เลโอนาร์โด ดาวินชี : 500 ปี มรณกาลอัจฉริยะก้องโลก

เลโอนาร์โด ดาวินชี : 500 ปี มรณกาลอัจฉริยะก้องโลก

ชั่วขณะหนึ่ง อดีตอันยาวนานหลายร้อยปีได้มาบรรจบกับปัจจุบัน ฉันมาที่พระราชวังวินด์เซอร์เพื่อชมชุดภาพวาดเส้นของเลโอนาร์โด ดาวินชี อันเป็นของสะสมส่วนพระองค์ในสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบทที่สอง

นอกกำแพงหินสูงตระหง่านของพระราชวัง นักท่องเที่ยวถ่ายภาพเซลฟีและเลือกซื้อของที่ระลึก ด้านใน หลังซุ้มประตูโค้งประดับปนาลี เลโอนาร์โดก็พาฉันย้อนเวลากลับไปยังสมัยฟื้นฟูศิลปวิทยาอีกครั้ง

ฉันแทบจะได้ยินเสียงกระซิบของศิลปินเอกผู้นี้ ขณะจ้องมองอัลบั้มปกหนังจากปลายศตวรรษที่สิบหกในห้องเก็บภาพพิมพ์ของพระราชวัง สันหนังสือหนา 6.5 เซนติเมตรตกแต่งด้วยลวดลายพิมพ์ทอง หน้าปกมีรอยเปื้อนและเก่าคร่ำคร่าจากรอยนิ้วมือที่มองไม่เห็นของคนรุ่นแล้วรุ่นเล่า มีตัวหนังสือเขียนว่า ดีเซญญี ดี เลโอนาร์โด ดา วินชี เรสเตาราตี ดา ปอมเปโอ เลโอนี (ภาพวาดเส้นของเลโอนาร์โด ดาวินชี อนุรักษ์โดยปอมเปโอ เลโอนี)

เลโอนีผู้เป็นประติมากรชาวอิตาลี ได้รับภาพวาดเส้นของเลโอนาร์โดจากลูกชายศิษย์เอกของเลโอนาร์โด นั่นคือ ฟรันเชสโก เมลซี และรวบรวมไว้ด้วยกันอย่างน้อยสองเล่ม พอถึงปี 1690 หนังสือที่รู้จักกันในชื่อ หนังสือเย็บเล่มเลโอนีก็กลายเป็นส่วนหนึ่งของชุดสะสมส่วนพระองค์ ภายในอัดแน่นไปด้วยกระดาษแผ่นใหญ่ 234 แผ่นและบันทึกการเดินทางด้านสติปัญญาของเลโอนาร์โด

มาร์ติน เคลย์ตัน หัวหน้าแผนกภาพพิมพ์และภาพวาดเส้นของกองทุนชุดสะสมส่วนพระองค์ (Royal Collection Trust) จัดวางหน้าหนังสือที่คัดเลือกมาแล้ว ซึ่งทำให้เห็นความสนใจด้านต่างๆของเลโอนาร์โดได้อย่างชัดเจนขึ้น มีทั้งพฤกษศาสตร์ ภูมิศาสตร์ สถาปัตยกรรม วิศวกรรมการทหาร เรขาคณิต การทำแผนที่ และกายวิภาคศาสตร์  เขาร่างภาพเพื่อทำความเข้าใจสิ่งที่ยังไม่รู้ให้ดีขึ้น โดยมุ่งหาคำตอบให้กับปริศนาต่างๆ

“สิ่งที่เราเรียนรู้มากที่สุดจากภาพวาดเส้นของเลโอนาร์โดบนกระดาษบางแผ่น คือการกระโดดจากหัวข้อหนึ่งไปอีกหัวข้อหนึ่งอย่างเสรี” เคลย์ตันบอกและเสริมว่า “การได้เห็นวิธีทำงานของความคิดที่เปิดกว้างเช่นนี้น่าตื่นเต้นมากครับ”

เลโอนาร์โดค้นหาคำตอบให้กับคำถามยาวเป็นหางว่าว ไม่ว่าจะเป็นทำไมเราถึงมองเห็นดาวในตอนกลางคืน แต่มองไม่เห็นในตอนกลางวัน อะไรแยกน้ำออกจากอากาศ วิญญาณอยู่ที่ไหน การจาม การหาว ความหิว ความกระหาย และตัณหาคืออะไร

หลังการบูรณะนานห้าปี ภาพ “การนมัสการของโหราจารย์” ของเลโอนาร์โด ดาวินชี ก็เผยให้เห็นฝีแปรง สีสัน และภาพที่ซ่อนเร้นอยู่ใต้ฝุ่นเขรอะและน้ำน้ำมันขัดเงาที่ทำให้ภาพหมองลง งานจิตรกรรมซึ่งยังไม่เสร็จสมบูรณ์ดีชิ้นนี้ที่เลโอนาร์โดได้รับว่าจ้างให้วาดขึ้นเมื่อปี 1481 ยังเผยให้เห็นกระบวนการทางความคิดของศิลปินเอก รวมถึงการปรับเปลี่ยนต่างๆ ระหว่างการทำงาน
งานวิศวกรรมสร้างลูกทรงกลมทองแดงหุ้มทองที่สำเร็จลงระหว่าง เลโอนาร์โด ดา วินชี เป็นลูกมือฝึกหัดของศิลปินนาม อันเดรอา เดล แวร์รอกกีโอ ในเมืองฟลอเรนซ์ ฝากรอยประทับอันยืนยงในใจของดา วินชี ในภาพนี้ ซันโดร สกีเอเวนิน ที่กำลังตรวจดูความเสียหายจากฟ้าผ่า โผล่หน้าจากลูกทรงกลมบนยอดมหาวิหารซานตามาเรียเดลฟีโอเร

ในวาระครบรอบ 500 ปีแห่งมรณกาลของเลโอนาร์โดในปีนี้ สมุดบันทึกของศิลปินเอกก็ได้รับการฟื้นฟูด้วยเช่นกัน พิพิธภัณฑ์หลายแห่งจัดนิทรรศการ และนักวิชาการก็ตีพิมพ์บทวิเคราะห์ใหม่ๆที่เจาะลึกมากขึ้นเกี่ยวกับผลงานสร้างสรรค์ประดามีของเขา

เลโอนาร์โดทิ้งบันทึกเรื่องราวชีวิตตนเองไว้น้อยมาก แต่เรายังพอได้เห็นตัวตนของชายผู้นี้ เขาน่าจะเป็นเกย์  เป็นคนรักสัตว์และเคยซื้อนกในกรงที่ตลาดเพื่อนำมาปล่อย เป็นคนถนัดซ้าย หน้าตาหล่อเหลา ร้องเพลงได้ไพเราะ  และเข้าสังคมเก่ง

ตลอดระยะเวลา 46 ปีที่เป็นศิลปิน ซึ่งใช้ชีวิตส่วนใหญ่อยู่ในฟลอเรนซ์และมิลาน เลโอนาร์โดอุทิศตนให้กับการศึกษาหาความรู้อย่างไม่ลดละ เขาเรียนภาษาละติน สะสมบทกวี และอ่านยูคลิดกับอาร์คิมีดีส เขาพินิจพิเคราะห์รายละเอียดเล็กๆน้อยๆ เช่น มุมเรขาคณิต การขยายของรูม่านตา โดยกระโดดจากสาขาวิชาหนึ่งไปยังอีกสาขาวิชาหนึ่ง  เขาร่างภาพดอกไม้ ออกแบบเครื่องจักรกลสงครามสำหรับผู้อุปถัมภ์ และออกแบบเชิงวิศวกรรมเพื่อผันน้ำจากแม่น้ำอาร์โน

เลโอนาร์โดบันทึกทุกสิ่งทุกอย่างไว้ด้วยรายละเอียดถี่ยิบบนด้านหลังและมุมของกระดาษ โดยเขียนเป็นตัวหนังสือกลับด้านจากขวาไปซ้ายอย่างเป็นระเบียบ ปัจจุบัน บันทึกบางหน้าไม่ได้อยู่รวมกับเอกสารอื่นๆ บางหน้ามัดรวมไว้กับฉบับที่ตอนนี้รู้จักกันในชื่อสมุดบันทึกหรือโคเดกซ์ (codex) ไม่มีการจัดลำดับบันทึกอย่างชัดเจน แม้แต่บนหน้ากระดาษเดี่ยวๆ หนึ่งหน้า และหัวข้อที่คล้ายคลึงกันก็มักอยู่บนเอกสารคนละแผ่นห่างกันหลายปี เปาโล กัลลุซซี ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์มูเซโอกาลิเลโอในฟลอเรนซ์ บอกว่า ทุกครั้งที่เลโอนาร์โดตั้งข้อสังเกต จะมีคำถามใหม่เกิดขึ้นในใจทุกครั้ง ซึ่งจะนำไปสู่คำถามใหม่อีกข้อ “ความคิดของเขากระโดดไปกระโดดมาครับ”

ในโคเดกซ์เลสเตอร์ (Codex Leicester) เลโอนาร์โดตรวจสอบว่า น้ำขึ้นไปถึงยอดเขาได้อย่างไร โดยปฏิเสธความเชื่อแต่เดิมของตนที่ว่า  ความร้อนดึงให้น้ำไหลย้อนขึ้นไป เขาตระหนักว่า น้ำมีกระบวนการไหลเวียนผ่านการระเหย เมฆ และฝน “สิ่งที่สำคัญกว่าการค้นพบว่าธารน้ำบนภูเขาทำงานอย่างไร คือการค้นพบวิธีการค้นหาคำตอบต่างหากล่ะครับ” วอลเตอร์ ไอแซกสัน นักเขียนชีวประวัติ บอก “เขาช่วยคิดค้นระเบียบวิธีแบบวิทยาศาสตร์ครับ”

เชื่อกันว่า ภาพ “โมนาลิซา” ของเลโอนาร์โด น่าจะเป็นภาพเหมือนของลีซา เกราร์ดีนี ภรรยาของฟรันเชสโก เดล โจกอนโด พ่อค้าผ้าไหมชาวฟลอเรนซ์ ทุกปีจะมีนักท่องเที่ยวหลายล้านคนมาเบียดเสียดกันเพื่อชมภาพวาดภาพนี้ที่พิพิธภัณฑ์ลูฟวร์ ในกรุงปารีส งานจิตรกรรมที่มีกระจกหนาคุ้มกันและต้องทำความสะอาดเป็นประจำชิ้นนี้ไม่เคยได้รับการบูรณะเลย
แม้จะเป็นแบบร่างพื้นฐาน แต่การออกแบบอุปกรณ์ใต้น้ำของเลโอนาร์โดก็อาจทำนายถึงอุปกรณ์ที่กองทัพใช้ ในปัจจุบัน ที่เมืองท่าเมสซีนา กองกำลังพิเศษของกองทัพเรืออิตาลีฝึกฝนการใช้ชุดดำน้ำควบคุมความดันบรรยากาศ ซึ่งสามารถดำน้ำได้ลึกถึง 300 เมตร

ไม่มีที่ใดจะเห็นได้ชัดเท่ากับงานศึกษากายวิภาคศาสตร์ของเขาอีกแล้ว เลโอนาร์โดผ่าศพมนุษย์ แหวกดูระบบกล้ามเนื้อในร่างกาย ศิลปินร่วมสมัยของเขา รวมทั้งมีเกลันเจโล ซึ่งเป็นคู่แข่ง ศึกษากล้ามเนื้อและกระดูกเพื่อพัฒนาการใช้ศิลปะถ่ายทอดร่างกายมนุษย์ ออกมาให้ดียิ่งขึ้น “แต่เลโอนาร์โดทำมากกว่านั้น” โดเมนีโก เลาเรนซา นักประวัติศาสตร์วิทยาศาสตร์ที่ทำงานในกรุงโรม บอกและเสริมว่า “แนวทางการศึกษากายวิภาคศาสตร์ของเขาไม่ต่างจากนักกายวิภาคศาสตร์ตัวจริงเลยละครับ”

ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ที่เลโอนาร์โดรวบรวมไว้ในสมุดบันทึกสะท้อนให้เห็นในทุกฝีแปรงของเขา การศึกษาเชิงกายวิภาคศาสตร์ของเขาเจาะลึกไปถึงชีววิทยาของการแสดงสีหน้า เส้นประสาทไหนทำให้เกิด “การขมวดคิ้ว” หรือ “การยื่นริมฝีปากล่าง การยิ้ม หรือการแสดงความประหลาดใจ” เขาตั้งคำถามไว้ในสมุด เขาเลิกใช้วิธีร่างภาพด้วยเค้าโครงตามขนบ แต่ทำให้ขอบของรูปร่างและวัตถุดูนุ่มนวลด้วยเทคนิคที่เรียกว่า ภาพสีม่านหมอก (sfumato) การสังเกตอย่างเฉียบคมทำให้เขาแสดงภาพอารมณ์ของผู้คนออกมาได้อย่างลุ่มลึก ซึ่งมองแล้วจะรับรู้ความรู้สึกของคนในภาพได้ แทนที่จะดูแข็งทื่อ

ยิ่งเลโอนาร์โดได้ความรู้ใหม่ๆมากขึ้นเท่าไร ก็ยิ่งยากขึ้นเท่านั้นที่จะเห็นเส้นชัยในงานศิลปะของเขา การวิเคราะห์ผลงานของเลโอนาร์โดด้วยรังสีเอกซ์เผยให้เห็นการแก้ไขงานซ้ำแล้วซ้ำอีก หรือที่เรียกกันว่า การแก้จิตรกรรม (pentimenti) ความไม่มีที่สิ้นสุดกลายเป็นแนวคิดที่ทำได้จริง นั่นคือยังมีอะไรให้เรียนรู้อีกเสมอ

ในฟลอเรนซ์ เลโอนาร์โดกลายเป็นที่รู้จักเพราะพรสวรรค์ล้ำเลิศและได้รับการว่าจ้างงานครั้งแรก เปาโล กัลลุซซี นักวิชาการบอกว่า เขาเป็น “เครื่องประดับและสัญลักษณ์แห่งอำนาจ” ในภาพนี้ วัลแตร์ กอนตี ศิลปินข้างถนนชาวอิตาลี ผู้แต่งกายเป็นเลโอนาร์โด กำลังเดินไปยังหอศิลป์อุฟฟีซีเพื่อโพสท่าถ่ายภาพกับนักท่องเที่ยว

นี่อาจช่วยอธิบายได้ว่า ทำไมเลโอนาร์โดถึงไม่เคยตีพิมพ์สมุดบันทึกของตนเองเลย เขาตั้งใจเขียนศาสตรนิพนธ์เกี่ยวกับหลายหัวข้อให้จบ แต่แบบร่างและต้นฉบับของเขาถูกทิ้งไว้กับคู่ชีวิตผู้ซื่อสัตย์นาม เมลซี เพื่อให้รวบรวมและจัดเก็บ หลายสิบปีหลังมรณกรรมของเลโอนาร์โด ต้นฉบับดั้งเดิมราวสองในสามถึงสามในสี่น่าจะถูกขโมยหรือสูญหายไป เวลาล่วงเลยมาถึงปลายศตวรรษที่สิบแปด หรือกว่า 200 ปีหลังเขาเสียชีวิตไปแล้ว ต้นฉบับที่เหลือส่วนใหญ่จึงเริ่มได้รับการตีพิมพ์ เลาเรนซาบอกว่า ด้วยเหตุนี้ “เราจึงมีความรู้เกี่ยวกับมรดกทางความคิดของเลโอนาร์โดในฐานะนักวิทยาศาสตร์น้อยมาก”

คำถาม การตั้งสมมุติฐาน และการค้นพบของเลโอนาร์โด จึงตกเป็นหน้าที่ของคนรุ่นหลัง ทว่าหลายร้อยปีผ่านไป เราก็ยังตามไม่ทันเขาอยู่ดี

เรื่อง คลอเดีย คัลบ์

ภาพถ่าย เปาโล วูดส์ และกาบรีเอล กาลิมเบอร์ตี

 

อ่านสารคดีฉบับเต็มได้ใน นิตยสารเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับเดือนพฤษภาคม 2562

บทความที่เกี่ยวข้อง ภาพเปลือยโมนาลิซาอาจเป็นผลงานของ ดา วินชี เอง


อ่านเพิ่มเติม

ค้นพบภาพวาดทางวิทยาศาสตร์อันงดงามที่หายสาบสูญไปกว่า 190 ปี

 

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.