ได้ผลหรือ? แก้ปัญหาความจนด้วยการแจกเงิน

ขอบคุณภาพจากเพจ “ประชารัฐ บัตรคนจน”

ได้ผลหรือ? แก้ปัญหาความจน ด้วยการแจกเงิน

7,250 ล้านบาทคือจำนวนเงินทั้งหมดที่รัฐบาลตัดสินใจมอบให้แก่ประชาชนผู้มีรายได้น้อยที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐจำนวน 14.5 ล้านคน โดยเป็นเงินคนละ 500 บาท จ่ายให้ตามกำหนดวัน ซึ่งยึดตามเลขบัตรประชาชน ทว่าในวันแรกตั้งแต่วันที่ 8 ธันวาคมที่ผ่านมา บรรยากาศหน้าธนาคารกรุงไทยในหลายจังหวัดเต็มไปด้วยความวุ่นวาย เนื่องจากมีผู้คนจำนวนมากไม่ทราบว่าเงินจะถูกจ่ายตามวันที่กำหนดโดยเลขบัตรประชาชน ประกอบกับมีข่าวลือว่ารัฐบาลจะยึดเงินกลับหากไม่กดออกจากบัตร ยิ่งสร้างความโกลาหลมากเข้าไปใหญ่

และล่าสุด นายกีรพัฒน์ เจียมเศรษฐ์ ผู้ว่าการการไฟฟ้านครหลวงเผยเตรียมให้ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐรับเงินช่วยเหลือค่าไฟฟ้าไม่เกิน 230 บาทต่อเดือน เช่นเดียวกับการประปานครหลวง และการประปาส่วนภูมิภาคที่ให้สิทธิช่วยเหลือค่าประปาเดือนละไม่เกิน 100 บาทต่อครอบครัว

บรรยากาศหน้าตู้เอทีเอ็มภายในปั้มน้ำมัน PT ปาวา จ.ปัตตานี ผู้มีรายได้น้อยมากมายต่อแถวกดเงินกันตั้งแต่เช้าจรดเย็น
ขอบคุณภาพจาก Piyasak Ausap และ https://voicetv.co.th/read/ryu0FjcyV

ด้านโลกออนไลน์เต็มไปด้วยเสียงวิพากษ์วิจารณ์มากมายถึงนโยบายดังกล่าว เนื่องจากมองว่าผู้ถือบัตรจำนวนมากไม่ได้นำเงินจำนวน 500 บาทที่รัฐบาลมอบให้ไปใช้ให้เกิดประโยชน์ แต่กลับนำไปใช้กับลอตเตอรี่หรืออบายมุขแทน ประกอบกับบางส่วนระบุว่าเงินที่ถูกนำไปใช้แจกฟรีนั้นเป็นเงินจากภาษีของประชาชนจึงรู้สึกว่านโยบายนี้ไม่ยุติธรรม อีกทั้งการออกมาใช้นโยบายนี้ในช่วงก่อนการหาเสียงเลือกตั้งยิ่งกระตุ้นให้ผู้คนจำนวนมากอดคิดไม่ได้ว่านี่คือนโยบายแบบประชานิยมหรือไม่? สอดคล้องกับความคิดเห็นของผศ. อนุสรณ์ ธรรมใจ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิตที่ให้สัมภาษณ์กับรายการ “ที่นี่ Thai PBS” มองว่าด้วยสภาพเศรษฐกิจในช่วงเวลานี้ไม่จำเป็นต้องกระตุ้นการบริโภคแต่อย่างใด และการจะแก้ไขปัญหาความยากจนหรือความเหลื่อมล้ำในประเทศนั้นจำเป็นต้องสร้างรายได้ให้พวกเขามีเพิ่มมากขึ้นต่างหาก เนื่องจากการแจกเงินให้ฟรีๆ สุดท้ายแล้วเงินเหล่านั้นจะกลับไปเข้ากระเป๋านายทุนใหญ่ตามเดิม

สิทธิที่ผู้ถือครองบัตรสวัสดิการรัฐได้รับ ขอบคุณกราฟิกจากเพจ “Pop Here”

เพราะประเทศไทยไม่ได้ติดอันดับประเทศยากจนข้นแค้นอันดับต้นๆ เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ อย่างคองโก, โมซัมบิก หรือยูกันดา เราจึงยังมีกลุ่มชนชั้นกลางที่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์นโยบายแจกเงิน ทว่าแม้คนไทยจะไม่ได้ยากจนที่สุด แต่ข้อมูลจาก CS Global Wealth Report 2018 ระบุว่าในด้านความมั่งคั่งแล้ว ไทยคือประเทศที่มี “ความเหลื่อมล้ำมากที่สุด” หรือที่เรียกกันติดปากว่า “รวยกระจุกจนกระจาย” ย้อนกลับไปเมื่อปี 2016 คนไทยกลุ่มที่ร่ำรวยที่สุดซึ่งคิดเป็น 1% มีทรัพย์สินรวมคิดเป็น 58% ของประเทศ แต่มาปีนี้สัดส่วนดังกล่าวเพิ่มเป็น 66.9% ล้มแชมป์เดิมคือรัสเซีย ที่สัดส่วนทรัพย์สินลดลงจาก 78% เหลือ 57.1%

แล้วจะแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำได้อย่างไร บรรดาผู้เชี่ยวชาญมองว่าไม่ใช่ด้วยวิธีการแจกเงินแน่ เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น?

“Give a man a fish, feed him for a day. Teach a man to fish, feed him for life.” สำนวนอมตะที่มีความหมายว่า “ให้ปลาคนๆ หนึ่ง เขาจะมีอาหารสำหรับหนึ่งวัน ทว่าหากสอนให้เขาตกปลา เขาจะมีอาหารกินตลอดชีวิต”

 

สาเหตุสำคัญเลยก็คือ การมอบเงินให้แก่ผู้มีรายได้น้อยฟรีๆ ไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน แน่นอนว่ามีคนยากจนกลุ่มหนึ่งที่นำเงินดังกล่าวไปซื้ออาหาร เสื้อผ้า ของใช้ที่จำเป็น แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าคนจนจำนวนหนึ่งเองก็นำเงินสวัสดิการที่ได้รับมาฟรีๆ นี้ไปลงกับอบายมุข หรือการเสี่ยงโชคเช่นกัน และเมื่อเงินสวัสดิการอันน้อยนิดที่พวกเขาได้รับมาหมดลงพวกเขาจะทำอย่างไร? การแจกเงินจึงเป็นเพียงวิธีแก้ปัญหาสั้นๆ ที่ไม่ได้กระตุ้นให้ผู้มีรายได้น้อยเกิดความรู้สึกรับผิดชอบต่อชีวิตของตนเองมากขึ้น หรือนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงอะไรในระยะยาวที่ช่วยให้พวกเขาพ้นจากความยากจน

อันที่จริงในหลายประเทศเองก็มีนโยบายการแจกเงินให้แก่ผู้มีรายได้น้อย เพียงแต่ว่านโยบายของพวกเขาค่อนข้างที่จะแยบยล และยั่งยืนกว่าที่ไทย เนื่องจากมีการกำหนดเงื่อนไข และบรรดาผู้มีรายได้น้อยต้องปฏิบัติตามเกณฑ์ที่กำหนดจึงจะรับเงินจำนวนดังกล่าวไปได้ โมเดลลักษณะนี้มีชื่อเรียกว่า “Conditional Cash-transfer Program” หรือ CCT

ยกตัวอย่างเช่น บังกลาเทศ ประเทศหนึ่งที่มีอัตราการแต่งงานของเด็กสูงที่สุด โดยเฉพาะเด็กผู้หญิงที่มีอัตราการแต่งงานก่อนอายุ 18 ปี มากกว่า 60% โครงการให้ความช่วยเหลือเพื่อแก้ไขปัญหานี้จึงถือกำเนิดขึ้นมาในปี 1994 โดยมอบเงินสนับสนุนให้แก่เด็กหญิงจากครอบครัวที่มีฐานะยากจน เพื่อช่วยให้พวกเธอยังคงสามารถเรียนหนังสือต่อไปได้ มีเงื่อนไขว่าพวกเธอจะต้องยังไม่แต่งงาน หรือในชิลี และเม็กซิโก ครอบครัวที่มีฐานะยากจนจะได้รับเงินจำนวนหนึ่งสนับสนุน หากพวกเขาพาลูกๆ ไปเข้าโรงเรียน และเข้ารับบริการดูแลสุขภาพขั้นพื้นฐาน หรือที่กัมพูชาเพื่อนบ้านเราเองก็มีโครงการสนับสนุนทำนองนี้ โดยเน้นไปที่การศึกษาของเด็กๆ และมีเงื่อนไขว่าพวกเขาต้องสอบผ่านเกณฑ์ที่กำหนด หรือในทางกลับกัน CCT ยังสามารถนำไปใช้ลดพฤติกรรมที่ก่อให้เกิดความยากจนเช่น การติดแอลกอฮอล์ หรืออบายมุขได้ด้วยเช่นกัน

บรรดาผู้มีรายได้น้อยในฟิลิปปินส์ต่อแถวเข้ารับเงิน CCT ที่สนับสนุนโครงการโดยรัฐบาล ด้วยความมุ่งมั่นที่จะลดปัญหาความยากจนและความหิวโหย
ขอบคุณภาพจาก Jodesz Gavilan/Rappler

ผลจากโครงการ CCT ไม่เพียงแค่ช่วยเพิ่มรายได้ให้แก่บรรดาผู้ที่มีรายได้น้อย หากพิสูจน์แล้วว่ายังช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของพวกเขาให้ดีขึ้น เมื่อเทียบกับผู้ที่ไม่ได้เข้าร่วมโครงการ นอกจากนั้นในประเทศที่มีช่องว่างความเหลื่อมล้ำทางเพศสูงอย่างปากีสถาน หรือตุรกี โครงการจาก CCT ไม่ว่าจะเป็นโดยรัฐบาลหรือหน่วยงานเอกชนอื่นมีส่วนช่วยลดปัญหานี้ ด้านผู้เชี่ยวชาญมองว่าการมีอยู่ของ CCT คือความอุ่นใจที่ครอบครัวผู้มีรายได้น้อยสามารถลดความเสี่ยงของการเกิดปัญหาที่เลวร้ายที่สุดอย่างการว่างงาน หรืออาการเจ็บป่วยได้ แต่จะได้ผลดีมีปัจจัยสำคัญคือเงินตอบแทนที่ได้รับจาก CCT ต้องมีจำนวนมากกว่าสวัสดิการรัฐที่มอบให้ตามนโยบายปกติ

อีกหนึ่งเครื่องมือที่ช่วยพัฒนาและยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้มีรายได้น้อยให้พ้นจากความยากจนได้คือการทำ “Microloans” หรือสถาบันการเงินระดับชุมชน แนวคิดดังกล่าวนั้นเรียบง่ายคือการให้บริการทางการเงินแก่ผู้กู้ยืมกลุ่มที่มีรายได้น้อย เพื่อช่วยให้พวกเขาสร้างธุรกิจ หรือพัฒนาธุรกิจที่มีอยู่แล้วให้ดียิ่งขึ้น โดยมีอัตราดอกเบี้ยต่ำ และส่วนใหญ่แล้วมีจำนวนการกู้ยืมที่ไม่สูงมากนัก ทั้งยังไม่ต้องมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน ใช้ความเชื่อใจและแรงกดดันทางสังคมเป็นปัจจัยหลักที่กระตุ้นให้ผู้กู้ยืมคืนเงิน สถาบันการเงินในรูปแบบนี้ที่ที่โด่งดังที่สุดคือธนาคารกรามีน หรือ Grameen Bank ในประเทศบังกลาเทศ ก่อตั้งขึ้นโดยดร. มูฮัมหมัด ยูนุส (Mohammad Yunus) นอกจากนั้นไม่เพียงแต่ให้บริการกู้ยืมเงิน แต่หลายธนาคารที่ดำเนินธุรกิจในรูปแบบ Microloans ยังจัดอบรมให้ความรู้ทางการเงินและการลงทุนแก่ผู้คนในชุมชนเพื่อประโยชน์ในระยะยาวอีกด้วย

เจ้าหน้าที่จากธนาคารกรามีนพบปะประชาชนผู้มีรายได้น้อยที่ต้องการกู้ยืมเงิน
ขอบคุณภาพจาก https://theconversation.com/dont-expect-the-grameen-banks-microfinance-model-to-pay-off-for-australians-83215

ปัจจุบันธุรกิจการเงินรูปแบบนี้กำลังขยายตัวในหลายประเทศ และพัฒนารูปแบบใหม่ๆ เพื่อสอดรับกับวัฒนธรรมในภูมิภาคนั้นๆ ตัวอย่างน่าสนใจที่ผสานเอาแนวคิดของดร. มูฮัมหมัด ยูนุส เข้ากับเทคโนโลยีคือ “Kiva” เว็บไซต์ที่ทำหน้าที่เป็นแพลทฟอร์มกลางระหว่างผู้มีรายได้น้อยที่ต้องการกู้ยืมเงินกับผู้เจ้าหนี้ที่เป็นใครก็ได้บนโลก โดยมีรูปแบบคล้ายคลึงกับการระดมทุนบนโลกออนไลน์เช่น เกษตรกรคนหนึ่งในประเทศโลกที่สามต้องการทุนในการซื้อเมล็ดข้าวโพด เรื่องราวของเขาจะถูกเผยแพร่ลงใน Kiva ผู้ที่สนใจจะช่วยเหลือสามารถมอบเงินให้กู้ยืมได้ โดยให้ได้สูงสุดแค่คนละ 25 ดอลลาร์สหรัฐ เกษตรกรคนดังกล่าวจะได้รับเงิน 25 ดอลลาร์จากใครก็ตามกี่คนก็ได้ที่สนใจอยากมอบให้เขาไปกู้ยืม เงินจะถูกส่งผ่านไปยังตัวแทนของ Kiva ในท้องถิ่น และเมื่อลูกหนี้มีรายได้ก็จะทยอยคืนเงินมายังเจ้าหนี้ ด้านเจ้าหนี้เมื่อได้รับเงินคืนแล้วสามารถเลือกได้ว่าจะถอนเงินออก หรือมอบให้แก่ลูกหนี้คนใหม่เพื่อช่วยชีวิตของพวกเขาให้ดียิ่งขึ้น ทั้งนี้ระบบดังกล่าวมีเจ้าหน้าที่คัดกรองข้อมูล และติดตามผลเพื่อป้องกันมิจฉาชีพ

(Kiva ทำงานอย่างไร ติดตามได้จากวิดีโอนี้)

เมื่ออ่านมาถึงบรรทัดนี้ คุณผู้อ่านอาจเกิดคำถามขึ้นมาว่าแล้วกับผู้คนกลุ่มที่ยากจนที่สุดและขาดการศึกษา แนวคิดตลอดจนโครงการต่างๆ ที่กล่าวมาข้างต้นจะสามารถช่วยอะไรได้ เมื่อประชาชนกลุ่มนี้ไม่มีความรู้ความสามารถที่จะตัดสินใจอะไรได้ด้วยตนเอง มีกลุ่มคนกลุ่มหนึ่งที่เห็นตรงกันข้ามและมองว่าการให้เงินคนจนแบบไม่มีเงื่อนไขใดๆ ต่างหากคือวิธีแก้ไขปัญหาที่ดีที่สุด เพราะคนจนรู้ดีกว่าใครว่าพวกเขาต้องการอะไร

องค์กรเอกชนดังกล่าวมีชื่อว่า GiveDirectly จากงานวิจัยของพวกเขาที่มอบเงินสดให้แก่ผู้มีรายได้น้อยในเคนยาแบบไม่มีข้อผูกมัดใดๆ พบว่า เงินเหล่านั้นช่วยให้คุณภาพชีวิตของคนจนดีขึ้น ผู้คนลงทุนในสินทรัพย์หลายชนิด ตั้งแต่ปศุสัตว์ อุปกรณ์ ไปจนถึงการปรับปรุงที่พักอาศัย แน่นอนว่ามีกลุ่มคนที่นำเงินซึ่งได้มาฟรีๆ ไปใช้กับสิ่งที่ไม่เกิดประโยชน์ แต่ไม่ใช่ทั้งหมด และไม่ใช่ส่วนใหญ่ดังที่เคยคิดกัน นอกจากนั้นจากการทดสอบทางจิตวิทยาพบว่า เงินที่มอบให้ฟรีๆ แก่ผู้มีรายได้น้อยช่วยเพิ่มระดับความสุข และเพิ่มพูนความพึงพอใจในชีวิต ลดระดับความเครียด ซึ่งมีผลทำร้ายสุขภาพร่างกาย

งานวิจัยจากเคนยาสอดคล้องกับรายงานจากองค์การอนามัยโลกที่ทดลองให้เงินเปล่าๆ แบบไม่มีเงื่อนไขในฮอนดูรัส เม็กซิโก อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ ความสำเร็จของโมเดลนี้สะท้อนว่าคนจนใช่ว่าจะตัดสินใจเองไม่ได้ และไม่รู้จักการพัฒนาคุณภาพชีวิตของตนเองเสมอไป แต่สำหรับประเทศไทยจะได้ผลหรือไม่ยังคงต้องทดลองกันต่อไป ในฐานะหนึ่งในประชาชนผู้เสียภาษี ผู้เขียนเองคาดหวังว่าหลังเสร็จสิ้นนโยบายแจกเงินของขวัญปีใหม่แก่ผู้มีรายได้น้อยครั้งนี้ ทางรัฐบาลจะเก็บข้อมูลเพื่อวิจัยผลว่าเงิน 500 บาทที่มอบให้นั้นผู้คนนำไปใช้อะไรบ้าง และแท้จริงแล้วการแจกเงินเพื่อช่วยแก้ไขปัญหาความยากจนแบบไม่มีเงื่อนไขช่วยแก้ปัญหาได้จริงหรือไม่?

(Ted Talk โดย Joy Sun เจ้าหน้าที่จาก Givedirectly จะแสดงให้เห็นว่าบางครั้งเงินที่มอบให้ฟรีๆ ก็สามารถช่วยแก้ไขปัญหาความยากจนได้เช่นกัน)

ทว่าเครื่องมือสำคัญที่สุดที่รัฐบาลควรให้ความสำคัญเพื่อเปลี่ยนแปลงชีวิตของผู้มีรายได้น้อย นอกเหนือจากการให้เงินสนับสนุน สิ่งที่ต้องไม่ละเลยคือ “การศึกษา” ไม่เพียงแต่การศึกษาในระบบ หากรวมถึงองค์ความรู้ต่างๆ ที่ช่วยพัฒนาและส่งเสริมอาชีพได้ในอนาคต ตลอดจนตลาดแรงงานที่รองรับผู้คนเหล่านี้เมื่อศึกษาจบ เหล่านี้ต่างหากคือเครื่องมือที่ช่วยแก้ปัญหาความยากจนอย่างยั่งยืน ให้ประชาชนสามารถยืนและหาเลี้ยงชีพด้วยลำแข้งของตนเองได้ ในขณะเดียวกันรัฐบาลเองก็ควรให้ความสำคัญกับปัญหาโครงสร้างทางเศรษฐกิจ เพราะหากบรรดาผู้มีรายได้น้อยพัฒนาตนเองแล้ว แต่เศรษฐกิจยังไม่เอื้อให้พวกเขาสามารถเข้าถึงทรัพยากร และการบริโภคสินค้าได้ ประเทศไทยก็จะยังคงประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำสูงต่อไป และภาพผู้คนต่อแถวรอกดเงินฟรีจากรัฐบาลที่โปรยทานแบบไม่วางแผนอะไรคงจะกลายเป็นภาพชินตาในที่สุด

 

อ่านเพิ่มเติม

เคราะห์ซ้ำกรรมซัด วิกฤติเศรษฐกิจเวเนซุเอลา

 

แหล่งข้อมูล

Conditional cash transfer

What Happens When You Just Give Money To Poor People?

Stop giving money to the governments of poor African countries

Giving money to poor does not help them take responsibility for lives, warns Iain Duncan Smith

Rethinking Poverty and Charity — Better ways to help the poor and the least of these

การแก้ปัญหาความยากจนด้วยการแจกเงิน

ถอดบทเรียน Microfinance จากตะวันออกกลางสู่ประเทศไทย

ธนาคารคนยาก (Micro Finance)

Kiva เงินกู้ข้ามโลกจากคนแปลกหน้าถึงคนแปลกหน้าเพื่อชีวิตที่ดีขึ้น

นักวิชาการแนะแจกเงินเดือนขั้นต่ำคนจน เผยผลวิจัยสุขภาพจิตดีขึ้น-ไม่ลงอบายมุข

 

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.