โรงเรียนฝึกนางงาม เส้นทางสู่ความฝันของสาวฟิลิปปินส์

โรงเรียนฝึกนางงาม เส้นทางสู่ความฝันของสาวฟิลิปปินส์

ผู้เข้าประกวดในรอบ 5 คนสุดท้าย บนเวมีมิสยูนิเวิร์ส 2018
ขอบคุณภาพจาก Liliian Suwanrampa/AFP/Getty

โรงเรียนฝึกนางงาม เส้นทางสู่ความฝันของสาวฟิลิปปินส์

ว่ากันว่า “ชาวฟิลิปปินส์จดจำชื่อนางงามได้ไม่ต่างจากที่ชาวบราซิลจำชื่อนักฟุตบอลของตนได้” คำกล่าวนี้ไม่ได้เกินจริงแต่อย่างใด เพราะที่ประเทศฟิลิปปินส์ เวทีประกวดนางงามเป็นมากกว่าแค่การประกวดเฟ้นหาสาวงามที่สุด หากคือวัฒนธรรม และแม้โลกจะหมุนไปในทิศทางที่สนับสนุนให้ผู้หญิงลุกขึ้นมามีสิทธิเท่าเทียมกับผู้ชาย สนับสนุนการขับเคลื่อนให้มันสมองและความสามารถของสุภาพสตรีได้เข้าไปมีส่วนร่วมมากขึ้นในหลากหลายวงการ แต่ที่ฟิลิปปินส์การประกวดนางงามจะยังคงอยู่ต่อไป ทั้งในเวทีระดับชาติและท้องถิ่น แน่นอนว่าพวกเขาภูมิใจมากเช่นกันที่ใครจะยกให้ประเทศนี้เป็นอันดับ 1 ด้านการประกวดนางงาม

ย้อนกลับไปในปี 2015 เมื่อ Pia Wurtzbach ชนะการประกวดมิสยูนิเวิร์ส การเดินทางกลับประเทศของเธอกลายเป็นวาระแห่งชาติ ผู้คนมากมายเฝ้ารอพบเธอที่สนามบิน ทางการสั่งปิดถนนใจกลางกรุงมะนิลา พา Wurtbach ในชุดเดรสสวยสวมมงกุฎแห่งเกียรติยศที่ใครหลายคนใฝ่ฝันขึ้นยืนบนขบวนรถแห่แหนออกไปรอบเมือง ท่ามกลางเสียงปรบมือ โห่ร้อง แสดงความยินดีแก่มิสยูนิเวิร์สคนที่ 3 ของประเทศ เธอส่งยิ้มหวาน โบกมือให้แก่ผู้คน ชัยชนะของครั้งนี้คือสิ่งที่ชาวฟิลิปปินส์เฝ้ารอมาตลอดหลายสิบปี และน่าทึ่งที่เพียงแค่ 3 ปีต่อมา ตำแหน่งมิสยูนิเวิร์สประจำปี 2018 ตกเป็นของสาวฟิลิปปินส์อีกครั้ง เธอคือ Catriona Gray สาวสวยลูกครึ่งฟิลิปปินส์-ออสเตรเลีย นางงามจักรวาลคนที่ 67

โรงเรียนฝึกนางงาม
Pia Wurtzbach โบกธงฟิลิปปินส์บนขบวนรถที่เคลื่อนไปตามท้องถนนในกรุงมะนิลา หลังคว้ามงกุฎมิสยูนิเวิร์ส 2015 มาได้
ขอบคุณภาพจาก Bullit Marquez/AP

ทำไมชาวฟิลิปปินส์ถึงคลั่งไคล้การประกวดนางงามมากขนาดนั้น? อันที่จริงจุดเริ่มต้นอาจจะมาจากแค่ความนิยมในคนสวยๆ งามๆ และวัฒนธรรมการวิพากษ์วิจารณ์รูปร่างหน้าตา Ric Galvez ผู้ก่อตั้งเว็บไซต์นางงาม Missosology ทั้งยังเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการประกวดระบุว่า ความหลงใหลในความงามที่กลายมาเป็นวัฒนธรรมนี้ย้อนกลับไปได้ถึงยุคสมัยที่ฟิลิปปินส์ยังตกเป็นอาณานิคมของชาวสเปน ช่วงเวลานั้นมีการจัดประกวดหญิงงามประจำหมู่บ้าน เรียกกันว่า “เทศกาล Santacruzan” เกิดขึ้นในทุกเดือนพฤษภาคม

ด้านศาสตราจารย์ Jose Wendell Capili วิทยาลัยศิลปะและวรรณคดี จากมหาวิทยาลัย Philippines-Diliman ชี้ว่าอิทธิพลจากการจัดงานโปรโมทสินค้าท้องถิ่นในแต่ละภูมิภาคของฟิลิปปินส์ ช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งใช้สาวสวยที่เรียกกันว่า “Carnival Queens” เป็นผู้โปรโมทก็มีผลให้ความชื่นชอบนางงามฝังรากในฟิลิปปินส์ แต่ที่ทั้งคู่เห็นตรงกันคือหลัง Gloria Diaz ชนะการประกวดมิสยูนิเวิร์ส ปี 1969 และกลายมาเป็นมิสยูนิเวิร์สคนแรกของประเทศ วัฒนธรรมการประกวดนางงามก็เติบโตขึ้นอย่างเห็นได้ชัด และอีก 4 ปีต่อมา เมื่อ Margarita Moran กลายมาเป็นมิสยูนิเวิร์สคนที่ 2 ของฟิลิปปินส์ ดูเหมือนว่าความคลั่งไคล้ในนางงามของประเทศนี้จะยิ่งเพิ่มขึ้นทบทวี

โรงเรียนฝึกนางงาม
Gloria Diaz มิสยูนิเวิร์ส ปี 1969 เธอเป็นชาวฟิลิปปินส์คนแรกที่ชนะการประกวด
ขอบคุณภาพจาก Androgynous16/Pinterest

 

ฝึกนางงามกันจริงจังไม่แพ้ฝึกทหาร

การได้เป็นนางงามคือตั๋วใบสำคัญที่จะนำพาชีวิตที่ดีกว่ามายังบรรดาหญิงสาวยากจน หรือหญิงวัยทำงานชนชั้นกลาง ทว่าหนทางสู่ชัยชนะช่างยากลำบาก และมีเพียงผู้เดียวที่จะได้สวมมงกุฎ ดังนั้นทั่วประเทศฟิลิปปินส์จึงมีโรงเรียนฝึกนางงามเปิดสอนเต็มไปหมดทั้งทางการและไม่ทางการ เพื่อช่วยให้ฝันเป็นจริง

ณ ย่านอันคับคั่งของเกซอนซิตี ทางตะวันออกเฉียงเหนือของกรุงมะนิลา ในขณะที่ผู้คนกำลังใช้ชีวิตประจำวัน มีสาวงามมากมายที่กำลังฝึกการเดินและการทรงตัวบนรองเท้าส้นสูง สถานที่ฝึกมีตั้งแต่บนดาดฟ้า ในสนามบาสเกตบอล ไปจนถึงภายในสตูดิโอติดเครื่องปรับอากาศ ส่วนใครที่ไม่ได้ฝึกก็กำลังนั่งดู ไม่ก็แต่งหน้าทาปากอยู่บนเก้าอี้พลาสติกที่ตั้งอยู่รอบๆ บทเรียนที่พวกเธอต้องทำให้ได้คือการส่ายสะโพกไปมาซ้ายขวาขณะเดินบนรองเท้าส้นสูง ท่าเดินแบบนี้ไม่มีใครเดินกันในชีวิตจริง แต่บนเวทีประกวดต่างออกไป พวกเธอฝึกอยู่เช่นนี้ราว 9 ชั่วโมงต่อวันจนเวลาเที่ยงคืนจึงจะได้กลับบ้านไปพักผ่อน และต้องฝึกกันอยู่เป็นเดือนๆ

นอกเหนือจากการเดินแบบนางงาม บรรดาหญิงสาวที่ต้องการเข้าประกวดต้องฝึกยิ้มหน้ากระจก บทเรียนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และครอบคลุมตั้งแต่การยืน นั่ง ไปจนถึงการวางตัวแสดงท่าทางอย่างไรให้ดูเซ็กซี่ หรือดูอ่อนหวาน และสำคัญที่สุดคือการพูด นางงามที่ผ่านมาตรฐานต้องตอบคำถามอย่างชาญฉลาด ฉับไว ฉะฉาน แม้คำถามนั้นจะเป็นเรื่องนามธรรมอย่าง “สีแดงดีกว่าสีฟ้าอย่างไร?” ก็ตาม

โรงเรียนฝึกนางงาม
หญิงสาวเหล่านี้ต้องฝึกการเดินบนรองเท้าส้นสูงนานถึง 10 ชั่วโมงต่อวัน จากภาพคือการฝึกเดินแบบ “Duck Walk” ที่ช่วยเสริมสร้างความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ และทักษะการทรงตัว
ขอบคุณภาพจาก RAUL DANCEL/THE STRAITS TIMES/ASIA NEWS NETWORK

ทีมข่าวของ Inquirer.net พูดคุยกับ Rodgil Flores ผู้เชี่ยวชาญด้านการปั้นนางงามวัย 49 ปี และเป็นเจ้าของโรงเรียนฝึกแห่งหนึ่งในกรุงมะนิลา ศิษย์เก่าจากโรงเรียนของเขาผู้ชนะการประกวดในเวทีนานาชาติก็เช่น Lara Quigaman มิสอินเตอร์เนชั่นแนล ปี 2005 หรือล่าสุดก็ Angelia Ong มิสเอิร์ธประจำปี 2015 Flores เล่าว่าทุกๆ ปีมีสาวสวยราว 100 คนที่ต้องการฝึกฝน แต่มีเพียง 30 คนเท่านั้นที่จะได้ขึ้นเวทีประกวด และสุดท้ายแล้วเมื่อสิ้นปีจะเหลือเพียงคนเดียวที่ชนะการประกวดในเวทีท้องถิ่นหรือระดับนานาชาติ โดยเส้นทางการประกวดจะเริ่มกันตั้งแต่อายุ 18 ปี และสิ้นสุดที่วัย 26 ปี ทว่าไม่ง่ายสำหรับผู้มีรายได้น้อย แม้ Flores จะไม่เก็บค่าเล่าเรียนเช่นโรงเรียนอื่น และมีสวัสดิการเป็นเมมเบอร์ฟิตเนสให้ แต่พวกเธอต้องหาเงินมาจ่ายค่าอาหาร ค่าที่พัก ค่าเดินทาง ตลอดจนค่าเสื้อผ้าและเครื่องสำอางเอง บางคนที่โชคดีหน่อยมีครอบครัวช่วยสนับสนุน

Janicel Lubina คือแม่บ้านที่ไม่ต้องการเป็นแม่บ้านตลอดชีพ เธอคาดหวังว่าถ้าชนะการประกวดชีวิตจะเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น Flores หวนคิดถึงวันแรกที่เจอ เขาเล่าว่าจำ Lubina ได้ดีเพราะ “ตอนเธอเดินมาหาผม เธอไม่มีแม้แต่กระเป๋า เสื้อผ้าถูกยัดในถุงพลาสติก” หลายปีหลังเดินสายประกวด เธอเข้ารอบสุดท้ายบนเวทีประกวด Miss Philippines International และเบนเข็มเข้าสู่วงการนางแบบ แต่ยังคงไม่ทิ้งการศึกษา ทั่วฟิลิปปินส์มีเรื่องราวทำนองนี้มากมายจากบรรดาหญิงสาวผู้เดินตามฝัน แต่ใช่ว่าทุกคนจะประสบความสำเร็จ

โรงเรียนฝึกนางงาม
บรรยากาศระหว่างการฝึกฝนนางงาม
ขอบคุณภาพจาก Rappler Photo

บนชั้นสองของสตูดิโอสอนเต้น ในเมือง Mandaluyong คือโรงเรียนฝึกนางงามอีกแห่งที่ Natashya Gutierrez จากสำนักข่าว Rappler เดินทางเข้าไปเยี่ยมชม เธอพูดคุยกับ Laura Lehmann ที่กำลังถูกสั่งให้ฝึกเดินใหม่หลายต่อหลายครั้งโดย Jonas Gaffud ผู้ฝึกสอน น่าประหลาดใจที่สาวงามผู้นี้คือนักศึกษาทุนด้านประสาทวิทยาศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยลอสแอนเจลิส และเป็นครอบครัวเธอเองที่แนะนำให้ลองมาประกวดนางงาม Lehmann ได้ตำแหน่งรองอันดับ 1 แม้จะไม่ชนะรางวัลใหญ่บนเวที Binibining Pilipinas แต่นั่นก็มากพอที่จะมอบโอกาสใหม่ๆ มาให้ เธอกลายมาเป็นนักข่าวของมหาวิทยาลัย และพิธีกรรายการท่องเที่ยวในเวลาต่อมา จากนักศึกษาด้านวิทยาศาสตร์สู่คนวงการบันเทิง แน่นอนว่าผู้ที่มีแนวคิดแบบสตรีนิยมล้วนไม่ชอบใจนัก และมองว่าเธอกลายเป็นหนึ่งในเหยื่อของการประกวดที่มองแต่รูปลักษณ์ภายนอก

“ถ้าคุณไม่รู้อะไรมากเกี่ยวกับการประกวด ใช่ ใครๆ ก็คิดว่านี่มันเวทีที่เอาผู้หญิงมาเป็นแค่วัตถุทางเพศ” Lehmann กล่าว “แต่พอฉันได้มาสัมผัส การประกวดนางงามเต็มไปด้วยเทคนิคมากมาย ที่คุณต้องใช้ใจจริงๆ จึงจะชนะได้”

เธอเล่าถึงขั้นตอนการฝึกฝนทั้งกายและใจ ไม่ว่าจะเป็นการเดินอย่างไรไม่ให้สะดุดล้ม หรือหากเกิดล้มขึ้นจะแก้สถานการณ์อย่างไร ไปจนถึงการตอบคำถามท่ามกลางความกดดันต่อหน้าผู้ชมนับพัน ทั้งหมดนี้คือข้อพิสูจน์ว่าการเป็นนางงาม ไม่ใช่ว่าใครก็เป็นได้

ด้าน Jonas Gaffud ผู้ฝึกสอน และมีประสบการณ์ในการเทรนด์นางงามมากกว่าสิบปีระบุว่านอกเหนือจากความงามของรูปร่างหน้าตาที่ต้องผ่านมาตรฐานแล้ว สิ่งที่ต้องมีคือออร่า ออร่าที่เปล่งประกายออกมาจากข้างใน ตัวเขาเชื่อว่านี่คือปัจจัยสำคัญที่เอื้อให้คนๆ นั้นคว้ามงกุฎมาครอง

โรงเรียนฝึกนางงาม
Laura Lehmann นักศึกษาด้านประสาทวิทยาศาสตร์ที่ผันตัวมาเดินสายประกวด
ขอบคุณภาพจาก Rappler Photo

อันที่จริงไม่ใช่แค่วัฒนธรรมที่เอื้อให้เวทีประกวดมากมายทั่วฟิลิปปินส์ยังคงเดินหน้าประกวดต่อไป “ทุนนิยม” คือหนึ่งในปัจจัยสำคัญ เพราะบนเวทีประกวดเต็มไปด้วยโฆษณามากมายจากบรรดาสปอนเซอร์ผู้สนับสนุน อีกทั้งราคาค่าตั๋วเข้าชมก็จำหน่ายกันเป็นล่ำสัน โดยเฉพาะในช่วงสิบปีที่ผ่านมา เรียกได้ว่าในการประกวดแต่ละครั้งมีเม็ดเงินหลายล้านเปโซหมุนสะพัด รวมไปถึงบรรดาแบรนด์เสื้อผ้า และเครื่องสำอางที่ใช้เวทีประกวดเป็นช่องทางโปรโมทสินค้าของตน รายได้ของพวกเขามากพอที่จะนำเงินจากการขายตั๋วไปบริจาคช่วยมูลนิธิเด็กกำพร้า หรือองค์กรอื่นๆ ได้ และนั่นยิ่งช่วยสร้างภาพลักษณ์ของเวทีการประกวดให้ดูดียิ่งขึ้น

แต่เวทีประกวดจะยังคงเดินหน้าต่อไปได้ไกลแค่ไหน? ท่ามกลางกระแสมากมายที่สนับสนุนให้ผู้หญิงลุกขึ้นมามีบทบาทมากขึ้น ทั้งอย่ายอมตกเป็นเครื่องมือทางเพศของผู้ชาย ดังกระแส #Metoo อันโด่งดัง และแม้แต่ในฟิลิปปินส์เอง ถึงผู้คนส่วนใหญ่จะชื่นชอบนางงาม แต่ก็มีจำนวนไม่น้อยที่ต่อต้าน และมองว่านี่คือเวทีแสดงออกซึ่งโลกที่มีเพศชายเป็นใหญ่

โรงเรียนฝึกนางงาม
ผู้เข้าฝึกฝนต้องเดินวนไปมาเช่นนี้หลายรอบ จนกว่าจะได้มาตรฐานพอที่จะขึ้นเวทีประกวดได้
ขอบคุณภาพจาก Rappler Photo

เมื่อปี 2014 สภาเมือง Chivilcoy ในกรุงบัวโนสไอเรส ของอาร์เจนตินาออกมาแบนการประกวดนางงาม ด้วยเหตุผลว่าเป็นการกระทำที่รุนแรงแก่ผู้หญิง เนื่องจากความงามไม่ควรถูกกำหนดเป็นมาตรฐาน อีกทั้งมาตรฐานดังกล่าวยังมีผู้หญิงเพียงจำนวนน้อยนิดที่สามารถเข้าถึงได้ ก่อให้เกิดความเจ็บป่วยทางกายและทางใจตามมา ที่สหรัฐอเมริกาเองก็มีผู้ออกมาโต้แย้งกฎเกณฑ์การเข้าประกวดที่ค่อนข้างโบราณ เนื่องจากการจะเป็นนางงามนั้นต้องไม่เคยแต่งงานหรือมีบุตรมาก่อน ส่วนในเปรู เมื่อปีที่ผ่านมา พวกเขายกระดับเวทีการประกวดในประเทศ ด้วยการประกาศตัวเลขจำนวนของผู้หญิงที่เผชิญความรุนแรงแทนที่จะเป็นสัดส่วนร่างกายผู้เข้าประกวด

ดอกเตอร์ Mina Roces ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัย New South Wales ผู้ทำวิจัยเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของผู้หญิงในฟิลิปปินส์ชี้ว่า เวทีประกวดนางงามกำลังทำร้ายผู้หญิงมากกว่าการสนับสนุนให้ผู้หญิงมีความมั่นใจในตัวเอง เนื่องจากการประกวดเป็นการสนับสนุนมาตรฐานความงามที่ไม่สามารถเข้าถึงได้จริง ทั้งยังทำลายความหลากหลายของความงาม ที่ผ่านมาในฟิลิปปินส์ เวทีประกวดปลูกฝังค่านิยมว่าหญิงงามควรมีคุณสมบัติเป็นลูกครึ่ง มีผิวขาว และมีส่วนสูงที่น่าประทับใจ

โรงเรียนฝึกนางงาม
ในหลายประเทศมีเวทีประกวดทางเลือกสำหรับความงามที่ไม่ใช่พิมพ์นิยม เช่น เวที Miss Landmine ในแองโกลา จัดขึ้นเพื่อผู้หญิงที่ต้องกลายเป็นผู้พิการจากกับระเบิด
ขอบคุณภาพจาก http://traavik.info/images/gallery/MissLangola30.jpg

นอกจากนั้น Roces ยังเสริมว่า เวทีประกวดมากมายกำลังครอบงำความคิดของชาวฟิลิปปินส์ ในชาติตะวันตก หญิงงามคือหญิงงาม เรื่องนี้ไม่เกี่ยวกับความรู้ความสามารถ หรืออำนาจที่พวกเธอมี แต่ในฟิลิปปินส์ ผู้คนรวมสิ่งนี้เข้าด้วยกันกลายเป็นว่าถ้ามีหน้าตาสวยการจะทำอะไรก็ช่างง่ายดายไปเสียหมด และบ่อยครั้งที่เห็นนางงามก้าวเข้าสู่วงการอื่นมากมาย แม้แต่ลงเล่นการเมือง

“ฉันคิดว่าเป็นเรื่องสำคัญที่เราต้องสร้างจิตสำนึกใหม่ให้แก่ผู้หญิง ให้พวกเธอทราบว่าไม่ใช่แค่รูปร่างหน้าตาเท่านั้นที่นิยามความเป็นเรา นี่คือสิ่งสำคัญที่เฟมินิสต์ควรทำ” Roces กล่าว

ดูเหมือนว่าจะเป็นเรื่องท้าทายสำหรับเวทีประกวดมากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อแนวคิดใหม่ๆ กำลังเติบโต ในทางกลับกันสิ่งเหล่านี้ยกระดับเวทีการประกวดนางงามให้ยากมากขึ้นไปอีกเช่นกัน เพราะทุกวันนี้กว่าใครสักคนจะก้าวถึงฝั่งฝันคว้ามงกุฎมาครองได้ ลำพังแค่ความสวยนั้นไม่เพียงพออีกต่อไป

 

อ่านเพิ่มเติม

ความลับเบื้องหลังความงาม ทำไมใครๆ ก็ชอบคนสวย ?

 

แหล่งข้อมูล

In the Philippines, beauty boot camps transform girls into pageant princesses

The Philippines’ beauty pageant obsession: Who benefits?

Are beauty pageants sexist or a celebration of femininity?

Manila’s factory of beauty queen dreams

Why beauty pageants are popular in the Philippines

 

Recommend