ผม (ผู้เขียนบทความ) อายุ 24 ปี
ครั้งสุดท้ายที่ผม “จับแสตมป์” คือเมื่อตอนอายุ 9-10 ขวบ เนื่องจากได้รับมอบหมายให้เขียนจดหมายส่งไปหาเพื่อนร่วมชั้น เป็นกิจกรรมที่ต้องทำในวิชาภาษาไทย
หลังจากนั้นไม่นานนัก โลกก็เข้าสู่ยุคสมัยที่บ้านแต่ละหลังเริ่มมีอินเทอร์เน็ตเป็นของตัวเอง ทำให้การสนทนาผ่านโปรแกรม MSN หรืออีเมล์ กลายเป็นที่นิยม เนื่องจากเป็นการติดต่อสื่อสารที่รวดเร็วไม่แพ้โทรศัพท์บ้านซึ่งเป็นที่นิยมอยู่แล้วก่อนหน้านี้
นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา การไปที่สำนักงานไปรษณีย์ ร้านของชำ หรือแม้กระทั่งร้านสะดวกซื้อเพื่อซื้อแสตมป์ติดซองจดหมายที่เขียนด้วยลายมือ เพื่อนำส่งไปให้ถึงผู้รับในอีก 2-3 วันข้างหน้า ก็กลายเป็นสิ่งที่ผมไม่คุ้นเคยอีกต่อไป
แต่ถึงแม้โลกการสื่อสารจะเปลี่ยนไป จนผู้คนเริ่มห่างเหินจากแสตมป์มากขึ้น แต่ดูเหมือนว่า บรรดานักสะสมแสตมป์มากมายยังคงพึงพอใจในการเก็บรวบรวมสะสมในสิ่งที่พวกเขารัก
*****************
โดยปกติ นายแพทย์อุกฤษฎ์ อุเทนสุต หรือ หมอโป้ง ตำแหน่งนายแพทย์เชี่ยวชาญ หัวหน้าฝ่ายวิชาการและแผนงาน ที่โรงพยาบาลเวชการุณย์รัศมิ์ สำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร แต่สำหรับในวงการนักสะสมแสตมป์ไทยแล้ว เขาคือนักสะสมแสตมป์พระรูป พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร หรือ “แสตมป์พระรูป ร. 9” ตั้งแต่ชุดแรกจนชุดสุดท้าย มานานกว่า 34 ปี
ความหลงใหลในแสตมป์พระรูป ร.9 ทำให้เขาเป็นผู้ครอบครอง แสตมป์พระรูป ร.9 ที่มีพระปรมาภิไธย (ลายเซ็น) ของในหลวงรัชกาลที่ 9 รวมไปถึง เป็นผู้ครอบครองปรู๊ฟแสตมป์พระรูป ร.9 ชุดแรก ที่ใช้ชื่อว่าชุด “สยาม” และแสตมป์พระรูป ร.9 ครบทุกชุด ทั้งในแบบที่ผ่านการใช้งานและไม่ผ่านการใช้งาน
“หมอโป้ง” ยังเป็นนักสะสมแสตมป์ผู้ที่ศึกษาค้นคว้าเรื่องราวที่อยู่เบื้องหลังแสตมป์ในเชิงลึก เพื่อนำคอลเลกชันแสตมป์พระรูป ร.9 ของเขาส่งเข้าประกวดในการประกวดแสตมป์ระดับนานาชาติหลายครั้งด้วยกัน และได้รับรางวัลอันทรงคุณค่ากลับมา ซึ่งถือว่าเป็นการนำแสตมป์พระรูป ร.9 อันเป็นเอกลักษณ์ของแสตมป์ไทย ออกสู่สายตาชาวโลก
และหมอโป้ง เป็นผู้เขียนหนังสือ แสตมป์พระรูปรัชกาลที่ ๙ ที่รวบรวมภาพถ่ายและข้อมูลของแสตมป์พระรูปฯ ซึ่งมีจำนวนทั้งหมด 10 ชุด และมีข้อมูลเจาะลึกของแสตมป์ชุดที่ 1 และ 2 อันเป็นแสตมป์ที่จัดพิมพ์ในต่างประเทศ จึงต้องใช้ข้อมูลที่รวบรวมมาจากต่างประเทศ โดยหนังสือเล่มนี้บรรจุข้อมูลละเอียดถึงขั้นระบุจำนวนสั่งพิมพ์ หมายเลขเพลท รูปต้นแบบทดลองแม่พิมพ์แสตมป์ แม้กระทั่งรูปของแสตมป์ที่มีจุดผิดพลาด ซึ่งบรรดานักสะสมเรียกว่า “แสตมป์ตลก” (Error Stamp) ซึ่งปกติแล้วจะถูกทำลายไม่ให้วางจำหน่าย หมอโป้งก็สามารถนำภาพตัวอย่างของแสตมป์เหล่านั้นมาพิมพ์จัดแสดง และสามารถชี้แจง ระบุลายละเอียดที่มาที่ไปของความผิดพลาดได้อย่างละเอียดถี่ถ้วน
ทุกวันนี้ หมอโป้งคือผู้ครอบครองคอลเลกชันแสตมป์พระรูป ร.9 ที่มีมูลค่าทางจิตใจมากเกินกว่าจะประเมินราคาได้ และยังใช้เวลาในการรวบรวมแสตมป์พระรูป ร. 9 ที่เขาบอกกับเราว่า “เป็นงานที่ไม่มีวันสิ้นสุด” และยังคงรวบรวมข้อมูลเจาะลึกแสตมป์พระรูปฯ ในชุดอื่นๆ เพื่อให้เป็นข้อมูลทางประวัติศาสตร์ผ่านดวงแสตมป์
ความตั้งใจจริงในการเป็นนักสะสม ศึกษาข้อมูลลงลึกในระดับที่น้อยคนนักจะทำได้ ทำให้กองบรรณาธิการออนไลน์/ดิจิทัล นิตยสารเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย มานั่งสนทนากับหมอโป้ง เพื่อสอบถามเรื่องราวเบื้องหลังความหลงใหลของนักสะสมแสตมป์ และเขามีความคิดเช่นไรในยุคสมัยที่ผู้คนเริ่มห่างเหินจากแสตมป์มากขึ้นเรื่อยๆ
หมอโป้งเริ่มสะสมแสตมป์ตอนไหน มีแรงบันดาลใจอะไรในตอนนั้น
แรงบันดาลใจแรกคือ คุณพ่อคุณแม่พาไปงานแสดงแสตมป์ในประเทศไทย ปี 2528 ตอนอายุ 9 ขวบ เป็นครั้งแรกที่ได้เห็นแสตมป์ เห็นรูปต่างๆ บนดวงแสตมป์ ก็รู้สึกว่าสวยดี ตอนนั้นจึงเริ่มซื้อแสตมป์ชุดราคา 3-5 บาท ซึ่งไม่ได้แพงมาก ซื้อเก็บรวบรวมไว้ แล้วก็ซื้อคู่มือรวบรวมข้อมูลแสตมป์ ในตอนนั้น ประเทศไทยก็มีคู่มือรวบรวมข้อมูลแสตมป์ในปี 2528 ซึ่งเป็นปีที่ผมเริ่มสะสม
คู่มือเล่มนั้นก็จะพูดถึงเรื่องแสตมป์ในปีนั้นว่ามีแสตมป์ชุดอะไรออกมาบ้าง และพูดถึงแสตมป์ดวงแรกถึงดวงสุดท้าย (ในปี 2528) ว่าไทยเคยมีแสตมป์อะไรบ้าง ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 เป็นต้นมา เราก็เปิดดูแล้วคิดว่า เออ สวยดีนะ มันก็เป็นแรงบันดาลใจว่าน่าเก็บสะสม
หลังจากเริ่มเก็บแสตมป์ไปสักพักก็รู้สึกว่า เราอยากเลือกแล้วว่าจะสะสมแสตมป์ไทยหรือต่างประเทศดี เราก็เลือกแสตมป์ไทยนี่แหละ เพราะอยากได้เอกลักษณ์ไทยๆ ก็เลยเลือกเป็นแสตมป์พระรูปในหลวง ร.9 แสตมป์ในหลวงรัชกาลที่ 9 ผมก็คิดว่าสวยดี มีสีเยอะ หลากหลาย และมีเอกลักษณ์ของความเป็นไทยที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขของประเทศใช้เวลาตัดสินใจไม่นาน ก็เลือกเก็บเฉพาะ ร. 9 และเลือกเจาะเฉพาะแสตมป์ ร. 9 มาตลอด
เสน่ห์ของการสะสมแสตมป์พระรูป ร.9 คืออะไร
ด้วยความที่พระองค์ครองราชย์มาอย่างยาวนานมาก เพราะฉะนั้น จึงมีแสตมป์ออกมาหลายชุด แล้วชุดที่ผมประทับใจ แล้วก็เล่นเยอะที่สุดก็คือแสตมป์ Definitive ก็คือแสตมป์ใช้งาน ซึ่งจะไม่เหมือนกับแสตมป์ที่ระลึก ที่เมื่อมีวาระครบรอบในโอกาสต่างๆ ก็จะมีแสตมป์ที่ระลึกออกมา แต่แสตมป์ Definitive จะเป็นแสตมป์ที่ใช้งานจริง ซึ่งพิมพ์ออกมาเรื่อยๆ ไม่มีที่สิ้นสุด หมดก็พิมพ์ใหม่เรื่อยๆ บางชุดผ่านไป 20 ปี ยังพิมพ์ออกมาไม่หมด มันก็จะต้องมีการศึกษาแล้วก็ติดตามตลอด มันจะไม่เหมือนแสตมป์ที่ระลึกซึ่งจะออกเฉพาะวันเด็ก วันชาติ วันต่างๆ แล้วก็จบ
ผมเก็บแสตมป์ชุดที่ใช้แล้วก่อน พอเราเริ่มสะสมแบบเจาะลึก ก็ต้องไปหาแสตมป์บางส่วนที่เราเกิดไม่ทัน เราก็ต้องไปหากับนักสะสมหรือตามพ่อค้าตามร้านแสตมป์ ซึ่งสมัยนั้นแสตมป์ก็ไม่ได้แพงมาก เก็บจากราคาถูกมาก่อน แล้วก็ค่อยๆ เพิ่มตามกำลังทรัพย์
ดูเหมือนว่าหมอโป้งไม่ได้แค่สะสมแสตมป์อย่างเดียว แต่ทำข้อมูลที่มาที่ไปของแสตมป์พระรูป ร.9 ในเชิงลึกด้วย
ใช่ครับ อย่างแสตมป์ในหลวงชุดนี้ ชุดแรก คือชุดนี้ ชุดสยาม ปี 2490 – 2492 คู่มือแสตมป์ไทย (โดยไปรษณีย์ไทย) ทั้งเล่มเขียนไว้ว่ามีสิบดวง ในคู่มือเขียนไว้แค่นี้ ผมเอาสิบดวงนี้มานั่งเขียนรายละเอียดเจาะลึกว่า แม่พิมพ์นี้ หมายเลขนี้ มาจากโรงพิมพ์นี้ มันมีหนังสืออ้างอิงมาจากต่างประเทศ ข้อมูลออกมาเลยว่า แสตมป์ราคาห้าสตางค์ที่มีแค่ดวงเดียว ปรากฏการพิมพ์ 3 ครั้ง แต่ละครั้งจะมีดวงแสตมป์ที่มีขนาด มีขอบ มีระยะระหว่างดวงที่แตกต่างกัน คือผมจะเจาะลงไปในเชิงลึกแบบนั้น สีแสตมป์ไม่เหมือนกันบ้าง อะไรบ้าง
อย่างเช่นแสตมป์หนึ่งบาทดวงนี้ เมื่อพิมพ์ไปนานๆ แม่พิมพ์มันจะสึกหรอ ดวงแสตมป์ตรงนี้มันจะไม่มีริ้วรอยตรงตัว m โดยปกติ แต่พอเป็นแสตมป์นี้ ก็จะมีรอยตรงนี้นิดหน่อย ก็คิดว่าตรงนี้มันเลอะหรือไม่เลอะ ผมก็ไปนั่งศึกษาเลย ปรากฏว่า พอไปรื้อแสตมป์ดู แต่ละปีจะปรากฏเป็นชุดเลยว่ารอยเส้นนี้มันจะใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ แล้วสืบก็ย้อนกลับไปว่า แม่พิมพ์มันเป็นเหล็ก พอมันตีลงไปตรงมุม ตีซ้ำเป็นหมื่นๆ ครั้งมันก็แตก พอมันสึก สีตรงนี้มันก็เลยซึมออกมา จากนั้นผมก็พบว่า แสตมป์ดวงนี้มันจะแตกเฉพาะดวงแรกของแผ่น พอเราเจอก็จะมานั่งเขียนหนังสือเป็นความรู้ นี่คือการศึกษาในเชิงลึก แม้กระทั่งแสตมป์ดวงเดียวผมก็เขียนรายละเอียดได้เป็นสิบหน้า คนที่ศึกษาเรื่องนี้ในประเทศไทยมีหลายคน แต่ต้องบอกว่า ผมเป็นคนที่เก็บข้อมูลและเขียนเรื่องแสตมป์ ร. 9 ในขณะที่นักสะสมคนอื่นๆ จะศึกษาและเขียนรายละเอียดของแสตมป์ในแต่ละรัชกาล
หมอโป้งหาข้อมูลเหล่านี้มาจากไหน
เนื่องจากแสตมป์ไทยพิมพ์ที่อังกฤษ ไม่ได้พิมพ์ที่ไทย แล้วก็ที่เยอรมัน ฝรั่งเศส แล้วก็ญี่ปุ่น ข้อมูลแสตมป์ไทยไม่มีในไทย และคนที่ศึกษาแสตมป์ไทย จริงๆ แล้วไม่มีคนไทยครับ เป็นฝรั่ง อย่างหนังสือของต่างประเทศ เขาจะให้ระบุว่าข้อมูลละเอียดไว้ ผมก็เลยรวบรวมจากตรงนี้ แล้วก็ไปหาแสตมป์ดูว่า มันมีอย่างที่พูดไว้ไหม
อย่างแสตมป์ดวงหนึ่งผมมีประมาณสัก 500-1,000 ดวง แล้วผมจะไปศึกษาในรายละเอียดว่าต่างกันอย่างไรในหนึ่งดวงนี้ แล้วเราจะไปศึกษารายละเอียดว่ามันต่างกันอย่างไร เพราะในเมื่อมันพิมพ์หลายครั้ง ก็ควรจะมีความต่าง เราก็เจาะลึกลงไปแบบนั้น หลักๆ คือเราต้องหาเอง จากข้อมูลจริง คือเรานำข้อมูลของจริงมาแปลงกลับ ไล่ไปตามกลับมาถึงเล่มนี้ว่า ใช้แม่พิมพ์อะไรพิมพ์บ้าง
คนไทยเพิ่งมาเก็บข้อมูลแสตมป์แบบละเอียดเมื่อ 30-40 ปีหลัง แต่ก่อนหน้า มีคนไทยเพียงไม่กี่คนที่ศึกษาในเชิงลึก และมีอีกส่วนหนึ่งที่ไม่ได้นำความรู้เหล่านั้นมาเผยแพร่ ในขณะที่ฝรั่งเขียนหนังสือมาก่อนแล้ว ซึ่งตอนนั้นก็คงมีอยู่ไม่กี่คนแล้วที่มานั่งเขียน
เอกลักษณ์โดดเด่นของแสตมป์ในหลวง ร. 9 อยู่ตรงไหน
การพิมพ์ครับ เทคนิคการพิมพ์ของเขาคือพิมพ์ด้วยวิธีเอนเกรฟ (Engrave) คือการแกะโลหะแม่พิมพ์แล้วพิมพ์ มันจะนูนเหมือนธนบัตร เพราะบริษัทที่พิมพ์ บางชุดก็จะพิมพ์ที่บริษัท โทมัส เดอ ลา รู (Thomas de la Rue) ซึ่งพิมพ์ธนบัตรให้เราด้วย ก็ออกมาเหมือนกัน ที่ว่านี้พิมพ์ก็จะออกมานูน (ซึ่งจะไม่เหมือนกับแสตมป์ทั่วไป) ใช่ครับ แสตมป์แบบทั่วไปเขาทำแบบเรโทรกราฟี (Lithography) หรือไม่โฟโตกราวัวร์ (Photogravure) ที่พิมพ์เรียบๆ แบบวารสาร หนังสือ แต่หลังๆ ประเทศไทยไม่ได้พิมพ์แบบนูนแล้ว เพราะทำยาก และเครื่องก็แพง เครื่องพิมพ์ราคาเป็นร้อยล้าน
หลังจากคุณหมอสะสมแสตมป์พระรูป ร.9 ไปสักระยะหนึ่ง ทำไมถึงตัดสินใจนำไปประกวด
คือผมไม่ได้อยากประกวดนะ คือมีนักสะสมชวนให้ไปลองประกวด ซึ่งมันก็มีข้อดี เดิมเราก็เก็บแสตมป์ไปเรื่อยๆ ก็คิดว่าเก็บครบแล้ว แต่พอประกวดก็มีคนถามว่า แล้วดวงนี้กับดวงนี้มีความต่างกันอย่างไร ทำไมถึงโชว์อันนี้ แล้วอีกอันมันมีไหม ถามไปถามมา พอสุดท้ายเหมือนเราโดนตั้งคำถามแล้วเราก็ต้องกลับไปดูว่ามันมีจริงไหม เราก็ไปศึกษาค้นคว้า แล้งพอเราค้นคว้าเสร็จมันก็มีเนื้อหาอะไรเพิ่มเติมเยอะแยะไปหมด แล้วพอเริ่มประกวด เราก็ทำต่อ เหมือนตกกระไดพลอยโจน แต่มันก็สนุกดีครับ
แสตมป์พระรูป ร.9 ได้รางวัลมากี่ครั้ง
คือรางวัลจะมีเป็นเกรด จริงๆ แล้วจะมีรางวัลให้ทุกครั้ง คล้ายๆ กับการให้คะแนนเป็นเกรด เอ บี ซี ดี อี ค่อยๆ ไล่มาเรื่อยๆ เป็นซิลเวอร์ เหรียญเงิน เหรียญนาก อะไรแบบนี้ เราต้องผ่านเกณฑ์นี้กี่ครั้ง จึงจะมีสิทธิ์ประกวดในระดับที่สูงขึ้น แล้วก็มาได้เหรียญทองมาในช่วงไม่กี่ปีให้หลัง แล้วที่ว่าได้รางวัลสูงสุด เขาเรียกว่าเหรียญทองใหญ่ ซึ่งได้มาเมื่อปี 2017-2018 สองปี (จากการประกวดแสตมป์ Australia FIAP international Stamp Exhibition ปี 2017 ประเทศออสเตรเลีย และงาน BANDUNG 2017 World Stamp Exhibition ประเทศอินโดนีเซีย) ที่สำคัญสำหรับผม ไม่ใช่เรื่องของเราจะได้รางวัลอะไร เพราะเหรียญไม่ใช่ทุกสิ่งทุกอย่างของชีวิต ไม่ใช่เหตุผลที่ผมเข้ามาประกวดแสตมป์ด้วยซ้ำ แต่การประกวดมันเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาเรียนรู้ในเชิงลึกเพื่อพัฒนาการสะสมแสตมป์ และเรียนรู้ว่าทั่วโลกเค้าทำกันอย่างไรต่างหาก ถ้าไม่ได้ประกวด ผมรู้สึกว่าคงไม่มีโอกาสได้เรียนรู้และเห็นสิ่งสะสมที่หายากจากทั่วโลกเหล่านี้
ทราบเหตุผลไหมว่าทำไมคอลเลกชันของหมอโป้งจึงได้เหรียญทอง
เขาจะมีเกณฑ์ในเรื่องของความหายาก เรื่องของการศึกษาค้นคว้าในดวงแสตมป์ แล้วก็เรื่องของการนำเสนอ ร้อยเรียงถูกต้อง แล้วก็มีเรื่องของการเขียนด้วย แล้วก็ความสะอาด ความเก่า ความสมบูรณ์ของสิ่งสะสม คือเกณฑ์มันจะเยอะมาก ตอนหลังผมก็ได้มีโอกาสไปเป็นกรรมการฝึกหัด ตอนนี้ก็เลยรู้สึกว่าเกณฑ์มันจะมียิบย่อย แล้วเขาก็มีวิธีการตัดแต้ม เช่น อันนี้สภาพแสตมป์เก่า ไม่สวย ตัดไปหนึ่งแต้ม ไปตัดไปตัดมา 5 คะแนน เต็มร้อยมันก็จะเหลือไม่ถึง 95 เหรียญก็จะหล่นจาก Large gold เหรียญทองใหญ่ ลงมาเป็น Gold ตัดลงไปอีก 5 เหรียญมันจะลดระดับไปเรื่อยๆ
คุณหมอมีแสตมป์ที่มีพระปรมาภิไธยของในหลวงรัชกาลที่ 9 ด้วย ได้มาได้อย่างไร
ครั้งแรกมีคนมาเสนอผม ซึ่งตอนนั้นผมยังเรียนอยู่ ก็ลาก่อนเลยครับ ตอนนั้นเป็นนักเรียนมัธยม ไม่มีทางแน่นอน แต่มันอยากได้ ไม่รู้จะทำยังไง ราคาตอนนั้นคือหนึ่งแสนบาท ซึ่งเป็นหนึ่งแสนเมื่อ 20 ปีที่แล้ว หลังจากนั้น ผมทำงานเก็บเงินมาเป็นสิบปี เราก็คิดว่าแสตมป์ดวงนั้นมันก็ต้องอยู่ คืออยากได้เพราะว่าโดยส่วนตัวผมรักที่จะเก็บในหลวง รัชกาลที่ 9 ทั้งหมด ผมเคยฝันไว้ว่าอยากได้แสตมป์ที่มีพระปรมาภิไธยท่านสักครั้งหนึ่ง หลังจากนั้นเป็นสิบปี ออกมาใหม่ในงานประมูล ผมเดาว่าคนจะไม่ค่อยให้ความสำคัญมากเพราะว่า ในเชิงประกวดแล้วมันก็คือแสตมป์ธรรมดาหนึ่งดวงเท่านั้นเอง ความสำคัญในเชิงประกวดไม่ได้ถือว่าเป็นแสตมป์หายากอะไร แต่ในความรู้สึกของเรา ซึ่งเราเก็บ มันเป็นดวงที่สุดๆ ทั้งชีวิตผมหามาก็อยากได้แสตมป์ที่มีพระปรมาภิไธยของท่าน กรรมการต่างชาติจะสนใจหรือไม่สนใจยังไงก็ไม่สน ถ้าเป็นลายเซ็นท่านผมก็อยากได้แล้ว
ที่มาของแสตมป์ดวงนี้มีอยู่สองสมมติฐาน ไม่มีใครรู้ความจริง สมมติฐานแรกบอกว่า มีคนไปเข้าเฝ้าท่านตอนที่ท่านเสด็จต่างประเทศ แล้วปีนั้นแสตมป์ดวงนี้ออก จึงนำไปแสตมป์แล้วไปขอให้ท่านพระราชทานพระปรมาภิไธย แต่มีอีกคนหนึ่งเล่าให้ผมฟังว่าท่านพกเอาไว้ แล้วท่านก็ลงพระปรมาภิไธย เอาไว้แจกคนที่มาเฝ้ารับเสด็จ ซึ่งน่าจะมีเยอะเป็นปึกๆ แต่ทุกวันนี้ผมก็เห็นชิ้นนี้ชิ้นเดียว เมื่อ 20 ปีแล้วมาเห็นชิ้นนี้ชิ้นเดียว ซึ่งมันก็แสตมป์ดวงเดียวกัน และผมก็เชื่อว่า ชิ้นที่ผมเห็นเมื่อ 20 ปีที่แล้วกับที่อยู่กับผมมันเป็นชิ้นเดียวกัน ผมก็เลยเชื่ออันแรกว่าจริงๆ คงมีไม่กี่คนที่เข้าเฝ้าท่านอย่างใกล้ชิด แล้วขอพระราชทานมากกว่า
34 ปีในการสะสมแสตมป์ของหมอโป้ง เจอปัญหาหรืออุปสรรคบ้างอะไรบ้างครับ
อย่างแรกคือผมรู้ว่าแสตมป์ที่ดีหลายๆ รายการนักสะสมไม่ขาย แล้วก็ไม่ประกวด ไม่เขียนหนังสือ ไม่นำเสนอ ไม่ทำอะไรทั้งนั้น แล้วแสตมป์พวกนี้ก็จะเหมือนสูญหายไปตามกาลเวลา เราก็รอ ประมาณว่าไม่ตายของไม่ออก ผมก็เอามาจัด เอามาเขียนหนังสือ เอามาทำอะไรต่อไม่ได้ จะเอามานำเสนอในหนังสืออะไรก็ไม่ได้ เพราะเจ้าของไม่อนุญาต มันก็จบข่าว
อุปสรรคที่สอง คือเจ้าของมี แต่ว่าไม่ขายด้วย ก็ต้องใช้วิธีแลก แลกของนี่ผมว่ายังเบาหน่อย คือถ้ามีอะไรที่เขาสนใจ เราเอาไปแลก เขาอาจจะยอมแลกของ เช่น มีคนที่เก็บแสตมป์พระรูป ร.5 แล้วบังเอิญมีแสตมป์พระรูป ร.9 เราก็ต้องเอาแสตมป์ฯ ร.5 ไปแลก แต่ปัญหาคือถ้าเขามีแสตมป์ฯ ร.9 แบบหนึ่ง แสตมป์ฯ ร.5 ที่จะไปแลกก็ต้องมีมูลค่าที่ไม่แตกต่างกัน เราต้องไปหาแสตมป์ต้นแบบของรัชกาลที่ 5 ซึ่งอาจมีอายุเป็นร้อยปี ก็ยิ่งยากเข้าไปอีก
เคยมีคนตั้งคำถามไหมว่าทำไมถึงยอมเสียเงินมากมาย ทุ่มทั้งเวลา ทั้งเงิน ทั้งหลายๆ สิ่งเพื่อที่จะได้ครอบครองสิ่งเหล่านี้
เพราะว่าผมชอบ ไม่มีอะไรเลย คือจริงๆ แล้วเราไม่ได้กำไรจากของพวกนี้นะ แสตมป์ไทยจากที่เราเห็นว่าอาจจะไม่ได้มีราคาค่างวดอะไรมากมายเทียบกับแสตมป์ต่างประเทศ แต่ว่าถ้าเกิดมีคนสนใจ หรือมีคนมาศึกษาลึกๆ แล้วรู้ว่ามันต่างกันจริง ของพวกนี้มันก็ไม่ใช่ของธรรมดาที่จะหาได้ทั่วไปตามตลาด สักวันหนึ่งมูลค่าแสตมป์ไทยมันอาจจะดีขึ้นก็ได้นะ แล้วก็คนอาจจะเห็นค่าแสตมป์พวกนี้มากขึ้น มองว่าเป็นการลงทุนระยะยาว ยาวแบบไม่รู้จะเห็นผลเมื่อไหร่ แต่ผมเชื่อว่าก็ไม่ธรรมดา ก็เป็นการลงทุนที่เริ่มมาจากความชอบ แล้วมันมีความสุขที่ได้เก็บ ถ้าไม่ชอบมันก็คงทำไม่ได้ แต่ว่าสักวันของพวกนี้มันจะมีค่า ให้คนหันกลับมาดูว่าแสตมป์ไทยจริงๆ แล้วมันมีรายละเอียดที่มันลึกซึ้ง
คุณหมอมองตัวเองเป็นนักเก็บสะสมข้อมูล เก็บประวัติศาสตร์ผ่านแสตมป์ด้วยไหม
ใช่ๆ ผมว่ามันเหมือนศึกษาประวัติศาสตร์มากกว่า แล้วเรื่องประกวดมันเป็นเรื่องรอง จะได้หรือไม่ได้รางวัลผมไม่แคร์นะ รางวัลเราก็อาจจะได้แค่เหรียญทองหรืออาจจะต่ำกว่านั้น ซึ่งผมก็ไม่เดือดร้อน เล่าให้ฟังอีกนิดคือแสตมป์ ร.5-6-7-8 พิมพ์ด้วยวิธีการแบบเดียวกันหมดเลย ซึ่งแสตมป์เหล่านี้ถือเป็นแสตมป์ยุคก่อนสงคราม และโดยทั่วไปแล้วทั่วโลกยอมรับว่าแสตมป์ยุคนี้มีความหายากมากๆ ไม่ต้องพูดถึงรายละเอียดของการพิมพ์แต่ละครั้งเลย แค่หาให้ได้ยังยาก ซึ่งของสะสมในยุคนี้แทบจะมีเพียงอย่างละชิ้นเดียวในโลกเท่านั้น ต่างชาติจึงยอมรับว่าคอลเลกชันเหล่านี้เป็นสุดยอดในระดับโลก แต่ในเชิงการค้นคว้ามันขึ้นอยู่กับว่าคุณสามารถหาข้อมูลได้ไหม ในเชิงของคนที่ศึกษามันก็คิดคนละแบบแล้วนะ ฝรั่งอาจจะมองว่าไม่สำคัญ แต่ผมมองว่ามันสำคัญกับบ้านเรา นี่มันคือข้อมูลประวัติศาสตร์ของบ้านเราซึ่งไม่มีคนทำ
สมัยนี้คนเขียนจดหมายน้อยลง แสตมป์ก็มีการใช้น้อยลง คุณหมอรู้สึกอย่างไรว่าสิ่งที่คุณหมอชอบสะสมมันกำลังค่อยๆ หายไป
ใจหายไปแล้วล่ะ จริงๆ ก็แอบแป้วไปนานแล้วครับ เพราะว่าไปรษณีย์เขาใช้สติกเกอร์สีขาวรูปช้าง เรียกว่าสติกเกอร์ช้าง ตั้งแต่ตอนนั้นก็รู้อยู่แล้วครับว่าวงการการสะสมคงไปได้ไม่ไกล เนื่องจากว่าการพิมพ์ การจำหน่ายแสตมป์มันน้อยลง แล้วเขาก็จะออกมาแต่แสตมป์ที่ระลึก พอออกมาก็ออกมาแค่ดวงเดียว แล้วพอซื้อชุดหนึ่งมันก็ไม่มีอะไรต้องศึกษาแล้ว พอมีการพิมพ์มาครั้งเดียวก็ไม่มีเรื่องของแม่พิมพ์ที่ต่าง ไม่มีรายละเอียดอะไรแล้ว ในแง่ของการประกวดจบเลย มันประกวดไม่ได้ แล้วแสตมป์ที่ประกวดไม่ได้
ผมขอสะท้อนให้ฟังว่านักสะสมที่เป็นมือหนักๆ หรือพวกเล่น เขาก็ไม่รู้จะเก็บไปทำไม เพราะว่ามันไม่มีอะไรต้องศึกษาแล้ว มันครบหมดแล้ว มีออกมาชุดเดียว ดวงเดียว พอมันศึกษาไม่ได้ มันก็ไม่มีคนทำแบบนี้ พอไม่มีปุ๊บ การที่เราจะจัดนำเสนอ หรือผลงานอะไรที่มันเกี่ยวกับการศึกษาค้นคว้า มันจะไม่เกิด แสตมป์มันก็ตาย นี่ยังไม่รวมถึงการที่ไม่ใช้แสตมป์อีก ผมว่าอนาคตเรื่องการประกวด แสตมป์ชุดใหม่ๆ คงไม่มีคนทำ แต่มองว่ามันกลับเป็นการดีว่าถ้านักสะสมอยากจะสะสมแสตมป์ในเชิงลึกมากขึ้น เขาก็ไม่มีที่ไปหรอก นอกจากต้องกลับมาตามแสตมป์ชุดเก่าๆ
ผมสะดุดคำหนึ่งคือคำว่า “แสตมป์ตาย” ในความหมายของคุณหมอคืออะไร
มันจะออกมาเป็นแสตมป์สวยงาม เช่นออกชุดผีเสื้อมาสวยหรูเลย แต่เก็บไปแล้วจะทำอะไรได้ ติดจดหมายมันก็สวยเกินไปก็ไม่ติด แล้วตกลงเราซื้อแสตมป์ พิมพ์แสตมป์ออกมาเพื่อเก็บ ประกวดได้ไหม ซึ่งการประกวด หนึ่ง ต้องมีต้นแบบ สอง ต้องมีแสตมป์ มีการใช้งานจริง สาม เมื่อมีการพิมพ์จำนวนเยอะๆ แล้วมีความแตกต่างกันในแต่ละครั้ง สี่ พิมพ์แล้วมันอาจจะมีความผิดพลาดบ้าง กระดาษเบี้ยวบูดบ้าง ซึ่งอันนี้มันคือเสน่ห์ของแสตมป์ เพราะทุกอย่างมันต้องมีการผิดพลาดแล้วมันต้องมีการใช้จริง พอมันไม่มีแล้วพิมพ์มาครั้งเดียว แล้วสวยหรูตลอด เก็บไปมีแต่ขายลดหน้าดวง ซื้อมาร้อยนึงเอาไปขายต่อ อนาคตมันก็คือเหมือนเราพิมพ์โปสเตอร์อะไรมาสักหนึ่งแผ่น เผอิญเป็นโปสเตอร์ขนาดเล็กจะเอาไปติดแสตมป์ คนก็ไม่ใช้กันแล้ว
เคยจินตนาการถึงช่วงที่ไม่มีแสตมป์อีกต่อไปเหมือนแผ่นเสียงไหม
ผมว่ามันก็มีโอกาสครับ เพราะประเทศไทยเขากำลังเดินไปทางนั้นอยู่นะ หนึ่งมันรวดเร็ว มันสะดวก ต่อไปอาจจะไม่ได้หายไปทั้งหมดแต่เขาจะออกมาตามวาระ พิเศษชุดนี้ห้าแสนดวง ชุดนี้ล้านดวง ออกมาแบบนั้น สวยๆ จบแล้ว แล้วเอาไปทำอะไรได้ ก็เป็นที่ระลึก เอามาใส่เล่มโชว์ แต่มันไม่ได้มีในแง่ประวัติศาสตร์ถึงความลึกซึ้งว่ามันมีอะไรให้ศึกษา มันดูไม่น่าศึกษาค้นคว้า มันไม่มีเรื่องราวของมันอยู่อีกแล้วไง นั่นคือสิ่งที่ผมคิดว่าแสตมป์จะตายสนิทเลย
คุณหมอรู้สึกอย่างไรที่ของที่เราสะสมเป็นสิ่งที่คุณรุ่นใหม่กำลังจะไม่รู้จักแล้ว
อย่างลูกผมก็ไม่รู้จักแล้ว แต่เขาก็มาเห็นตอนผมตัด วางอยู่ ส่วนหนึ่งก็ใจหายครับ ใจหายว่าคนคงไม่รู้จักแล้ว แต่ผมยังเชื่อว่าแสตมป์ของรัชกาลที่ 9 คือพระองค์ท่านครองราชย์ยาวนานมาก 70 ปี แทบจะเรียกว่าคนทุกรุ่น ทุกยุคสมัยรู้จักพระองค์ท่าน ยกเว้นแต่เด็กรุ่นใหม่ที่กำลังจะเกิดหลังจากนี้ อาจจะไม่รู้จัก แต่สักวันหนึ่งโตขึ้น ถ้าเขาศึกษาประวัติศาสตร์ไทยก็จะรู้จักอยู่ดี ก็เลยคิดว่าใจผมยังอยากทำหนังสือที่เจาะลึกลงไปกับแสตมป์พระรูป ลงไปลึกอีก คล้ายๆ ทำวิทยานิพนธ์ให้ตัวเอง เราโชว์เฉพาะสิ่งที่เป็นหลักฐานข้อเท็จจริงว่า เจอแบบนี้นะ เขียนแบบนี้นะ ใครจะเชื่อหรือไม่เชื่อไปตัดสินเอาเอง คนที่เขามาอ่านจะได้รู้ว่าแสตมป์ไทยมันก็มีอะไรที่ลึกซึ้งมากกว่าที่คิด ซึ่งผมหวังไว้ลึกๆ ว่าสักวันคงมีคนหันมาให้ความสนใจและช่วยกันศึกษาหาข้อมูลกันมากขึ้น เพื่อที่แสตมป์ไทยในยุคของรัชกาลที่ 9 จะได้เป็นที่รู้จักและได้รับการยอมรับจากนักสะสมทั่วโลก
ติดตามผลงานการสะสมแสตมป์ของหมอโป้งเพิ่มเติมได้ที่ Facebook Thai Stamp Collectors
สัมภาษณ์และเรียบเรียง เกียรติศักดิ์ หมื่นเอ
กองบรรณาธิการออนไลน์/ดิจิทัล นิตยสาร เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย
***ภาพ เจียรยุทธ์ รัตนศิริกุลเดช
โครงการนักศึกษาฝึกงาน กองบรรณาธิการ นิตยสารเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย