี่ยวกับวิถีชีวิตของผู้คนในอดีต เช่น อาหารการกิน โรคภัยไข้เจ็บ และอายุขัยเฉลี่ย และการที่เรารู้เรื่องโรคภัยไข้เจ็บเมื่อหลายร้อยปีก่อน อย่างโรคซิฟิลิส มาลาเรีย อหิวาตกโรค และวัณโรค ก็ช่วยให้เรารู้วิธีเอาชนะโรคเหล่านี้ได้ในปัจจุบัน นักวิทยาศาสตร์ทำการเคลื่อนย้ายศพด้วยความระมัดระวังตามหลักวิชาการ โดยวัดส่วนสูงและตรวจสอบอายุ วิเคราะห์กะโหลกและฟัน มองหาร่องฟันที่เคลือบฟันถูกทำลาย ซึ่งแสดงถึงการเผชิญกับภาวะทุพโภชนาการติดต่อกันหลายปี มัมมี่สองศพเป็นโรคเกาต์ อีกห้าศพมีร่องรอยของอาการข้ออักเสบ และเกือบทั้งหมดมีปัญหาเกี่ยวกับฟัน ไม่ว่าจะเป็นหินปูนเกาะ เหงือกร่น ฟันผุ และฝีเหงือก นอกจากนี้ยังมีการตรวจสอบช่องท้องเพื่อดูอวัยวะภายใน มัมมี่ศพหนึ่งมีการนำเนื้อเยื่ออ่อนออกไป ขณะที่อีกหลายศพถูกยัดด้วยผ้าขี้ริ้วหรือใบไม้ รวมไปถึงใบกระวาน ซึ่งอาจใช้ในการดับกลิ่น หรือไม่ก็เป็นเพราะเชื่อว่ามีสรรพคุณในการช่วยรักษาสภาพศพ นอกจากนี้ การยัดไส้ศพที่กำลังเหี่ยวแห้งยังทำให้ศพดูคล้ายคนมีชีวิตมากขึ้น ผิวของมัมมี่ดูมันวาวเหมือนกระดาษหนังเคลือบขี้ผึ้ง เสื้อผ้าให้ความรู้สึกเหนียวตัวและอับชื้น ใบหน้าบวมและปากอ้ากว้าง ทำให้การตรวจกล่องเสียงและลิ้นที่แห้งเหี่ยวทำได้ง่ายขึ้น

ผิวหนังที่บางกรอบราวกับกระดาษของนักบวชในปีไรโนรูปนี้เหลือรอดมาได้ เนื่องจากนักบวชคณะกาปูชินจัดการผึ่งศพท่านให้แห้งทันทีหลังเสียชีวิต โดยการนำศพมาวางบนไม้ระแนงเพื่อให้ของเหลวในร่างกายไหลออกไป จากนั้นจึงยัดศพด้วยกิ่งสมุนไพรเพื่อช่วยดับกลิ่น

ศพจำนวนหนึ่งยังคงอยู่ในโลงที่ตกแต่งอย่างประณีต ผมยกฝาโลงอันหนักอึ้งที่น่าจะไม่มีการเคลื่อนย้ายมากว่าศตวรรษขึ้นอย่างระมัดระวังและมองเข้าไปข้างใน ผมเผลอสูดอากาศภายในเข้าไปเฮือกใหญ่ พร้อมๆกับกลิ่นเหม็นที่ติดอยู่ในลำคอ ไม่ใช่กลิ่นเหม็นเน่า แต่เป็นกลิ่นแห้งๆที่เกิดจากผิวหนังมนุษย์ที่ผุพัง นี่คือกลิ่นที่ลืมไม่ลง เป็นกลิ่นที่แต่งแต้มด้วยความเงียบงันและความโศกเศร้า กลิ่นของการสวดมนต์ซ้ำไปซ้ำมาที่ดังแว่วมาจากที่อันห่างไกล หรือไม่ก็เป็นกลิ่นของความสำนึกผิดและความอาดูร เป็นกลิ่นที่ทั้งน่ารังเกียจและน่าชิดใกล้ ทั้งที่ได้กลิ่นเป็นครั้งแรก แต่กลับรู้สึกเหมือนเคยได้กลิ่นมาก่อน

นักบวชผู้มีชีวิตอยู่ในศตวรรษที่ 19 ในปาแลร์โมผู้นี้รักษาหนวดเคราเอาไว้ได้ เนื่องจากความชื้นต่ำในห้องเก็บศพใต้ดินทำให้ผิวหนังบริเวณที่มีหนวดเคราแห้งอย่างรวดเร็ว การก่อสร้างทางระบายน้ำในปัจจุบันกำลังคุกคามมัมมี่ที่เก็บรักษาไว้ที่นี่

เราคงไม่มีวันรู้อย่างแน่ชัดว่า ศพเหล่านี้มีความหมายอย่างไรต่อผู้คนที่จัดวางและแต่งองค์ทรงเครื่องให้พวกเขา มัมมี่เหล่านี้ยังคงเป็นหนึ่งในความลึกลับดำมืดของซิซิลีซึ่งมีอยู่มากมาย เราจ่อมจมอยู่กับความกังวล ความรู้สึกนึกคิด และความสงสัย เมื่อเผชิญหน้ากับภาพแห่งความตายที่ทั้งชวนหัวและเศร้าสลด ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะขจัดความรู้สึกประดามีที่ถูกปลุกเร้าจากซากศพเหล่านี้ ซึ่งถูกเหนี่ยวรั้งไว้ระหว่างการเดินทางสู่สัมปรายภพ ตั้งแต่ความลี้ลับ ความกลัว และความหวัง ไปจนถึงความขัดแย้งระหว่างการมีชีวิตและการสูญเสีย ซึ่งล้วนเป็นสิ่งสากลและเป็นนิรันดร์

(ตีพิมพ์ครั้งแรกใน เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย  เดือนกุมภาพันธ์ 2552)

 


อ่านเพิ่มเติม

ความตายหาใช่การลาจาก ประเพณีแปลกเก็บศพไว้ในบ้าน

https://ngthai.com/uncategorized/509/toraja-dead-tradition/

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.