ความมุ่งหมายของเมืองคือการนำผู้คนมาอยู่รวมกัน แต่ในศตวรรษที่ 20 เราทำให้เมืองต่างๆ กระจัดกระจาย วันหนึ่งเมื่อปีที่แล้ว ปีเตอร์ แคลทอร์ป ขับรถพาผมผ่านไปดูบางส่วนของซากปรัก เขาอยากให้ผมเห็นว่า เขามีข้อเสนออะไรบ้างเพื่อทำให้ เมืองในอนาคต กลับมาเป็นหนึ่งเดียวกันอีกครั้ง แคลทอร์ปเป็นสถาปนิก ย้อนหลังไปในช่วงปลายทศวรรษ 1970 เขามีส่วนช่วยออกแบบอาคารประหยัดพลังงานหลังแรกๆ ให้ทางการแคลิฟอร์เนีย แต่ไม่นานหลังจากนั้น เขาก็ขยายจุดมุ่งหมายของตนให้กว้างขึ้น “ถ้าคุณอยากก่อให้เกิดผลลัพธ์เชิงสิ่งแวดล้อมและสังคม ประเด็นสำคัญไม่ใช่การออกแบบสร้างอาคารหลังเดียวขึ้นมา” เขาอธิบาย “แต่เป็นการออกแบบสร้างชุมชนขึ้นมาต่างหาก” ปัจจุบัน แคลทอร์ปบริหารดูแลแคลทอร์ปแอสโซซีเอตส์ (Calthorpe Associates) บริษัทออกแบบเมืองที่ไม่ใหญ่โต แต่มีอิทธิพลในระดับโลก
“ปัญหาของสิ่งแวดล้อมเมืองที่เน้นการใช้รถ” เขาว่า “คือหากไม่มีทางเลือก หากหนทางเดียวที่จะไปไหนมาไหนได้คือต้องใช้รถ เชื่อไหมละว่า คนก็จะใช้รถกันมากเกินไป มากไปสำหรับสภาพภูมิอากาศ เวลาและกระเป๋าสตางค์ของผู้คน มากไปสำหรับชุมชนในแง่ของการจราจรติดขัด ไม่ว่าจะวัดจากอะไรก็มีแต่แง่ลบ การไม่ได้เดินนำมาซึ่งความอ้วน คุณภาพอากาศส่งเสริมให้เป็นโรคทางเดินหายใจ”
ในช่วงทศวรรษ 1990 แคลทอร์ปช่วยโน้มน้าวเมืองพอร์ตแลนด์ รัฐออริกอน ให้สร้างระบบรถไฟฟ้ารางเบาแทนการตัดทางหลวงเพิ่มขึ้น พร้อมกับสร้างที่อยู่อาศัย สำนักงาน และร้านค้าให้กระจุกอยู่รวมกันรอบสถานี แนวคิด “การพัฒนาพื้นที่รอบสถานีขนส่งมวลชน” (Transit-Oriented Development) ส่งให้เขาโด่งดังในฐานะผู้มีวิสัยทัศน์ด้านการวางผังเมือง ในกรุงปักกิ่ง ผมพบกับนักวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมคนหนึ่งที่พานักวางผังเมืองชาวจีนจำนวนมากไปเยี่ยมชมตัวอย่างในพอร์ตแลนด์ แคลทอร์ปบอกว่านี่ไม่ใช่แนวคิดใหม่ แต่เป็นการเรียกร้องให้ “หันกลับมาสร้างย่านชานเมืองคู่ระบบรถรางแบบดั้งเดิมขึ้นมาใหม่ แบบที่คุณจะมีย่านตัวเมืองเก๋ๆ กับย่านชานเมืองที่เอื้อต่อการเดินซึ่งเชื่อมต่อกันด้วยระบบขนส่งมวลชน”
“ปัญหาของสิ่งแวดล้อมเมืองที่เน้นการใช้รถ คือหากไม่มีทางเลือก หากหนทางเดียวที่จะไปไหนมาไหนได้คือต้องใช้รถ เชื่อไหมละว่า คนก็จะใช้รถกันมากเกินไป…”
ในโลกอุดมคติของแคลทอร์ป ในจีน หรืออเมริกา หรือที่อื่นๆ เมืองจะหยุดขยายตัวอย่างหิวกระหายจนสวาปามพื้นที่ธรรมชาติโดยรอบ แต่จะกลายเป็นเมืองซึ่งพบหนทางที่ดีกว่าในการปล่อยให้ธรรมชาติแทรกอยู่ใจกลางเมืองแบบสัมผัสกับผู้คนได้ เมืองในอนาคต จะมีลักษณะเป็นหย่อมเล็กๆ หนาแน่น แยกเป็นบล็อกหรือช่วงตึกที่เดินถึงกันได้และตั้งอยู่รอบโครงข่ายขนส่งมวลชนความเร็วสูง เมืองในอนาคตเหล่านี้จะนำสิ่งต่างๆ มาอยู่รวมกันอีกครั้ง ไม่แบ่งแยกงานจากบ้านและการจับจ่ายซื้อของ เช่นที่เกิดขึ้นกับเมืองซึ่งเติบโตหรือกระจายตัวออกไปในแนวราบ (sprawl) อย่างในปัจจุบัน บังคับให้ผู้คนต้องใช้รถเพื่อเดินทางไปทำสามสิ่งนั้น เมืองในอนาคตจะไม่แบ่งแยกคนรวยจากคนจน คนแก่จากคนหนุ่มสาว คนขาวจากคนดำ เมื่อใช้รถน้อยลง แผ้วถางพื้นที่ธรรมชาติน้อยลง ผู้อยู่อาศัยในเมืองย่อมปลดปล่อยความร้อนสู่โลกรอบตัวและบรรยากาศน้อยลง เท่ากับช่วยชะลอการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศซึ่งในศตวรรษนี้กำลังคุกคามจนส่งผลให้เมืองบางแห่งไม่น่าอยู่อาศัยอีกต่อไป
“เมืองในอนาคตจะมีลักษณะเป็นหย่อมเล็กๆ หนาแน่น แยกเป็นบล็อกหรือช่วงตึกที่เดินถึงกันได้และตั้งอยู่รอบโครงข่ายขนส่งมวลชนความเร็วสูง เมืองในอนาคตเหล่านี้จะนำสิ่งต่างๆ มาอยู่รวมกันอีกครั้ง ไม่แบ่งแยกงานจากบ้านและการจับจ่ายซื้อของ… ไม่แบ่งแยกคนรวยจากคนจน คนแก่จากคนหนุ่มสาว คนขาวจากคนดำ”
เมืองที่เติบโตแบบกระจายตัวเคยเกิดขึ้นในสหรัฐฯ ด้วยเหตุผลที่ดูเป็นความคิดที่ดีในเวลานั้น ทหารนับล้านกลับบ้านมาจากสงครามโลกครั้งที่สอง เมืองต่างๆ ที่มีประชากรล้นอยู่ในสภาพทรุดโทรม ครอบครัวใหม่ของพวกเขาต้องการที่อยู่อาศัย การขับรถออกไปยังชานเมืองให้ความรู้สึกเป็นอิสระและทันสมัย ในประเทศจีน เมืองกระจายตัวก็เกิดขึ้นด้วยเหตุผลที่ดีเช่นกัน ในจัตุรัสประชาชนที่เซี่ยงไฮ้ ผมไปเที่ยวชมงานจัดแสดงประวัติศาสตร์ของเมืองกับพันไห่เซี่ยว นักวิจัยด้านการขนส่งจากมหาวิทยาลัยถงจี้ ตอนเขามาถึงเมืองนี้ในฐานะนักศึกษาเมื่อปี 1979 การจราจรก็มีสภาพย่ำแย่แล้ว เขาบอกพร้อมกับอธิบายว่า ไม่ใช่เพราะมีรถยนต์มากเกินไป แต่เพราะโครงข่ายอันหนาแน่นของถนนหนทางแคบๆ ในตอนนั้น พันต้องใช้เวลาถึงสองชั่วโมงเพื่อเดินทางจากมหาวิทยาลัยไปยังย่านใจกลางเมือง ทั้งๆ ที่อยู่ห่างออกไปแค่ราวหกกิโลเมตร
ในช่วง 40 ปีนับจากเติ้งเสี่ยวผิงประกาศใช้แผน “ปฏิรูปและเปิดประเทศ” ประชากรจีนพุ่งสูงขึ้นเป็น 1,400 ล้านคน แต่ขณะเดียวกันก็สามารถฉุดประชากรหลายร้อยล้านคนให้พ้นจากความยากจน รัฐบาลจีนทำสำเร็จด้วยการดึงผู้คนจากชนบทเข้ามาเป็นลูกจ้างโรงงานในเมืองเป็นหลัก สวนทางกับการปฏิวัติวัฒนธรรมของเหมาเจ๋อตงที่ผลักไสผู้คนหลายล้านคนให้ออกจากเมืองไปอยู่ชนบท
“หลังการปฏิวัติวัฒนธรรม ภารกิจแรกคือทำให้ทุกคนมีบ้านและมีอาหารเพียงพอครับ” เหอตงเฉวียน กล่าว เขาเป็นนักวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมในกรุงปักกิ่ง และเป็นผู้อำนวยการประจำประเทศจีนของเอเนอร์จีอินโนเวชั่น (Energy Innovation) องค์กรผู้เชี่ยวชาญระดับมันสมอง (think tank) ที่มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ในสหรัฐฯ
ขณะที่แรงผลักดันในการก้าวสู่ความเป็นเมือง (urbanization) เริ่มส่งผลอย่างชัดเจน ทางการจีนต้องเร่งสร้างอาคารที่พักอาศัยจำนวนมาก และวิธีที่เร็วที่สุดคือรีบผลิตอาคารสูงจากแม่พิมพ์เดียวกันเรียงเป็นตับบนพื้นที่เป็นบล็อกขนาดใหญ่ ความพิถีพิถันด้านการออกแบบชุมชนเมืองถูกมองข้าม กระนั้นก็ยังปฏิบัติตามกฎฮวงจุ้ยอย่างเคร่งครัด โดยทั่วไปหมู่อาคารจะจัดเรียงเป็นแถวหันหน้าสู่ทิศใต้อย่างเป็นระเบียบ
เช่นเดียวกับย่านชานเมืองในอเมริกา ที่ช่วยให้ความฝันของชาวอเมริกันนับล้านกลายเป็นจริง ผลที่ตามมาน่าพอใจในระดับหนึ่ง ปัจจุบันครอบครัวชาวจีนโดยเฉลี่ยมีพื้นที่ราว 33 ตารางเมตรต่อคน หรือสี่เท่าของค่าเฉลี่ยเมื่อสองทศวรรษก่อน แต่พื้นที่ระหว่างอาคารยังไม่น่าดึงดูดใจ ผู้คนจึงไม่ใช้ประโยชน์ เหอกล่าว
“ทุกคนรู้สึกเหงาและกังวลครับ” เขาบอกและเสริมว่า ความกลัวอาชญากรรมทำให้ผู้พักอาศัยเรียกร้องให้สร้างรั้ว บล็อกขนาดใหญ่จึงกลายเป็นชุมชนมีรั้วล้อม เมืองดูเป็นมิตรน้อยลงและไม่น่าเดินไปไหนมาไหน
ขณะเดียวกัน ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา จำนวนรถยนต์ส่วนตัวในจีนเปลี่ยนจากเรื่องขี้ปะติ๋วกลายเป็นเกือบ 190 ล้านคัน ปัจจุบันกรุงปักกิ่งมีถนนวงแหวนร่วมศูนย์กลางอยู่เจ็ดสายที่วิ่งเป็นเกลียวแผ่ออกไปจากนครต้องห้าม ร้อยละ 70 ของเงินทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมในเมืองต่างๆของจีนที่กำลังพัฒนาอย่างรวดเร็ว ถูกจัดสรรไว้เพื่อรองรับการใช้รถยนต์ ตามคำบอกเล่าของหวังจื้อเกา ผู้อำนวยการโครงการพัฒนาเมืองคาร์บอนต่ำ ในสังกัดมูลนิธิพลังงานจีน (Energy Foundation China) องค์กรไม่แสวงกำไรที่ได้ทุนสนับสนุนจากนานาชาติ
ระบบขนส่งสาธารณะของจีนอยู่ในระดับดีเยี่ยม แต่ยังไม่ดีพอที่จะจูงใจผู้คนให้เลิกใช้รถยนต์ส่วนตัว ปัญหาส่วนหนึ่งทั้งที่ปักกิ่งและเมืองอื่นๆ คือการเติบโตในลักษณะกระจายตัว อันเป็นมรดกตกทอดมาจากยุคเร่งก่อสร้างเมือง “ถ้าเราไม่ทำให้เมืองเติบโตในรูปทรงที่เหมาะสม ปัญหาจะยังไปเป็นร้อยปีเลยครับ” หวังกล่าวและเสริมว่า “ถ้าเรายังสร้างสภาพแวดล้อมที่มุ่งรองรับการใช้รถยนต์ให้กับประชาชน ผู้คนก็จะขับรถ และเราก็ยังจะเป็นเมืองคาร์บอนสูง แม้จะใช้รถยนต์ไฟฟ้ากันแล้วก็ตาม” ทั้งนี้เพราะจีนยังคงใช้ไฟฟ้าส่วนใหญ่จากถ่านหินนั่นเอง
เรื่อง โรเบิร์ต คุนซิก
ภาพถ่าย แอนดรูว์ มัวร์
อ่านสารคดีฉบับเต็มได้จาก นิตยสารเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับเดือนเมษายน 2562
อ่านเพิ่มเติม