ที่ตีนเขาฟูจิมีป่าเขียวขจีทึบแน่นอยู่แห่งหนึ่ง ถ้ามองจากด้านบน ต้นไม้โยกไหวตามสายลมทำให้นึกถึงท้องทะเล ป่า อะโอะคิกะฮะระ จึงมีอีกชื่อหนึ่งว่ “จุไค” หรือ “ทะเลแห่งหมู่ไม้” พื้นป่าด้านล่างขรุขระและมีรูพรุนเหมือนถ้ำเล็กๆ รากไม้ที่มีมอสปกคลุมเติบโตบนลาวาแห้งเก่าแก่ซึ่งครั้งหนึ่งเคยไหลผ่านบริเวณนั้น ดินอุดมด้วยธาตุเหล็กจนรบกวนสัญญาณจีพีเอสและโทรศัพท์มือถือ
ที่นี่เป็นสถานที่ที่หลงทางได้ง่ายที่สุด ผู้มาเยือนได้รับคำแนะนำให้เดินอยู่บนเส้นทางเดินที่กำหนดให้อย่างเคร่งครัด
ถึงอย่างนั้น ก็ยังมีบางคนที่เดินเข้าป่าด้วยเจตนาจะไม่กลับออกมาอีก ป้ายตรงทางเข้าป่าเตือนใจให้ผู้มาเยือนว่าชีวิตเป็นของมีค่าและให้คิดถึงครอบครัว ตรงด้านล่างของป้ายมีหมายเลขโทรศัพท์สายด่วนสำหรับผู้อยากฆ่าตัวตาย
ญี่ปุ่นมีอัตราการฆ่าตัวตายสูงที่สุดในประเทศพัฒนาแล้ว และป่าอะโอะคิกะฮะระได้ชื่อว่าเป็น ป่าฆ่าตัวตาย ยอดนิยม
ที่มาที่ไปของเรื่องนี้มาจากนิทานพื้นบ้านกับวัฒนธรรมป๊อบของญี่ปุ่น ตามตำนานท้องถิ่น ป่าอะโอะคิกะฮะระเป็นสถานที่ที่ผู้คนเคยทำ “อุบะสุเตะ” หรือการนำผู้เฒ่าผู้แก่หรือญาติที่เจ็บป่วยมายังที่ห่างไกลและทิ้งให้เสียชีวิต ในนิยายเรื่อง Tower of Waves ของ เซโจ มิตสุโมะโตะ เล่าถึงนางเอกผู้งดงามและผิดหวังจากความรักซึ่งมาฆ่าตัวตายที่นี่ ส่วนใน The Complete Manual of Suicide ของวะตะรุ ทสุรุมิ ก็เอ่ยชื่อป่าว่าเป็นสถานที่ที่เหมาะที่สุดที่จะตาย “ป่าฆ่าตัวตาย” ซึ่งเป็นอีกชื่อหนึ่งของป่าแห่งนี้ ซึ่งเผยถึงด้านมืดของจินตนาการเหล่านั้น
ทอมัส ลาซาร์ เคยได้ยินเรื่องเกี่ยวกับป่าแห่งนี้ตั้งแต่ตอนเรียนมัธยมขณะเป็นแฟนหนังสยองขวัญ ต่อมาเขาทำโปรเจ็คต์ชุดภาพถ่าย “ทะเลแห่งหมู่ไม้” ที่ทำให้เขาคิดถึงป่าอะโอะคิกะฮะระ ซึ่งเขาพบว่าเป็นความโรแมนติกของโศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้นในสถานที่แสนงาม สำหรับลาซาร์ ป่าแห่งนี้กลายเป็นทางหนึ่งที่ใช้สำรวจผลพวงของโรคซึมเศร้าในประเทศอย่างญี่ปุ่น ซึ่งมีวัฒนธรรมที่ไม่พูดถึงความเจ็บป่วยทางจิตใจอย่างเปิดเผยและตราบาปเกี่ยวกับการฆ่าตัวตายอย่างวัฒนธรรมตะวันตก
ลาซาร์ได้ไกด์นำทางเข้าไปถึงพื้นที่ที่การฆ่าตัวตายเกิดขึ้นบ่อย โดยการตามสายเทปพลาสติกที่ผูกติดกับต้นไม้โดยหน่วยกู้ชีพ ซึ่งทำไว้เป็นเครื่องหมายว่าได้พบ “บางอย่าง” ตรงนั้น หรือบางครั้งสายเทปก็ใช้เป็นเส้นทางเอาชีวิตรอดสำหรับคนที่ยังไม่ตัดสินใจแน่นอนให้กลับออกมาได้
หลังจากมีรายงานการฆ่าตัวตายที่เพิ่มสูงขึ้นใน พ.ศ. 2547 เป็น 108 ราย เจ้าหน้าที่ก็หยุดเผยแพร่ข่าวนี้ออกไปเพราะเกรงว่าจะเป็นการสดุดีการกระทำดังกล่าว อีก 5 ปีต่อมา จังหวัดยะมะนะชิ ซึ่งป่าแห่งนี้ตั้งอยู่ จึงเริ่มให้มีการลาดตระเวนและเข้าช่วยเหลือผู้ที่ไม่ได้ดูเหมือนนักท่องเที่ยวทั่วไปที่กำลังเดินป่า วิธีนี้ช่วยลดการฆ่าตัวตายบางกรณี แต่การพบศพก็ยังดำเนินต่อไปเรื่อยๆ ไกด์นำทางของลาซาร์บอกว่าหนหนึ่งเขาเคยพบร่างผู้เสียชีวิตถึง 36 ศพภายใน 37 วัน
ลาซาร์ไม่ได้พบศพเลย ถึงแม้ว่าเขากับไกด์จะพบหลักฐานบ่งชี้อย่างแคมป์ร้าง เสื้อแจ๊กเก็ตที่ถูกทิ้งไว้ บ่วงเชือกที่ห้อยไว้กับต้นไม้ และขวดเปล่าของน้ำยาฟอกสี
อย่างไรก็ตาม ลาซาร์ไม่ได้ตั้งใจจะเก็บภาพความตายโดยตรง แต่ต้องการจับความรู้สึกโดยรวมของสถานที่ เขาเลือกภาพที่ถ่ายด้วยฟิล์มขาวดำอินฟราเรด ซึ่งทำให้พืชพรรณเปล่งแสงสีขาว และสีขาวเป็นสัญลักษณ์ของความตายและการไว้ทุกข์ในญี่ปุ่น “ผมต้องการแสดงให้เห็นถึงบรรยากาศของป่าและการเดินครั้งสุดท้ายของผู้ล่วงลับ” ลาซาร์กล่าว
อ่านเพิ่มเติม