แครมปัส คือใครกัน? ทำความรู้จักกับอสุรกายแห่งคริสต์มาส

แครมปัส คือใครกัน? ทำความรู้จักกับอสุรกายแห่งคริสต์มาส

ตำนาน แครมปัส ที่เกิดมาเพื่อเฆี่ยนตีเด็กให้กลับตัวเป็นคนดี

เมื่อเปิดวิทยุฟังในช่วงเดือนธันวาคม เราคงไม่ได้ยินเสียงเพลงเฉลิมฉลองให้แก่ แครมปัส ครึ่งแพะครึ่งปีศาจ ที่เฝ้าทำร้ายเด็กๆ เพื่อให้พวกเขากลับตัวเป็นเด็กดีและไม่ดื้อซน

พวกมันเป็นดั่งฝันร้ายของเด็กๆ เจ้าอสุรกายตัวนี้มีเขายาวแหลม ผมดำ เขี้ยวและลิ้นยาวน่าเกลียดน่ากลัวเป็นปฏิปักษ์ต่อนักบุญนิโคลัส แครมปัสมาพร้อมโซ่และกระดิ่งที่ลากมาและไม้ทำจากต้นเบิร์ชหนึ่งกำมือเพื่อไว้ฟาดเด็กที่ไม่เชื่อฟัง แล้วฉุดลากเด็กเหล่านี้ลงไปยังใต้พิภพ

(เรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับแครมปัสได้จากวิดีโอด้านล่างนี้)

ระวังเอาไว้ให้ดีเถอะ….

สำหรับคริสต์นิกายคาทอลิก นักบุญนิโคลัสคือนักบุญอุปถัมภ์ของเด็กๆ วันสำคัญทางศาสนาที่ระลึกถึงเขาเริ่มต้นในช่วงต้นเดือนธันวาคม ซึ่งช่วยเสริมความเกี่ยวข้องที่เขามีต่อเทศกาลคริสต์มาสให้หนักแน่นยิ่งขึ้น หลายๆวัฒนธรรมในยุโรปไม่เพียงยินดีที่จะต้อนรับชายใจดีผู้นี้ที่คอยมอบรางวัลแด่ผู้กระทำความดี  เป็นดั่งสัญลักษณ์ของความเอื้อเฟื้อและความเมตตากรุณา แต่พวกเขายังหวาดกลัวอสูรผู้อยู่ฝั่งตรงข้ามที่คอยลงโทษผู้กระทำชั่ว ในบางพื้นที่ของเยอรมนีและออสเตรีย ผู้คนเกรงกลัวอสุรกายแครมปัสเป็นอย่างมาก ในขณะที่บางภูมิภาคของอินโดยูโรเปียนมี เบลส์นิเกิล (Belsnickle) และ คเนคท์ รูเพรชท์ (Knecht Ruprecht) ชายเคราดำผู้ถือไม้ดำไว้ตีเด็กนิสัยไม่ดี ฝรั่งเศสเองก็มี ฮานส์ แทรป์ (Hans Trapp) และ แปร์ ฟูเอตาร์ (Père Fouettard)

ชื่อ แครมปัส มีรากศัพท์มาจากคำว่า แครมเพิน (krampen) ซึ่งเป็นคำภาษาเยอรมันที่มีความหมายว่า กรงเล็บ เล่าขานกันว่า อสุรกายตนนี้เป็นบุตรของ เฮล เทวีแห่งอาณาจักรคนตายจากตำนานเทพปกรณัมของชาวนอร์ส เจ้าอสุรกายในตำนานนี้ยังมีลักษณะที่เหมือนกันกับสัตว์ประหลาดที่น่าเกรงกลัวจากตำนานปกรณัมกรีกหลายตน รวมทั้ง ซาไทร์ (satyr) และ ฟอน (faun)

ไม่มีทางให้หลบหนี เมื่อแครมปัส คอยวิ่งไล่ตามเพื่อฟาดเด็กๆด้วยไม้เรียวหนึ่งกำมือ ภาพถ่ายโดย Johannes Simon/Getty

ตำนานนี้เป็นส่วนหนึ่งของประเพณีคริสต์มาสอันเก่าแก่นับร้อยปีของเยอรมนี การเฉลิมฉลองนั้นเริ่มตั้งแต่ช่วงต้นเดือนธันวาคม แครมปัสถูกสร้างขึ้นในฐานะ ขั้วตรงข้าม ของนักบุญนิโคลัสผู้ใจดีที่คอยมอบของหวานเป็นรางวัลให้กับเด็กๆ แครมปัสจะฟาดเด็กผู้ “ชั่วร้าย” ยัดพวกเขาใส่กระสอบและนำไปยังที่หลบซ่อนของตน

ตามความเชื่อพื้นบ้าน แครมปัสจะปรากฎตัวขึ้นตามเมืองต่างๆ ในคืนวันที่ 5 ธันวาคม ที่รู้จักกันในชื่อ แครมพุซนัคท์ (Krampusnacht) หรือ ค่ำคืนแห่งแครมปัส ซึ่งในวันต่อมาคือ วันที่ 6 ธันวาคม เป็นวัน นิโคเลาส์ทาค  (Nikolaustag) หรือ วันนักบุญนิโคลัส วันที่เด็กๆจะมองออกไปนอกประตูเพื่อดูว่า ถุงเท้าหรือรองเท้าบูธที่พวกเขาทิ้งไว้เมื่อคืนก่อนนั้นจะมีของขวัญ (รางวัลสำหรับเด็กดี) หรือ ไม้เรียว (รางวัลสำหรับเด็กที่ประพฤติตัวไม่ดี) อยู่ข้างใน

เมื่อความทันสมัยเข้าไปมีอิทธิพลต่อประเพณีใน ออสเตรีย เยอรมนี ฮังการี สโลวาเนีย และ สาธารณรัฐเช็ค ชายขี้เมาสวมใส่ชุดปีศาจจะเข้ายึดครองถนนเพื่อ แครมพุซเลาส์ (Krampuslauf) หรืองานวิ่งแครมปัส ที่ผู้คนจะถูกวิ่งไล่ต้อนตามท้องถนนโดย ‘เหล่าปีศาจร้าย’

เจ้าแครมปัส อสุรกายที่มีรากมาจากวัฒนธรรมเยอรมัน คืออีกครึ่งหนึ่งของนักบุญนิโคลัส ผู้คอยหลอกหลอนเด็กๆเพื่อให้พวกเขากลับตัวเป็นเด็กดี ไม่ดื้อไม่ซน ภาพถ่ายโดย Sean Gallup/ Getty Image

ทำไมต้องทำให้เด็กๆ อกสั่นขวัญแขวนด้วยสัตว์ประหลาดนอกรีตเช่นนี้ด้วย? บางทีนี่อาจเป็นวิธีการที่มนุษย์ใช้เพื่อติดต่อกับด้านที่ป่าเถื่อนดั่งสัตว์ป่าของตัวเอง แรงกระตุ้นเช่นนี้อาจเป็น “การต่อสู้กันระหว่างบุคลิกสองบุคลิก” ตามที่ แอนโทนิโอ คาร์เนห์โร ได้บอกกับ เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก เกี่ยวกับประเพณีนอกรีตที่กลับมามีชีวิต เขากล่าวว่า คนที่ส่วมใส่ชุดอสุรกาย “จะกลายเป็นสิ่งที่ลึกลับซับซ้อน”

ปีศาจกำลังมาแล้ว

ตัวตนที่น่าหวาดหวั่นของแครมปัส นั้นถูกกำราบไว้มาหลายปี จากการที่โบสถ์คาทอลิกห้ามไม่ให้มีงานเฉลิมฉลองที่รุนแรง และเหล่าเผด็จการในยุโรปช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 คิดว่าแครมปัสน่ารังเกียจ เพราะถือว่าเป็นผลงานที่ถูกสร้างขึ้นโดยนักประชาธิปไตยสังคมนิยม

(ดูตัวอย่างภาพยนต์เรื่อง Krampusได้จากวิดีโอด้านล่างนี้)

แต่ แครมปัส ได้กลับมามีชีวิตอีกครั้งตลอดหลายปีที่ผ่านมานี้ ส่วนหนึ่งต้องขอบคุณ ทัศคติแบบ “ไร้สาระ!” ของวัฒนธรรมแนวป๊อบที่ผู้คนต่างค้นหาวิถีทางเฉลิมฉลองเทศกาลคริสต์มาสนอกกรอบขนบธรรมเนียม ในสหรัฐอเมริกา ผู้คนโอบกอดด้านมืดของคริสต์มาสด้วยสิ่งเหล่านี้ หนังแครมปัส และทีวีตอนพิเศษสำหรับแครมปัส พวกเขาจัดปาร์ตี้แครมปัส เข้ารวมงาน แครมพุซนัคท์ (Krampusnacht) ท้องถิ่น (ในเมืองอย่าง วอชิงตัน ดี.ซี. และ นิวออร์ลีนส์) และเข้าร่วมงานแข่งวิ่งแครมปัสอีกด้วย

ในออสเตรีย มีความพยายามที่จะทำกำไรจากรูปลักษณ์ที่ดุร้ายของอสุรกายตนนี้ด้วยการขายช็อกโกแลต ตุ๊กตา และเขาที่เป็นของสะสม คำร้องเรียนเริ่มมีเข้ามามากขึ้นเมื่อแครมปัสกลายเป็นเรื่องทางธุรกิจมากเกินไป และสูญเสียเรื่องราวที่น่าสนใจไป เนื่องด้วยความนิยมที่เพิ่งเกิดขึ้นไม่นาน

(เรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับนักบุญนิโคลัสได้จากวิดีโอด้านล่างนี้)


 

อ่านเพิ่มเติม

สัตว์เหล่านี้เคยถูกเข้าใจผิดว่าเป็น ปีศาจ

 

Recommend