พื้นที่ใกล้เมืองธุบรี (Dhubri) ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของรัฐอัสสัม (Assam) ประเทศอินเดีย บริษัทอิฐเอบีซีที่ตั้งอยู่ใกล้ริมตลิ่งแม่น้ำพรหมบุตรมีไอน้ำคลุ้ง อันเป็นบรรยากาศเช่นเดียวกับโรงทำอิฐอีกราวสองแสนโรงทั่วอินเดีย ชาซิมา คาธุม หญิงสาววัย 24 ปี มีชะตากรรมเช่นเดียวกับแรงงานกว่า 12 ล้านที่ต้องตรากตรำทำงานในโรงทำอิฐฝุ่นคลุ้ง
คาธุมเป็นหญิงร่างเล็ก ผอมแห้ง หน้าคม แต่ดูแก่กว่าคนรุ่นเดียวกัน
ก่อนหน้านี้ ครอบครัวของเธอ ซึ่งทำงานเป็นคนทำอิฐเช่นเดียวกัน ต้องฝืนใจขายพื้นที่ฟาร์มเล็กๆของครอบครัว เนื่องจากที่ดินผืนนั้นไม่สามารถเพาะปลูกได้อีกต่อไป และพวกเขาต้องการเงินก้อนเพื่อสร้างบ้านสำหรับลูกสาวทั้งหกคน ดังนั้น คาธุมจึงต้องเลิกเรียนกลางคันตั้งแต่อายุ 14 ปี และออกมาใช้แรงงานอย่างหนักนับตั้งแต่นั้น ภายใต้บรรยากาศปล่องควันของโรงงานทำอิฐหลากหลายโรงในพื้นที่
ในช่วงเวลา 5 เดือนของหน้าแล้งทุกปี ภายใต้ดวงอาทิตย์อันร้อนระอุ เธอต้องลากก้อนอิฐน้ำหนักประมาณ 18 กิโลกรัม ซึ่งเป็นก้อนอิฐที่ยังไม่ผ่านการเผา ราว 8 ถึง 10 ก้อน ประหนึ่งว่าเธอเป็นรถยกแรงงานมนุษย์ หญิงสาวขนอิฐเป็นระยะทางหลายกิโลเมตรต่อวัน เพื่อขนถ่ายก้อนอิฐดิบไป-กลับยังเตาเผา เหงื่อที่โทรมหน้าของเธอเกาะไปด้วยฝุ่นหนาราวกับเอาโคลนมาพอกไว้
(เชิญคลิกชมวิดีโอการทำงานอันเหนื่อยยากของแรงงานขนอิฐแห่งอินเดีย)
“ฉันได้เงิน 136 รูปีต่ออิฐ 100 ก้อนค่ะ” เธอกล่าว
“ในตอนแรกฉันเจ็บหลังมาก แต่ไม่นานก็ชินไปเอง”
อินเดียเป็นประเทศผู้ผลิตอิฐเป็นอันดับสองของโลกรองจากประเทศจีน อิฐเหล่านี้เป็นวัตถุดิบป้อนอุตสาหกรรมก่อสร้างที่กำลังเติบโตภายในหลายเมืองใหญ่ มีการผลิตอิฐมากถึง 250,000 ล้านก้อนต่อปี และเป็นเวลานานมาแล้วเช่นกันที่เหล่าคนงานทำอิฐจำนวนมากได้ปรากฏอยู่ตามหน้าสื่อในเรื่องการใช้แรงงานเด็ก
ตามหลักการแล้ว แรงงานอินเดียมีกฎเรื่องค่าจ้างขั้นต่ำ การห้ามใช้แรงงานเด็ก และกฎห้ามจ้างแรงงานใช้หนี้ (bonded labour) แต่ชายหญิงนับล้านคน รวมไปถึงเด็กๆ ยังต้องอดทนอยู่กับสภาวะที่กลุ่มนักสิทธิมนุษยชนเรียกว่า แรงงานทาสอย่างเป็นระบบ (Systematic Slavery) แรงงานเหล่านี้ถูกใช้ให้ทำงานอย่างหนักหน่วงและถูกหักค่าแรงไปใช้หนี้เป็นจำนวนมาก การสำรวจทางการแพทย์เมื่อเร็วๆนี้พบว่า กว่าครึ่งหนึ่งของคนงานทำอิฐในประเทศมีน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์ และมากกว่าครึ่งมีอาการโรคโลหิตจาง
ที่โรงอิฐนอกเมืองธุบรี คนงานที่ขนอิฐดิบไปยังเตาเผาส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง พวกเธอร้องเพลงเพื่อคลายความรู้สึกหนักหน่วงขณะขนก้อนอิฐข้ามสะพานไม้แคบๆไปยังเตาเผา
“ฉันต้องหาเงินจ่ายค่าเทอมให้น้องสาวค่ะ” คาธุมกล่าวถึงน้องสาวที่อยู่ชั้น ป.6 “ฉันไม่อยากให้เธอต้องมาทำงานแบบนี้”
จากนั้น เธอเร่งรีบเดินเพื่อไปขนอิฐเที่ยวต่อไป
สารคดีนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ Out of Eden Walk โดยนักเขียน พอล ซาโลเพก ที่เล่าเรื่องมหากาพย์การเดินทางตามรอยเส้นทางการอพยพของบรรพบุรุษทั่วโลกโดยเริ่มจากทวีปแอฟริกา และนี่เป็นเรื่องราวล่าสุดของเขาจากประเทศอินเดีย สารคดีก่อนหน้านี้ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ ngthai.com คือ แรงงานเก็บใบชาในอินเดียซึ่งกำลังเผชิญความยากจนและอันตรายจากสัตว์ป่า