ถ้าเรามีคลังภาพหลายสิบล้านภาพที่ถ่ายจากทั่วทุกมุมโลก ตั้งแต่ปลายศตวรรษที่สิบเก้า อะไรคือเรื่องราวที่ภาพเหล่านั้นจะบอกเล่าเกี่ยวกับชีวิตของ ผู้หญิง
ภาพถ่ายในคลังภาพนี้รวมกันเป็นบันทึกล้ำค่าแห่งยุคสมัยที่ภาพถ่ายเหล่านี้ถูกบันทึกไว้ เมื่อตรวจสอบไฟล์ภาพจากยุคต้นๆ เพื่อหาภาพถ่ายสำหรับสารคดีเรื่องนี้ และสำหรับประกอบหนังสือเล่มพิเศษของเราชื่อ Women: The National Geographic Image Collection เรารู้สึกแปลกใจว่า ครั้งหนึ่ง ผู้หญิง เคยมีคำจำกัดความคับแคบเพียงใด ภาพที่เห็นมักเป็นภาพสวยงาม บางครั้งดูน่าขัน ชวนเศร้า หรือกระทั่งชวนตระหนก แต่ภาพเหล่านั้นสะท้อนให้เห็นทั้งอคติและวิถีปฏิบัติของยุคนั้นๆ ได้เป็นอย่างดี
คลังภาพของเรามีภาพถ่ายมากกว่า 60 ล้านภาพ ซึ่งรวบรวมไว้ตั้งแต่เมื่อสมาคมเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ก่อตั้งขึ้นในปี 1888 โดยมีทั้งภาพที่ตีพิมพ์และไม่ได้ตีพิมพ์ สไลด์ ฟิล์มเนกาทิฟ แผ่นกระจก และอื่นๆ คลังภาพนี้น่าจะเป็นบันทึกเชิงภาพที่ครอบคลุมชีวิตสตรีจากหลากหลายสังคมและวัฒนธรรมมากที่สุดแห่งหนึ่งในโลก
ในช่วงต้นศตวรรษที่ยี่สิบ ภาพถ่ายในนิตยสารของเราซึ่งตอนนั้นยังใช้เทคนิคการถ่ายภาพที่จำกัด และมีมุมมองตามแบบลัทธิอาณานิคมตะวันตก มักถ่ายทอดภาพ ผู้หญิง เป็นสิ่งมีชีวิตที่สวยงามแปลกตา และโพสท่าถ่ายรูปในชุดพื้นเมืองหรือเปลือยทรวงอก สิ่งนั้นสะท้อนให้เห็นว่า ใครอยู่หลังเลนส์ในยุคนั้น นั่นก็คือชายผิวชาวชาวตะวันตกเป็นส่วนใหญ่ เมื่อเทคโนโลยีกล้องถ่ายภาพก้าวหน้าขึ้น ภาพถ่ายผู้หญิงในนิตยสารของเราจึงเริ่มมีชีวิตชีวามากขึ้น แต่ยังเน้นให้เห็นภาพผู้หญิงแม่แบบในบทบาทตามขนบ ได้แก่ ภาพของภรรยา พี่สาวน้องสาว และมารดา จวบจนกระทั่งช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ผู้หญิงจึงเริ่มมีภาพในบทบาทต่างๆมากขึ้น จากการเป็นกองหนุนสนับสนุนสงครามในแนวหน้าโดยการทำงานในภาคอุตสาหกรรม โรงพยาบาล และกองทัพ หลังสงครามยุติลง นิตยสารจึงหันกลับมาสู่มุมมองเกี่ยวกับบทบาทสตรีในครอบครัวมากขึ้น กล่าวคือ ผู้หญิงยังต้องรับบทอ่อนน้อมและยิ้มหวานอยู่ในภาพถ่ายมาอีกราว 20-30 ปี จนถึงทศวรรษ 1970 ซึ่งเป็นช่วงที่ผู้คนเริ่มนิยมถ่ายภาพชีวิตจริงแบบไร้การเสริมแต่ง
คลังภาพนี้ยังบันทึกเรื่องราวความเป็นมาของสตรีผู้อยู่เบื้องหลังภาพถ่ายด้วยเช่นกัน ทั้งช่างภาพและบรรณาธิการภาพของนิตยสาร ซึ่งมีอยู่เพียงไม่กี่คนในยุคแรกๆ เอไลซา ซิดมอร์ นักเขียนและช่างภาพ ได้รับเครดิตในฐานะช่างภาพเป็นครั้งแรกในฉบับเดือนเมษายน ปี 1907 เชื่อกันว่า เธอเป็นผู้หญิงคนแรกที่ถ่ายภาพสีเกี่ยวกับประเทศญี่ปุ่น ซึ่งลงสีด้วยมือและได้ตีพิมพ์ในนิตยสารเมื่อปี 1914 ช่างภาพหญิงประจำกองบรรณาธิการคนแรก แคทลีน เรวิส เข้าทำงานเมื่อปี 1953 และสองคนถัดมา ได้แก่ เบียงกา เลวีส์ และโจดี คอบบ์ ต้องรออีก 21 ปีและ 24 ปีให้หลัง นับตั้งแต่นั้น ทางนิตยสารได้มองหาช่างภาพหญิงมากขึ้นเพื่อทำหน้าที่บอกเล่าเรื่องราวของเรา
ภาพถ่ายยุคแรกๆ มักฉายภาพผู้หญิงเป็นนางแบบที่โพสท่าในฉากแบบประเพณีนิยม
ฉันเป็นหนึ่งในช่างภาพสาวเหล่านั้น และเริ่มเป็นช่างภาพอิสระให้ เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก เมื่อปี 1988 ฉันจำความรู้สึกตื่นเต้นในปี 2000 ได้ ตอนที่เราตีพิมพ์หนังสือชื่อ ช่างภาพหญิงของเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก (Women Photographers at National Geographic) พร้อมภาพถ่ายจากช่างภาพกว่า 40 คน สี่ปีต่อมา ฉันเข้าทำงานประจำกับกองบรรณาธิการในตำแหน่งบรรณาธิการภาพอาวุโส และในปี 2013 ฉันได้รับมอบหมายให้เป็นผู้อำนวยการภาพถ่ายที่เป็นผู้หญิงคนแรกของนิตยสาร
ปัจจุบัน ขณะที่เราเฉลิมฉลองวาระครบรอบ 100 ปีของคลังภาพถ่ายนี้ เรากำลังบอกเล่าเรื่องราวจริงๆ ของเหล่าสตรีที่มีตัวตนอยู่จริงในภาพถ่ายที่มีผู้หญิงเป็นช่างภาพมากขึ้นกว่าในอดีตที่ผ่านมา เราสนับสนุน “มุมมองของสตรี” อันเป็นแนวคิดที่ว่า ช่างภาพหญิงอาจมองโลกด้วยมุมมองที่แตกต่างจากผู้ชาย และเลือกหัวข้อในการนำเสนอและการสำรวจที่แตกต่างออกไป ขอบคุณวิสัยทัศน์และภาพถ่ายของช่างภาพหญิงเหล่านี้ ซึ่งทำให้เรามีโอกาสนำเสนอให้ผู้อ่านได้เห็นโลกทั้งใบ ไม่ใช่แค่บางส่วนเท่านั้น
ผู้หญิงต้องรออีกหลายสิบปีกว่าจะได้ปรากฏในหน้านิตยสารอย่างที่ผู้ชายได้รับการสื่อถึงเป็นประจำ ทั้งในฐานะนักวิทยาศาสตร์ นักสำรวจ นักผจญภัย และผู้นำ ในขวบปีแรกๆ ผู้หญิงมักได้รับการถ่ายทอดในฐานะสิ่งมีชีวิตสวยงามแปลกตา ผู้มักเปลือยทรวงอก จากทศวรรษ 1970 จนถึงปัจจุบัน ผู้หญิงมีบทบาทหลากหลายมากขึ้นในเรื่องราวต่างๆ ตามชีวิตจริงที่พวกเธอเป็น
ปี 1907 นิตยสาร เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ตีพิมพ์ภาพถ่ายของเอไลซา ซิดมอร์ ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นช่างภาพหญิงคนแรกและเป็นผู้หญิงคนแรกที่มีผลงานตีพิมพ์ในนิตยสารของเรา ภาพถ่ายหลังจากนั้นส่วนใหญ่เป็นฝีมือของช่างภาพชาย เมื่อมีช่างภาพหญิงมากขึ้น มุมมองต่อโลกของเราก็เปลี่ยนไปเช่นกัน ในปี 2018 ช่างภาพหญิงมีผลงานตีพิมพ์ในนิตยสาร เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก มากขึ้นเกือบสามเท่าเมื่อเทียบกับทศวรรษก่อนหน้า
*อ่านสารคดีฉบับเต็มได้ในนิตยสาร เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับพฤศจิกายน 2562
สารคดีแนะนำ