๖๐ ปี พระไพศาล วิสาโล

๖๐ ปี พระไพศาล วิสาโล

๖๐ ปี พระไพศาล วิสาโล

เรื่อง  นิรมล มูนจินดา

ภาพถ่าย  สิทธิชัย จิตตะทัต

อากาศเช้าตรู่เดือนกันยายนบนภูหลง อำเภอภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ ชื้นเย็น บางวันฝนกระหน่ำ น้ำไหลหลากถนนกลายเป็นโคลนสีแดง

โดยทั่วไป ถ้าไม่ได้รับกิจนิมนต์เพื่อไปบรรยายหรืออบรมใดที่กรุงเทพฯ หรือที่อื่น เช้าวันธรรมดา พระไพศาล วิสาโล เจ้าอาวาสวัดป่ามหาวันหรือเรียกอย่างสั้นว่า “ภูหลง” จะออกเดินนำพระลูกวัดออกบิณฑบาต และพรรษานี้พระไพศาล เจ้าอาวาสผู้ดูแลรับผิดชอบวัดสองแห่ง  แบ่งเวลาจำพรรษาที่ภูหลงในวันธรรมดา พอถึงสุดสัปดาห์ท่านจะลงมาวัดป่าสุคะโตที่บ้านใหม่ไทยเจริญ และหากมีกิจนิมนต์ การขึ้นลงจากภูแลนคาเข้ากรุงเทพฯ และจังหวัดอื่นๆ ชนิดไปเช้ากลับดึกดื่นวันเดียวกันก็ยังเป็นสิ่งที่พระอาจารย์วัย 60 ปี บวชมา 34 พรรษากระทำอยู่ เช่นเดียวกับการเทศน์เช้าค่ำ ประชุมสมาชิกในวัด เขียนหนังสือ ออกบรรยายและฝึกอบรมการเผชิญความตายอย่างสงบ 14 คอร์สต่อปี ตอบอีเมลและข้อความในกล่องอินบ็อกซ์ ซึ่งรวมถึงคำถามเรื่องความทุกข์ส่วนตัวจากบุคคลทั่วไปทุกวัน และกำลังเตรียมงานธรรมยาตราของปีนี้ที่จะจัดขึ้นในสัปดาห์แรกของเดือนธันวาคม ปีนี้จัดเป็นที่ 18 แล้วภายใต้หัวข้อ “รักษาป่า รักษาธรรม”

ถ้าถาม “พ่อจง” บรรจง พงษ์สะพัง ชาวบ้านใหม่ไทยเจริญ และมัคทายกวัยเจ็ดสิบเศษแห่งวัดป่าสุคะโต ผู้ทำหน้าที่มาเกือบ 40 ปีตั้งแต่สมัยหลวงพ่อคำเขียน สุวัณโณ ว่าคิดอย่างไรกับเจ้าอาวาสองค์ปัจจุบันที่เขาเห็นมาแต่หนุ่มนี้  พ่อจงมั่นใจว่า “ท่านมีวิสัยทัศน์กว้างขวาง เทศน์ฟังเข้าใจง่าย อยู่สมถะ พูดน้อย เคร่งมาก ปกครองวัดอย่างสงบเรียบร้อยไปง่ายมาง่าย เป็นพระที่คนนิยม ศรัทธามาก เหมือนหลวงพ่อคำเขียน เหมือนพ่อเหมือนลูก” ซึ่งก็คงเป็นเหตุผลเดียวกับที่ คนทั่วไปในสังคมไทยยอมรับนับถือท่านด้วย

ย้อนหลังไปเมื่อปี พ.ศ. 2527 พระไพศาลยังเป็นพระนวกะอายุ 26 ปี เพิ่งบวชได้ไม่ถึงพรรษา ก็ได้รับเชิญเป็นองค์ปาฐกประจำปีของมูลนิธิโกมลคีมทอง ซึ่งที่ผ่านมามีแต่ผู้หลักผู้ใหญ่คนสำคัญอย่าง ศ.ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ศ.นพ.เสม พริ้งพวงแก้ว อาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์ เป็นผู้แสดงปาฐกถา พระไพศาลใช้เวลา 2-3 เดือนเตรียมการพูดในหัวข้อ “แสวงหารากฐานของชีวิตในโลกแห่งกิจกรรม” ซึ่งท่านออกตัวว่า “เป็นทัศนะเกี่ยวกับชีวิตและสังคมของพระหนุ่มรูปหนึ่ง ซึ่งย่อมเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลาไม่มากก็น้อยเมื่อแก่ตัวลง”  ในปาฐกถาที่ผ่านการเรียบเรียงจากความคิด การค้นคว้า และประสบการณ์นานเก้าปีของ “ไพศาล วงศ์วรวิสิทธิ์” นักกิจกรรมที่ผ่านสถานการณ์วิกฤติหลายครั้งในบ้านเมือง  ก่อนจะมาเป็นพระไพศาล วิสาโล กล่าวว่าสิ่งที่เป็นองค์ประกอบของรากฐานของชีวิต หรือ “คุณภาพด้านในของชีวิตที่เป็นพื้นฐานของการรับรู้และการกระทำ  เป็นหลักยึดเหนี่ยวของชีวิต และเป็นที่มาของกิจกรรมที่แสดงออก” ซึ่งได้แก่ 1. ความใฝ่ใจในการเกื้อกูลเพื่อนมนุษย์และสรรพสัตว์ 2. การรู้จักตนเอง ระลึกรู้ถึงความอ่อนแอ เท่าทันความเศร้าหมองภายในตัวเอง  3. การเข้าถึงความสุขอันประณีต แลเห็นด้านสดใสของผลแห่งการงาน  และ 4. การเข้าใจในความเป็นจริงของชีวิตและโลก วางใจเป็นอิสระจากผลที่จะเกิดขึ้น  ทั้งสี่ข้อมีอรรถาธิบายถ้วนถี่ 208 หน้าให้ผู้ใฝ่ใจอ่านได้ในหนังสือชื่อเดียวกับปาฐกถาซึ่งขึ้นหิ้งเป็นหนังสือคลาสสิกของนักกิจกรรมรุ่นถัดๆ มา

Recommend