(ภาพปก) แอนน์ บุญช่วย ตัวละครใน แอมฟิเบีย (Amphibia) แอนิเมชันเรื่องใหม่ของดิสนีย์ มีเชื้อสายไทย ในภาพเธอกำลังต้อนรับเหล่าผองเพื่อนสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบกที่เข้ามาใช้บริการร้านอาหารไทยของเธอ ขอบคุณภาพจาก https://www.youtube.com/watch?v=iC71sCG52H8
เมื่อตอนที่ดิสนีย์ ค่ายภาพยนตร์แอนิเมชันชื่อดังที่เป็นขวัญใจผู้ชมทั้งเด็กและผู้ใหญ่ทั่วโลก ได้เปิดตัวการ์ตูนแอนิเมชันเรื่อง แอมฟิเบีย (Amphibia) ซึ่งมีตัวละครหลักเป็นเด็กสาวลูกครึ่ง ไทย-อเมริกัน นามว่า แอนน์ บุญช่วย (Anne Boonchuay) ทำให้แฟนแอนิเมชันจากค่ายนี้ โดยเฉพาะจากประเทศไทยต่างรู้สึกตื่นเต้นที่กำลังจะมีตัวละครเชื้อชาติใหม่ปรากฏในโลกของดิสนีย์
อาจเป็นไปได้ว่า นี่เป็นความต้องการของทางดิสนีย์ ที่พยายามขยายการนำเสนอเชื้อชาติที่หลากหลายบนโลกใบนี้ เพื่อให้ผู้ชมได้ตระหนักว่า โลกของเราไม่ได้มีเชื้อชาติเพียงแค่ชาวอเมริกันผิวขาว ชาวแอฟริกัน-อเมริกันผิวสี หรือคนจีน ที่มักถูกนำเสนอเป็นภาพตัวแทนของคนเอเชียเท่านั้น
พัฒนาการของตัวละคร “ทางเชื้อชาติ” ของดิสนีย์
เมื่อครั้งที่ดิสนีย์เริ่มสร้างตัวละคร สโนว์ไวท์ เจ้าหญิงคนแรกของค่ายขึ้นมาเมื่อช่วงทศวรรษที่ 1930 มาจนถึงช่วงราวทศวรรษ 1980 ผู้ชมดิสนีย์ต่างติดภาพเจ้าหญิงในแบบคนอเมริกันผิวขาวที่ต้องคอยพึ่งพาผู้ชาย หรือเจ้าชายเพื่อให้บรรลุถึงความสุข-ความปรารถนาในชีวิต แม้ว่าจะมีเนื้อเรื่องที่ให้ผู้ชมตราตรึงให้โลกแห่งความฝัน ความรัก และเทพนิยาย แต่ในอีกด้านหนึ่ง ดิสนีย์เองก็ได้รับคำวิพากษ์วิจารณ์ว่าสร้างเรื่องราวให้ตัวละครผู้หญิงพึ่งพาเพศชายมากเกินไป และไม่มีความหลากหลายของบุคลิกลักษณะตัวละครมากเท่าที่ควร
ดังนั้น ในช่วงทศวรรษที่ 1990 ทีมผู้สร้างแอนิเมชันของดิสนีย์จึงได้พยายามสร้างตัวละครที่มีความหลาหลายทางเชื้อชาติมากขึ้น ดังจะเห็นได้จากการสร้างตัวละคร “เจ้าหญิงแจสมิน” ในเรื่อง อะลาดิน (Aladin) ที่สร้างขึ้นในปี 1992 ซึ่งมีลักษณะเป็นเจ้าหญิงจากแถบเอเชียตะวันออกกลางหรืออินเดีย
ในปี 1995 แอนิเมชัน โพคาฮอนทัส (Pocahontas) ก็นำเสนอเรื่องราวของตัวละครหญิงมีเชื้อสาย อินเดียนแดง อันเป็นชนพื้นเมืองของชาวอเมริกา และในปี 1998 ผู้ชมดิสนีย์ก็ได้สนุกสนานไปกับตัวละครหญิง มู่หลาน (Mulan) ที่เล่าเรื่องของนางเอกที่มีเชื้อชาติจีน และนำเสนอภาพลักษณ์ของประเทศจีน และเรื่องมู่หลานนี่เองที่เริ่มทำให้ผู้ชมดิสนีย์ทั่วโลกเริ่มรู้จัก “เสน่ห์แห่งโลกตะวันออก” มากขึ้น ผ่านความคิดของผู้สร้างชาวอเมริกัน
เมื่อเข้าสู่ช่วงศตวรรษที่ยี่สิบเอ็ด การยอมรับเรื่องความแตกต่างทางเชื้อชาติกลายเป็นกระแสในสังคมโลก ดิสนีย์เองก็เริ่มขานรับกระแสสังคมนี้ด้วยการนำเสนอลักษณะตัวละครที่มีความหลากหลายมากเช่น “เทียน่า” เจ้าหญิงเชื้อสายแอฟริกัน-อเมริกันผิวสีจากเรื่อง มหัศจรรย์มนต์รักเจ้าชายกบ (The Princess and the Frog) หรือเข้าไปยังดินแดนที่น้อยคนนักจะรู้จักอย่างหมู่เกาะพอลินีเชียผ่านตัวละคร “โมอานา” ในเรื่อง ผจญภัยตำนานหมู่เกาะทะเลใต้ (Moana) รวมไปถึงการสร้างตัวละครหญิงที่ไม่มีความสัมพันธ์กับตัวละครชายโดยสิ้นเชิงอย่าง “แอลซา” จากเรื่อง ผจญภัยแดนคำสาปราชินีหิมะ (Frozen) ก็สร้างความแปลกใหม่และเป็นที่พูดถึงในบรรดาคอแอนิเมชันของดิสนีย์พอสมควร
และในปี 2019 นี้ ก็ถึงเวลาที่ตัวละครที่มีเชื้อชาติจากประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่าง แอน บุญช่วย จะเข้าไปโลดแล่นในใจผู้ชมแอนิเมชันดิสนีย์ทั่วโลกแล้ว
ซึ่งเรื่องย่อของ แอมฟิเบีย จะกล่าวถึงเด็กสาวที่บังเอิญได้เข้าไปอยู่ในโลกของสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก ซึ่งเปรียบเสมือนการเข้าไปสู่ “โลกใบใหม่” ที่ไม่คุ้นเคยของเธอ นำมาซึ่งการผจญภัยและความสนุกสนาน โดย แอมฟีเบีย จะเริ่มออกอากาศตอนแรกในวันที่ 17 มิถุนายน ต่อเนื่องไปจนถึงวันที่ 20 มิถุนายน 2562 และจะมีการออกอากาศในประเทศไทยเช่นเดียวกัน
(เชิญชมวิดีโอข่าวแอนิเมชันเรื่อง แอมฟิเบีย จาก Disney Channel)
ความเป็นไทยที่นำเสนอผ่านผู้สร้างชาวอเมริกัน
จากตัวอย่างแอนิเมชันเรื่อง แอมฟิเบีย ที่ผู้สร้างได้เผยแพร่ลงในอินเตอร์เน็ต เราจะเห็นว่าตัวละคร แอนน์ บุญช่วย เป็นเด็กหญิงผิวสีน้ำผึ้ง ผมฟู ดวงตากลมโต แต่งกายด้วยชุดไทยโบราณ มีการห่มสไบ เกล้าดอกมะลิบนศีรษะ ซึ่งอาจอนุมานได้ว่า นี่คือลักษณะของ “คนไทย” โดยทั่วไปที่สะท้อนผ่านสายตาของผู้สร้างชาวอเมริกัน
แม้จะมีการถกเถียงกันบนสังคมออนไลน์ของไทยว่า แท้จริงแล้วคนไทยก็มีความหลากหลายทางสีผิว โดยบางคนก็มองว่าตัวละคร แอนน์ บุญช่วย นำเสนอได้ไม่ตรงกับคนไทยในความเป็นจริงเสียทีเดียว แต่อย่างไรก็ตาม ก็มีผู้ชมหลายคนในโลกออนไลน์มองว่า ผิวสีน้ำผึ้งเองก็เป็นสีผิวมาตรฐานโดยส่วนใหญ่ของคนไทยอยู่แล้ว แต่สิ่งที่น่าสนใจนั้นอยู่ที่ผู้สร้างชาวอเมริกันจะมีการนำเสนอวัฒนธรรมไทยแบบใดสู่สายตาชาวโลก ซึ่งแน่นอนว่าจะมีวัฒนธรรม “อาหารไทย” ปรากฏในเรื่องอย่างแน่นอน เนื่องจากในเรื่อง แอนน์ บุญช่วย ได้เปิดร้านอาหารไทยเพื่อเป็นการผูกมิตรกับเพื่อนพ้องในโลกของสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก รวมไปถึงภาษาไทยที่แอนน์จะต้องพูดในบางครั้งด้วย
อย่างไรก็ตาม แมตต์ บราลี่ โปรดิวเซอร์แอนิเมชั่นลูกครึ่งไทย-อเมริกัน ผู้รับหน้าที่สร้างสรรค์การ์ตูนเรื่องนี้ กล่าวว่า แอมฟีเบีย เปรียบเสมือนเครื่องบันทึกความรู้สึกที่เขามีต่อเมืองไทยที่ได้ไปเยี่ยมเยือนบ่อยๆ เมื่อครั้งเป็นเด็ก และการสร้างการ์ตูนเรื่องนี้เปรียบเหมือนความฝันที่เป็นจริง ที่เขาจะได้เห็นตัวละครเชื้อสายไทยได้โลดแล่นในสื่อของชาวอเมริกัน
ดังนั้น เราในฐานะผู้ชม จึงสามารถคาดหวังได้ถึงความสวยงามของวัฒนธรรมไทยที่สะท้อนผ่านความตั้งใจจริงของโปรดิวเซอร์ผู้นี้
แน่นอนว่า หลังจากตัวละครเชื้อสายไทย ดิสนีย์อาจไม่หยุดการขยายจักรวาลทางเชื้อชาติของตัวละครเพียงเท่านี้ ดังจะเห็นได้จากการที่ดิสนีย์ได้ควบรวมกิจการสตูดิโอสร้างภาพยนตร์ชื่อดังหลายแห่ง สิ่งนี้อาจทำให้เกิดแนวคิดการสร้างตัวละครใหม่ๆ ที่มีความหลากหลายทางเชื้อชาติ ซึ่งทำให้โลกจินตนาการได้สะท้อนโลกของเราที่พร้อมโอบรับความหลากหลายมากขึ้นกว่าเดิม
แหล่งอ้างอิง
เกิดอะไรขึ้นกับวงการเจ้าหญิง วิวัฒนาการของเจ้าหญิงดิสนีย์ตั้งแต่คนแรกถึงคนล่าสุด
Disney สู่ยุคคอนเทนต์เปิดกว้าง ตอบคำถามทำไมการ์ตูนใหม่ “Amphibia” ต้องมีนางเอกคนไทย?
Amphibia : แอนน์ บุญช่วย ตัวละครเด็กหญิงลูกครึ่งไทย – อเมริกัน ในแอนิเมชั่นของดิสนีย์
‘Amphibia’ creator wants kids to feel seen with his Thai American heroine
List of Disney theatrical animated features