เคราะห์ซ้ำกรรมซัด วิกฤติเศรษฐกิจ เวเนซุเอลา

เคราะห์ซ้ำกรรมซัด วิกฤติเศรษฐกิจ เวเนซุเอลา

ผู้ค้าเงินในท้องถิ่นที่ชายแดนฝั่งบราซิลให้ดูธนบัตรจำนวนห้าล้านโบลิวาร์ซึ่งมีมูลค่าในตลาดมืดเท่ากับสองเหรียญสหรัฐ ณ ปลายเดือนมีนาคม 2018 ค่าเงิน เวเนซุเอลา แปรผันรายวันเนื่องจากภาวะเงินเฟ้อ

 

เคราะห์ซ้ำกรรมซัด วิกฤติเศรษฐกิจ เวเนซุเอลา

ปลากับเผือกเป็นอาหารพวกเดียวที่มิลาโกรส ริเบโร วัย 35 ปี กับครอบครัวของเธอพอจะหาได้ในชุมชนเล็กๆ ในเขตสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโอรีโนโก ถิ่นอาศัยของชาววอเรา ชนพื้นเมืองกลุ่มใหญ่ที่สุดเป็นอันดับสองของเวเนซุเอลา พวกเขาเดินทางไกล 800 กิโลเมตรไปยังบราซิลเมื่อเดือนมิถุนายน ปี 2018

“เรามานี่เพื่อหาอาหาร” ริเบโรกล่าวข้างเต็นท์ของเธอในศูนย์สงเคราะห์จาโนกวัยดา ที่เพิ่งตั้งขึ้นเมื่อไม่นานมานี้เพื่อรองรับชาววอเราในปากาไรมา เมืองชายแดนของบราซิล

ในแต่ละวัน มีชาวเวเนซุเอลาที่ตกทุกข์ได้ยากหลายร้อยคนเดินทางมาถึงพรมแดน  แบกข้าวของไว้บนหลังและถือเอกสารในมือ คนที่มุ่งหน้ามาหาที่ลี้ภัยต่างขายสมบัติทุกอย่างที่มีเพื่อจ่ายเป็นค่าเดินทาง  พวกเขาหวังจะหาอาหาร ยา ความปลอดภัย และงานในบราซิล ซึ่งล้วนเป็นปัจจัยพื้นฐานที่ไม่สามารถหาได้อีกในประเทศบ้านเกิดของตนเอง  เพราะภาวะเศรษฐกิจในประเทศที่ดิ่งเหวอย่างไม่มีวี่แววว่าจะถึงก้น  ภาวะเงินเฟ้อที่ทำให้สิ้นหวัง อัตราความรุนแรงสูงลิ่ว การขาดแคลนอาหารและยาอันเรื้อรัง  ผู้อพยพเหล่านี้คือผลพวงของการล่มสลายอันน่าตื่นตระหนกในเวเนซุเอลาที่เคยมั่งคั่งจากการค้าน้ำมันดิบระหว่างปี 2004 ถึง 2014 จนกลายเป็นประเทศร่ำรวยที่สุดประเทศหนึ่งในลาตินอเมริกา  แต่แล้วทุกอย่างก็พังทลายลง  ท่ามกลางราคาน้ำมันที่ดิ่งวูบ การขาดดุลพุ่งสูงขึ้น และการฉ้อราษฎร์บังหลวงที่ไม่จบสิ้น

นับตั้งแต่ปี 2017 เป็นต้นมา มีชาวเวเนซุเอลามากกว่า 58,000 คนหนีมาลงหลักปักฐานในบราซิล  ถือเป็นการเคลื่อนไหวเพื่อโยกย้ายถิ่นฐานครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ระหว่างสองประเทศนี้ หลายคนไม่มีเงินเหลือ และการเดินทางต้องชะงักกลางคันที่ปากาไรมาซึ่งเมื่อไม่นานมานี้ยังเป็นเมืองที่เงียบสงบ มีประชากรเพียง 12,375 คน  แต่ปัจจุบันมีคนนับร้อยหรืออาจมากกว่านั้นอาศัยอยู่ตามท้องถนน นอนในเต็นท์ และลานจอดรถ พวกเขาจับกลุ่มกันบนทางเท้า และปรุงอาหารเท่าที่หาได้ความตึงเครียดระหว่างคนท้องถิ่นและชาวเวเนซุเอลาที่เข้ามาอยู่ในบราซิลถึงจุดแตกหักในเดือนสิงหาคม 2018  เมื่อมีการจุดไฟเผาค่ายผู้อพยพหลายแห่ง หลังมีข้อกล่าวหาเรื่องการทำร้ายร่างกายเจ้าของร้านค้าคนหนึ่ง

เมืองปากาไรมามีชาวเวเนซุเอลาไร้ที่อยู่อาศัยอย่างเป็นทางการ 434 คน แต่ตัวเลขนี้ดูต่ำกว่าความเป็นจริง  ปาเดร เฮซุส เอสเตบัน บาทหลวงชาวสเปน จัดหาอาหารเช้ารายวัน ซึ่งประกอบด้วยกาแฟ ขนมปัง และผลไม้ เพื่อเลี้ยงคนกว่า 1,500 คน  “ไม่เคยมีมื้อไหนที่มีอาหารเหลือเลย” ท่านบอก

เวเนซุเอลา
สมาชิกชนเผ่าวอเราราว 500 คนอาศัยอยู่ในศูนย์สงเคราะห์ซึ่งก่อด้วยคอนกรีต มีที่หลับนอนเป็นเปลและเต็นท์ ในเมืองปากาไรมา ประเทศบราซิล สภาพความเป็นอยู่อย่างแออัดและสกปรกเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เชื้อโรคแพร่กระจาย

หลังจากตกงานสามครั้งภายในปีเดียว เฮซุส โกเมซ วัย 28 ปี ก็ทิ้งเวเนซุเอลามากับแฟนสาวของเขา เออูนีซ เอนริเกซ วัย 27 ปี  ทั้งสองนอนในเต็นท์ที่เคยหิ้วไปชายหาด  “มันเคยใช้สำหรับท่องเที่ยว ตอนนี้มันเป็นบ้านของเราครับ” โกเมซกล่าว เขาเป็นอดีตยามรักษาความปลอดภัย ส่วนเอนริเกซซึ่งเป็นพยาบาลที่ลาออกจากงานเพราะเงินเดือนน้อยนิด ปัจจุบันขายกาแฟในปากาไรมา ค่าจ้างรายวันของเธอเพียงพอสำหรับอาหารหนึ่งมื้อ แม้จะอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่แน่นอน แต่หนุ่มสาวคู่นี้ซึ่งเคยอาศัยอยู่ในห้องนอนเล็กๆ ในบ้านพ่อแม่ของโกเมซ ก็ไม่เสียใจที่ข้ามพรมแดนมาบราซิล

ผู้อพยพจำนวนมากเดินทางต่ออีก 215 กิโลเมตรไปยังโบอาวีชตา เมืองเอกของรัฐโรไรมา  เมืองที่มีประชากร 332,000 คนแห่งนี้มีชีวิตชีวากว่า และเศรษฐกิจก็มั่นคงกว่า ชาวเวเนซุเอลาออกหางานทำไปทั่วเมือง ฝูงชนยืนอยู่ตามแยกไฟแดง ล้างกระจกหน้ารถแลกกับเศษเหรียญ หรือไม่ก็ขายสินค้าท้องถิ่น อย่างเช่นธงบราซิลในช่วงการแข่งขันฟุตบอลโลกที่ผ่านมา  อัตราค่าจ้างแรงงานตกลงเหลือไม่ถึง 10 เหรียญสหรัฐต่อวัน

เวเนซุเอลา, ผู้ออพยพ, ลี้ภัย, เงินเฟ้อ
ครอบครัวโมราเลดานั่งหลังรถกระบะ หลังทิ้งบ้านที่สามเหลี่ยมปากแม่น้ำโอรีโนโกในเวเนซุเอลามา การล่มสลายภายในประเทศนำมาซึ่งความรุนแรงและภาวะขาดแคลน พวกเขาหวังจะไปแสวงหาชีวิตที่ดีกว่าในบราซิล

ศูนย์สงเคราะห์สองแห่ง แห่งหนึ่งในปากาไรมา อีกแห่งในโบอาวีชตา ถูกกำหนดให้ใช้รองรับชาววอเราโดยเฉพาะ พวกเขาปรุงอาหารบนไฟก่อจากฟืน ถักทอและขายสินค้าหัตถกรรม และพยายามรักษากิจวัตรบางส่วนของตนไว้  ในศูนย์มีทั้งบริการด้านสุขภาพและอาหาร แต่สภาพความเป็นอยู่ยังไม่ปลอดภัย  ในศูนย์สงเคราะห์แห่งหนึ่ง น้ำเสียส่งกลิ่นรุนแรงมาก พอถึงฤดูฝน ลานสนามแห่งหนึ่งก็มีน้ำท่วมขัง

รัฐบาลบราซิลทำงานร่วมกับองค์การสหประชาชาติและกลุ่มองค์กรเอกชน เปิดศูนย์ผู้ลี้ภัยแล้วเก้าแห่งในโบอาวีชตา แต่ยังมีผู้อพยพอีกมากที่รอมาสมทบกับผู้อพยพ 4,200 คนในเมืองนี้ แผนที่วางไว้คือจะจัดส่งพวกเขาไปยังรัฐอื่นๆ ในบราซิล แล้วรับผู้อพยพระลอกใหม่เข้ามาแทนที่ แต่ขั้นตอนดำเนินงานเป็นไปอย่างเชื่องช้า แม้ผู้อพยพจำนวนหนึ่งจะดิ้นรนเช่าพื้นที่เล็กๆ ย่านชานเมืองอยู่กันได้แล้ว แต่ชีวิตก็ยากลำบากมากจนหลายคนเริ่มคิดจะหวนคืนสู่บ้านเกิด

เรื่อง เปาลา ราโมน

ภาพถ่าย เฟรเดริโก ริออส

 

อ่านเพิ่มเติม

โฉมหน้าของ ผู้อพยพในอเมริกา เมื่อปี 1917

 

Recommend