กำพล วัชรพล ในเส้นทางเจ้าของหนังสือพิมพ์สู่บุคคลสำคัญของโลก

เส้นทางชีวิตคุณ กำพล วัชรพล เจ้าของหนังสือพิมพ์ ไทยรัฐ หนึ่งในองค์กรสื่อที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดในไทย กับการได้รับการยกย่องให้เป็นบุคคลสำคัญของโลกโดยยูเนสโก

ในประชุมสมัยสามัญครั้งที่ 39 ขององค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือยูเนสโก (UNESCO) ในวันที่ 30 ตุลาคม – 14 พฤศจิกายน 2560 ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ได้มีมติให้ประกาศยกย่องนาย กำพล วัชรพล อดีตผู้อำนวยการ และผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ และผู้ต่อตั้งโครงการโรงเรียนไทยรัฐวิทยาเพื่อชุมชนในชนบท และมูลนิธิไทยรัฐ ให้เป็นบุคคลสำคัญของโลกด้านการสื่อสารมวลชนและการศึกษา ประจำปี พ.ศ. 2561 – 2562 เนื่องในโอกาสครบรอบ 100 ปีชาตกาล

เป็นบุคคลสำคัญของโลกชาวไทยโดยยูเนสโกลำดับที่ 28 ซึ่งเป็นคนล่าสุดที่ได้รับการยกย่อง

ด้วยตำแหน่งผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ จึงไม่ต้องสงสัยถึงผลงานอันสำคัญที่คุณกำพล วัชรพล สร้างไว้ให้กับประเทศไทยในฐานะผู้วางรากฐานองค์กรหนังสือพิมพ์ – สื่อสารมวลชนที่มีขนาดใหญ่ซึ่งได้รับการยอมรับจากผู้คนในประเทศ และทำให้ประชาชนคนไทยได้รับรู้ข้อมูลข่าวสารเพื่อพัฒนาตัวเองและส่งเสริมความเข้าใจในสังคมนับตั้งแต่ครั้งที่ไทยรัฐตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อ  พ.ศ. 2505 เป็นต้นมา

อาจกล่าวได้ว่าผู้ที่เป็นคนไทย หรืออาศัยอยู่ในประเทศไทย ต้องเคยอ่านข่าวจากไทยรัฐ ไม่ว่าจะในหนังสือพิมพ์หรือข่าวสารในรูปแบบดิจิทัล รวมไปถึงชื่อของโรงเรียนไทยรัฐวิทยา อันเป็นโรงเรียนส่งเสริมโอกาสทางการศึกษาในต่างจังหวัด ซึ่งกำลังจะมีจำนวนมากถึง 111 แห่ง

นี่คือคุณูประการที่ไทยรัฐ โดยคุณกำพล วัชรพล ได้สร้างไว้ให้กับสังคม

*********************************

ณ อาคารเลขที่ 1 ริมถนนวิภาวดีรังสิต ที่ในอดีตชื่อว่าถนนซุปเปอร์ไฮเวย์ ทำหน้าที่เชื่อมกรุงเทพสู่หัวเมืองต่างจังหวัดทางภาคเหนือและอีสาน เป็นที่ตั้งของสำนักงานไทยรัฐ ซึ่งในตอนนี้กลายเป็นอาณาจักรทางสื่อสารมวลชนครบถ้วน ทั้งหนังสือพิมพ์ สื่อออนไลน์ และสถานีโทรทัศน์

ประติมากรรมด้านล่างของอาคารที่มีส่วนการจัดแสดงพิพิธภัณฑ์กำพล วัชรพล ที่มีความหมายที่การประสานร่วมมือกันของสื่อและสังคม
ส่วนจัดแสดงนิทรรศการ ประวัติชีวิตคุณกำพล วัชรพล และพัฒนาการหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

ในอาคารด้านหน้าอาณาจักรแห่งนี้ ซึ่งเคยเป็นที่ตั้งของกองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ไทยรัฐในอดีต ได้แบ่งพื้นที่ส่วนหนึ่งไว้ก่อตั้ง พิพิธภัณฑ์กำพล วัชรพล พิพิธภัณฑ์ที่ก่อตั้งขึ้นเพื่อเฉลิมฉลองในโอกาสที่องค์การยูเนสโกประกาศยกย่องให้เป็นบุคคลสำคัญของโลก และแสดงเรื่องราวชีวิตและผลงานและพัฒนาการของหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ หนังสือพิมพ์ที่ทำหน้าเป็นกระบอกเสียงให้มวลชนมาตลอดกว่า 6 ทศวรรษ ด้วยแนวความคิดหลัก กำพล วัชรพล นักสู้สามัญชน… คนของโลก

เมื่อเข้ามาเยือนพิพิธภัณฑ์ในโซนแรก จะพบกับบทประพันธ์กล่าวสดุดีคุณกำพล วัชรพล โดยคุณเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ศิลปินแห่งชาติ

จากนั้นเป็นโซนจัดแสดงนิทรรศการที่องค์กรยูเนสโกได้ประกาศยกย่องให้คุณกำพล วัชรพล เป็นบุคคลสำคัญของโลก พร้อมแสดงชื่อบุคคลสำคัญจากประเทศอื่นๆ ที่ได้รับประกาศเกียรติคุณจากยูเนสโกในโอกาสเดียวกัน โดยบุคคลที่เป็นที่รู้จักในระดับโลก มีทั้งลีโอนาร์โด ดาร์วินชี จิตรกรและนักประดิษฐ์ชื่อดังชาวอิตาลี และเนลสัน แมนเดลลา ผู้นำการต่อสู้การเหยียดผิว รัฐบุรุษ อดีตประธานาธิบดีประเทศแอฟริกาใต้ และมีส่วนจัดแสดงรายชื่อบุคคลสำคัญโลกชาวไทย จำนวน 28 คน ที่มีทั้งพระมหากษัตริย์ ราชวงศ์ นักกการศึกษา นักการเมือง ซึ่งคุณกำพลเป็นบุคคลธรรมดาเพียงไม่กี่คนที่ได้รับเกียรติในตำแหน่งนี้

ด้านหน้าโซนการจัดแสดงนิทรรศการ กำพล วัชรพล บุคคลสำคัญของโลก ด้านซ้ายเป็นรายชื่อผู้ที่ได้รับการยกย่องให้เป็นบุคคลสำคัญของโลกในปีเดียวกัน ส่วนตรงกลางเป็นภาพและรายชื่อบุคคลสำคัญของไทยที่ได้รับการยกย่องให้เป็นบุคคลสำคัญจากยูเนสโก

ชีวิตบนถนนน้ำหมึก – จบป.4 – นายท้ายเรือโยง – ทหารเรือ สู่เจ้าของหนังสือพิมพ์ที่มียอดจำหน่ายสูงสุดของประเทศ

ในนิทรรศการประวัติชีวิตของคุณกำพล วัชรพล ระบุไว้ว่า เขาเกิดเมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2462 ที่จังหวัดสมุทรสาคร ได้รับการศึกษาเพียงแค่ระดับชั้น ป.4 ก่อนจะผันตัวไปทำงานในเรือรับจ้างจนได้เป็นนายท้ายเรือ ก่อนจะเข้ามาทำมาหากินในกรุงเทพ โดยอาศัยอยู่กับญาติชื่อลุงจอมในห้องเช่าแคบๆ จากนั้นได้ถูกเกณฑ์ทหารไปในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อปี 2483 ในฐานะทหารเรือ และหลังจากนั้น คุณกำพลก็ได้สมัครเป็นทหารเรือเต็มตัว

ดูเหมือนในช่วงชีวิตแรกวัยหนุ่ม ไม่มีอะไรข้องเกี่ยวกับการเป็นนักหนังสือพิมพ์แม้แต่น้อย

แต่ในชีวิตของทุกคนย่อมมีจุดเปลี่ยน

คุณมานิจ สุขสมจิตร บรรณาธิการอาวุโส หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ที่พาเราชมพิพิธภัณฑ์และทำงานในหนังสือพิมพ์ไทยรัฐร่วมยุคกับคุณกำพล เล่าย้อนไปว่า ในช่วงที่คุณกำพลอาศัยอยู่กับลุงจอม ที่แม้จะไม่ได้มีเงินทองมากมาย แต่เขาก็เห็นลุงจอมหาซื้อหนังสือพิมพ์มาอ่านในทุกเช้า นั่นทำให้คุณกำพลเล็งเห็นว่า คนจะหิวข่าว(สาร) มากกว่าหิวช้าว และมีส่วนให้เขาเลือกเดินทางในเส้นทางสายน้ำหมึกในเวลาต่อมา

คุณมานิจ สุขสมจิตร บรรณาธิการอาวุโสหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ผู้ที่เคยทำงานในหนังสือพิมพ์ไทยรัฐร่วมยุคกับคุณกำพล วัชรพล

ปี พ.ศ. 2491 คุณกำพลได้ลาออกมาจากทหารเรือเข้ามาสมัครทำงานในหนังสือพิมพ์ “หลักไทย” กับคุณเลิศ อัศเวศน์ มีหน้าที่รวบรวมข่าวแจกที่กรมโฆษณาการ หรือกรมประชาสัมพันธ์ในปัจจุบัน ในเวลาต่อมา คุณกำพลกับคุณเลิศ ได้นำสารคดีเรื่อง นรกใต้ดินไทย ไปเสนอขายที่สำนักพิมพ์ต่างๆ แต่ตกลงเรื่องราคาไม่ได้ ทั้งสองคนจึงตัดสินใจลุงทุนพิมพ์หนังสือเล่มนี้เอง จนได้เงินมา 6000 บาท และเป็นทุนตั้งต้นในการทำนิตยสาร ข่าวภาพ  ออกเป็นรายสัปดาห์ และพัฒนามาเป็น ข่าวภาพรายวัน

หลังเหตุการณ์การรัฐประหารจอมพล ป. พิบูลสงคราม โดยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เมื่อปี 2500 มีการสั่งปิดหนังสือพิมพ์ทุกหัวในกรุงเทพมหานคร รวมถึงข่าวภาพรายวัน คุณกำพลจึงไปเช่าหัวหนังสือพิมพ์ เสียงอ่างทอง ที่จำหน่ายที่จังหวัดอ่างทองเข้ามาออกในกรุงเทพมหานคร โดยใช้ชื่อคณะบรรณาธิการจากหนังสือพิมพ์ข่าวภาพรายวัน

หนังสือพิมพ์เสียงอ่างทองในยุคนั้นขายดีเป็นเทน้ำเทท่า จนเจ้าของหัว เสียงอ่างทอง ขอคืนมาทำเอง คุณกำพลจึงออก หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ที่ซื้อหัวเตรียมไว้ก่อนหน้านี้ (เพราะในช่วงนั้น มีคำสั่งห้ามมิให้มีการออกหนังสือพิมพ์หัวใหม่จากรัฐบาล) ในปี 2505 ซึ่งเป็นจุดกำเนิดของชื่อ “ไทยรัฐ” มาจนถึงปัจจุบัน

ส่วนเสียงอ่างทองที่เจ้าของเดิมเอาไปทำเองนั้น คุณมานิจกล่าวว่า หลังจากเอาไปทำเองได้ไม่นาน เสียงอ่างทองฉบับนั้นก็มีอันพับกิจการไป

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐได้รับความนิยมจากผู้อ่านจากนโยบายนำเสนอข่าวที่กระตุ้นและสนองความสงสัยใคร่รู้ และความกระหายในข่าวสารของประชาชนทั่วไป โดยคุณกำพลใช้กุลยุทธ์ “งานข่าวประสานการตลาด” เสนอเรื่องราวสนองความอยากรู้อยากเห็นของคนท้องถิ่น ผูกใจกับเอเย่นต์ส่งหนังสือให้จัดส่งหนังสือพิมพ์อย่างรวดเร็ว เข้าถึงผู้อ่านได้ง่าย ทำให้ยอดพิมพ์พุ่งทะยานไป 140,000 ฉบับ ในปี 2508 และกลายเป็นหนังสือพิมพ์ที่มียอดจำหน่ายสูงสุดของประเทศมาจนถึงปัจจุบัน

ด้านนอกนิทรรศการแสดงประวัติชีวิต คุณกำพล วัชรพล และหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

เมื่อยอดจำหน่ายขยายตัวมากขึ้น ไทยรัฐจึงปฏิรูประบบการส่งหนังสือพิมพ์ จากเดิมที่ต้องอาศัยบริการ “รวมห่อ” ในย่านสถานีรถไฟหัวลำโพง เป็นผู้ส่งหนังสือพิมพ์ไปยังต่างจังหวัด ซึ่งกว่าจะถึงมือผู้อ่านก็ใช้เวลาถึง 2-3 วัน มาลงทุนซื้อรถยนต์บรรทุกมาขนส่งหนังสือเอง (และเป็นที่มาของรถบรรทุก ฉายายักษ์เขียว ของไทยรัฐที่มีชื่อเสียงในความสามารถด้านการทำความเร็วขนส่งหนังสือพิมพ์ไปยังหัวเมืองใหญ่ตามจังหวัดต่างๆ ได้ภายในคืนเดียว มาจนถึงปัจจุบัน)

ในส่วนนี้ คุณมานิจเล่าให้ฟังเพิ่มเติมว่า ในช่วงแรกๆ ที่ไทยรัฐซื้อรถมาขนส่งหนังสือเอง ก็ไม่ได้ขนหนังสือพิมพ์ของตัวเองเพียงอย่างเดียว แต่ยังให้หนังสือหัวอื่นๆ ใช้บริการขนส่งหนังสือโดยรถของตัวเองได้ รวมไปถึงนักข่าวของสำนักพิมพ์อื่น ถ้าต้องการเดินทางไปทำข่าวที่ต่างจังหวัดก็สามารถติดรถของไทยรัฐได้ด้วยเช่นกัน

โดยคุณกำพลได้ให้เหตุผลในความเอื้อเฟื้อนี้ว่า ถ้าไม่ช่วยเหลือเขา เราไม่ใหญ่

ความสามารถในการนำเสนอข่าวให้ตรงใจผู้อ่านภายใต้จรรยาบรรณ  ให้ความสำคัญกับเสรีภาพของหนังสือพิมพ์ที่อยู่เคียงข้างประชาชน เมื่อรวมกับการประสานความร่วมมือทางธุรกิจกับผู้อื่นด้วยความเอื้อเฟื้อจนเกิดความไว้ใจ ส่งผลให้อาณาจักรไทยรัฐของเขายิ่งใหญ่ในธุรกิจสื่อสารมวลชนมาจนถึงทุกวันนี้

หนังสือพิมพ์มวลชน กับการจัดการศึกษาเพื่อมวลชน

หลังจากสร้างไทยรัฐให้กลายเป็นหนังสือพิมพ์ของมวลชน อีกสิ่งหนึ่งที่คุณกำพลต้องการทำให้เป็นจริงคือการจัดการศึกษาให้กับเด็กๆ ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ห่างไกลความเจริญตามต่างจังหวัด โดยเขายึดถือแนวคิดว่า หนังสือพิมพ์อยู่ได้ด้วยศรัทธาของมวลชน จึงต้องตอบแทนประชาชน เมื่อครั้งเป็นเด็ก เขามีฐานะยากจน และเรียนหนังสือมาน้อย เมื่อพอมีฐานะ จึงมีแนวคิดสนับสนุนการศึกษาให้ผู้อื่น  เปิดโอกาสให้เด็กๆ ได้เรียนหนังสือในโรงเรียนที่ดี ครูที่ดี จึงเกิดเป็นโครงการโรงเรียนไทยรัฐวิทยาแห่งแรกที่จังหวัดลพบุรีในปี 2512

ภายในเวลาสามสิบปีต่อมา คุณกำพลใช้จ่ายเงินราว 100 ล้านเหรียญสหรัฐ ในการสร้างเครือข่ายโรงเรียนไทยรัฐวิทยาทั่วประเทศกว่า 101 แห่งในช่วงบั้นปลายชีวิต และได้มีการขยายเพิ่มต่อมาเป็น 111 แห่ง เพื่อให้ครบ 100 ปีชาตกาลของเขาในปี 2562 ในการประชุมใหญ่นักหนังสือพิมพ์ทั่วโลกที่บราซิลครั้งหนึ่ง นายฮิเดอิ ซากาตะ ผู้แทนสมาคมเจ้าของและบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ญี่ปุ่น (Nihon Shimbun Kyokai – 日本新聞協会) ได้กล่าวสดุดีนายกำพลต่อที่ประชุมว่า เป็นบุคคลและหนังสือพิมพ์ฉบับเดียวที่ได้อุทิศเงินเพื่อการศึกษามากที่สุดเท่าที่เขาเคยเห็นมา

นอกจากเป็นผู้อำนวยการหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ คุณกำพลเคยดำรงตำแหน่งกรรมการมูลนิธิหนังสือพิมพ์แห่งเอเชีย, สมาชิกวุฒิสภา และได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นสูงสุดคือ มหาปรภรณ์ช้างเผือก ซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาที่ไม่ได้มาจากแวดวงการเมือง-ข้าราชการน้อยคนนักที่จะได้รับ

คุณกำพล วัชรพล ถึงแก่อนิจกรรมด้วยโรคมะเร็งในลำไส้ เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2539 สิริอายุ 76 ปี

ส่วนการจัดแสดงพัฒนาการเทคโนโลยีการพิมพ์ของหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ
บล็อกแม่พิมพ์ตัวอักษร ส่วนประกอบในเทคโนโลยีการพิมพ์ยุคแรกของหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

*********************************

จากที่ประชุมสมัชชาใหญ่ขององค์การยูเนสโก เมื่อปี 2560 ได้มีการเสนอว่า นายกำพล วัชรพล เป็นนักการศึกษาแห่งมวลชน แม้เขาจะปราศจากการศึกษาอย่างเป็นทางการ แต่เขาก็ได้ส่งเสริมความรู้ และการศึกษาผ่านกิจการทางสื่อของเขา ซึ่งเป็นผู้ใจบุญที่เรียนรู้ด้วยตัวเองนี้ ได้ใช้หนังสือพิมพ์รายวันของเขาอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อเป้าหมายสองประการ ประการแรก เพื่อให้การศึกษาแก่ชาวบ้านในด้านการเมือง และสภาพเศรษฐกิจสังคมของประเทศ ประการที่สอง คือเพื่อต่อสู้กับความพยายามในการถูกตรวจพิจารณาข่าวสาร (เซ็นเซอร์) โดยระบอบเผด็จการก่อน 2535

ความเป็นมืออาชีพทางสื่อ และทักษะการบริหารจัดการของเขา ทำให้ไทยรัฐเป็นหนังสือพิมพ์รางวัลที่มีชื่อเสียงมากที่สุดของประเทศ กลายเป็นเสียงที่มีอิทธิพลมากที่สุดเสียงหนึ่งในการพัฒนาอย่างเสรีด้านการเมือง และเศรษฐกิจชองประเทศไทน ซึ่งทำให้ประเทศนี้เป็นสังคมเปิดให้เสรีภาพสื่อ

นำไปสู่การเป็นหนึ่งในบุคคลสำคัญของโลกชาวไทย ของคุณกำพล วัชรพล โดยยูเนสโก คนล่าสุด

นอกจากนิทรรศการประวัติชีวิตของคุณกำพลและหนังสือพิมพ์ไทยรัฐแล้ว ที่พิพิธภัณฑ์ยังมีโซนการจัดแสดงเครื่องมือ พัฒนาการทางเทคโนโลยีการพิมพ์ของหนังสือพิมพ์ไทยรัฐในช่วง 6 ทศวรรษที่ผ่านมา ตั้งแต่ยุคการเรียงพิมพ์ด้วยมือ การเรียงพิมพ์ด้วยแสง และการเรียงพิมพ์ด้วยคอมพิวเตอร์ในปัจจุบัน สามารถติดต่อเข้าชมได้ทางสำนักงานหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

เรียบเรียง: เกียรติศักดิ์ หมื่นเอ

ภาพ: กรองเเก้ว ก้องวิวัฒน์สกุล


อ่านเพิ่มเติม 10 สุดยอด ร้านหนังสือ ระดับโลก

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.