ชีวิตที่จำจากจรของแรงงานอพยพ

ในโลกที่เชื่อมถึงกันมากกว่าที่เคย ประเทศกำลังพัฒนาหลายประเทศพบว่า สินค้าส่งออกที่ทำกำไรงามที่สุดคือพลเมืองของตน ทว่า แรงงานข้ามชาติ และครอบครัวจำต้องยอมรับผลกระทบที่ไม่อาจหลีกเลี่ยง นั่นคือการสูญเสียทางด้านจิตใจเพื่อแลกกับผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ

เรื่อง ซินเทีย กอร์นีย์
ภาพถ่าย โจนัส เบนดิกเซน

เที่ยงวันในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ คือเวลาสี่โมงเย็นในฟิลิปปินส์ ซึ่งหมายความว่า ลูกคนโตสองคนของเทเรซา ครูซ ควรจะกลับจากโรงเรียนมาถึงอพาร์ตเมนต์ของน้าสาวที่ช่วยดูแลพวกแกแทนพี่สาวซึ่งใช้ชีวิตอยู่ในดูไบ นครที่มีประชากรมากที่สุดของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ อยู่ห่างจากฟิลิปปินส์ 6,900 กิโลเมตร

เทเรซาเป็นพนักงานขายวัย 39 ปีอยู่ที่ร้านขายเสื้อผ้าในห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่งของดูไบ เธอยืนทำงานสัปดาห์ละหกวัน และหยุดทุกวันศุกร์ เที่ยงวันศุกร์จึงเป็นเวลานัดหมายประจำที่เทเรซาจะพบกับลูกสาวและลูกชายวัย 11 และ 8 ขวบของเธอ และเนื่องจากเธอเป็น แรงงานข้ามชาติ ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ใหญ่หลายล้านคนที่ต้องจากบ้านเกิดไปไกลหลายพันกิโลเมตรเพื่อทำงานและส่งเงินกลับไปให้ครอบครัว

เธอเจอกับลูกๆ ด้วยวิธีสมัยใหม่ซึ่งเป็นที่นิยมใน หมู่แรงงานข้ามชาติ นั่นคือการนั่งลงหน้าคอมพิวเตอร์ในห้องนอนที่เธออาศัยอยู่ร่วมกับคนอื่นๆอีกสี่ชีวิต ลงชื่อเข้าใช้เฟซบุ๊ก คลิกปุ่มวิดีโอแช็ต โน้มตัวเข้าไปใกล้ๆ แล้วอดใจรอ เทเรซาอาศัยอยู่ในห้องนอนร่วมกับสามีชื่อลูอิสซึ่งจากฟิลิปปินส์มาหลายปีแล้วเช่นกัน ลูกคนเล็กสองคนของทั้งคู่ คนหนึ่งยังแบเบาะ ส่วนอีกคนอายุ 3 ขวบ และใครก็ตามที่สองสามีภรรยาสามารถชวนให้มาเป็นพี่เลี้ยงได้ระหว่างที่ทั้งคู่ไปทำงาน (เราจำเป็นต้องเปลี่ยนชื่อของทุกคนเพื่อปกป้องครอบครัวนี้จากผลกระทบใดๆ ที่อาจเกิดขึ้น)

ในประเทศแถบอ่าวเปอร์เซีย แรงงานต่างชาติระดับล่างสุดส่วนใหญ่พักอาศัยอยู่รวมกันในหอพักที่ผู้ว่าจ้างจัดหาให้ หรือไม่ก็หาเองตามมีตามเกิด แต่ไม่ว่าจะเป็นกรณีใด ขึ้นชื่อว่าที่พักก็มักเป็นเพียงที่ซุกหัวนอน คนงานชายจากรัฐอุตตรประเทศ ซึ่งเป็นรัฐยากจนที่สุดรัฐหนึ่งของอินเดีย ใช้ที่ว่างของพื้นห้องเช่าในดูไบเป็นที่นอนรวม

ในช่วงหลายสัปดาห์ที่เราทำความรู้จักคุ้นเคยกันในดูไบ ฉันเห็นเทเรซาควบคุมอารมณ์ไม่อยู่เพียงครั้งเดียว เป็นตอนที่เธอเล่าถึงคํ่าวันหนึ่งในฟิลิปปินส์เมื่อสิบกว่าปีก่อน ตอนนั้นเธอยืนอยู่หน้าบ้านของครอบครัวและมองไปเห็นบ้านทุกหลังบนถนนประดับประดาไปด้วยไฟคริสต์มาส ยกเว้นบ้านของเธอ “บ้านเราไม่มีไฟเลยสักดวง” เธอบอกและเริ่มร้องไห้ “ฉันได้ยินคนพูดถึงเรื่อง ‘เมืองนอก’ เขาพูดกันว่าคุณสามารถซื้อทุกสิ่งที่ต้องการได้ถ้าอยู่เมืองนอก” เทเรซาบอก เมืองนอกที่ว่านี้ก็เหมือนกับต้นกำเนิดของสิ่งดีๆ ตั้งแต่กำไลทองคำ ยาสีฟันคอลเกต ไปจนถึงเนื้อกระป๋อง

ในเขตเทศบาลที่เทเรซากับพี่น้องอีกสิบคนเติบโตขึ้นมา บ้านหินสวยๆล้วนสร้างด้วยเงินจากเมืองนอกทั้งนั้น “บ้านเราเป็นไม้และเก่ามาก” เธอเล่า ฤดูมรสุมปีหนึ่ง ผนังบ้านชุ่มนํ้าด้านหนึ่งพังครืนลงมา ”พอถึงช่วงคริสต์มาส ฉันยืนอยู่หน้าบ้านและสัญญากับตัวเองว่า ‘ได้เงินเดือนก้อนแรกเมื่อไร ฉันจะซื้อไฟคริสต์มาส’”

เงินเดือนก้อนแรกที่ว่าได้มาจากงานในท้องถิ่น เทเรซา ผู้เพิ่งจบมัธยมมาหมาดๆซื้อไฟหลากสีได้เส้นหนึ่ง เธอตอกตะปูและนำหลอดไฟขึ้นประดับฝาบ้านเป็นรูปต้นคริสต์มาส เธอบอกว่า “ฉันทำ เองกับมือเลยค่ะ แล้วพอออกไปดูหน้าบ้านก็เห็นว่า นี่ไงไฟคริสต์มาส แล้วฉันก็นึกในใจว่า ฉันทำได้”

นั่นเป็นคืนที่เทเรซาตัดสินใจว่า เธอกล้าแกร่งพอสำหรับเมืองนอกแล้ว

(อ่านต่อหน้า 2)

การอพยพย้ายถิ่นเพื่อโอกาสที่ดีกว่า เป็นเรื่องเก่าแก่พอๆ กับประวัติศาสตร์มนุษยชาติ แต่ในปัจจุบัน ดูเหมือนผู้คนที่ใช้ชีวิตอยู่นอกประเทศบ้านเกิดเมืองนอนของตนจะมีจำนวนมากกว่ายุคใดๆ ที่ผ่านมา ผู้คนและเม็ดเงินมหาศาลถ่ายโอนข้ามแดนทุกวัน ชาติที่ด้อยทรัพยากรกว่าส่งพลเมืองชนชั้นแรงงานผู้ทะเยอทะยานของตนไปยังต่างประเทศ และพึ่งพาเม็ดเงินที่ไหลกลับเข้ามาแทนที่คนเหล่านั้น

“เงินส่งกลับบ้าน” (remittance) คือศัพท์ที่นักเศรษฐศาสตร์ใช้เรียกเงินที่โอนจากบุคคลถึงครอบครัว ไม่ว่าจะผ่านบริการธนาคารอิเล็กทรอนิกส์ หรือนำส่งด้วยมือโดยใช้บริการไปรษณีย์ ปัจจุบันปริมาณเงินส่งกลับบ้านทั่วโลกรวมกันแล้วคือเม็ดเงินมหาศาลที่ไหลเข้าสู่ประเทศกำลังพัฒนาต่างๆ ในบรรดาประเทศที่มีผู้ส่งเงินออกซึ่งได้แก่ชาติที่รํ่ารวยที่สุด สหรัฐอเมริกาจัดอยู่ในอันดับสูงสุด แต่ไม่มีเมืองใดในโลกที่บรรจุแรงงานนานาชาติแห่งศตวรรษที่ยี่สิบเอ็ดอยู่ในพื้นที่โอ่อ่าหรูหราเพียงแห่งเดียวได้มากเท่ากับดูไบอีกแล้ว

แรงงานชั่วคราวชาวกานาที่เพิ่งมาถึงหมาดๆ คนนี้รับหน้าที่ “ทูตประจำสระว่ายนํ้า” โดยจะคอยเสิร์ฟเครื่องดื่มให้กับแขกที่สระว่ายน้าของโรงแรม ริตซ์ – คาร์ลตัน โรงแรมหรูระดับห้าดาวในดูไบ

เพียงก้าวเข้าสู่สนามบินนานาชาติอันใหญ่โตโอฬาร คุณจะเดินผ่าน แรงงานข้ามชาติ ที่ส่งเงินกลับประเทศอย่างเทเรซากับลูอิสนับร้อยๆ คน หญิงสาวที่กำลังเทเอสเปรสโซใส่แก้วในร้านสตาร์บัคส์เป็นคนฟิลิปปินส์หรือไม่ก็ไนจีเรีย พนักงานทำความสะอาดห้องนํ้าเป็นคนเนปาลหรือไม่ก็ซูดาน ส่วนคนขับแท็กซี่มาจากทางเหนือของปากีสถานหรือไม่ก็ศรีลังกา หรืออาจมาจากรัฐเกรละทางตอนใต้ของอินเดีย

แล้วตึกระฟ้านอกหน้าต่างแท็กซี่นั่นล่ะ ทุกตึกล้วนสร้างจากหยาดเหงื่อของแรงงานต่างชาติ ส่วนใหญ่เป็นแรงงานชายจากเอเชียใต้อย่างอินเดีย เนปาล ปากีสถาน และบังกลาเทศ ถ้าเป็นตอนกลางวัน รถโดยสารว่างเปล่าจะจอดอยู่ใต้ตึกระฟ้าที่กำลังก่อสร้าง เพื่อรอส่งคนงานตอนโพล้เพล้กลับไปยังบ้านพักคนงานที่แออัดเหมือนเรือนจำ

สภาพชีวิตแสนลำเค็ญของ แรงงานข้ามชาติ พบเห็นได้ทั่วโลก แต่ทุกสิ่งในดูไบล้วนหวือหวาเกินจริง ประวัติศาสตร์สมัยใหม่ของนครแห่งนี้เพิ่งเปิดฉากขึ้นเมื่อกว่า 50 ปีที่ผ่านมานี้เอง หลังมีการค้นพบนํ้ามันในอาบูดาบีที่อยู่ใกล้กัน ซึ่งตอนนั้นยังเป็นดินแดนปกครองโดยชีคที่เป็นอิสระจากกัน

สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์สถาปนาขึ้นเมื่อปี 1971 โดยมีสถานะเป็นสหพันธรัฐ ประกอบด้วยหกรัฐที่ปกครองโดยชีค (รัฐที่เจ็ดเข้าร่วมในปีถัดมา) และเนื่องจากดูไบมีนํ้ามันค่อนข้างน้อยเมื่อเทียบกับรัฐอื่นๆ ราชวงศ์ผู้ปกครอง เมืองจึงนำส่วนแบ่งที่ได้จากความมั่งคั่งใหม่ของประเทศมาใช้ในการแปลงโฉมเมืองการค้าเล็กๆแห่งนี้ให้กลายเป็นเมืองหลวงแห่งการค้าที่โลกต้องตะลึง

ดูเหมือนผู้นำที่อยู่เบื้องหลังการเนรมิตดูไบยุคใหม่ได้ตัดสินใจแล้วว่า นครอันน่าตื่นตาแห่งนี้จะก่อร่างสร้างขึ้นและขับเคลื่อนด้วยแรงงานต่างชาติ เพราะมีชาวเอมิเรตส์น้อยคนนักที่ยอมทำงานประเภทนี้ ทำไมประเทศเศรษฐีใหม่จะต้องให้ประชากรวัยผู้ใหญ่ของตนเสิร์ฟอาหารหรือเทปูนท่ามกลางความร้อน 48 องศาเซลเซียสด้วยเล่า ในเมื่อพวกเขารํ่ารวยพอที่จะเชื้อเชิญคนนอกให้มาทำงานเหล่านี้แทนได้

ภาพของชีคมุฮัมมัด บิน รอชิด อัล มักตูม เจ้าผู้ครองนครดูไบซึ่งสืบทอดตำแหน่งทางสายเลือด ตั้งเด่นอยู่ด้านหลังเคาน์เตอร์ร้านขายคัปเค้กในห้างสรรพสินค้าใหญ่โตห้างหนึ่งของดูไบ ความที่มีผู้คนหลากหลายเชื้อชาติมาอยู่รวมกัน ทั้งทำงาน กินอาหาร และจับจ่ายใช้สอย ภาษาหลักของเมืองนี้จึงเป็นภาษาอังกฤษ ไม่ใช่ภาษาอาหรับ

เรื่องนี้ก็เช่นกันที่พวกเขาทำอย่างสุดลิ่มทิ่มประตูจากผู้คน 2.1 ล้านคนในดูไบ มีเพียงหนึ่งในสิบคนเท่านั้นที่เป็นชาวเอมิเรตส์ ส่วนที่เหลือเป็นประชากรหยิบยืมจากต่างชาติที่เข้ามาทำงานตามสัญญาจ้างชั่วคราวโดยรู้ดีว่าพวกเขาไม่มีวันได้รับสัญชาติเอมิเรตส์

สังคมที่แรงงานเหล่านี้อาศัยอยู่มีการแบ่งแยกลำดับชั้นอย่างเคร่งครัด ตั้งแต่เชื้อชาติ เพศ ชนชั้น ประเทศบ้านเกิด ไปจนถึงความสามารถในการใช้ภาษาอังกฤษ

ไม่ต่างจากประเทศอื่นๆในแถบอ่าวเปอร์เซียที่ปัจจุบันต้องพึ่งพาแรงงานต่างชาติ ในดูไบ คนทำงานระดับผู้เชี่ยวชาญและผู้จัดการส่วนใหญ่เป็นชาวยุโรป อเมริกัน ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และแคนาดา พูดรวมๆก็คือคนขาวซึ่งส่วนใหญ่ทำ เงินได้มากเกินกว่าจะเรียกว่าเป็นแรงงานส่งเงินกลับประเทศ เงินเดือนของพวกเขาสูงพอที่จะพาครอบครัวมาอยู่ด้วยและอาศัยอยู่ในอพาร์ตเมนต์หรูหราระฟ้าหรือไม่ก็คฤหาสน์ล้อมรอบด้วยสวนสวย

ขณะที่แรงงานส่งเงินกลับประเทศอื่นๆทำอาหารและดูแลลูกๆของคนเหล่านี้อีกทอดหนึ่ง พวกเขายังกวาดถนนหนทาง เป็นพนักงานตามห้างสรรพสินค้า จัดยาตามใบสั่งแพทย์ในร้านขายยา และสร้างตึกระฟ้าท่ามกลางแสงแดดแผดเผา และเป็นผู้ที่ทำให้ดูไบขับเคลื่อนไปข้างหน้า ระหว่างนั้นก็ส่งเงินกลับบ้านที่อยู่แสนไกล

(อ่านต่อหน้า 3)

ในเมืองแห่งแรงงานต่างชาติ เรื่องราวที่ได้ยินบ่อยที่สุด คือ เหตุผลที่เรามาอยู่ที่นี่ หรือผู้คนที่เราจากมา ซึ่งบ่อยครั้งก็คือเรื่องเดียวกัน ลูกสาวฉัน สามีฉัน พ่อแม่ฉัน หรือน้องชายฉันซึ่งยังอยู่ที่หมู่บ้านและฉันกลัวว่าเขากำลังติดยา เพราะว่าฉันอยากให้น้องชายคนที่ว่านี้เรียนถึงมัธยมปลาย… เพราะแม้พวกเราผู้ชายแปดคนจะอยู่รวมกันในห้องขนาดสำหรับสี่คน แต่นายจ้างก็ออกค่าที่พักให้ ทำให้ผมมีเงินส่งกลับบ้านมากขึ้น… เพราะผมประหยัดค่าเช่าบ้านได้โดยแบ่งห้องเช่ากัน หรือกระทั่งแบ่งเตียงนอนกันด้วย โดยคนงานกะกลางวันกับกะกลางคืนจะผลัดกันนอนบนเตียงเดียวกัน… หรือเพราะภรรยาผมท้องและเราเป็นห่วงอนาคตของลูก…

ในกรุงมะนิลา มีหลายย่านที่หน้าต่างร้านรวงเกือบทุกร้านติดป้ายประกาศจูงใจให้ออกเดินทาง ซาอุดีอาระเบียรับพนักงานทำแซนด์วิช 30 ตำแหน่ง ฮ่องกงรับแม่บ้าน 150 ตำแหน่ง ดูไบรับพี่เลี้ยงสนามเด็กเล่น พนักงานบรรจุผัก คนงานปูกระเบื้อง ผู้เชี่ยวชาญเรื่องข้าว ภารโรงหญิง (หน้าตาดี) นักแกะสลักนํ้าแข็ง/ผลไม้ ประกาศรับสมัครงานเหล่านี้ดึงดูดให้ชาวฟิลิปปินส์ละถิ่นฐานไปยังจุดหมายปลายทางทั่วทุกมุมโลก

ตอนที่ลูอิสยังเป็นเด็ก พ่อของเขาทำงานเป็นช่างเชื่อมในดูไบ และไม่ได้ย้ายกลับมาอีกเลยตั้งแต่นั้น ปัจจุบัน ลูอิสผู้พ่อกลับมาเยี่ยมบ้านเฉพาะระหว่างลาพักงานสองปีหนเพื่อมาอยู่ร่วมกับผู้หญิงซึ่งยังเป็นภรรยาเขาอยู่ (กฎหมายฟิลิปปินส์ไม่อนุญาตให้หย่าร้าง) ลูอิสกับพี่น้องอีกสี่คนเติบโตโดยคุ้นเคยกับการไม่มีพ่อ  พวกเขาเกลียดสภาพนั้น “เราจะไปส่งพ่อที่สนามบิน  ทุกคนจะต้องกอดและจูบพ่อ นั่นเป็นส่วนที่แย่ที่สุดครับ ทุกคนร้องไห้” ลูอิสเล่าให้ฉันฟัง

ป้ายโฆษณาในฟิลิปปินส์ให้ภาพฝันอันบรรเจิดเว็บไซต์ของบริษัทบ้านจัดสรรรายหนึ่งที่มีกลุ่มลูกค้าเป็นแรงงานที่กลับบ้าน บอกว่าโครงการของพวกเขาทำ ให้ชาวฟิลิปปินส์ “มีเหตุผลดีที่สุดที่จะกลับบ้าน”

เช่นเดียวกับหลายชาติที่เผชิญปัญหาความยากจนเรื้อรัง ฟิลิปปินส์กลายเป็นประเทศที่ต้องพึ่งพาการจากลาเหล่านี้ พวกเขามีชื่อเรียกเป็นอักษรย่ออย่างเป็นทางการ ซึ่งบ่อยครั้งใช้ควบคู่กับคำสรรเสริญการเสียสละอันกล้าหาญเพื่อประเทศชาติและครอบครัว ชื่อที่ว่านี้คือ โอเอฟดับเบิลยูเอส (OFWs ย่อมาจาก Overseas Filipino Workers) หรือแรงงานชาวฟิลิปปินส์ในต่างประเทศ  ศูนย์โอเอฟดับเบิลยูที่ตั้งขึ้นเป็นพิเศษกินพื้นที่ส่วนหนึ่งของสนามบินนานาชาติในกรุงมะนิลา และมีหน่วยงานรัฐหลายหน่วยคอยดูแลแรงงานเหล่านี้อยู่ทั่วประเทศ

ลูอิสยังจำเงินก้อนแรกที่เขาส่งกลับมาฟิลิปปินส์หลังจากทำงานที่ดูไบได้ไม่กี่สัปดาห์ เป็นเงิน 350 ดอลลาร์สหรัฐ หรือเกือบเท่าค่าแรงเก่าของเขารวมกันสามเดือน เขาส่งเงินให้แม่โดยตรงเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในบ้าน แม้จะเหงาจนแทบสิ้นหวัง แต่เขาก็หาเงินได้เป็นกอบเป็นกำ เขามีพ่อเป็นเพื่อน หลังจากนั้นไม่นาน น้องชายชื่อโทมัส ก็ถอดใจกับฟิลิปปินส์และเดินทางมาดูไบด้วย โดยทิ้งภรรยากับลูกสาวคนหนึ่งไว้ข้างหลัง

นักข่าวและกลุ่มสิทธิมนุษยชนรายงานถึงความทุกข์ยากของแรงงานข้ามชาติอยู่เนืองๆ ตั้งแต่เรื่องเงินค่าจ้างค้างชำระ อันตรายในที่ทำงาน สภาพความเป็นอยู่ที่ยํ่าแย่ ไปจนถึงการยึดหนังสือเดินทางไว้อย่างผิดกฎหมาย

แต่สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ทำให้การรายงานเรื่องเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องง่าย องค์กรพัฒนาเอกชนหลายแห่งถึงกับโดนห้ามไม่ให้เข้ามาทำงานที่นี่ ขณะที่สื่อมวลชนในประเทศจะเขียนข่าวอย่างระมัดระวังเพื่อหลีกเลี่ยงการสร้างความไม่พอใจให้เจ้าหน้าที่ทางการ

ในแต่ละปี มีชาวฟิลิปปินส์ที่ได้งานในต่างประเทศเป็นคนทำงานบ้านหรือแม่บ้านตามโรงแรมเพิ่มขึ้นมากกว่า 100,000 คน ซึ่งส่วนใหญ่จำ ต้องทิ้งครอบครัวไว้เบื้องหลัง แรงงานหลายคนที่รองานอยู่อย่างมีความหวัง เข้ารับการฝึกอบรมศิลปะการจัดเตียงที่หน่วยงานรัฐบาลสนับสนุน (บน) ส่วนคนอื่นๆ ฝึกหัดการดูแลเด็กกับตุ๊กตาพลาสติกเพื่อเตรียมความพร้อมในการเป็นพี่เลี้ยงเด็ก พวกเธอหวังว่าจะได้งาน ที่สิงคโปร์ ฮ่องกง หรือประเทศแถบอ่าวเปอร์เซีย

คนที่ถือหางสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์แก้ต่างว่าประเทศนี้ยังคงเป็นชาติที่เป็นมิตรกับแรงงานต่างชาติมากที่สุดแห่งหนึ่งในอ่าวเปอร์เซีย ที่นี่ผู้หญิงจะแต่งตัวอย่างไรก็ได้ มีสถานที่ประกอบพิธีกรรมทางศาสนาสำหรับคนที่ไม่ได้เป็นมุสลิมมากมายหลายแห่ง และถนนหนทางก็จัดว่าปลอดภัย

“เมืองใหญ่ทั่วโลกก็มีปัญหาแบบนี้ทั้งนั้นแหละครับ” อับดุลคอลีก อับดุลลอฮ์ ศาสตราจารย์ด้านรัฐศาสตร์ที่เกษียณแล้วบอกฉัน “เมืองเหล่านั้นล้วนสร้างขึ้นโดยคนงานต่างชาติและแรงงานราคาถูก ดูไบโอบอุ้มโลกาภิวัตน์ทั้งในแง่ดีที่สุดและแย่ที่สุด ส่วนที่ดีที่สุดคือ เมืองนี้มีขันติธรรมต่อความแตกต่างทางวัฒนธรรมและศาสนา ให้อิสระ และเปิดกว้าง แต่ก็มีความทุกข์ยากอยู่มากเช่นกัน มีคนจนมากมาย อีกทั้งการเอารัดเอาเปรียบ คุณอยากมองในแง่ไหนล่ะครับ แบบมองโลกในแง่ดี หรือมองโลกในแง่ร้าย ผมเองมักจะมองจากทั้งสองด้านครับ”

มาตรการที่สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์นำมาใช้ควบคุมแรงงานต่างชาติให้อยู่ในโอวาทอย่างได้ผลชะงัด คือการขู่ว่าจะส่งกลับประเทศ พูดง่ายๆ ก็คือ ถ้าพวกคุณคนงานต่างชาติไม่สำนึกบุญคุณและสร้างปัญหาที่นี่ เราจะส่งพวกคุณกลับไปใช้ชีวิตจนๆ ที่บ้านเกิดที่พวกคุณจากมาทันที นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศที่นำเข้าแรงงานทุกประเทศในโลก รวมถึงสหรัฐอเมริกาด้วย

นอกจากนี้ ผู้คนทั้งที่ดูไบและฟิลิปปินส์ยังคอยเตือนฉันเสมอว่า แรงงานส่งเงินกลับประเทศเดินทางไปต่างบ้านต่างเมืองเพราะพวกเขาตัดสินใจเลือกเอง

(อ่านต่อหน้า 4)

ลองนึกถึงภาพภาพนี้ที่สนามบินมะนิลา โถงผู้โดยสารขาเข้าคลาคลํ่าไปด้วยผู้คน ญาติสนิทมิตรสหายยืนออกันอยู่ด้านนอกพลางดันกันไปมาเพื่อจะได้เห็นผู้โดยสารคนแรกที่โผล่ออกมา นี่คือภาพเมื่อราว 13 ปีก่อน ตอนที่เทเรซากลับมาเยี่ยมบ้านครั้งแรกหลังจากหายหน้าไปสามปี

พอเธอมองเห็นน้องชายคนหนึ่ง ตามด้วยน้องชายและน้องสาวอีกสองคน แล้วยังมีบรรดาหลานชายด้วย เธอรู้สึกตกใจมากญาติทุกคนที่ไม่เคยสนใจไยดีตอนที่เธอออกจากฟิลิปปินส์ มาตอนนี้กลับนั่งอยู่ในรถที่ขอยืมมาเพื่อรับเธอกลับบ้าน ของที่วางอยู่ด้านบนสุดของรถเข็นสัมภาระที่เธอเข็นไปหา พวกเขาคือกล่องบรรจุโทรทัศน์สีเครื่องใหม่เอี่ยม

“เรามีทีวีขาวดำเล็กๆเครื่องหนึ่งที่บ้านค่ะ” เทเรซาเล่าให้ฉันฟัง “แต่ฉันบอกตัวเองว่า ‘ฉันจะซื้อทีวีขนาด 25 นิ้ว’ ฉันเห็นสีหน้าพวกเขาว่ามีความสุขมากแค่ไหนที่ได้ทีวีเครื่องนั้น”

ห้องที่ตั้งทีวีไว้เรียกว่า ซาลา หรือห้องนั่งเล่นใหญ่ของครอบครัว ได้รับการซ่อมแซมและต่อเติมให้แข็งแรงในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยการก่อสร้างทำครั้งละเล็กละน้อย ทุกสองสามเดือนเงินที่เทเรซาโอนไปให้จะแบ่งไปใช้ซ่อมบ้าน ตอนแรกก็ซ่อมซาลา ต่อมาก็เป็นห้องครัว ตามด้วยห้องนอน “พวกเขาทำทีละเล็กละน้อยจนตอนนี้บ้านเรากลายเป็นบ้านหินไปแล้วค่ะ” เทเรซาบอก

ที่ห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่งในประเทศกาตาร์ พี่เลี้ยงเด็กรายหนึ่งกำลังเหม่อมองผ่านนายจ้าง แม้พี่เลี้ยง “นำเข้า” จำนวนมากจะเป็นมุสลิมเช่นกัน แต่ความแตกต่างทางวัฒนธรรม และการพลัดพรากจากครอบครัวและเพื่อนฝูง ก็อาจทำให้ชีวิตในต่างแดนอ้างว้างโดดเดี่ยวไม่น้อย

มีเพลงยอดนิยมภาษาตากาล็อกเกี่ยวกับแรงงานส่งเงินกลับประเทศอยู่เพลงหนึ่ง ขับร้องโดยโรเอล กอร์เตซ เมื่อ 25 ปีก่อน เป็นเพลงชื่อ “นาปากาซากิต คูยา เอ็ดดี” เทเรซาพุ่งไปที่เครื่องคอมพิวเตอร์ของเธอเพื่อเปิดยูทูบ หลังจากฉันบอกว่าไม่เคยฟังเพลงนี้ “เดี๋ยวฉันแปลให้ฟังนะคะ” เทเรซาบอก

เสียงเพลงดังขึ้น เนื้อเพลงวิ่งอยู่ด้านล่างจอ “ฉันอยู่ที่นี่ ณ ใจกลางประเทศอาหรับ และทำงานหนักยิ่ง” เทเรซาแปลระหว่างเสียงร้องอันไพเราะของกอร์เตซดังขึ้น “ในที่ซึ่งร้อนเหลือ… จนมือไม้หยาบกร้าน ผิวกายคลํ้าเกรียม”

เธอดื่มดํ่าไปกับบทเพลง ทั้งร้องคลอและแปลไปด้วย โดยพยายามบอกเป็นภาษาอังกฤษให้ทันเนื้อร้อง “ทุกครั้งที่หลับตานอน เขานึกภาวนาขอให้วันคืนผ่านไป เพื่อจะได้กลับบ้านเสียที” เธอบอก “เขาดีใจมากเวลาลูกชายเขียน จดหมายมาหา  แต่กลับต้องตกตะลึง นํ้าตารินไหล ‘พ่อจ๋า! กลับบ้านเราเถอะจ้ะ กลับมาเร็วๆ! แม่มีผู้ชายคนใหม่แล้ว!’”

พอถึงท่อนสุดท้าย  ตัวเอกในเพลงก็กลับฟิลิปปินส์ และพบว่า ลูกสองคนของเขาสูบกัญชา ส่วนภรรยามีลูกคนที่สาม แต่ไม่ใช่ลูกของเขา “เจ็บปวดเหลือเกิน พี่เอ็ดดี” เทเรซาร้องคลอเสียงดัง พลางขยับขาเขย่ากล่อมลูกน้อยที่ฟันกำลังขึ้นซึ่งนั่งบนเข่าเธอไปด้วย “เกิดอะไรขึ้นกับชีวิตของฉันกันนี่” หนูน้อยหยุดร้องไห้ เทเรซาส่งลูกให้ลูอิสอุ้มต่อ ลูกวัยสามขวบอีกคนนอนแผ่หลาอยู่บนฟูก

ใบหน้าของเคซุส เบาทิสตา ปรากฏขึ้นในจอจากเมืองชาร์ญาฮ์ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซึ่งเขาทำงานเป็นช่างไฟฟ้า ส่วนลูกชายชื่อ เคซุส คูเลียน (เจ.เจ.) พูดคุยกับเขาจากอพาร์ตเมนต์หนึ่งห้องนอนที่อาศัยอยู่กับแม่และน้องชายใกล้กรุงมะนิลาเกือบตลอดเก้าขวบปีของชีวิต เจ.เจ.รู้จักพ่อในฐานะผู้หาเลี้ยงครอบครัวที่อาศัยอยู่ไกลออกไป 6,900 กิโลเมตร

อีกไม่กี่ปีข้างหน้าเมื่อเด็กทั้งสองโตจนนอนฟูกหลังนั้นไม่ได้แล้ว พวกแกจะถูกส่งตัวกลับไปอยู่ที่ฟิลิปปินส์เหมือนพี่ๆ ครอบครัวครูซมีอุปกรณ์สื่อสารสมัยใหม่ที่คนรุ่นพ่อแม่ไม่มี ทั้งโทรศัพท์มือถือพร้อมระบบส่งข้อความ เฟซบุ๊ก สารพัดโปรแกรมประยุกต์ที่ใช้ติดต่อสื่อสารถึงกันได้ทั่วโลก และคอมพิวเตอร์ที่ตอนนี้เทเรซากับลูอิสยืนอยู่ใกล้ๆ พร้อมลูกน้อยในอ้อมแขนของลูอิส

แต่ในบ่ายวันศุกร์นี้ ขณะที่ลูกสาวกับลูกชายคนโตของครอบครัวครูซโผล่หน้าขึ้นมาในหน้าต่างวิดีโอ ฉันรู้สึกได้ว่า พ่อแม่ของพวกแกคงรู้สึกชื่นใจเป็นพิเศษ เพราะท่ามกลางเสียงหัวเราะ การชี้และโบกไม้โบกมือ อย่างน้อยภายในห้องนอนอันแออัดของพวกเขา ก็ยังมีร่างเล็กๆ ที่พึ่งพาตนเองไม่ได้สองร่างอยู่ใกล้ๆให้พอได้โอบกอดคลายความคิดถึง


อ่านเพิ่มเติม โรงเรียนฝึกนางงาม เส้นทางสู่ความฝันของสาวฟิลิปปินส์

© COPYRIGHT 2024 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.