ธรรมธุดงค์เพื่อสันติภาพของคนทั้งโลก

ระหว่าง “ยศฐา” กับ “ประชาชน” หากเป็นคุณ คุณจะเลือกอะไร – พระสุธรรม ฐิตธัมโม

สำหรับ นายสุธรรม นทีทอง อดีตเลขารัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการ ในวันนั้นตัดสินใจเลือกเด็กและประชาชน เป็นผลให้ต้องหลุดจากตำแหน่งสำคัญทางการเมือง ก่อนที่ในที่สุดก็เลือกก้าวสู่ร่มกาสาวพัสตร์ โดยได้รับฉายาทางธรรมว่า ฐิตธัมโม จากนั้น หลวงพี่หมี – พระสุธรรม ฐิตธัมโม ก็เดินหน้าเผยแผ่พระพุทธศาสนาด้วยธรรมธุดงค์สร้างสันติภาพ ซึ่งหนึ่งในเส้นทางสุดหฤโหดที่ท่านเลือกเดินคือการเดินข้ามทวีปอเมริกา และได้รับความสนใจจากชาวอเมริกันเป็นอย่างมาก

จุดเริ่มต้นสู่เส้นทางธรรม

“ตอนนั้นเมื่อว่างจากการทำงานแล้ว เคยคิดไว้ว่าอยากเป็นลูกศิษย์ท่านพุทธทาสภิกขุ  และพอดีช่วงนั้นทางสวนโมกข์เปิดอุปสมบทหมู่เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่ในหลวงรัชกาลที่ 9 อาตมาจึงได้บวชเป็นลูกศิษย์ท่านสมใจ ก่อนหน้านั้นได้อ่านหนังสือคู่มือมนุษย์ของท่านแล้วก็เกิดความคิดแน่วแน่ในการบวชครั้งนี้ เมื่อบวชแล้วก็ได้ศึกษาหลักธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า ยิ่งศึกษามากขึ้นเท่าใดก็อยากจะรู้ให้ลึกซึ้งมากยิ่งขึ้น  เราได้เห็นธรรมะของพระพุทธองค์ที่ทรงสอนว่า ‘สุขอื่นใดเหนือความสงบเป็นไม่มี’ นี่จึงเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้อาตมายังคงอยู่รับใช้พระศาสนา” 

แล้วการเดินเพื่อสันติภาพเกิดขึ้นได้อย่างไร

“ในหลักขั้นต้น พระพุทธเจ้าสอนว่า ‘ทำอย่างไรให้พ้นทุกข์’ ในความคิดของอาตมา ตอนนั้นคิดว่าเราพ้นทุกข์ได้แล้วในหลักการ แต่พอขั้นสูงขึ้น พระพุทธเจ้าทรงสอนอีกว่าเมื่อพ้นทุกข์แล้วเราจะเข้าสู่มรรคผลนิพพานได้อย่างไร เราเริ่มมองเห็นแสงสว่างว่าเรามีทิศทางสู่มรรคผลของเราได้อย่างไร มันเป็นความสุขที่สุขเหนือสิ่งอื่นใด ในการปฏิบัติสู่มรรคผลนิพพานพระพุทธเจ้าท่านทรงสอนไว้ใน 4 กิริยาหลัก นั่นคือ ยืน เดิน นอน นั่ง และกิริยาที่ถูกจริตกับอาตมามากที่สุดคือการเดิน ที่สำคัญการเดินทำให้สุขภาพแข็งแรง เมื่อคิดได้ดังนั้น การเดินจึงเป็นสิ่งที่อาตมานำมาใช้บำเพ็ญเพียรและถ้าเราเดินอยู่คนเดียว เราก็จะได้อยู่คนเดียว เลยคิดว่าถ้าเราเดินรณรงค์สันติภาพ ก็น่าจะเป็นประโยชน์แก่ผู้คนเพิ่มมากขึ้น ดังนั้นการเดินเพื่อสันติภาพจึงเกิดขึ้น ท่ามกลางเสียงคัดค้านและไม่เห็นด้วยของคนสนิท”

เส้นทางธรรมธุดงค์

“ก่อนที่จะเดินข้ามทวีปในประเทศสหรัฐอเมริกา อาตมาเคยเดินตามรอยพระพุทธเจ้าที่ประเทศอินเดียตามเส้นทางต่างๆจนครบสังเวชนียสถานทั้ง 4 ตำบลเป็นระยะทาง 2,600 กิโลเมตร อีกทั้งยังเคยเดินตามรอยหลวงปู่ทวดจากไทรบุรีในมาเลเซียไปจนถึงอยุธยา และเดินตามรอยพระนเรศวร จากอยุธยาไปถึงเมืองเวียงแหงที่เชียงใหม่ จึงทำให้มั่นใจว่าน่าจะเดินข้ามประเทศสหรัฐอเมริกาได้ โดยเส้นทางเดินนั้นอาตมาเริ่มเดินจากทางด้านทิศตะวันตกคือชายฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิกที่ซานตาโมนิกา เดินบนถนนสายประวัติศาสตร์ คือถนนหมายเลข 66  (ROUTE 66) ซึ่งเป็นถนนหลวงสายแรกของสหรัฐอเมริกาที่พาดผ่านจากทิศตะวันตกสู่ทิศตะวันออกมุ่งสู่นิวยอร์กที่เทพีเสรีภาพ รวมระยะทางราว 5,013 กิโลเมตร ใช้เวลาเดิน 121 วัน”

อุปสรรคที่พบระหว่างเส้นทางเดิน

“สหรัฐอเมริกาเป็นประเทศที่มีสภาพภูมิประเทศและอากาศแตกต่างจากบ้านเรา อุณหภูมิเปลี่ยนแปลงเร็วมาก การเดินทางจึงต้องมีปรับเปลี่ยนแผนการบ้าง เพื่อให้เราเดินทางด้วยความปลอดภัยมากที่สุด ปัญหาใหญ่ของเส้นทางเดินนี้คือเดินขึ้นเทือกเขาร็อกกีที่ทั้งสูงทั้งชัน  เดินข้ามทะเลทรายที่กลางวันร้อน กลางคืนหนาว ที่สำคัญคือไม่มีน้ำ ไม่มีอาหาร และจุดสุดท้ายคือการเดินขึ้นเทือกเขาร็อกกีอีกครั้ง แต่เป็นการเดินในซีกที่หนาวเจอหิมะบนภูเขา บางคืนเจออุณหภูมิติดลบ ทั้งหมดนี้อาตมาได้เตรียมหาข้อมูลและศึกษาเส้นทางเป็นปี ในเรื่องของอุปกรณ์กันหนาว รองเท้า รวมไปถึงสภาพภูมิประเทศ”

แล้วสิ่งใดที่ทำให้ท่านอดทนกับการเดินในครั้งนี้

“ก็กำหนดลมหายใจเจริญภาวนา ต้องมีสติอยู่ตลอด ตลอดทางที่เดินไม่เคยมีคำว่า ‘ท้อ’ หรือ ‘พอแล้ว’ อยู่ในหัวเลย มีแต่ต้องเดินให้ครบจบเร็วๆ นี่คือความตั้งใจ มนุษย์เราถ้ามีความตั้งใจจริงๆ จะทำอะไรก็สำเร็จ การเดินถือเป็นการทำสมาธิอย่างหนึ่ง  ยิ่งเดินมากขึ้น ทำให้เรารู้สึกว่าได้ทำความเพียรเพิ่มมากขึ้น

การเดินเพื่อสันติภาพเป็นการรณรงค์เชิงสัญลักษณ์ ถือเป็นเรื่องใหม่ที่ยังไม่เคยมีใครทำมาก่อน ตลอดเส้นทางเดินธุดงค์นั้นได้รับเสียงตอบรับจากประชาชนชาวอเมริกันเป็นจำนวนมาก บางเมืองมีประชาชนออกมาเดินด้วยความศรัทธา บางคนออกมาคอยต้อนรับและคอยส่ง ฉะนั้นตลอดเส้นทางเดินจึงมีแต่รอยยิ้มของมิตรภาพและสันติภาพได้เกิดขึ้นแล้วจริงๆ”

เส้นทางเดินต่อไปของท่านคือ

“ตั้งใจว่าจะเดินจากประเทศไทยไปอินเดีย ปากีสถาน อิหร่าน ตุรกี โดยไปจบที่กรุงอิสตันบู ตามหลักธรรมวินัย พระต้องเข้าพรรษา ปีนี้เลยตั้งใจจะเข้าพรรษาที่อินเดียในระหว่างเข้าพรรษา ได้เก็บข้อมูลและเส้นทางเดินจะอยู่ที่อินเดียสามเดือน จะจำพรรษาที่วัดป่าพุทธคยา เมืองคยา ติดกับต้นโพธิ์ที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ ในบางเส้นทางยังมีการสู้รบกันอยู่ ต้องศึกษาให้มากๆเป็นเส้นทางที่ท้าทายกว่าการเดินในสหรัฐอเมริกา ระยะทางประมาณ 9,000 กิโลเมตรกว่าๆ หลายคนถามอาตมาว่า ในเส้นทางที่ยังสู้รบกันอยู่ ไม่กลัวเหรอ    จำไว้เลยว่า คนเรามีชีวิตก็ต้องทำหน้าที่ให้ดีที่สุด การเดินเผยแผ่พระธรรม เราก็ควรที่จะทำ แล้วเมื่อเราได้ทำชีวิตให้ดีที่สุดแล้ว จะเกิดอะไรขึ้นก็ไม่เสียดาย หลวงพ่อปัญญาสอนว่า ‘ชีวิตแตกดับอยู่ทุกวัน’ ถ้ามีชีวิตอยู่แล้วไม่ทำประโยชน์อย่างเต็มที่จะหาราคาที่ไหน”

 ท่านได้รับอะไรจากการเดินธรรมธุดงค์เพื่อสันติภาพ

“ถ้าในแง่ส่วนตัว อาตมาได้เรื่องสุขภาพ กายแข็งแรงขึ้น จิตก็รู้จักปล่อยวาง ฝึกจิตขัดเกลาตัวเองในสภาวะเส้นทางที่ยากลำบากให้เบิกบานอยู่เสมอ ในแง่ส่วนรวม ในทุกเส้นทางที่เดิน ประชาชนต่างให้การยอมรับ มีการพูดคุยเรื่องสันติภาพ มีการร่วมเดินบ้าง เพราะว่าทุกคนอยากให้เกิดสันติภาพ อีกอย่างประชนส่วนใหญ่ไม่เคยเห็นพระสงฆ์จริงๆ ทำให้เราได้เผยแผ่พระพุทธศาสนาไปในตัวอีกด้วยและสิ่งที่ประชาชนของอเมริกาสนใจเป็นพิเศษคือ การนั่งสมาธิภาวนา อาตมาก็ช่วยสอนพวกเขา นี่ก็ถือว่าเป็นการเผยแผ่อย่างหนึ่ง

ภารกิจของอาตมาได้จบลุล่วงไปได้ด้วยดีเพราะความเพียร สังเกตได้ว่าคนเรานั้นหากตั้งใจทำอะไรสักอย่าง จะให้สำเร็จได้ ล้วนแล้วแต่มีความเพียรเป็นที่ตั้งทุกคน”

ท่านอยากฝากอะไรถึงผู้คนที่ร่วมให้การสนับสนุนธรรมธุดงค์

“เมื่ออาตมาถึงเทพีเสรีภาพ ประกาศให้โลกรู้ถึงสันติภาพ แต่อาตมาไม่สิ้นสุดความตั้งใจในการเผยแผ่พระธรรม แม้จะบรรลุเป้าหมายสิ้นสุดทวีปอเมริกา ก็ยังคงมุ่งมั่นที่จะทำความเพียรต่อไป ขอขอบคุณทุกความ ร่วมแรงร่วมใจ และเราจะร่วมมือกับพี่น้องทุกชนชาติต่อไป เพื่อสันติภาพ สันติสุข และสันติธรรม

ขอขอบคุณ

พระสุธรรม ฐิตธัมโม

เรื่อง: ไตรรัตน์ ทรงเผ่า

ภาพ: ศุภกร ศรีสกุล

ภาพจาก www.facebook.com/bearismee


เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ : ๖๐ ปี พระไพศาล วิสาโล

หลังกิจกรรมปลูกป่าที่ภูหลง พระไพศาล วิสาโล ติดรถของวิชัย นาพัว ชมรมเด็กรักษ์นกและธรรมชาติ กลับลงมายังวัดป่ามหาวัน ในขณะที่พระไพศาลเป็นผู้นำการปกป้องและดูแลป่าภูหลง วิชัยก็เป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนกิจกรรมอนุรักษ์ป่าให้ดำเนินไปได้ด้วยดี ทั้งงานปลูกป่าของภูหลงและธรรมยาตราเพื่อรักษาป่าและต้นน้ำลำปะทาว
© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.