ซิลิคอนแวลลีย์ : หวนคืนสู่ดินแดนแห่งโอกาส

ซิลิคอนแวลลีย์ : หวนคืนสู่ดินแดนแห่งโอกาส

ซิลิคอนแวลลีย์ ยังคงเป็นดินแดนแห่งโอกาส แต่ตอนนี้กำลังเผชิญกับราคาแห่งความสำเร็จของตนเอง 

คำฮิตใหม่ของที่นี่จึงมีอยู่สองคำ นั่นคือ ความรับผิดชอบและความเห็นอกเห็นใจ

เรื่อง มิเชลล์ ควินน์

ภาพถ่าย ลอรา มอร์ตัน

รถยนต์เทสลาเบียดกันเข้าแท่นชาร์จที่มีอยู่ 12 ช่องในลานจอดรถ คลื่นมนุษย์ที่ส่วนใหญ่เป็นผู้ชายมารวมตัวกันในล็อบบี้ของพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์คอมพิวเตอร์  พอเสียงระฆังดังขึ้น ฝูงชนที่ส่งเสียงอึกทึกกรูเข้าไปในห้องประชุมแล้วเงียบเสียง “เดโมเดย์” (Demo Day) กำลังจะเปิดฉากขึ้นอีกครั้งในซิลิคอนแวลลีย์

ตลอดสองวันหลังจากนั้น ผู้ประกอบการของบริษัทสตาร์ตอัป 132 รายจะเริ่ม “พิตช์” หรือขายไอเดียที่ซักซ้อมมาเป็นอย่างดีเป็นเวลาสองนาทีว่า พวกเขาจะเปลี่ยนแปลงโลกอย่างไร ปรากฏว่ามีหนทางทำเช่นนั้นมากมายหลายรูปแบบ ตั้งแต่ระบบเซ็นเซอร์ด้วยเรดาร์ที่ติดเพดานห้องนอนในบ้านพักคนชรา  โดรนที่ใช้ตรวจสายโทรศัพท์และสายไฟฟ้า ไปจนถึงบริการจัดส่งผงซักฟอกให้ลูกค้าผู้ชายโดยเฉพาะ

ซิลิคอนแวลลีย์เป็นที่ที่ “เร่งพัฒนาสิ่งใหญ่ๆในอนาคต” เสมอ  พอล แซฟโฟ ผู้สังเกตการณ์ซิลิคอนแวลลีย์มานานบอกเช่นนั้น  บรรดาผู้ประกอบการที่นำเสนอไอเดียในเดโมเดย์จะวาดภาพชีวิตที่ดีกว่าด้วยปัญญาประดิษฐ์ (AI) ความเป็นจริงเสริม (AR) หุ่นยนต์ โดรน และเซ็นเซอร์ที่ติดตั้งอยู่ทุกหนแห่ง  แต่ในช่วงที่ผ่านมาที่แห่งนี้กลับดูเงียบเหงาลง

ความรับผิดชอบและความเห็นอกเห็นใจเป็นสองคำฮิตใหม่ ซิลิคอนแวลลีย์ต้องรับผิดชอบ ไม่ว่าจะเป็นความหลากหลายทางเชื้อชาติและเพศในกลุ่มคนทำงาน ธุรกิจเก่าที่ตกยุคไปเมื่อธุรกิจใหม่เข้ามาแทนที่ และความเจ็บปวดอันเกิดจากเทคโนโลยี ความเกลียดชังที่แพร่สะพัดเร็วเพราะการใช้สื่อสังคมออนไลน์และผลกระทบของนวัตกรรมที่ส่งผลต่อมนุษย์ในซิลิคอนแวลลีย์เอง พนักงานที่หาเงินได้ระดับแสนดอลลาร์ยังมีปัญหาในการซื้อบ้านเป็นของตนเอง  และหลายแห่งทั่วโลก อย่างเช่นในประเทศโบลิเวีย การขุดแร่ลิเทียมซึ่งให้พลังงานที่จำเป็นแก่อุปกรณ์ที่ซิลิคอนแวลลีย์ประดิษฐ์ขึ้น ยังสร้างความวิตกเรื่องการแสวงประโยชน์และสิ่งแวดล้อมอีกด้วย

ฉันไปพบจอห์น เฮนเนสซี อดีตอธิการบดีของมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด และปัจจุบันดำรงตำแหน่งประธานของบริษัทแอลฟาเบต บริษัทแม่ของกูเกิล เขาเป็นมิตร แต่ขึงขังตามแบบนักวิชาการ เขากล่าวว่า ปัญหาด้านความรับผิดชอบต่อสังคมและจริยธรรมที่อุตสาหกรรมเทคโนโลยีในปัจจุบันเผชิญอยู่ ทำให้ซิลิคอนแวลลีย์ต้องขบคิดถึงเป้าหมายของตนเองอย่างจริงจัง

“เรื่องยากในตอนนี้คือ บริษัทต่างๆจะหาทางรับผิดชอบและดำเนินกิจการอย่างไรเพื่อให้พ้องกับความต้องการของผู้ถือหุ้น และความต้องการของคนในสังคมในเวลาเดียวกันด้วย”

เทคโนโลยีเป็นตัวกำหนดอนาคตก็จริง  แต่ผู้นำทั้งหลายยังไม่อยากยอมรับว่า  บางครั้งในการสร้างสิ่งใหม่ให้ดีขึ้น และมีประสิทธิภาพมากขึ้น ก็อาจทำร้ายผู้คนไปพร้อมกัน

นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยเทคนิคนันยางของสิงคโปร์ได้แรงจากขนมคบเคี้ยว เครื่องดื่มบำรุงกำลัง และน้ำอัดลม ระหว่างร่วมงานชุมนุมแฮ็กเกอร์เจาะทดสอบระบบหรือแฮ็กคาทอน ในแซนตาคลารา

ตามถนนที่คดเคี้ยวไปตามเนินเขารอบๆ ซึ่งมีกวางเล็มหญ้า เราอาจนึกภาพว่า ผู้คนที่นี่ใช้ชีวิตตามครรลองของชนบท หุบเขานี้เคยเป็นสวนแอพริคอตและพลัม ซิลิคอนแวลลีย์อาจตบตาเราได้ ดูเหมือนคนทุกคนเท่าเทียมกัน  มีบรรยากาศเปิดเผยเป็นกันเอง  เหล่าซีอีโอสวมเสื้อฮู้ดแบบสบายๆ  บรรดานักร่วมลงทุน (venture capitalist) สวมกางเกงปั่นจักรยาน

เมล็ดพันธุ์แห่งเสน่ห์ดึงดูดของซิลิคอนแวลลีย์ในปัจจุบันเริ่มขึ้นในช่วงต้นทศวรรษ 1990 ตอนที่มาถึงในฐานะนักข่าว ฉันรู้สึกว่าที่นี่ดูไร้ชีวิตชีวา และแม้แต่บริษัทของขบถผู้ยิ่งใหญ่อย่างแอปเปิ้ลก็ตกอยู่ในภาวะถดถอยเช่นกัน สตีฟ จ๊อบส์ ไม่อยู่แล้ว เขาลาออกจากบริษัทเมื่อปี 1985 หลังเกิดข้อพิพาทกับซีอีโอและคณะกรรมการของบริษัท กว่าจะหวนคืนสู่บริษัทที่ตนสร้างขึ้นอย่างผู้ชนะ ก็นานเกินสิบปีหลังจากนั้น

แนวคิดหนึ่งซึ่งเริ่มแพร่หลายในช่วงกลางทศวรรษ 1990 มีอยู่ว่า ถ้าหากผู้คนเชื่อมโยงกันผ่านคอมพิวเตอร์ได้ ชีวิตก็จะเปลี่ยนไป  บริษัทอเมริกาออนไลน์ (America Online: AOL) จึงถือกำเนิดขึ้นพร้อมแนวคิดร้านค้าออนไลน์ที่คุณไปแวะชมและสั่งซื้อดอกไม้ได้ เว็บนั้นทั้งอืดทั้งใช้ยาก แต่ในขณะนั้นบางสิ่งที่ยิ่งใหญ่กำลังถูกบ่มเพาะอยู่

เน็ตสเคป (Netscape) ซึ่งสร้างซอฟต์แวร์ “บราวเซอร์” ที่ทำให้ผู้ใช้สามารถท่องเน็ตได้อย่างเสรี    เข้าสู่ตลาดหุ้นไม่ถึงปีภายหลังเปิดตัวผลิตภัณฑ์หลัก แม้ว่าเน็ตสเคปจะเป็นบริษัทหน้าใหม่ที่มีความเสี่ยงยาวเป็นหางว่าวที่ผู้ลงทุนต่างก็รู้ดี แต่ราคาหุ้นก็ปิดตลาดด้วยราคา 58.25 ดอลลาร์สหรัฐในวันเปิดขาย ทำให้บริษัทมีมูลค่าทางการตลาด 2,900 ล้านดอลลาร์สหรัฐในทันที

การเสนอขายหุ้นใหม่แก่ประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก หรือไอพีโอ (initial public offering: IPO) ของเน็ตสเคปเป็นจุดเริ่มต้นของสิ่งที่ต่อมารู้จักกันในนาม “ภาวะเฟื่องฟูของธุรกิจดอตคอม” ซึ่งทำให้เราเห็นการถือกำเนิดของบริษัทที่มีอายุยาวนานมาถึงปัจจุบันอย่างแอมะซอนและยาฮู! เช่นเดียวกับบริษัทที่ปิดตัวไปอย่างเว็บแวนและเพ็ตส์ดอตคอม

ความตื่นเต้นต่อสิ่งที่อาจทำได้บนอินเทอร์เน็ต ไม่ว่าจะเป็นการขายเครื่องสำอาง เช่ารถกระบะ หาคู่เดต และอื่นๆ  ทำให้ตลาดหุ้นที่มีความเสี่ยงสูงคึกคักมากขึ้น  ในปี 1999 บริษัทกว่าสี่ร้อยแห่ง ซึ่งส่วนมากทำธุรกิจด้านเทคโนโลยีตบเท้าเข้าสู่ตลาดหุ้น

แต่แล้วตลาดหุ้นก็ร่วงกราวในปี 2000 ตำแหน่งงานกว่า 200,000 ตำแหน่งล้มหายตายจาก

ในฐานะบริษัทที่เข้าตลาดหุ้นเป็นบริษัทแรกของสหรัฐฯที่มีมูลค่าล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ แอปเปิ้ลเป็นผู้วางรากฐานให้กับนวัตกรรมใหม่ๆในซิลิคอนแวลลีย์ สำนักงานใหญ่แห่งใหม่ของบริษัทในคูเปอร์ติโนซึ่งเปิดเมื่อปี 2007 และรู้จักกันในชื่อ “ยานอวกาศ” มีพนักงานกว่า 12,000 คน
เฮเทอร์ เจนกินส์ ที่แต่งตัวเป็นนางเงือก (คนกลางในภาพ) เต้นรำในงานปาร์ตี้ช่วงเช้าชื่อ เดย์เบรกเกอร์ ซึ่งเป็นงานปลอดแอลกอฮอล์และยาเสพติดในแซนแฟรนซิสโก งานเดย์เบรกเกอร์ออกแบบมาเพื่อสร้างพลังให้ผู้เข้าร่วมงานพร้อมรับวันทำงาน

ความล้มเหลวและแนวโน้มตกต่ำจะแผ้วถางทางให้กับความคิดใหม่ๆและคนหน้าใหม่ๆ กูเกิลครองพื้นที่ที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นที่ตั้งของซิลิคอนกราฟฟิกส์ เฟซบุ๊กมาปรับปรุงสำนักงานเก่าของซันไมโครซิสเต็มส์เมื่อบริษัทโตขึ้น ความพยายามในการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตกับโทรทัศน์ยังไม่ราบรื่น แต่แล้วยูทูบก็เปิดตัว

ศักราชแห่งสื่อสังคมออนไลน์เปิดฉากขึ้น มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ผู้ร่วมก่อตั้งเฟซบุ๊ก ย้ายไปยังแพโลแอลโตเพื่อขยายกิจการเฟซบุ๊ก พร้อมคำขวัญของแฮ็กเกอร์ที่ว่า “ทำให้ไวและทลายทุกสิ่ง”  ในแซนแฟรนซิสโก กลุ่มเพื่อนและเพื่อนร่วมงานค้นพบวิธีที่ผู้คนจะอัพเดตเรื่องราวชีวิตประจำวันภายใน 140 คำได้ และทวิตเตอร์ก็ถือกำเนิดขึ้น

การมาถึงของปัญญาประดิษฐ์หรือเอไอ (artificial intelligence: AI) เมื่อคอมพิวเตอร์เรียนรู้วิธีคิดเหมือนมนุษย์ ข้อมูล (ซึ่งทำงานร่วมกับความเร็วเชิงคำนวณ) ก็กลายเป็นทรัพยากรที่มีค่าสูงสุด เทียบเท่ากับน้ำมัน ถ้าหากคอมพิวเตอร์ “คิด” ได้และตัดสินใจได้ในวันหนึ่งจะเกิดอะไรขึ้น

พนักงานใหม่ของเฟซบุ๊ก นิโคล โวลกาโรโปลอส และแม่ แชรีล กรีน-โวลกาโรโปลอส ถ่ายรูปหน้าป้ายยกนิ้วโป้งหรือไลก์ (Like) ของเฟซบุ๊กในเมนโลพาร์ก โดยมีเมล โวลกาโรโปลอส ผู้เป็นพ่อเป็นคนถ่ายภาพให้
ทริสตัน แมตไทอัส ชาวออสเตรเลีย ใช้เวลาทำงานและพักที่สตาร์ตอัปเอมบาสซี  (ปิดตัวไปแล้ว) เป็นเวลาหนึ่งสัปดาห์ โดยอยู่ร่วมกับคนอื่นๆใน “บ้านแฮ็กเกอร์” ในแพโลแอลโต

ขณะที่คนต่างเมืองหลั่งไหลมายังซิลิคอนแวลลีย์มากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ราคาอสังหาริมทรัพย์และค่าเช่าพุ่งสูงขึ้น หลายคนซึ่งไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของอุตสาหกรรมเทคโนโลยี และบางคนที่เป็น มองว่าชีวิตเริ่มลำบากขึ้นทุกที ส่วนใหญ่เป็นเพราะค่าเช่าบ้านที่มีราคาแพงขึ้น

สำหรับผู้อยู่อาศัยมาเป็นเวลานานแล้วซึ่งไม่ได้รับผลประโยชน์ใดๆจากการเฟื่องฟูของเทคโนโลยี ค่าเช่าบ้านยังพุ่งสูงขึ้นและการซื้อบ้านก็กลายเป็นเรื่องเกินเอื้อมไปแล้ว พวกเขาย้ายออกจากที่นี่ไปอยู่ตามชานเมือง แล้วขับรถหลายชั่วโมงมาทำงานทุกวัน  หรืออาจย้ายเข้าไปอยู่กับครอบครัวและเพื่อนๆ หรือไม่ก็ย้ายออกจากเมืองไปเลย

ไมเคิล ไซเบิล ซีอีโอของวายคอมบิเนเตอร์ มองเห็นเค้าลางการเปลี่ยนรุ่นในซิลิคอนแวลลีย์  คนงานวัยหนุ่มสาวต้องการให้บริษัทว่าจ้างพนักงานที่มีความหลากหลาย และดำเนินกิจการอย่างมีความรับผิดชอบต่อสังคมมากขึ้น ส่วนบริษัทที่อยากเก็บรักษาคนงานมีฝีมือไว้ก็เริ่มเห็นพ้องกับแนวคิดนั้นด้วยเช่นกัน


9 เทคโนโลยีเปลี่ยนโลกของอีลอน มัสก์ เศรษฐีนักประดิษฐ์

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.