มหานคร : “ซ้อนมุมเมือง” เพื่อสร้างมุมมองแปลกใหม่

มหานคร : “ซ้อนมุมเมือง” เพื่อสร้างมุมมองแปลกใหม่

ช่างภาพ นิโกลา รูเอล มักใช้เวลาแปดวินาทีในการถ่ายภาพแบบเปิดหน้ากล้องเป็นเวลานาน (long-exposure) ทำไมต้องแปดวินาที ไม่มากไม่น้อยกว่านั้น “เลขแปดสื่อถึงความไม่มีที่สิ้นสุดหรืออินฟินิตีครับ” รูเอลกำลังพูดถึงความอัศจรรย์ใจไม่มีที่สิ้นสุดที่ได้จากการมองภาพถ่ายที่ได้จากการถ่ายภาพซ้อนของภูมิทัศน์ มหานคร หรือเมืองใหญ่ต่างๆ ทั่วโลก

รูเอลเริ่มจากมองหาสถานที่ในเมืองหรือมหานครที่เต็มไปด้วยผู้คน พลังงาน และการเคลื่อนไหวหรือพลวัต สถานที่ที่ผู้คนมารวมตัวกันอย่างสถานีรถไฟ โบสถ์ ห้องสมุด และสนามกีฬา   เขาตั้งขาตั้งกล้องแล้วถ่ายภาพจากมุมมองหรือทิศทางหนึ่งโดยเปิดหน้ากล้องไว้สี่วินาที (ส่วนใหญ่ใช้ความไวชัตเตอร์ 1/60 ของวินาทีหรือน้อยกว่า) จากนั้น ขณะที่ชัตเตอร์ยังเปิดอยู่ เขาจะเบนกล้องไปจับภาพอีกมุมมองหนึ่งโดยใช้เวลาอีกสี่วินาที ผลงานที่ได้คือภาพถ่ายสารคดีเฟรมเดียวที่ใช้เวลาแปดวินาที

ปกติแล้วภาพถ่ายแบบเปิดหน้ากล้องนานจะเห็นวัตถุเคลื่อนไหวในลักษณะเบลอ ขณะที่ภาพซ้อน (double-exposure) มักเกิดจากการรวมหรือซ้อนสองภาพ ทว่าการผสมผสานสองเทคนิคจากจุดเดียวกันจะให้มิติความลึก ประหนึ่งผู้มองยืนอยู่ ณ จุดเดียวและมองไปรอบๆ รูเอลสนใจสถานที่ที่เกี่ยวข้องกับมนุษย์มากกว่าพื้นที่ธรรมชาติ เพราะสถานที่เหล่านั้นเปลี่ยนแปลงไปเกือบจะตลอดเวลา ด้วยเหตุนี้ ภาพถ่ายไทม์สแควร์ในนิวยอร์กหรือออกซฟอร์ดเซอร์คัสในลอนดอน สองสถานที่ที่ถูกถ่ายภาพมากที่สุดในโลกจึงดูเหมือนมีชีวิตในภาพถ่ายของรูเอลที่ให้มุมมองแปลกใหม่

รูเอลเริ่มโปรเจคต์ถ่ายภาพนี้จากแปดเมือง ตอนนี้เพิ่มเป็น 68 เมือง เขาตั้งเป้าไว้ที่ 100 เมือง แต่ก็เปิดกว้างเหมือนกับแนวคิดอินฟินีตีที่สะท้อนออกมาในภาพถ่ายชุดนี้ – แดเนียล สโตน

ยอดเขาวิกตอเรียพีคอันเขียวชอุ่มตระหง่านเงื้อมเหนือหมู่ตึกระฟ้าในฮ่องกงที่มีผู้อยู่อาศัยแออัด ช่างภาพ นิโกลา รูเอล เชื่อมสองมุมมองนี้ไว้ในภาพเดียว
จากสองฝั่งคลองในย่านสถานเริงรมย์อันโด่งดังของกรุงอัมสเตอร์ดัม รูเอลใช้เทคนิคซ้อนภาพจัดวางรายละเอียดอื่นๆ ในย่านนี้ทับลงไป  เพื่อสื่อถึงครรลองชีวิตอีกด้านที่ดำเนินควบคู่กันไป
ใต้โดมของอาคารไรช์สทาคในกรุงเบอร์ลิน ซึ่งใช้เป็นที่ประชุมรัฐสภาเยอรมนี ผู้มาเยือนดูเหมือนกำลังเดินสำรวจอยู่ตามชั้นต่างๆ ของอาคาร
ไม่ว่ามองจากมุมไหน ออกซฟอร์ดเซอร์คัสในกรุงลอนดอนก็เต็มไปด้วยความเคลื่อนไหว พลังงาน และฝูงชน

อ่านสารคดีฉบับเต็มได้ใน นิตยสารเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับเดือนเมษายน 2562


อ่านเพิ่มเติม

ชีวิตในเมือง : อยู่เมืองใหญ่ ได้อะไร เสียอะไร

 

© COPYRIGHT 2024 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.