ตึกสูงเสียดฟ้าอันระยิบระยับ ย่านกลางเมืองในกรุงมะนิลาสร้างทัศนียภาพอันงดงามให้แก่ดาดฟ้าบนที่พักอาศัยของเหล่าชนชั้นกลาง Bernardita Lopez ผู้เป็นพี่เลี้ยงเด็กอยู่ฮ่องกง (อยู่ตรงราวลูกกรง) กำลังเพลิดเพลินกับช่วงเวลาพักผ่อน
ภาพถ่ายโดย Hannah Reye Morales, เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก
ในตอนที่ Bernardita Lopez จากบ้านเพื่อไปเป็นสาวใช้ที่ฮ่องกง เธอยึดติดอยู่กับคำแนะนำหนึ่งจากงานสัมนาที่รัฐบาลฟิลิปปินส์จัดขึ้นเพื่อชาวฟิลิปปินส์ที่กำลังเดินทางไปแดนไกลว่า “เมื่อคุณไปถึงสนามบิน ห้ามมองกลับหลังเป็นอันขาด แล้วเดินหน้าต่อ การก้าวต่อไปข้างหน้าก็เป็นเรื่องที่ยากพออยู่แล้ว เพราะฉะนั้นอย่ามองกลับไป”
สัปดาห์หนึ่งก่อนคริสต์มาสมาถึง Bernardita เต็มไปด้วยความคาดหวัง ไม่มีการกลับหลังไปมองอะไรทั้งสิ้น เธอมาถึงสนามบินนานาชาตินินอย อากิโน กรุงมะนิลา ที่ที่พี่ชายทั้งสองของเธอ Allen และ Jepoy กำลังรอรับเธออยู่ เมื่อออกมาจากด่านตรวจคนเข้าเมือง Bernardita และเหล่าผู้เดินทางกลับบ้านคนอื่นๆ ที่ตื่นเต้นและดันกันไปมา ต่างก็ได้รับการต้อนรับจากเสียงเพลง “Joy to the World” ขับร้องโดยคณะประสานเสียง ระหว่างทางเธอมองออกไปนอกหน้าต่าง แสงไฟคริสต์มาสในกรุงมะนิลา ตอนตี 2 ยังคงส่องสว่างนวลตา
ทุกๆ เดือนธันวาคม จะมีผู้คนราวล้านคนบินมากันยังกรุงมะนิลา หลายคนกลับมาเพื่อเฉลิมฉลองช่วงเวลาอันมีค่ากับครอบครัวและเพื่อนฝูง ปีนี้ก็ไม่ต่างกัน สนามบินคับคั่งไปด้วยสมาชิกครอบครัวที่มากรูกันอยู่ที่จอแสดงเที่ยวบินในขณะที่รอเจ้านกเหล็กพา คุณแม่ คุณพ่อ ลูกชาย และลูกสาวกลับบ้าน ในทะเลป้ายยินดีต้อนรับ มีเด็กคนหนึ่งถือป้ายทำมาจากบ้านว่า ยินดีต้อนรับกลับค่ะแม่!
ในที่สุด เหล่าผู้พลัดถิ่น ซึ่ง Gloria Macapagal Arroyo ประธานาธิบดีคนก่อนเรียกว่า “การส่งออกที่ยิ่งใหญ่ที่สุด” ก็ได้กลับบ้านอีกครั้ง
ในแต่ละวัน ชาวฟิลิปปินส์ประมาณ 6,000 คนจากบ้านเกิดเมืองนอนเพื่อออกไปหาโอกาสยังที่ต่างๆ บนโลก จากชาวเรือที่มีอยู่ทั้งหมดบนโลกเป็นคนฟิลิปปินส์ไปแล้วสามส่วน หนึ่งในสามของพยาบาลต่างชาติที่ขึ้นทะเบียนในสหรัฐอเมริกาก็มาจากฟิลิปปินส์ และ เกือบหนึ่งในสี่ของผู้หญิงสัญชาติฟิลิปปินส์ทำงานเป็นพยาบาลขึ้นทะเบียนอยู่ในสหรัฐฯ ชาวฟิลิปปินส์ต่างสวมบทบาทที่แตกต่างกัน บางคนเป็นนักร้อง ผู้ดูแล แรงงาน คนรับใช้ และวิศวกร กระจัดกระจายตามที่ต่างๆ บนโลก
แต่เมื่อไหร่ที่พวกเขากลับบ้านในช่วงเทศกาลคริสต์มาส พวกเขาคือ “Bagongbayani” หรือฮีโร่ของยุคสมัยนี้ ในขณะที่เครื่องบินเครื่องแล้วเครื่องเล่าลงจอด ณ กรุงมะนิลา ผู้โดยสารพากันปรบมือต้อนรับ พวกเขากลับถึงบ้านแล้ว กลับมาหาวันคริสต์มาสที่ร้อนแต่อบอุ่น กลับมาหา Noche Buena (คืนเฉลิมฉลองคริสต์มาส) กลับมาหากิจกรรมคาราโอเกะซึ้งๆ ตอนดึกๆ เหล่าฮีโร่ทั้งหลายที่เดินทางกลับมาบ้านเฉลิมฉลองอยู่ทุกที่ทุกหนแห่งในประเทศ จนกว่าเวลาแห่งการจากลาจะมาถึงอีกครั้ง
ทุกวันนี้ หนึ่งในสิบของประชากรชาวฟิลิปปินส์ใช้ชีวิตอยู่ในต่างประเทศ คำว่า “ในต่างประเทศ” เป็นคำที่แฝงไปด้วยอารมณ์สำหรับคนฟิลิปปินส์ เพราะสื่อถึงคนที่คุณเฝ้าคิดถึงแต่ก็หวังว่าเขาจะได้ดีในอนาคต สำหรับครอบครัว Lopez แล้วนั้น คำๆ นี้อยู่ในสายเลือด Bernardita เป็นพยาบาลขึ้นทะเบียน แต่เธอทำงานเป็นแม่บ้านที่ฮ่องกงมามากกว่าสามปีแล้ว พี่ชายของเธอ Allen เป็นนักเดินเรือ น้องสาวร่วมบิดาหรือมารดาเดียวกันอย่าง Sane ก็ทำงานเป็นผู้ดูแลอยู่ที่แคนาดา และน้องชายคนสุดท้องของเธอ Jepoy กำลังเรียนเพื่อที่จะเป็นบุรุษพยาบาลอยู่ในขณะนี้ ซึ่งเขาเองก็วางแผนที่จะไปทำงานต่างประเทศไว้เหมือนกัน แม่ของพวกเขา Cristina เคยเป็นพี่เลี้ยงเด็กอยู่ในแคนาดา ประเทศที่เธอเสียชีวิตลงด้วยอาการหัวใจวายกะทันหันช่วงเดือนพฤษภาคม 2017
วันคริสต์มาสของฟิลิปปินส์ คือการผสมผสานกันอย่างลงตัวระหว่างวัฒนธรรมท้องถิ่นและวัฒนธรรมจากเจ้าอาณานิคม เป็นช่วงเวลาแห่งความหวังและการคาดหวัง ฤดูกาลนี้เริ่มต้นในช่วงเดือนกันยายน และเมื่อเดือนธันวาคมใกล้เข้ามา กรุงมะนิลาก็ยิ่งสว่างไสวไปด้วย Parol หรือ โคมไฟหลากสีสันอันเป็นสัญลักษณ์ของดวงดาวแห่งเบธเลเฮม ซึ่งช่วยแต่งแต้มสีสันให้กับหน้าต่างและท้องถนนยามค่ำคืน โบสถ์หลายแห่งเต็มไปด้วยผู้คนที่มาทำ Simbanggabi หรือพิธีมิสซา 9 คืนที่เริ่มต้นก่อนฟ้าสางและสิ้นสุดในคืนวันคริสต์มาสอีฟ เมื่อการเฉลิมฉลองค่อยๆ ผ่านไปทีละขั้นตั้งแต่ การให้ของขวัญ การร้องเพลง และกินเลี้ยง Lechon หรือ หมูหัน เชื่อกันว่าถ้าทำพิธิมิสซาครบเก้าคืนก็จะขอพรได้หนึ่งข้อ
งานคริสต์มาสครั้งแรกหลังการกลับมาของ Bernadita คือวันที่ 5 ธันวาคม 2015 แต่ความสุขของการกลับมารวมตัวกันนั้นถูกทำลายลงเพราะการเสียชีวิตของคุณพ่อ Alberto ผู้มีอาชีพขับรถจี๊ป ในวันคริสต์มาสอีฟด้วยอายุเพียง56 ปี สำหรับคริสต์มาสครั้งนี้ สมาชิกในครอบครัวมารวมตัวกันเพื่อเปิดกล่อง ฺBalikbayan ที่เธอส่งมาที่บ้านก่อน กล่อง Balikbayan เป็นกล่องกระดาษแข็งขนาดใหญ่เต็มไปด้วยของขวัญต่างๆ ตั้งแต่ ช็อกโกแลตแท่ง รองเท้าผ้าใบ ไปจนถึงโลชั่นทาตัวและแฮมยี่ห้อสแปม (spam) (Balik แปลว่า กลับมา และ Bayan แปลว่า ประเทศ)
เด็กๆ ต่างก็ตื่นเต้นที่จะได้เปิดกล่อง Balikbayan พวกเขาแย่งของมือสองจากญาติๆ ผู้กลับจากต่างแดนและผลัดกันลองรองเท้าเพื่อดูว่าเท้าของใครจะพอดีกับรองเท้าคู่ไหน หลายปีก่อนตอนที่เราเปิดกล่องของเราเอง ฉัน (Hannah Reyes Morales – ผู้เขียน) จำได้ว่าตัวเองเผลออุทานออกไปว่า “กลิ่นเหมือนอเมริกาเลยอ่ะ!” ครอบครัวของ Bernardita ก็มีบรรยากาศที่ไม่แตกต่างกัน กล่องตั้งอยู่ตรงกลางห้องที่มีป้ายสีแดงจากผู้จัดส่งเขียนไว้ว่า “เราต้องการขนย้าย”
ในโบสถ์ทางตอนเหนือของกรุงมะนิลา กระดาษหลากหลายชิ้นที่แขวนอยู่กับต้นคริสต์มาสมีคำอธิษฐานขอให้คนที่เรารักในต่างแดนกลับมาบ้านเร็วๆ
“เพื่อนของฉันบอกเสมอว่าการกลับบ้านที่ฟิลิปปินส์เป็นเหมือนการดึงเอาหนามที่ตำออกไปจากผิวของคุณเพราะในที่สุดคุณก็ถึงบ้านสักที” Bernardita กล่าว “แต่เมื่อคุณต้องจากไปอีกครั้ง มันก็เหมือนกับว่าหนามแหลมนั้นกลับมาทิ่มแทงเหมือนเดิม”
อ่านเพิ่มเติม