ฟุตบอล กับการจุดประกายความหวังใหม่ของเหล่าผู้ลี้ภัย

ฟุตบอล กีฬาที่ได้รับความนิยมไปทั่วโลก ได้จุดประกายไฟความหวังของเด็กที่อาศัยอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัยซะอะฮฺตารี (Za’atair) ขึ้นมา

เมื่อ Mehdi Ballouchy นักฟุตบอลสัญชาติโมร็อกโค ผู้ที่ใช้เวลากว่า 11 ปีโลดแล่นอยู่บนลีกมะกัน (MLS: Major League Soccer) มาถึงค่ายผู้ลี้ภัยซะอะฮฺตารีในประเทศจอร์แดน เขาก็ไม่ได้มามือเปล่า เขารู้ว่าซีเรีย ก็เป็นเหมือนกับประเทศอื่นทั่วโลก ที่ฟุตบอลถือเป็นกีฬาที่ได้รับความสนใจเป็นอย่างมากจากผู้คน ดังนั้นเมื่อเขาก้าวมายังค่ายผู้ลี้ภัยแห่งนี้ เขาจึงได้นำเสื้อ รองเท้า และอุปกรณ์สำหรับการเตะฟุตบอลมาอย่างมากมายให้กับเด็กๆ ในค่าย

สิ่งที่พวกเราต้องการคือ ให้พวกเด็กๆ ได้สนุกสนานกันตามประสาเด็ก ได้ประลองฝีเท้ากัน ได้ฝึกฝนพัฒนาเพื่อที่จะเป็นนักฟุตบอลที่ดีในอนาคต ผมเชื่อว่าฟุตบอลจะทำให้เด็กพวกนี้ลืมเรื่องเลวร้ายที่เกิดขึ้นในประเทศของพวกเขาได้ชั่วขณะ – Mehdi Ballouchy

ค่ายซะอะฮฺตารี มีสนามฟุตบอลเป็นของตนเองอยู่แล้ว โดยสนามนั้นได้รับอภินันทนาการมาจากองค์อื่นก่อน หลังจากนั้น การมาถึงของหญ้าสีเขียวขจี ทำให้ค่ายที่ล้อมรอบไปด้วยทะเลทรายแห่งนี้มีความสดใสมากกว่าเดิม และ “บ้านพักนักกีฬา” สีขาวแห่งนี้เป็นที่ให้เหล่าเด็กๆ มาพักผ่อนหย่อนใจก่อนหรือหลังการแข่งขันฟุตบอล ชีวิตภายในค่ายนั้นยากลำบากอย่างมาก เนื่องจากการจ่ายไฟและน้ำสะอาดนั้นไม่แน่นอน อีกทั้งพ่อแม่ของเด็กส่วนใหญ่ก็แยกกันอยู่ หรือถูกพลัดพรากเนื่องจากภาวะสงคราม การตกงาน และอนาคตที่ไม่มีความแน่นอนเอาเสียเลย แต่ Ballouchy กล่าวว่า ฟุตบอลจะช่วยให้พวกเขาลืมสิ่งเหล่านี้ ลืมความยากลำบากของสถานะการเป็นผู้ลี้ภัยไปได้สักพัก

เราใช้ชีวิตอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัยแห่งนี้มาปีนี้เป็นปีที่ 5 แล้วครับ ผมอาศัยอยู่กับครอบครัวของผม เราอยู่กันพร้อมหน้า แต่การใช้ชีวิตในค่ายก็ไม่ใช่เรื่องที่ง่ายเลยนะครับ เพราะพวกเราเองก็คิดถึงประเทศบ้านเกิดของพวกเรา อีกอย่างหนึ่งคือไฟและน้ำก็ไม่ค่อยเพียงพอต่อการดำรงชีวิตด้วยครับ – Ali Osama Al Wadi เด็กวัย 13 ปีที่อาศัยอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัยซะอะฮฺตารี โดยเขาใช้ชีวิตอยู่ในค่ายแห่งนี้มาเป็นเวลากว่า 5 ปีแล้ว

ในปี 2012 บริเวณซะอะฮฺตารี อันเป็นดินแดนทะเลทรายที่อยู่ใกล้ชายแดนของประเทศจอร์แดนและซีเรีย ได้เปิดบ้านให้คนซีเรียหลายนับพันคนมาพักพิงและลี้ภัยจากภาวะสงครามในประเทศของพวกเขา จนถึงวันนี้ มีผู้ลี้ภัยวนเวียนเข้ามาในค่ายกว่า 5 แสนคนแล้ว และผู้ลี้ภัยกว่า 8 หมื่นคนยังคงอาศัยอยู่ในค่ายแห่งนี้ หลายคนได้เข้าสู่ช่วงปีที่ 7 ในฐานะผู้ลี้ภัยแล้วเนื่องจากภาวะสงครามยังไม่มีทีท่าว่าจะสิ้นสุดลง ความทรงจำของเด็กชาวซีเรียในค่ายที่มีต่อประเทศบ้านเกิดของตนเองตอนนี้เหลือแต่การทิ้งระเบิด กับภาพที่พวกเขาต้องวุ่นวายวิ่งหนีตายจากเหตุการณ์ทิ้งระเบิดดังกล่าว

พวกเราต้องหนีตายกันอย่างบ้าระห่ำเพื่อที่จะหลบหลีกไม่ให้โดนระเบิดที่พวกเขาได้มาทิ้งไว้ พวกเรากลัวมากๆ – Laila Shukri Shwanrah เด็กวัย 12 ปีที่ในค่ายผู้ลี้ภัยซะอะฮฺตารี โดยเธอได้อาศัยอยู่ในค่ายแห่งนี้มาเป็นระยะเวลากว่า 6 ปีแล้วด้วยกัน

เด็กชายคนหนึ่งในค่ายวัย 13 ปีวางแผนที่จะเล่นฟุตบอลอาชีพในประเทศซีเรีย ขณะที่อีกคนหนึ่งเป็นเด็กหญิงวัย 12 ปีชื่อ Laila Shukri Shwanrah ซึ่งใช้ครึ่งค่อนชีวิตของเธออยู่ในค่ายแห่งนี้กล่าวกับผู้กำกับหนังสั้นเรื่องนี้อย่าง Austin Meyer ว่า “ฉันอยากบอกเด็กทุกคนที่อาศัยอยู่ในค่ายแห่งนี้ว่า เราไม่ควรย่อท้อต่ออุปสรรคและสู้ต่อไป”

ครอบครัวหนูไม่ได้อยู่พร้อมหน้ากัน บางคนก็ลี้ภัยไปอยู่ในสถานที่หรือประเทศอื่น บางคนก็ยังติดอยู่ในประเทศ ต้องเผชิญหน้ากับสงคราม มันยากลำบากมากในที่นี้ แต่หนูคิดว่าทุกอย่างสามารถเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีได้ และการได้เตะฟุตบอลถือเป็นเรื่องดีที่เกิดขึ้นในค่ายแห่งนี้เลยก็ว่าได้ค่ะ – Laila Shukri Shwanrah

Kickstart Joy เป็นองค์กรของ Ballouchy ที่มีวัตถุประสงค์และแนวคิดที่จะนำกีฬาไปสู่ค่ายผู้ลี้ภัยทุกแห่งทั่วโลก โดยเริ่มที่ค่ายซะอะฮฺตารีเป็นที่แรก “ทันทีพวกเขาเหยียบสนามแห่งนี้ พวกเขาจะกลายเป็นเพียงแค่กลุ่มเด็กธรรมดาทั่วไป (ไม่ใช่ผู้ลี้ภัย) ที่เตะฟุตบอลกันอย่างสนุกสนาน”

ผมได้ไอเดียของการก่อตั้งแคมป์ฟุตบอลในค่ายผู้ลี้ภัยครั้งแรกในช่วงฤดูกาลสุดท้ายของการค้าแข้งในฟุตบอลลีกในสหรัฐอเมริกาของผม ผมรับรู้ว่ามีอะไรหลายอย่างเกิดขึ้นในประเทศซีเรีย ผมอยากจะยื่นมือเข้ามาช่วย ฟุตบอลคือสิ่งที่ผมทำได้ดีที่สุด และผมก็รู้ว่าฟุตบอลเป็นกีฬาที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในประเทศซีเรีย โดยเฉพาะในหมู่เด็กๆ ผมเลยคิดว่าการก่อตั้งแคมป์ครั้งนี้คงจะทำให้พวกเด็กๆ มีความสุขไม่มากก็น้อย อย่างน้อยการได้เล่นฟุตบอล คงจะช่วยเบี่ยงเบนความสนใจเด็กๆ ไม่ให้คิดมากกับสิ่งที่เกิดขึ้นตอนนี้ อีกทั้งสิ่งที่เด็กพวกนี้ได้เรียนรู้ ขณะที่เตะฟุตบอลก็คือ วินัย การเล่นเป็นทีม และแบบแผนที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ในชีวิตจริง ทั้งหมดนี้มีความสำคัญพอๆ กับความสนุกสนานเลย – Mehdi Ballouchy

รับชมคลิปวิดิโอหนังสั้นได้ ที่นี่ 

เรื่องและวิดิโอโดย และ AUSTIN MEYER

***แปลและเรียบเรียงโดย รชตะ ปิวาวัฒนพานิช
โครงการนักศึกษาฝึกงาน กองบรรณาธิการ นิตยสารเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย


อ่านเพิ่มเติม : ConIFA ฟุตบอลของคนไร้รัฐ

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.