วิวาทะชุดนักเรียน เมื่อเหตุผลทั้งสองฝ่ายล้วนมีน้ำหนัก

บรรยากาศวันแรกของโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียน เมื่อเด็กๆ ได้รับอนุญาตให้สวมใส่ชุดไปรเวทมาเรียนได้
ขอบคุณภาพจาก http://www.nationmultimedia.com/detail/national/30361834

วิวาทะ ชุดนักเรียน เมื่อเหตุผลทั้งสองฝ่ายล้วนมีน้ำหนัก

ภาพถ่ายของบรรดาเด็กนักเรียนโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัยในชุดไปรเวท ที่เผยแพร่บนโลกออนไลน์เมื่อวันที่ 8 มกราคม 2018 กลายเป็นประเด็นถกเถียงของสังคม เรื่องราวเริ่มต้นขึ้นเมื่อทางโรงเรียนอนุญาตให้เด็กนักเรียนสามารถแต่งกายแบบใดก็ได้ในทุกวันอังคาร โดยเชื่อว่าการผ่อนปรนกฎระเบียบการแต่งกายจะช่วยเพิ่มศักยภาพมากขึ้น จากแนวคิดให้ “ความสุข” แก่การมาโรงเรียนของเด็กๆ ซึ่งเชื่อว่าหากตัวผู้เรียนเองมีความสุข ด้านอื่นๆ ก็จะพัฒนาตาม ทั้งนี้การแต่งชุดไปรเวทจะถูกทดลองเป็นเวลา 1 ภาคการศึกษา และหากพบว่าการแต่งกายแบบเสรีหนึ่งวันต่อสัปดาห์นี้มีผลกระทบเชิงลบต่อการเรียนจริง ในภาคการศึกษาหน้าทางโรงเรียนจะกำหนดให้นักเรียนกลับมาแต่งกายใน ชุดนักเรียน ปกติ

การเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบการแต่งกายของเด็กๆ ถือเป็นเรื่องใหญ่ที่แทบทุกคนรู้สึกว่าตนมีประสบการณ์ร่วม เพราะในสังคมไทยเรานั้น ชุดนักเรียนถือกำเนิดขึ้นมานานพร้อมๆ กับการวางรากฐานการศึกษาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 และยังคงถูกใช้เรื่อยมาจนปัจจุบันตามระเบียบของกระทรวงศึกษาธิการ แม้ว่าโลกจะหมุนไปในทิศทางเสรีนิยมมากขึ้นก็ตาม แต่ชุดนักเรียนยังคงศักดิ์สิทธิ์ในหลายประเทศ แม้กระทั่งในประเทศพัฒนาแล้วอย่างสหรัฐอเมริกา ที่ภาพจำของเด็กนักเรียนในโรงเรียนจากภาพยนตร์ และซีรีส์ชื่อดัง คือความมีอิสระเสรีที่นักเรียนจะแต่งกายอย่างไรไปเรียนก็ได้ ทว่าอันที่จริงก็มีโรงเรียนที่บังคับการใช้เครื่องแบบเช่นกัน รายงานจากศูนย์สถิติทางการศึกษาแห่งชาติสหรัฐฯ จากการสำรวจในปี 2015 – 2016 มีโรงเรียนของรัฐ 21% ที่มีการกำหนดเครื่องแบบให้นักเรียน

ในเคนยา รัฐบาลให้สวัสดิการแก่โรงเรียนประถมศึกษา โดยการแจกเครื่องแบบนักเรียนฟรีสองชุด เพื่อช่วยเหลือครอบครัวที่มีรายได้น้อย ทั้งยังเป็นการช่วยลดอัตราการตั้งครรภ์ไม่พร้อมของวัยรุ่น และลดอัตราการลาออกกลางคันของเด็กนักเรียนอีกด้วย

ชุดนักเรียน
บรรยากาศวันแรกของโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียน เมื่อเด็กๆ ได้รับอนุญาตให้สวมใส่ชุดไปรเวทมาเรียนได้ ขอบคุณภาพจาก http://www.nationmultimedia.com/detail/national/30361834

ประเทศอังกฤษถือเป็นประเทศแรกที่มีการกำหนดให้นักเรียนต้องใส่ชุดเครื่องแบบ เกิดขึ้นในโรงเรียน Christ Hospital เมื่อปี 1552 เป็นชุดโคทยาวสีฟ้า หรือที่เรียกกันว่าเสื้อคลุมสีน้ำเงิน เนื่องจากสีน้ำเงินเป็นสีที่ถูกที่สุดในการย้อมผ้าช่วงเวลานั้น ทว่าบันทึกที่เก่าแก่ที่สุดเกี่ยวกับเครื่องแบบนักเรียนเริ่มต้นในอังกฤษปี 1222 โดยเป็นชุดที่มีชื่อเรียกว่า “Cappa Clausa” มีลักษณะเป็นเสื้อคลุมยาว พร้อมเข็มขัดสีน้ำตาล ต่อมาในทศวรรษ 1870 อังกฤษประกาศระเบียบการศึกษาชั้นต้น ส่งผลให้ชุดนักเรียนแพร่หลายมากขึ้นไปด้วย ความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เครื่องแบบนักเรียนที่มีราคาแพงไม่เป็นที่นิยมอีกต่อไป หนึ่งในเหตุผลหลักมาจากความยากจนข้นแค้นหลังสงคราม ประกอบกับแนวคิดเสรีนิยมของคนหนุ่มสาวในช่วงทศวรรษ 1960 – 1970 ที่มองว่าการมีเครื่องแบบคือการกดขี่เสรีภาพ ต่อมาโรงเรียนหลายแห่งในยุโรปจึงยกเลิกระเบียบเครื่องแต่งกายลง

ชุดนักเรียนสุดหรูแบบใหม่ล่าสุดของประเทศญี่ปุ่น ได้รับการออกแบบโดยแบรนด์ชื่อดังจากประเทศอิตาลีอย่าง “Armani” มีราคาสูงถึง 500 ยูโร หรือราว 20,000 บาท

ระเบียบการแต่งกายในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม ซึ่งได้มีการกำหนดเครื่องแบบนักเรียนอย่างเป็นทางการครั้งแรก ภายหลังจากการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475
ขอบคุณภาพจาก วิกิพีเดีย

ทำไมนักเรียนต้องมีเครื่องแบบ? ชุดนักเรียนคือเครื่องมือในการแสดงออกถึงความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน รายงานจาก Jason Wing ผู้อำนวยการโรงเรียนมัธยมต้น Neale-Wade academy ในมณฑลเคมบริดจ์เชอร์ ประเทศอังกฤษ นอกจากนั้นเครื่องแบบยังถือเป็นส่วนหนึ่งของความภาคภูมิใจ และตัวผู้สวมใส่เองมีหน้าที่รักษาเกียรติยศขององค์กรเอาไว้เมื่อสวมใส่ ซึ่งหากจะว่ากันถึงข้อดีและความจำเป็นของการมีชุดนักเรียนแล้ว สิทธิประโยชน์ของเสื้อผ้าหน้าตาเหมือนกันไปหมดนี้ครอบคลุมตั้งแต่ตัวผู้สวมใส่ ไปจนถึงผู้ปกครอง และสถาบัน

สำหรับตัวผู้สวมใส่เอง บรรดาผู้ที่เห็นด้วยชี้ว่า การกำหนดเครื่องแบบช่วยเพิ่มพูนทักษะการเรียนรู้ เนื่องจากตัวผู้เรียนเองจะได้ตั้งสมาธิอยู่กับบทเรียน เมื่อทุกคนแต่งกายเหมือนๆ กันหมด อีกทั้งยังสร้างบรรยากาศของห้องเรียนที่จริงจังขึ้นอีกด้วย ด้านนักจิตวิทยามองว่า เครื่องแบบคือสิ่งที่ช่วยให้เด็กนักเรียนไม่ต้องแบกรับความกดดันจากการเลือกว่าจะสวมใส่เสื้อผ้าแบบใด ลดความวิตกกังวลเกี่ยวกับรูปลักษณ์ของตนเอง และช่วยให้โรงเรียนกลายเป็นพื้นที่ที่ปราศจากการแข่งขัน ประกวด หรือโอ้อวดเครื่องแต่งกาย ในขณะเดียวกันก็ลดปัญหาที่จะเกิดจากการกลั่นแกล้งภายในโรงเรียนหรือการบูลลี่ลง ยกตัวอย่างเช่น ในสหรัฐอเมริกาที่โรงเรียนส่วนใหญ่นั้นไม่ได้กำหนดเครื่องแบบ ในปี 2013 มีรายงานว่าเด็กนักเรียนจำนวน 160,000 คนเลือกที่จะโดดเรียน เนื่องจากไม่อยากถูกกลั่นแกล้งจากนักเรียนคนอื่น มากไปกว่านั้นผู้คนเชื่อว่าชุดนักเรียนช่วยแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ หากปราศจากเครื่องแบบ การแต่งกายของเด็กที่มีฐานะทางบ้านดีอาจส่งผลให้เด็กทั่วๆ ไปรู้สึกด้อย และเกิดการเปรียบเทียบได้ ไปจนถึงป้องกันการแต่งกายแบบอิสระที่ไม่เหมาะสม เช่น กระโปรงที่สั้นเกินไป

เมื่อปี 2018 โรงเรียนมัธยม 40 แห่งในประเทศอังกฤษประกาศกฎห้ามเด็กผู้หญิงสวมกระโปรง เพื่อเป็นการแสดงถึงความเท่าเทียมทางเพศ โดยระบุให้นักเรียนทุกคนสวมใส่กางเกงขายาวสีเทามาโรงเรียนแทน

(ส่วนหนึ่งของภาพยนตร์ Mean Girls ฉากนี้ฉายให้เห็นว่าเสื้อผ้านำไปสู่การกลั่นแกล้งกันในโรงเรียนได้อย่างไร )

และสำหรับผู้ปกครอง ชุดนักเรียนช่วยประหยัดค่าใช้จ่าย เนื่องจากชุดนักเรียนมีราคาถูกกว่า ทั้งยังไม่ต้องปรับเปลี่ยนตามแฟชั่นเช่นเสื้อผ้าทั่วไป อย่างไรก็ดีสิ่งนี้อาจกลายเป็นปัญหาได้ในทางกลับกัน เนื่องจากในบางโรงเรียนชุดนักเรียนมีราคาแพง อีกทั้งการที่โรงเรียนผูกขาดเครื่องแต่งกายเฉพาะจากร้านใดร้านหนึ่งก็สามารถก่อความลำบากแก่ตัวผู้ปกครองเองเช่นกัน นี่คือหนึ่งในเหตุผลที่ผู้ไม่เห็นด้วยมองว่าชุดนักเรียนคือสิ่งไม่จำเป็น

ที่ไนจีเรียไม่มีสีสำหรับผู้ชาย หรือสีสำหรับผู้หญิง ชุดนักเรียนทั้งชายและหญิงจึงสามารถปรากฏในสีสันสดใสไม่ว่าจะเป็นสีส้ม สีม่วง หรือสีชมพู

 

ชุดนักเรียนก็ไม่ต่างจากเหรียญสองด้าน โรงเรียนที่มีการกำหนดเครื่องแบบเป็นกฎระเบียบชัดเจนก็ยังคงมีเด็กนักเรียนถูกกลั่นแกล้ง การเปรียบเทียบยังคงเกิดขึ้นโดยเฉพาะในหมู่วัยรุ่น และแม้เสื้อผ้าของพวกเขาจะเหมือนๆ กัน แต่ยังมีสิ่งอื่นมากมายให้เด็กๆ นำมาโอ้อวด เช่น โทรศัพท์มือถือ ประเด็นความปลอดภัยถูกยกขึ้นมาถกเถียง ผู้เห็นต่างระบุว่าเครื่องแบบแยกนักเรียนออกจากบุคคลภายนอกก็จริง แต่นำไปสู่อาชญากรรมได้เช่นกัน เมื่อคนแปลกหน้าอาจสวมรอยเข้ามาในโรงเรียน โดยอาศัยเครื่องแบบ และที่สำคัญก็คือยังไม่มีงานวิจัยที่ชัดเจนว่าการกำหนดเครื่องแต่งกายมีผลต่อประสิทธิภาพการเรียน หรือส่งผลให้เด็กๆ มีพฤติกรรมที่ดีขึ้น มากกว่านั้นฝั่งเสรีนิยมมองชุดนักเรียนไม่ต่างจากกรอบที่ขวางกั้นอิสระ และความคิดสร้างสรรค์ของตัวผู้เรียนเอง วิวาทะว่าด้วยความสำคัญของการมีอยู่จากฝั่งผู้เห็นด้วย และความไม่จำเป็นของเครื่องแบบจากผู้เห็นต่างล้วนมีน้ำหนัก และจะยังคงถกเถียงไปไม่จบสิ้นตราบใดที่ยังมีโรงเรียน

ชุดนักเรียนหญิง สมัยก่อนสงครามโลก ภาพถ่ายจากห้องเรียนบนเกาะ Walcheren ในประเทศเนเธอร์แลนด์ ส่วนหนึ่งของสารคดีที่เผยแพร่ลงในเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ปี 1910
ภาพถ่ายโดย Hugh M. Smith

แล้วตัวเด็กเองคิดเห็นอย่างไรกับชุดนักเรียน? อันที่จริงมีการสำรวจที่ตัวผู้สวมใส่เองค่อนข้างน้อย คำตอบที่ได้แตกต่างกันไปตามเพศ วัย และสังคมที่เด็กๆ เหล่านั้นอยู่ ในโรงเรียน Volusia County รัฐฟลอริดา 70% ของเด็กๆ ไม่ต้องการเครื่องแบบ ด้วยเหตุผลนานาประการไม่ว่าจะเป็นชุดไม่สวย, ไม่แสดงตัวตนของผู้สวมใส่, ไม่เอื้อต่อรูปร่างที่หลากหลาย (ชุดไปรเวทที่เลือกได้เองช่วยให้วัยรุ่นสามารถพรางส่วนด้อยของร่างกายได้) ไปจนถึงไม่คำนึงสิทธิเสรีภาพของตัวนักเรียนเอง อีกการสำรวจโดยมหาวิทยาลัย Lancaster ในสหราชอาณาจักร ตั้งคำถามว่าโรงเรียนควรมีชุดนักเรียนไหม? 18.27% ของเด็กประถมที่เข้ารับการสำรวจเห็นด้วยอย่างที่สุด ในขณะที่ 48.74% ไม่เห็นด้วยอย่างมาก ที่เหลือคือคำตอบกลางๆ ด้านเด็กมัธยมสัดส่วนผู้เห็นด้วยอย่างมากเหลือ 8.43% ไม่เห็นด้วยอย่างที่สุดเพิ่มเป็น 61.65% นอกจากนั้นทางผู้สำรวจยังสอบถามไปยังกลุ่มผู้ปกครอง และกลุ่มครูเช่นกัน แน่นอนผลที่ได้สวนทางกับเด็กๆ

(ดูผลการสำรวจเพิ่มเติมได้ ที่นี่)

ในประเทศอินโดนีเซีย สีของชุดนักเรียนแตกต่างกันไปตามโรงเรียน และระดับการศึกษาด้วย ส่วนมากท่อนบนมักเป็นเสื้อสีขาว ส่วนท่อนล่างจะเป็นกางเกงหรือกระโปรงสีแดง, น้ำเงินเข้ม หรือสีเทา และหากผ่านการทดสอบระดับชาติ พวกเขามักเฉลิมฉลองด้วยการพ่นสีสเปรย์ลงบนเครื่องแบบชุดนักเรียน เพื่อแสดงถึงอิสรภาพ

นักเรียนเตรียมทหารเรืออเมริกันเรียนรู้เกี่ยวกับการเดินเรือ ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 ชุดนักเรียน แบบประเทศญี่ปุ่นได้แรงบันดาลใจมาจากชุดกะลาสีในลักษณะนี้เช่นกัน
ภาพถ่ายโดย กรมทหารเรือสหรัฐฯ

 

ชุดนักเรียนในอนาคตจะเป็นเช่นไร?

คำตอบของคำถามนี้ขึ้นอยู่กับว่าถามใคร หากคุณถามนักวิทยาศาสตร์ด้านสภาพอากาศ พวกเขาอาจเสนอให้หน้ากากกันมลพิษเป็นส่วนหนึ่งของเครื่องแบบด้วย หากถามเจ้าหน้าที่สหประชาชาติ พวกเขาคงเพิ่มเสื้อเกราะกันกระสุนเข้าไป เพื่อความปลอดภัยของเด็กๆ ในประเทศที่ยังคงมีสงครามกลางเมือง อย่างไรก็ดีช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา หลายโรงเรียนลุกขึ้นมาปรับเปลี่ยนกฎเกณฑ์บางอย่างเกี่ยวกับเครื่องแบบ และเหล่านี้คือสิ่งที่เกิดขึ้น ซึ่งอาจช่วยฉายภาพให้คุณผู้อ่านเห็นว่าแนวโน้มในอนาคตของชุดนักเรียนจะเป็นไปในทิศทางใด

2017 – โรงเรียนมัธยม Lincoln และ โรงเรียนประถม Beckenham ในนิวซีแลนด์ อนุญาตให้เด็กๆ เลือกใส่ยูนิฟอร์มของชายหรือหญิงก็ได้ เพื่อสนับสนุนความหลากหลายทางเพศ

2017 – ที่นิวซีแลนด์อีกเช่นกัน โรงเรียนประถม Dunedin North Intermediate พวกเขามีเครื่องแบบให้นักเรียนชายและหญิงเลือกสวมใส่หลายประเภท คือกางเกงขาสั้น, กางเกงสามส่วน, กระโปรง, กางเกงขายาว และกางเกงคูลอตทรงขาบาน

เด็กนักเรียนจากโรงเรียนประถม Dunedin North Intermediate ใน ชุดนักเรียน ที่มีให้เลือกหลากหลายแบบ
ภาพถ่ายโดย Heidi Hayward

2018 – โรงเรียนมัธยมต้น Kashiwanoha ในจังหวัดชิบะ สนับสนุนนักเรียนที่เป็น LGBT ด้วยการอนุญาตให้เด็กๆ มีอิสระในการเลือกสวมกระโปรง หรือกางเกงก็ได้ รวมไปถึงการเลือกผูกเนคไทด์ หรือติดริบบิ้นก็ได้เช่นกัน

2018 – หน่วยงานการศึกษาในจังหวัดเวสเทิร์น เคป ประเทศแอฟริกาใต้ อนุญาตให้นักเรียนที่เป็นบุคคลข้ามเพศสามารถเลือกใส่เครื่องแบบชายหรือหญิงก็ได้ตามที่ต้องการ เพื่อลดปัญหาการกลั่นแกล้งเพราะเพศสภาพกันในโรงเรียน

2018 – รัฐบาลเวลส์ในสหราชอาณาจักร เตรียมพิจารณาให้ เครื่องแบบนักเรียนมีความเป็นเพศกลางมากขึ้น รวมถึงปรับเปลี่ยนเครื่องแบบให้เรียบง่าย เพื่อที่ผู้ปกครองจะหาซื้อเครื่องแบบได้ตามร้านค้าทั่วไป และสร้างความยืดหยุ่นของเครื่องแบบกับสภาพอากาศมากขึ้น ตลอดจนตั้งโครงการแลกเปลี่ยน หรือรีไซเคิลชุดนักเรียน ซึ่งขณะนี้ดำเนินการแล้วในโรงเรียนหลายแห่ง

2018 – โรงเรียนประถม 6 แห่งในเมือง Provins ของฝรั่งเศส เตรียมนำเครื่องแบบนักเรียนกลับมาใช้ใหม่เป็นครั้งแรก นับตั้งแต่ปี 1968 โดยเป็นชุดมาตรฐานเสื้อโปโลสีฟ้า หลังผลสำรวจเมื่อเดือนกันยายน ปี 2016 ชี้ว่า 65% ของชาวฝรั่งเศสต้องการให้มีเครื่องแบบนักเรียน

2018 – Alex Maina Kaiuki ครูใหญ่ของโรงเรียนมัธยม Kamusinga ในเคนยา กลายเป็นข่าวดังหลังสวมใส่ชุดนักเรียนทำงานตลอดเวลา เช่นเดียวกับนักเรียนของเขา เพื่อสร้างความเท่าเทียม และบุคลิกเข้าถึงง่าย ตลอดจนรับรู้ถึงความรู้สึก และคุณภาพของชุดที่เด็กๆ ต้องสวมใส่

เด็กๆ ชาวภูฏานสวมใส่ชุดประจำชาติไปเรียน ชุดแบบผู้หญิงเรียกว่า “คีร่า” (Kira) และแบบผู้ชายเรียกว่า “โก” (Gho) มีลักษณะเป็นเสื้อคลุมยาวถึงระดับเข่าผูกด้วยเข็มขัด ชุดโกพิเศษตรงที่มีผ้าพับเป็นกระเป๋าอยู่ที่บริเวณหน้าท้อง ซึ่งพวกเด็กๆ สามารถใส่หนังสือไว้ข้างในได้

สาวน้อยชาวจีนกับหนังสือเรียนของพวกเธอ ก่อนจะมีการกำหนดระเบียบชัดเจน ในอดีตชุดนักเรียนส่วนใหญ่เป็นเสื้อผ้าธรรมดาที่ใส่ในชีวิตประจำวัน
ภาพถ่ายโดย Maynard Owen Williams

2019 – 11 โรงเรียนในมณฑลกุ้ยโจว ประเทศจีน เตรียมเปิดตัวชุดนักเรียนอัจฉริยะที่มีการติดตั้ง GPS ป้องกันเด็กโดดเรียน พร้อมระบบส่งเสียงปลุกเมื่อเผลอหลับในห้องอีกด้วย รายงานจากผู้ผลิตชุดนักเรียนรุ่นใหม่นี้ทนทานต่อการซัก 500 ครั้ง และทนความร้อนได้ถึง 150 องซาเซลเซียส

2019 – และล่าสุด โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียน ในประเทศไทย อนุญาตให้นักเรียนใส่ชุดไปรเวททุกวันอังคาร เป็นเวลา 1 ภาคการศึกษา เพื่อเพิ่มพูนความสุข และพัฒนาศักยภาพด้านอื่นๆ โดยมีเงื่อนไขว่าต้องเป็นชุดที่เรียบร้อย ห้ามใส่เสื้อแขนกุดหรือเสื้อที่มีรอยขาดมาโรงเรียน

 

อ่านเพิ่มเติม

ทำไมต้องบูลลี่ ? แท้จริงแล้วผู้ชอบกลั่นแกล้งคือคนอ่อนแอ

 

แหล่งข้อมูล

What’s the point of school uniform?

‘Why school uniform is a pointless waste of time’

10 Advantages and Disadvantages of School Uniforms

Forcing every student to wear trousers won’t make schools more equal

What Do Kids Think About School Uniforms?

 

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.