ชีวิตที่จำต้องเลือกของ แรงงาน ชาวพม่าในไทย

จาก แรงงาน ต่างด้าวถึงผู้หนีภัยสงคราม แรงงานพม่า หลายแสนคนต้องพลัดพรากจากแผ่นดินเกิด เมื่อความหวังเริ่มทอประกาย พวกเขาต่างรอคอยวันหวนคืนสู่มาตุภูมิ

เรื่อง ลำไผ่ อินตะเทพ

ภาพถ่าย สิทธิชัย จิตตะทัต

ตีพิมพ์ในนิตยสาร เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย เดือนมิถุนายน 2556

ภาพปก สภาพภายในอาคารที่พักของ แรงงานพม่า ในตลาดกุ้ง จังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งเป็นชุมชนแรงงานพม่าที่ใหญ่และหนาแน่นที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศไทย แรงงานเหล่านี้อาศัยรวมกันในสภาพแออัดทั้งที่ไม่รู้จักกันมาก่อน เพื่อประหยัดค่าใช้จ่ายและเหลือเงินไว้สำหรับจ่ายค่านายหน้าและค่าเอกสารอีกสารพัด

นอกจากความหลากหลายทางชาติพันธุ์ที่ว่ากันว่ามีถึง 135 กลุ่มชาติพันธุ์ ตั้งแต่พม่า มอญ กะเหรี่ยง ยะไข่ ไทใหญ่ ไปจนถึงพม่ามุสลิมหรือโรฮิงยา สาธารณรัฐแห่งสหภาพพม่ายังเป็นแดนดินที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติมากที่สุดดินแดนหนึ่งในภูมิภาค ทว่าประชาชนในประเทศกลับได้รับอานิสงส์จากความเพียบพร้อมดังกล่าวเพียงกระผีกริ้น ผนวกกับบทเรียนราคาแพงจากยุครัฐบาลทหารอันยาวนาน ประวัติศาสตร์แห่งความขัดแย้ง เช่น การฉีกสนธิสัญญาปางโหลง และเหตุการณ์นองเลือด 8888 (จากการเรียกร้องประชาธิปไตยของขบวนการนักศึกษาซึ่งเริ่มขึ้นในวันที่ 8 สิงหาคม ค.ศ. 1988) ตลอดจนการปฏิเสธบทบาทพรรคการเมืองฝ่ายค้าน สงครามยืดเยื้อกับกองกำลังชนกลุ่มน้อย ความยากจนอัตคัดแทบทุกพื้นที่ และการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างกว้างขวาง ยังคงเป็นปัจจัยผลักดันชาวพม่ากว่าล้านคนให้เดินทางมาสู่ประเทศเพื่อนบ้านอย่างไทยไม่ขาดสาย ณ สยามเมืองยิ้มที่มักพรากรอยยิ้มไปจากผู้มาเยือน

ลูกเรือประมงชาวพม่ากำลังนั่งพักรอเวลาผลัดเปลี่ยนกะ แม้อุตสาหกรรมประมงในประเทศไทยยังขาดแคลนแรงงานจำ นวนมาก แต่คนไทยส่วนใหญ่เลือกที่จะปฏิเสธงานนี้ เพราะเป็นงานหนัก เสี่ยงอันตราย และได้ค่าตอบแทนตํ่าอาชีพแรงงานประมงจึงถูกยึดครองโดยแรงงานข้ามชาติเป็นส่วนใหญ่

แรงงานพม่า

“ทำไมมาไทยน่ะหรือ อยู่พม่ามีหวังคงอดตาย” นายวิน (นามสมมุติ) อายุ 30 ปี ตอบคำถามเราเป็นภาษาพม่าผ่านล่าม เขานั่งเหยียดขา มือทั้งสองยันพื้นห้อง ขณะพักผ่อนด้วยการดูทีวีในห้องพักขนาดเท่ารูหนูกับเพื่อนร่วมห้องอีกสองคนผู้ปิดปากเงียบ ผิวกายของเขาหยาบกร้าน สีหน้าและแววตาดูอิดโรย สันนิษฐานว่าคงเหนื่อยล้าจากการแบกลังอาหารทะเลตั้งแต่เช้ามืด

วินทำงานในเมืองไทยมานานกว่า 3 ปีแล้ว ได้ค่าแรงวันละ 200 บาท มีแต่ขาด ไม่มีเกิน ” จริงๆก็ไม่อยากมาหรอก อยู่เมืองไทยไม่สนุก ห้องก็แคบ” เขาเล่า พลางชี้ไปรอบๆ ห้องสี่เหลี่ยมผืนผ้าที่ซอยแบ่งด้วยไม้กระดานบางๆ เป็นห้องเช่าชั้นละ 3-4 ห้อง ค่าเช่าห้องตกพันต้นๆ ต่อเดือนสำหรับกล่องสี่เหลี่ยมไร้หน้าต่าง แถมมีกลิ่นอับชื้น ความมืด และแมลงสาบวิ่งไปมาให้ดูเล่น

วินเล่าต่อว่า นอกจากค่าห้องและค่าอาหารแล้ว เขายังต้องจ่ายค่าปรับให้ตำรวจด้วยข้อหาสารพัด เหลือเงินเท่าไรก็จะโอนหรือฝากเพื่อนไปให้ครอบครัวที่พม่า ถ้าขยันหน่อยก็ทำงานล่วงเวลา ได้เพิ่มอีก 30 บาท แต่พวกเขามักเหนื่อยล้าเกินกว่าจะทำได้

“พม่าดีขึ้นก็จริง แต่ยังไม่แน่หรอก ต้องรอดูก่อน ถ้าดีจริงก็จะกลับ” เขาบอก “ทุกคนรอเวลาที่จะได้กลับบ้านทั้งนั้นแหละ” เพื่อนร่วมห้องคนหนึ่งพูดโพล่งขึ้นมา ก่อนหันหน้ากลับไปยังจอทีวี ขณะที่อีกคนยังคงนั่งนิ่งไม่แสดงความเห็น ไม่แม้แต่ชายตามองมายังเรา

พื้นที่พักพิงชั่วคราวผู้หลบหนีภัยจากการสู้รบบ้านแม่หละ ตั้งอยู่บริเวณพรมแดนไทย-พม่า อำเภอท่าสองยาง จังหวัดตาก พื้นที่พักพิงแห่งนี้ถือว่าใหญ่ที่สุดจากทั้งหมดเก้าแห่งในประเทศไทย โดยผู้พักพิงส่วนใหญ่เป็นชาวกะเหรี่ยง หลายคนใช้ชีวิตในฐานะผู้พักพิงมาไม่น้อยกว่า 20 ปี ในจำนวนนี้ยังมีเด็กๆ ที่เกิดและเติบโตขึ้นในพื้นที่พักพิงด้วย

ประเทศไทยเป็นทั้งจุดหมายปลายทางและทางผ่านสำหรับแรงงานพม่า บางคนเลือกมาอยู่ด้วยเหตุผลที่ว่าทั้งสองประเทศเป็นเพื่อนบ้านกันมาเนิ่นนาน เดินทางไปมาหาสู่กันง่าย (ไทยกับพม่ามีอาณาเขตติดต่อกันตั้งแต่เหนือจรดใต้เป็นระยะทางรวมกันมากกว่า 2,000 กิโลเมตร) บางคนบอกว่าหางานง่าย บางคนว่าทุกสิ่งรอบตัว ที่นี่ล้วนดูคุ้นเคย

พวกเขากำลังพูดถึงชุมชนตลาดกุ้งมหาชัย จังหวัดสมุทรสาคร อาคารพาณิชย์สภาพทรุดโทรมสูง 4-5 ชั้นเรียงรายกันกว่า 30 คูหาตลอดความยาวสามช่วงตึก ชั้นล่างบางห้องเปิดเป็นร้านโชห่วย ขายสินค้าที่หาซื้อไม่ได้ตามร้านสะดวกซื้อทั่วไป ตั้งแต่ท่อนไม้ทานาคา แป้งทานาคา ดินสอพอง โสร่ง เครื่องแกง แม้กระทั่งพัดลม

ที่นี่คลาคลํ่าไปด้วยผู้คนจากทั่วทุกสารทิศของพม่า ตั้งแต่ลูกเล็กเด็กแดงไปจนถึงคนเฒ่าคนแก่ ทั้งที่รู้จักกันและไม่เคยเห็นหน้าค่าตากันมาก่อน เข้าประเทศมาอย่างถูกกฎหมายบ้าง ลักลอบเข้ามาบ้าง หลายคนอยู่ที่นี่มาเกือบสิบปี หลายคนเพิ่งมาได้ไม่กี่วัน

พวกเขาจำต้องพํานักอยู่ใต้ชายคาเดียวกันอย่างแออัด ร้อยรัดด้วยสายสัมพันธ์เดียวที่มีร่วมกัน คือ สัญชาติพม่า

ด้วยทางเลือกที่มีจำกัด พวกเขาจำต้องพำนักอยู่ใต้ชายคาเดียวกันอย่างแออัด ร้อยรัดด้วยสายสัมพันธ์เดียวที่มีร่วมกัน คือสัญชาติพม่า จนที่นี่ได้รับการขนานนามว่าเป็น “เมียนมาร์ทาวน์” หรือย่างกุ้งประจำ ประเทศไทย พอตกเย็น ผู้ใหญ่นั่งจับกลุ่มคุยกัน เด็กหนุ่มเตะตะกร้อ เด็กเล็กวิ่งไล่จับ แม้ว่าเราจะมากับมิน ทูน ล่ามชาวพม่าที่ยิ้มทักทายและแวะสนทนากับผู้คนที่นี่อย่างสนิทชิดเชื้อ สายตาเกือบทุกคู่กลับจับจ้องคนแปลกหน้าอย่างเราทุกย่างก้าว ราวกับว่าพวกเขามีความลับที่ต้องปกปิดซ่อนเร้นไม่อยากให้ล่วงรู้  “พวกเขาแค่ระวังตัวน่ะคุณ เขารู้ว่าใครเป็นคนแปลกหน้า” มิน ทูน กล่าว

(อ่านต่อหน้า 2)

สมุทรสาครเป็นจังหวัดที่มีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจสูงมาก มีค่าเฉลี่ยผลผลิตมวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) สูงเป็นอันดับสองของประเทศ ข้อมูลจากสำนักงานคลังจังหวัดสมุทรสาคร ปี พ.ศ. 2553 ระบุว่า ภาคธุรกิจประมงมีมูลค่าทางเศรษฐกิจ 7,369 ล้านบาท ขณะที่ภาคเกษตรกรรม ตลอดจนโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และขนาดย่อม มีมูลค่ากว่า 290,320 ล้านบาท และมีความต้องการแรงงานสูง โดยเฉพาะแรงงานระดับล่างที่คนไทยส่วนใหญ่ปฏิเสธที่จะทำ  เนื่องจากเห็นว่างานหนักและค่าแรงถูก ดังนั้น ทางเลือกและทางออกของผู้ประกอบการคือการจ้างแรงงานข้ามชาติ

ปัจจุบัน คาดกันว่ามีแรงงานข้ามชาติ 3 สัญชาติ ได้แก่ พม่า ลาว และกัมพูชา อาศัยอยู่ในสมุทรสาครกว่า 200,000 คน แยกเป็นแรงงานหลบหนีเข้าเมือง แรงงานที่ได้รับการพิสูจน์สัญชาติ และแรงงานที่นำเข้าตามบันทึกข้อตกลงว่าด้วยการจ้างงานระหว่างรัฐ ในจำนวนนี้ ประมาณร้อยละ 92 เป็นแรงงานพม่า โดยคาดว่าน่าจะมีคนพม่าเกือบ 2 ล้านคนเข้ามาขายแรงงานในประเทศไทย

ธุรกิจค้าพม่า

เมื่อความโลภไม่เคยไว้หน้าใคร มนุษย์จึงทำได้กระทั่งค้าขายกันเอง เพื่อให้บรรลุเป้าหมายของความโลภนั้น ในบรรดาแรงงานพม่าเกือบสองล้านคน จำนวนไม่น้อยสามารถยกระดับสถานะของชีวิตให้พ้นจากความยากจนชนิดสุดจะทน แต่หลายคนกลับถูกลดทอนสถานะเป็นเพียง “สินค้า” ที่มีไว้ซื้อขาย

แรงงานพม่าจำ นวนไม่น้อยยึดอาชีพกรรมกรก่อสร้าง บางคนถึงกับผันตัวเป็นผู้รับเหมางานเสียเอง จนหลายครั้งเกิดข้อพิพาทกับผู้รับเหมาก่อสร้างชาวไทย (ล่าง) ขณะที่แรงงานพม่าทั้งชายหญิงในจังหวัดระนอง (บน) แต่งกายด้วยเสื้อผ้าสีสันสดใสมาร่วมงานบุญถวายปัจจัยเพื่อสร้างมหาฑุติยเจดีย์ศรีบรรพต ที่วัดวารีบรรพต อำเภอเมืองฯ จังหวัดระนอง

“ไม่มีใครมีสิทธิพิเศษในการผลาญสังหารชีวิตผู้อื่น เราต้องดูแลแรงงานข้ามชาติเหมือนกับแรงงานไทย อย่ามองว่าเราเป็นประชากรชั้นหนึ่งและพวกเขาเป็นชั้นสอง แต่ควรมองว่าพวกเขาเป็นแขกและเราเป็นเจ้าบ้านที่ต้องดูแลแขก” สมพงษ์ สระแก้ว หรือ “ตุ่น” ผู้อำนวยการมูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน หรือเรียกย่อๆว่าแอลพีเอ็น (Labour Right Promotion Network Foundation: LPN) บอกเราถึงสาเหตุที่ต้องดูแลแรงงานข้ามชาติ ไม่ว่าพวกเขาจะมาจากพม่า ลาว กัมพูชา หรือที่อื่นใด ทุกคนล้วนมีสิทธิความเป็นมนุษย์ที่พึงได้รับการเคารพอย่างเท่าเทียมกัน

ตุ่นเล่าว่า ไม่ว่าแรงงานข้ามชาติในประเทศไทยจะมีจำนวนแท้จริงเท่าไร ต้องยอมรับว่าในจำนวนนี้ร้อยละ 90-95 ถือสัญชาติพม่า คนเหล่านี้ประสบปัญหาปากท้องและเหตุการณ์บ้านเมืองที่ไม่ค่อยปกติ ส่วนใหญ่เป็นแรงงานหลบหนีเข้าเมืองตามแนวพรมแดนทางธรรมชาติและกระจายไปทุกๆที่ที่มีรายได้ เช่น โรงงานอุตสาหกรรมและธุรกิจประมง

“จะบอกว่ามาแย่งงานคนไทยทำนั้นไม่เป็นความจริง ความจริงคือคนไทยไม่ทำ เอง เพราะค่านิยมรักสบาย” ตุ่นอธิบายว่า แรงงานชาวไทยมักปฏิเสธที่จะทำงานประเภท 3D คือ สกปรก (dirty) ยากลำบาก (difficult) และเสี่ยงอันตราย (dangerous) ผนวกกับทรรศนะของนายจ้างที่ว่าลงทุนน้อยสุด กำไรสูงสุด แรงงานข้ามชาติจึงกลายเป็น “ขุมทรัพย์” ของผู้ประกอบการ รวมทั้งนายหน้า
ที่ส่วนใหญ่เป็นคนพม่าด้วยกันเองในการจัดหาและลำเลียงแรงงานไปสู่มือผู้ประกอบการ

แรงงานชาวพม่ามักตกเป็นเหยื่อ ของการกดขี่ข่มเหงและแก๊ง ค้ามนุษย์ เช่น เด็กหนุ่มคนนี้ ที่แสดงเอกสารการทำงานอย่าง ถูกต้อง แต่กลับถูกเจ้าหน้าที่ ทางการจับกุม (บน) ส่วน ทุย ทุย (นามสมมุติ) หญิงชาว พม่าวัย 23 ปี แสดงบาดแผล จากการถูกของมีคม เพราะนายจ้างเข้าใจผิดว่าเธอให้ความช่วยเหลือเพื่อนแรงงานหลบหนี

“ปกติคนไทยไปสมัครงานไม่ต้องเสียเงินใช่ไหม แต่แรงงานพม่า ถ้าอยากทำงานต้องเสียเงินประมาณ 7-8 พันบาท อ้างว่าเป็นค่าเอกสารบ้าง ค่าชุดบ้าง แล้วจ่ายค่าจ้างเป็นรายเหมา ใครทำมากก็ได้มาก ใครแกะกุ้งมากได้เงินมาก นับเป็นกิโลเอา”

แต่ปัญหาคือพวกเขามักไม่ได้ค่าจ้างตามที่ตกลง ถูกกดขี่และเอารัดเอาเปรียบด้วยสารพัดวิธีการแสวงหาผลประโยชน์ เส้นแบ่งระหว่างการละเมิดสิทธิแรงงานกับการค้ามนุษย์เป็นเพียงเส้นบางๆที่ยากจะแยกออกจากกัน จำนวนผู้ที่ตกเป็นเหยื่อนั้นก็ยากจะประมาณการ อีกทั้งการกระทำที่เข้าข่ายดังกล่าวยังไม่มีวี่แววว่าจะบรรเทาเบาบางหรือยุติลง ดังจะเห็นได้จากผู้มาร้องทุกข์ที่มูลนิธิ
ซึ่งมีไม่เว้นแต่ละวัน

ทุย ทุย เล่าว่า เธออยากมาทำ งานที่ประเทศไทย เพราะได้ยินคำบอกเล่าว่าเงินเดือนดี ติดก็ตรงที่เธอไม่มีเงิน นายหน้าผู้อารีจึงเสนอว่าจะออกค่าใช้จ่ายให้ก่อน รวมเบ็ดเสร็จ 22,000 บาทที่ต้องใช้คืน เธอเล่าต่อว่า ได้เงินเดือน 3,000 บาทจากการทำงานในโรงงานแห่งหนึ่ง แต่ต้องจ่ายให้นายหน้าทั้งหมดและจะได้เงินติดตัวแค่วันละ 100 หรือ 150 บาท ทุย ทุย ไม่ใช่หญิงสาวคนเดียวที่ตกอยู่ในชะตากรรมนี้ เพื่อนชาวพม่าของเธอคนหนึ่งพยายามหลบหนีและทำสำเร็จ

“เจ้านายโกรธมาก นึกว่าฉันช่วยให้เพื่อนหนี เลยเอาท่อนไม้ทานาคาปาใส่โดนตาอย่างจัง เจ็บมากๆ” ดวงตาของเธอบวมปูดและเขียวชํ้าจนอักเสบ เมื่อเห็นท่าไม่ดี นายหน้าเลยบอกกับทุย ทุย ว่าจะพาเธอไปโรงพยาบาลสำหรับคนพม่า ไม่ต้องจ่ายเงินสด ติดค่ารักษาไว้ก่อนได้ “เขาพาฉันขึ้นรถตู้ไปในคืนนั้น มีฉัน นายหน้า คนขับรถ และชายอีกคนที่ฉันไม่รู้จัก”

เวลาผ่านไปราวหนึ่งชั่วโมง ทุย ทุย ถูกไล่ลงจากรถและชายนิรนามคนนั้นตามลงมา เขาใช้มีดแทงที่ท้องเธอ 4-5 ครั้ง และโยนเธอทิ้งในลำคลองข้างทาง ทว่าทุย ทุย ยังไม่หมดสติ เธอแข็งใจลากร่างชุ่มเลือดขึ้นมาบนถนนและหวังว่าจะมีรถวิ่งผ่านมาสักคัน แต่จนแล้วจนรอดก็ไม่มี ”แล้วก็มีหมาสองตัวเห่า เธอเล่า สักพักก็มีคนมาเจอ มีคนมาดูเยอะแยะไปหมด” สุดท้ายพวกเขาก็ช่วยพาฉันไปส่งโรงพยาบาล

“ถ้ารู้ว่ามาแล้วจะเกิดเรื่องแบบนี้ ฉันไม่มาหรอก แรกๆก็อยากกลับพม่านะ แต่ก็อยากทำงาน” ดูเหมือนว่าประสบการณ์อันเลวร้ายจะทำให้เธอสับสนไม่น้อยว่าจะทำอย่างไรต่อไปกับชีวิตดี จะลองเสี่ยงกับชีวิตต่างแดนอีกสักครั้ง หรือจมปลักอยู่กับความยากไร้ ท้ายที่สุด ทุย ทุย ก็เลือกที่จะทำงานในประเทศไทยต่อไป

มีปัจจัยหลายอย่างเหลือเกินที่เป็นสาเหตุของปัญหาการละเมิดสิทธิแรงงานและการค้ามนุษย์ ตุ่นเคยพูดไว้ว่า หนึ่งในอุปสรรตสำคัญคือ ทัศนคติของเจ้าหน้าที่รัฐไทยบางคน (ยํ้าว่าบางคน) ที่ยังเห็นว่า แรงงานข้ามชาติ คือประชากรชั้นสองที่ไม่จำเป็นต้องดูแลเอาใจใส่มากนัก

(อ่านต่อหน้า 3)

ผู้หนีภัยแห่งการประหัตประหาร

นอกจากชาวพม่าจะแห่แหนมาประเทศไทยในฐานะแรงงานข้ามชาติแล้ว ยังมีคนอีกกลุ่มหนึ่งที่เข้ามาด้วยเหตุผลอื่น นอกจากความยากจนข้นแค้น พวกเขาตกเป็นเหยื่อของความกระหายอำนาจ เงินทอง และความขัดแย้งที่พวกเขาไม่ได้เป็นผู้ก่อขึ้น แต่กลับต้อง
ละทิ้งแผ่นดินถิ่นฐานของตนเอง แล้วระเหเร่ร่อนเอาชีวิตรอดในต่างแดนในฐานะผู้หนีภัยจากการสู้รบ

“ชาติพันธุ์มอญ” เคยมีราชธานีที่ยิ่งใหญ่ในอุษาคเณย์ แต่ด้วยภัยแห่งการประหัตประหาร พวกเขากลายเป็นชนชาติที่ไร้ประเทศ ไม่ปรากฏชื่อในแผนที่โลก เชื่อกันว่าชาวมอญอพยพมายังประเทศไทยตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา

การสู้รบระหว่างรัฐบาลพม่ากับชนชาติมอญผลักดันให้คนมอญต้องระเห็จออกจากมาตุภูมิ หนีภัยสงครามไปยังประเทศเพื่อนบ้านรวมทั้งไทย แต่เนื่องจากประเทศไทยไม่ได้ลงนามเป็นภาคีในอนุสัญญาว่าด้วยสถานภาพผู้ลี้ภัยขององค์การสหประชาชาติ ค.ศ. 1951 ที่ระบุไว้ว่า ผู้ลี้ภัยคือผู้ที่หลบหนีออกจากประเทศตนด้วยความหวาดกลัว ที่มีมูลว่าจะถูกประหัตประหาร ด้วยสาเหตุทางเชื้อชาติสัญชาติ ศาสนา ความคิดเห็นทางการเมือง และการเป็นสมาชิกของกลุ่มสังคมใดกลุ่มสังคมหนึ่ง โดยไม่สามารถหรือไม่สมัครใจที่จะได้รับความคุ้มครองจากรัฐแห่งสัญชาติตนเนื่องด้วยความหวาดกลัวนั้น

ฉะนั้น คนมอญกลุ่มดังกล่าวจึงไม่ได้มีสถานภาพของผู้ลี้ภัย แต่มีสถานะเป็นเพียงผู้หนีภัยจากการสู้รบ ผู้พลัดถิ่นสัญชาติพม่า หรือผู้หลบหนีเข้าเมืองสัญชาติพม่า

สมเกียรติ เอ่าจี่มิด (ล่าง ตรงกลาง) อาศัยอยู่ในประเทศไทยมาเกือบ 20 ปี เขาจบการศึกษาระดับปริญญาโทจากมหาวิทยาลัยในเมืองไทย และปัจจุบันทำงานให้คำแนะนำ เกี่ยวกับอนาคตทางการศึกษาของแรงงานพม่า

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันการอพยพของชาวมอญมีสาเหตุแบบต่างกรรมต่างวาระ หลายคนเข้ามาเพราะหนีภัยสงคราม หลายคนประสบปัญหาปากท้อง พวกเขากระจายตัวอยู่ตามภาคต่างๆของไทย โดยเฉพาะเมืองเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม แต่ที่อยู่กันเป็นกลุ่มก้อน เห็นจะเป็นที่ชุมชนชาวมอญพลัดถิ่นวังกะ (วังกะ เป็นภาษามอญแปลว่า วังปลา หรือวังขนาดใหญ่ที่มีปลาอยู่ชุกชุม) ตำบลหนองลู อำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี ที่นี่มีชาวมอญพลัดถิ่นกว่า 20,000 คนที่อาศัยอยู่รวมกันมานานหลายทศวรรษ

“เราไม่ใช่พม่า” กะต้าวมอญ หรือมอญชัย ผู้อำนวยการศูนย์วัฒนธรรมมอญ ณ ชุมชนชาวมอญพลัดถิ่นวังกะ ยืนยันหนักแน่น ความเป็นชาตินิยมยังคงเป็นเรื่องเปราะบางสำหรับคนกลุ่มนี้เสมอ เขาขยายความให้เราฟังด้วยคำ พูดก่นแค้นว่า พม่าขโมยศิลปวัฒนธรรม และภาษามอญไปใช้ แม้ว่าคนมอญจะไม่มีประเทศแล้ว แต่ก็มีวัฒนธรรมที่แข็งแกร่ง

“พวกเรารักษาวัฒนธรรม เพื่อแสดงความมีตัวตนเอาไว้”

เด็กชาวพม่าภายในศูนย์พัฒนาคุณภาพชีวิตชายแดนไทย-พม่า ที่ชุมชนบ้านปากคลอง จังหวัดระนอง ได้รับการส่งเสริมด้านการศึกษาภายใต้การสนับสนุนจากหลายองค์กร เพื่อให้ได้รับการศึกษาขั้นพื้นฐานตามรัฐธรรมนูญไทย

กว่าจะถึงวันนั้น…ชีวิตต้องดำเนินต่อไป

เรากลับไปยังชุมชนตลาดกุ้งสมุทรสาครอีกครั้ง ทุกอย่างดูครึกครื้นเหมือนเดิม ร้านขายหมากยังคงได้รับความนิยมกว่าร้านค้าอื่นๆ เราได้รับการต้อนรับด้วยสายตาหวาดระแวงระคนสงสัยจากผู้คนที่นี่เช่นเคย

จากนั้น เราก็เข้าไปที่มูลนิธิแอลพีเอ็น ที่นั่นยังคงเป็นสถานที่ที่เราสามารถพบเหยื่อธุรกิจค้าพม่าหน้าใหม่ๆ โดยไม่ต้องนัดหมายล่วงหน้า แม้สถานการณ์ด้านต่างๆ ในพม่าจะมีแนวโน้มไปในทางที่ดีขึ้น กระนั้นความโลภยังคงไม่ไว้หน้าใครเช่นเคย…

“ผมถูกตำรวจจับครับ ทั้งๆที่เอกสารก็มีครบ” คือคำร้องทุกข์จากปากของเหยื่อรายล่าสุด


อ่านเพิ่มเติม ประเพณีก่อพระเจดีย์ทรายที่ชุมชนเมงตาสุและโมงติสุ เมืองมัณฑะเลย์ : ร่องรอยเชลย ไทยสมัยอยุธยา

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.