เหลียวมองเด็กไร้สัญชาติที่เกิดระหว่างแม่ลี้ภัย

(ซ้าย) Mamunur ทารกอายุ 25 วัน หนึ่งในเด็กทารกเฉลี่ย 60 คนที่เกิดในค่ายคอกซ์บาซาทุกวัน ส่วนภาพด้านขวาคือ เด็กไร้สัญชาติ อีกคนที่ยังไม่ได้ตั้งชื่อวัยเพียง 18 วัน
ภาพถ่ายโดย Turjoy Chowdhury

 

 

ณ ค่ายผู้ลี้ภัยคอกซ์บาซาของบังกลาเทศ ในทุกๆ วันมีเด็กชาวโรฮิงญาผู้ไร้สัญชาติราว 60 คนลืมตาดูโลก

ในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2017 ขณะที่ Turjoy Chowdhury ช่างภาพชาวบังกลาเทศกำลังเดินอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัยที่มีขนาดใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก เขาได้ยินเสียงเด็กทารกร้องลั่น ที่ภายในกระท่อมหลังเล็กๆ นั้นเอง ช่างภาพพบกับทารกเพศหญิงชาวโรฮิงญาอายุเพียง 1 วัน ถูกห่มอยู่ในผืนผ้าสีแดง เมื่อเขาเข้าไปใกล้ขึ้น ผู้เป็นแม่ก็คลายผ้าห่มที่ได้รับแจกจากองค์กรช่วยเหลือออก และอนุญาตให้ Chowdhury ถ่ายภาพเธอ

ตัวเขาตั้งใจถ่ายภาพของหนูน้อยจากมุมสูง แบบเดียวกับเทคนิคถ่ายภาพที่นิยมกันในอินสตาแกรม สำหรับเขานี่คือเด็กน้อยที่เพิ่งลืมตาดูโลกเท่านั้น ไม่ใช่ผู้ลี้ภัย “ในตอนนั้นผมมองเข้าไปในดวงตาใสบริสุทธิ์ พลางคิดไปว่า ‘เกิดบ้าอะไรขึ้นกับโลกใบนี้?'” เขากล่าว “เด็กคนนี้ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องอะไรทางการเมืองเลยด้วยซ้ำ”

เด็กๆ ชาวโรฮิงญาที่เกิดในค่ายคอกซ์บาซาของบังกลาเทศ เริ่มต้นชีวิตของพวกเขาโดยปราศจากกฎหมายคุ้มครอง พิจารณาจากสถานะ พวกเขาไม่ใช่ชาวบังกลาเทศ และไม่ใช่ชาวเมียนมา ทั้งยังไม่มีประเทศใดอยากรับผิดชอบ Chowdhury ลองนับจำนวนเด็กเกิดใหม่ในค่าย เขาพบว่าในแต่ละวันมีเด็กไร้รัฐเหล่านี้ลืมตาขึ้นมาดูโลกมากกว่า 60 คน

ทารกอายุ 15 วันที่ยังไม่ได้ตั้งชื่อ เด็กๆ ที่เกิดในค่ายผู้ลี้ภัยเหล่านี้ไม่มีสถานะทางพลเมืองทั้งในบังกลาเทศ และในเมียนมา
ภาพถ่ายโดย Turjoy Chowdhury
Monsur ทารกอายุ 25 วัน
ภาพถ่ายโดย Turjoy Chowdhury

เป็นเวลาหลายสิบปีแล้วที่ชาวโรฮิงญาถูกจองล้างจองผลาญ และถูกปฏิเสธจากการเป็นพลเมือง สำหรับชาวเมียนมานี่คือคนนอกที่เข้ามาอาศัยแผ่นดินอยู่ แม้ชาวโรฮิงญาจะระบุว่าพวกเขาอาศัยอยู่ ณ ดินแดนแห่งนี้มาตั้งแต่ศตวรรษที่ 15 ก็ตาม ในปี 1982 รัฐบาลเมียนมาผ่านกฎหมายให้สิทธิแก่กลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศจำนวน 135 กลุ่ม ทว่าไม่มีชาวโรฮิงญาอยู่ในนั้น สถานะพลเมืองแต่กำเนิดของพวกเขาถูกปฏิเสธ ชาวโรฮิงญาถูกบังคับให้ขึ้นทะเบียน และถือบัตรพลเมืองชั่วคราวแทน ซึ่งสิทธิและเสรีภาพที่มีห่างไกลจากพลเมืองจริงหลายเท่า

เดือนสิงหาคม ปี 2017 กองกำลังทหารเมียนมาบุกเข้าปราบปรามไล่ประหัตประหาร และเผาทำลายหมู่บ้านของชาวโรฮิงญาหลายแห่งในรัฐยะไข่ ส่งผลให้มีชาวโรฮิงญามากกว่า 736,000 คนหนีเอาชีวิตรอดไปยังบังกลาเทศเพื่อนบ้าน พวกเขาอาศัยอยู่ในค่ายที่จัดตั้งขึ้นบริเวณชายแดน และยังคงไม่ได้สถานะผู้ลี้ภัยอย่างเป็นทางการ เมื่อไม่มีสถานะใดๆ ช่องโหว่นี้กีดกันชาวโรฮิงญาออกจากการศึกษา รวมไปถึงบริการสาธารณะอื่นๆ

Ershad ทารกอายุ 2 เดือน
ภาพถ่ายโดย Turjoy Chowdhury
ทารกอายุ 10 วันที่ยังไม่ได้ตั้งชื่อ
ภาพถ่ายโดย Turjoy Chowdhury

นับตั้งแต่ Chowdhury ตัดสินใจเผยแพร่ภาพถ่ายแรกของเด็กไร้สัญชาติ ในโปรเจค “Born Refugee” ด้วยการขออนุญาตถ่ายภาพเด็กทารกเกิดใหม่ในค่ายที่แสนจะแออัด “ผู้คนก็เริ่มตระหนักว่าปัญหานี้สำคัญแค่ไหน” เขากล่าว ทุกวันนี้ในโปรเจคมีภาพถ่ายของเด็กทารกราว 20 คน บางคนยังไม่ได้ถูกตั้งชื่อเสียด้วยซ้ำ และบางคนก็เพิ่งมีชื่อในตอนที่ถูกถ่ายภาพ

รายงานจากสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ ในค่ายคอกซ์บาซามีผู้ลี้ภัยที่เป็นเด็กจำนวนมากกว่าครึ่งล้านคน และในจำนวนนี้มีประมาณ 30,000 คน ที่มีอายุต่ำกว่าหนึ่งขวบ “ผลพวงจากการเป็นคนไร้สัญชาติจะทำให้อนาคตของเด็กๆ ชาวโรฮิงญาเหล่านี้ตั้งอยู่บนความไม่แน่นอน” Karen Reidy โฆษกจากยูนิเซฟกล่าว พวกเขาจะถูกตัดออกจากการศึกษาขั้นพื้นฐาน ตลอดจนตลาดแรงงาน “และที่สำคัญคือ เด็กๆ เหล่านี้จะเผชิญกับการเลือกปฏิบัติไปตลอดชีวิต”

ทารกอายุเพียงวันเดียวที่ยังไม่ได้ถูกตั้งชื่อ
ภาพถ่ายโดย Turjoy Chowdhury
Shahida ทารกอายุ 2 เดือน
ภาพถ่ายโดย Turjoy Chowdhury

ปัจจุบันมีผู้คนที่ไร้ซึ่งสัญชาติราว 12 ล้านคน ทว่าข้อมูลนี้ไม่ได้เที่ยงตรง เพราะยังมีพื้นที่ตกสำรวจอีกมาก เช่น ประเทศจีน รายงานจาก Amal de Chickera ผู้อำนวยการร่วมจากสถาบัน Statelessness and Inclusion “สิ่งนี้จะนำไปสู่ความเกลียดกลัวชาวต่างชาติ” (xenophobia) ซึ่งจะยิ่งกระตุ้นให้ปัญหาลุกลาม โดยเฉพาะกับสถานการณ์ของค่ายผู้ลี้ภัยในบังกลาเทศ ที่นับวันมีแต่จะยิ่งเลวร้ายลง

“ที่ผ่านมามีการโจมตีอัตลักษณ์ และประวัติศาสตร์ของชาวโรฮิงญามาโดยตลอด และในที่สุดเรื่องราวก็มาถึงจุดที่ชาวโรฮิงญากลายเป็นคนไร้สัญชาติ” de Chickera กล่าว “สถานะไร้สัญชาติจำกัดทุกวิถีทางในการแก้ปัญหาผู้ลี้ภัย ถ้าคุณต้องตกอยู่ในสถานะนั้น แม้แต่การกลับประเทศก็ไม่ปลอดภัย แต่ในท้ายที่สุดแล้วเราทุกคนต้องมีบ้านให้กลับ”

สำหรับ Chowdhury ทารกไร้สัญชาติแต่ละคนกำลังแสดงให้เห็นว่าผลพวงของความขัดแย้งที่เกิดขึ้นจากการมุ่งแบ่งแยกเชื้อชาติมีหน้าตาเป็นอย่างไร “สิ่งหนึ่งที่วนเวียนอยู่ในหัวผมตลอดเวลาคือเพลง Imagine ของ จอห์น เลนนอน” เขากล่าว “โลกที่ไม่มีการแบ่งประเทศ – นี่คือสิ่งที่โปรเจคภาพนี้กำลังพยายามบอก”

เรื่อง Nina Strochlic

ภาพถ่าย Turjoy Chowdhury

Yasir ทารกอายุเพียง 1 เดือน
ภาพถ่ายโดย Turjoy Chowdhury
Shahed ทารกอายุ 7 วัน
ภาพถ่ายโดย Turjoy Chowdhury
Yunus ทารกวัย 1 เดือนในอ้อมแขนของแม่ ส่วนหนึ่งของภาพถ่ายในโปรเจค “Born Refugee” ที่บันทึกภาพเด็กทารกไร้สัญชาติแรกเกิดในค่ายคอกซ์บาซาของบังกลาเทศ
ภาพถ่ายโดย Turjoy Chowdhury
Fatema หญิงชาวโรฮิงญาอุ้ม Asma Bibi ลูกน้อยวัยเพียง 1 วันไว้ในอ้อมแขน
ภาพถ่ายโดย Turjoy Chowdhury
Dulu Begum กับลูกน้อยวัย 2 เดือน
ภาพถ่ายโดย Turjoy Chowdhury
Rokeya Begum กับลูกน้อยวัย 15 วัน
ภาพถ่ายโดย Turjoy Chowdhury

 

อ่านเพิ่มเติม

ของเล่นทำมือสมบัติเดียวที่เด็กผู้ลี้ภัยในยูกันดามี

 

 

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.