หนู คือตัวตนในเงามืดของมนุษย์ เราอาศัยอยู่บนพื้นผิวของเมือง ขณะที่พวกมันมักอาศัยอยู่ข้างล่าง พวกเราส่วนมากทำงานตอนกลางวัน ส่วนหนูทำงานตอนกลางคืนเป็นส่วนใหญ่ แต่เกือบทุกที่ที่มนุษย์อาศัยอยู่จะมีหนูอยู่ด้วยเสมอ ในซีแอตเทิลที่ฉันเติบโตขึ้นมา หนูปีนท่อน้ำทิ้งเก่งมาก โดยปีนอยู่ข้างใน ที่ไหนสักแห่งที่บ้านเกิดฉันตอนนี้ หนูบ้านหรือหนูนอร์เวย์ตัวยาวๆเปียกๆกำลังยื่นจมูกฟุดฟิดขึ้นมาเหนือผิวน้ำในโถสุขภัณฑ์ ซีแอตเทิลยังมีหนูอีกชนิดหนึ่งด้วย นั่นคือหนูท้องขาว ซึ่งทำรังบนต้นไม้และไต่ไปมาตามสายโทรศัพท์ มันอาจเป็นพาหะของกาฬโรคในยุคกลาง
จากซีแอตเทิลถึงบัวโนสไอเรส ประชากรหนูในเมืองกำลังทวีจำนวนขึ้น โดยอยู่ระหว่างร้อยละ 15 ถึง 20 ในทศวรรษที่ผ่านมา ตามข้อมูลของผู้เชี่ยวชาญคนหนึ่ง ในบรรดาสัตว์ที่ออกลูกออกหลานมากมายในโลกของเรา เช่น นกพิราบ หนู นกกระจอก และแมงมุม เรามีความรู้สึกรุนแรงที่สุดกับหนู หนูมีชื่อเสียงเรื่องความสกปรกและเจ้าเล่ห์ เรามองว่าหนูเป็นสัญลักษณ์แห่งความเสื่อมโทรมของเมือง และเป็นพาหะนำโรคติดต่อร้ายแรง หนูทำให้เราหวาดกลัวและรังเกียจยิ่งกว่าสัตว์ในเมืองชนิดอื่นๆ พูดง่ายๆคือ มนุษย์เกลียดหนู
สัตว์ตัวน้อยนี้สมควรถูกเกลียดจริงหรือ สิ่งที่เราชิงชังที่สุดเกี่ยวกับหนู ทั้งความสกปรก ความมีลูกดก ความทรหดอดทนและไหวพริบในการอยู่รอดของพวกมัน ล้วนเป็นคุณสมบัติที่ใช้กับมนุษย์ได้ด้วย ความสกปรกของหนูคือความสกปรกของเรา ในสถานที่ส่วนใหญ่ หนูเติบโตจากขยะและอาหารที่เราทิ้งขว้างอย่างมักง่าย
“มันคือมนุษย์นี่ละครับ” บ็อบบี คอร์ริแกน นักวิทยาสัตว์ฟันแทะในนิวยอร์ก บอก “เราไม่เก็บกวาดบ้านของตัวเองให้สะอาด”
คอร์ริแกนคือผู้เชี่ยวชาญระดับแถวหน้าเรื่องหนูในเมือง เขาศึกษาสัตว์ชนิดนี้ตั้งแต่ปี 1981 และทำงานเป็นที่ปรึกษาให้เมืองและบริษัทต่างๆทั่วโลกที่ประสบปัญหาหนู เขาคือผู้ให้ข้อมูลแก่ฉันเรื่องอัตราที่สูงจนน่าตกใจของหนูซึ่ง “ปรากฏตัวในห้องน้ำ” ในซีแอตเทิล
เราพบกันที่สวนสาธารณะแห่งหนึ่งในย่านโลเวอร์แมนแฮตตันของนิวยอร์ก หนึ่งในเมืองหลวงหนูของโลก คอร์ริแกนสวมหมวกนิรภัย เสื้อกั๊กสีส้มสะท้อนแสง และถือกระดานรองเขียน เครื่องแบบเจ้าหน้าที่เหล่านี้เอื้อให้เราเดินท่อมๆตามแปลงดอกไม้และอุโมงค์รถไฟใต้ดินได้โดยไม่มีใครสนใจ
ชาวนิวยอร์กชอบเกทับกันเรื่องการเห็นหนูตัวเท่าสุนัข แต่หนูตัวใหญ่ที่สุดที่คอร์ริแกนเคยได้ยินมา คือหนูหนัก 816 กรัมจากอิรัก เขาตั้งเงินรางวัล 500 ดอลลาร์สหรัฐให้ใครก็ตามที่นำหนูหนักหนึ่งกิโลกรัมมาให้ แต่เขาไม่คิดว่าตัวเองจะมีวันได้จ่ายเงินนั้น
สัตว์ตัวน้อยนี้สมควรถูกเกลียดจริงหรือ สิ่งที่เราชิงชังที่สุดเกี่ยวกับหนู ทั้งความสกปรก ความมีลูกดก ความทรหดอดทนและไหวพริบในการอยู่รอดของพวกมัน ล้วนเป็นคุณสมบัติที่ใช้กับมนุษย์ได้ด้วย
หนูที่มีอยู่ดาษดื่นในนิวยอร์กซิตีคือหนูบ้าน (Rattus norvegicus) ซึ่งรู้จักกันในชื่อหนูสีน้ำตาล มันเป็นสัตว์ขุดรูอยู่ในดินที่มีส่วนกะโหลกกว้างที่สุด จึงลอดช่องโพรงใดๆที่กว้างกว่านั้นได้ (รวมทั้งท่อที่ต่อกับโถสุขภัณฑ์ด้วย)
หนูสีน้ำตาลอยู่เป็นครอบครัว โดยตกลูกครั้งละสองถึง 14 ตัว มันดูแลรังค่อนข้างสะอาด และหากินในอาณาเขตเล็กๆ เมื่อลูกหนูถึงวัยเริ่มเจริญพันธุ์ ซึ่งก็คืออายุแค่สิบสัปดาห์เท่านั้น มันจะย้ายออกไปหาคู่
ฉันกับคอร์ริแกนออกชมชีวิตหนู ในแปลงดอกไม้ข้างศาล เขาก้าวเดินอย่างระมัดระวัง ค่อยๆตรวจตราพื้นดินใต้รองเท้าบู๊ต เมื่อรับรู้ได้ถึงช่องโพรงกลวงๆข้างใต้ เขาจะกระโดดทิ้งน้ำหนักสองสามครั้ง ไม่กี่อึดใจ หนูตัวหนึ่งก็โผล่ออกจากรูใกล้ๆและวิ่งหนีไปด้วยความตื่นตระหนก ฉันรู้สึกแย่นิดหน่อย แต่ชาวนิวยอร์กส่วนใหญ่อยากให้หนูในเมืองของตนตายไปให้หมด
เพียงหนึ่งสัปดาห์ก่อนออกชมหนูกับคอร์ริแกน นายกเทศมนตรีบิล เด บลาซิโอ ประกาศ “แผนกำจัดหนูขั้นรุนแรงแผนใหม่” เพื่อสู้กับหนูในเขตการเคหะของเมือง อันเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามมูลค่า 32 ล้านดอลลาร์สหรัฐที่จะลดจำนวนหนูให้ได้ถึงร้อยละ 70 ในย่านที่หนูระบาดมากที่สุด
หลายเมืองพยายามควบคุมประชากรหนูด้วยยาเบื่อ แต่น่าเสียดายที่ยาเบื่อออกฤทธิ์เร็วใช้ไม่ค่อยได้ผล หนูที่รู้สึกพะอืดพะอมหลังกินยาเบื่อเข้าไปคำสองคำจะหยุดกิน ดังนั้นธุรกิจกำจัดหนูจึงเลือกใช้ยาต้านการแข็งตัวของเลือดหรือยาละลายลิ่มเลือดซึ่งไม่ส่งผลต่อหนูหลังจากนั้นหลายชั่วโมงหรือกระทั่งหลายวัน หนูจะค่อยๆตายจากการตกเลือดภายใน คอร์ริแกนเกลียดการฆ่าหนูวิธีนี้ แต่ก็กลัวการระบาดของโรค เขาจึงยังให้คำปรึกษาแก่ลูกค้าต่อไป
เราไปที่สวนสาธารณะไทรเบกา ตามที่คอร์ริแกนแนะนำ พวกหนูที่นั่นหัดล่าและฆ่านกพิราบ “พวกมันกระโดดตะปบหลังนกเหมือนเสือดาวในเซเรงเกติเลยครับ” เขาว่า แต่คืนนี้สวนเงียบสงบ คนงานของเมืองอาจเพิ่งโยนน้ำแข็งแห้ง [คาร์บอนไดออกไซด์ในรูปของแข็ง] ใส่รูหนูเมื่อไม่นานมานี้ คอร์ริแกนบอกว่า วิธีนี้ฆ่าหนูอย่างมีเมตตากว่า เพราะคาร์บอนไดออกไซด์ที่ระเหยออกมาจากน้ำแข็งแห้งจะแทรกซึมเข้าไปตามซอกโพรง ทำให้หนูหลับและไม่ตื่นขึ้นมาอีก
คนที่ฆ่าหนูเป็นอาชีพน้อยคนจะคาดหวังความสำเร็จในระดับเกินกว่าชั่วคราวหรือเฉพาะพื้นที่ คอร์ริแกนบอกว่า เมื่อหนูในย่านหนึ่งถูกวางยาเบื่อ หนูที่เหลือรอดก็จะแพร่พันธุ์จนมีหนูเต็มรังอีกครั้งอย่างง่ายดาย และหนูรุ่นต่อๆไปก็ยังออกมาเจอกองขยะกองใหญ่วางอยู่บนทางเท้าของนิวยอร์กทุกคืน คอร์ริแกนบอกว่า “หนูคือผู้ชนะในสงครามนี้ครับ” จนกว่าเมืองต่างๆจะเปลี่ยนวิธีจัดการขยะชนิดถอนรากถอนโคนเสียก่อน
เรื่อง เอ็มมา แมร์ริส
ภาพถ่าย ชาร์ลี แฮมิลตัน เจมส์
อ่านสารคดีฉบับเต็มได้ใน นิตยสาร เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับเดือนเมษายน 2562
อ่านเพิ่มเติม