ชีวิตในเมือง : อยู่เมืองใหญ่ ได้อะไร เสียอะไร

ชีวิตในเมือง : อยู่เมืองใหญ่ ได้อะไร เสียอะไร

ชีวิตในเมือง : อยู่เมืองใหญ่ ได้อะไร เสียอะไร

เสรีภาพส่วนบุคคลหรือหรือผลประโยชน์ของส่วนรวม  สายสัมพันธ์ทางสังคมหรือเป็นเพียงคนแปลกหน้า ชีวิตในเมือง เรียกร้องให้เราต้องเลือกได้อย่างเสียอย่าง

ชีวิตในเมือง

ช่วงเวลาส่วนใหญ่ของวิวัฒนาการมนุษย์ในหกล้านปีที่ผ่านมา  มนุษย์และบรรพบุรุษตระกูลโฮโมใช้ชีวิตดุจชิมแปนซีที่มีพฤติกรรมซับซ้อน ประชากรน้อย อยู่กันแบบครอบครัวหรือกลุ่มเล็กๆ กระจายไปทั่วภูมิประเทศ   เพิ่ง 6,000 ปีที่ผ่านมานี้เอง ซึ่งเป็นเพียงเศษเสี้ยวของประวัติศาสตร์มนุษย์ บรรพบุรุษของเราบางส่วนเข้ามาอยู่ในเมืองใหญ่ต่างๆ อันเป็นถิ่นฐานใหม่  แต่ทุกวันนี้ ผู้คนมากกว่าครึ่งโลกใช้ ชีวิตในเมือง บางแห่งมีพลเมืองมากถึงหลายสิบล้านคน

ชีวิตในเมือง มักหมายถึงการได้อย่างเสียอย่าง  เราอาจได้ผลประโยชน์ก้อนใหญ่ แต่ต้องแลกกับข้อเสียเปรียบไม่น้อย ลองพิจารณาดูสักสองเรื่อง ได้แก่ การต้องแลกระหว่างเสรีภาพส่วนบุคคลกับผลประโยชน์ของส่วนรวม หรือระหว่างสายสัมพันธ์ทางสังคมกับการเป็นคนแปลกหน้า

เพื่อเข้าใจประเด็นเรื่องเสรีภาพ ลองดูเมืองแรกดอย่างสิงคโปร์ ซึ่งเป็นประเทศขนาดเล็กที่มีประชากรหนาแน่นที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ประชากรเกือบหกล้านคนของสิงคโปร์แออัดกันอยู่ในพื้นที่ 720 ตารางกิโลเมตร คิดเป็น 230 เท่าของความหนาแน่นเฉลี่ยของประชากรสหรัฐฯ  ประเทศเกาะแห่งนี้เป็นทั้งศูนย์กลางทางการเงิน เมืองท่าสำคัญในช่องแคบที่มีการขนส่งทางเรือพลุกพล่านที่สุดแห่งหนึ่งของโลก และอสังหาริมทรัพย์ราคาสูงลิ่วที่ตั้งอยู่ระหว่างสองเพื่อนบ้านยักษ์ใหญ่อย่างอินโดนีเซียและมาเลเซีย  สิงคโปร์เคยเป็นส่วนหนึ่งของมาเลเซียจนถึงปี 1965 เมื่อความตึงเครียดทางเศรษฐกิจและเชื้อชาติกระตุ้นให้เกิดการแยกประเทศ  แต่สิงคโปร์ต้องพึ่งพามาเลเซียทั้งเรื่องน้ำอุปโภคบริโภคและอาหาร  อีกทั้งไม่อาจเสี่ยงที่จะสร้างสร้างความขุ่นเคืองให้ประเทศเพื่อนบ้านด้วย

ดังนั้นรัฐบาลสิงคโปร์จึงต้องคอยสอดส่องพลเมืองของตนเองอย่างใกล้ชิด เพื่อให้แน่ใจว่าจะไม่มีบุคคลใดเป็นอันตรายต่อส่วนรวม  ผู้ตรวจสอบจะตรวจดูน้ำที่ขังตามถังในแต่ละครัวเรือน ด้วยเกรงว่าจะเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงซึ่งเป็นพาหะนำโรค  อุปกรณ์เซ็นเซอร์ที่ใช้เทคโนโลยีชั้นสูงคอยตรวจ (หรือจะตรวจ) สภาพการจราจรในทุกเส้นทาง การเคลื่อนไหวของรถยนต์ทุกคัน เซ็นเซอร์เหล่านั้นยังติดตามการใช้น้ำและไฟฟ้าของทุกครัวเรือน  บันทึกกระทั่งเวลาที่ชักโครกของครัวเรือนถูกใช้งาน  คนอเมริกันอาจมองเรื่องการตรวจสอบดังกล่าวด้วยความพรั่นพรึง ราวกับนิยายเรื่อง 1984 ของจอร์จ ออร์เวลล์ จะกลายเป็นเรื่องจริง  แต่สำหรับพลเมืองของสิงคโปร์แล้ว นี่เป็นการต่อรองที่พวกเขาทำกับรัฐบาลว่า เสรีภาพส่วนบุคคลที่น้อยลงนั้น แลกมาด้วยคุณภาพชีวิต สุขภาวะ และความปลอดภัยชั้นหนึ่งของโลก

ชีวิตในเมือง
สิงคโปร์ : พรรณไม้เมืองร้อนแผ่งามจนแน่นลานหน้าอาคาร และไหลล้นลงมาจากระเบียงอาคารลูกัสฟิล์ม สิงคโปร์ซึ่งเป็นประเทศเกาะที่มีพื้นที่จำกัด ต้องวางผังเมืองอย่างระมัดระวังเพื่อรักษาความเชื่อมโยงกับธรรมชาติและอดีตของประเทศ

การต่อรองของพลเมืองสิงคโปร์กับรัฐบาลก็คือ เสรีภาพส่วนบุคคลที่น้อยลงนั้น แลกมาด้วยคุณภาพชีวิต สุขภาวะ และความปลอดภัยชั้นหนึ่งของโลก

ลองพิจารณาเมืองต่างๆในเยอรมนี ซึ่งมีประชากรหนาแน่นเช่นกัน เป็นลำดับถัดมา  รัฐบาลท้องถิ่นของแต่ละเมืองออกกฎต่างๆ เกี่ยวกับรูปร่างและสีสันของกระเบื้องที่ชาวเยอรมันจะใช้มุงหลังคาบ้าน ขนาดต่างๆ และอายุของต้นไม้ ซึ่งตัดได้หรือห้ามตัดในที่ดินของตัวเอง  สำหรับการขอใบอนุญาตตกปลา ชาวเยอรมันต้องเข้าชั้นเรียนตกปลาและผ่านข้อสอบ 60 ข้อ  ชาวอเมริกันส่วนใหญ่อาจต่อต้านกฎระเบียบดังกล่าว แต่อานิสงส์ที่เกิดกับชุมชนเยอรมัน  มีตั้งแต่สถาปัตยกรรมที่สวยงามของภูมิภาค เมืองอันร่มรื่น การสนับสนุนศิลปะของรัฐบาล และประชากรปลาที่อุดมสมบูรณ์

ส่วนด้านตรงข้ามที่สุดอยู่ที่ลอสแอนเจลิส เมืองของผมเอง ที่ซึ่งสิทธิของเจ้าของทรัพย์สินวนบุคคลได้รับการปกป้องประหนึ่งสิ่งศักดิ์สิทธิ์  ผลก็คือสภาพไร้ข้อกำหนด ซึ่งทำให้ผู้คนมากมาย และชุมชนต้องแบกรับความเดือดร้อน แบบบ้านเกือบทุกชนิดได้รับอนุญาตให้ปลูกได้ ลักษณะสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นไม่เคยมีปรากฏ  ร่มเงาต้นไม้อันตรธานไป อุณหภูมิสูงขึ้นเรื่อยๆ และฝุ่นผงจากการก่อสร้างกับยาฆ่าแมลงที่ฉีดพ่นโดยเจ้าของบ้านก็มาตกลงอยู่ในที่ดินของบรรดาเพื่อนบ้าน  ถ้าจะตกปลาในอ่าวท้องถิ่น ใครๆ ก็ซื้อใบอนุญาตตกปลาได้ ไม่ต้องสอบ และแน่นอนว่าประชากรปลาลดลง

ผลของการต้องแลกต่างกันไปในสิงคโปร์ เยอรมนี และลอสแอนเจลิส เพราะสภาพภูมิศาสตร์และประวัติศาสตร์ที่แตกต่างกัน  ทำให้มีวิธีปฏิบัติแตกต่างกันออกไป  สิงคโปร์มีความหนาแน่นของประชากรสูงสุด กลางๆคือเยอรมนี และต่ำสุดคือในสหรัฐอเมริกา ประเทศจีนซึ่งเป็นบ้านเกิดของบรรพบุรุษประชากรส่วนใหญ่ในสิงคโปร์  ก่อร่างสร้างเมืองมาร่วมห้าพันปี เยอรมนีสองพันปี ส่วนสหรัฐฯ แค่สองสามร้อยปี  จีนทำเกษตรแบบนารวม เยอรมันทำฟาร์มส่วนบุคคลที่รวมกันเป็นกลุ่มใกล้ชิด ส่วนการตั้งรกรากรุ่นบุกเบิกในสหรัฐฯ เป็นแบบครอบครัวที่อยู่แบบพอเพียงและกระจัดกระจาย  มรดกทางวัฒนธรรมของความแตกต่างเหล่านั้นยังอยู่มาจนถึงทุกวันนี้

ชีวิตในเมือง
กรุงลาปาซ, โบลิเวีย : ระบบขนส่งมวลชนเชื่อมเมืองเข้าด้วยกัน ตอนที่ลาปาซส่งรถกระเช้าคันแรกขึ้นไปวิ่งลอยฟ้าอยู่เหนือถนนติดขัด บนภูเขาเมื่อปี 2014 มันเชื่อมต่อย่านเอลอัลโตที่ยากจนเข้ากับย่านใจกลางเมืองที่อยู่ต่ำลงมา 400 เมตร พอถึงปี 2018 ลาปาซมีรถกระเช้าเก้าสายทำหน้าที่ขนส่งผู้คน 250,000 คนต่อวัน

อีกเรื่องที่เกี่ยวกับชีวิตในเมือง คือการต้องแลกระหว่างสายสัมพันธ์ทางสังคมกับการเป็นคนแปลกหน้า   แบบแผนชีวิตดั้งเดิมที่ยังปฏิบัติสืบต่อมาจนปัจจุบันในพื้นที่ชนบทของนิวกินี  ที่ผมมาทำงานตั้งแต่ทศวรรษ 1960  คล้ายคลึงกับวิถีชีวิตในยุคก่อนเมืองใหญ่ในสังคมตะวันตก  ชาวบ้านนิวกินีใช้ชีวิตทั้งชีวิตในถิ่นที่ตนเกิด อยู่ในหมู่เพื่อนๆที่คบมาทั้งชีวิต และความช่วยเหลือทางสังคมเช่นนั้นเสมอมา

ปฏิกิริยาแรกของคนเมืองอเมริกันที่โดดเดี่ยวหลายคนต่อเรื่องนี้คือ มันช่างน่าอบอุ่นมหัศจรรย์อะไรอย่างนี้!  แต่เมื่อชาวบ้านนิวกินีย้ายเข้ามาอยู่ในเมืองใหญ่ พวกเขาก็พบว่า รอบตัวมีแต่คนแปลกหน้า  เพื่อนก็น้อย เพิ่งจะคบ หรืออยู่กระจัดกระจายกันในเมือง ผลที่มักตามมาคือความโดดเดี่ยวไร้สุข ความเกื้อกูลทางสังคมลดลง และอาชญากรรมในเมืองใหญ่ที่เพิ่มสูงขึ้น

กระนั้น คนเมืองชาวอเมริกันอย่างเราๆ ไม่ควรทำให้ชีวิตแบบหมู่บ้านดั้งเดิมกลายเป็นเรื่องโรแมนติก  เพื่อนชาวนิวกินีของผมบอกว่า แบบแผนเหล่านั้นน่าอึดอัดและจำกัดความสามารถของบุคคลในการตระหนักถึงศักยภาพของตนเอง  ในหมู่บ้านหลายแห่งที่นิวกินี ทุกคนรู้เห็น สอดส่องกันอยู่เนืองๆ และถกกันไม่หยุดหย่อนว่าคนอื่นๆทำอะไรอยู่

ปรากฏว่าเพื่อนชาวนิวกินีของผมคนหนึ่งที่อยู่ในสหรัฐฯ มาหลายปีแล้วชอบวิถีชีวิตในเมือง เธอบอกว่าเพราะเธอสามารถนั่งคนเดียวและอ่านหนังสือพิมพ์ได้อย่างสงบสุขไร้ตัวตันในร้านอาหารริมทาง โดยไม่มีสมาชิกในเผ่ามาเซ้าซี้ขอเงินและคร่ำครวญถึงปัญหาของตัวเอง  ชาวนิวกินีได้เรียนรู้ที่จะซาบซึ้งกับนวัตกรรม “กระเป๋าถือสีทึบกับกระเป๋ากางเกง” ของเมืองสมัยใหม่ เพราะนวัตกรรมแบบนี้เองที่ทำให้พวกเขาซ่อนสิ่งของจากเพื่อนบ้าน และได้สิ่งพิเศษเล็กๆน้อยๆ โดยไม่กลายเป็นเป้าของการวิพากษ์วิจารณ์ในหมู่บ้าน  ดังนั้นชาวนิวกินีจึงเข้าใจถึงข้อด้อยต่างๆ พอๆกับผลประโยชน์ที่น่าอุ่นใจของวิถีชีวิตแบบหมู่บ้าน  พวกเขายังเข้าใจถึงประโยชน์ของความไร้ตัวตนแบบเมืองใหญ่ด้วย หาใช่แต่ความเจ็บปวดเท่านั้น

ท้ายที่สุด คงเป็นเรื่องของการประนีประนอม  เมื่อโลกกลายเป็นเมืองใหญ่มากขึ้นทุกที พวกเราจะถูกบังคับให้ใช้วิธีแบบสิงคโปร์หรือไม่  ถ้าการที่รัฐบาลจะบันทึกการกดชักโครกทุกครั้งคือราคาที่คุณต้องจ่ายสำหรับการใช้ชีวิตในสิ่งแวดล้อมที่ปลอดภัย สะอาด สะดวกสบาย  และสวยงาม คุณจะเลือกแบบไหน

โดย แจเร็ด ไดมอนด์

แจเร็ด ไดมอนด์ เป็นศาสตราจารย์ด้านภูมิศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียและนักเขียนรางวัลพูลิตเซอร์ บทความนี้นำมาจากหนังสือเล่มล่าสุดของเขา Upheaval: Turning Points for Nations in Crisis ซึ่งจะวางตลาดเดือนพฤษภาคม

*** อ่านสารคดีฉบับเต็มได้ใน นิตยสารเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับเดือนเมษายน

ชีวิตในเมือง


อ่านเพิ่มเติม

ชมความสว่างไสวยามค่ำคืนของเมืองต่างๆ

Recommend