คำตอบของคำถามที่ว่ามี ความเท่าเทียมทางเพศ ในสังคมไทยแล้วหรือยังนั้น ปรากฏอยู่ในข้อมูลจากงานวิจัยต่างๆ ที่เมื่อปะติดปะต่อกันแล้ว ทำให้เห็นภาพใหญ่ที่ชัดเจนขึ้น
โดย วราภรณ์ แช่มสนิท
ถ้ามีคนถามคุณว่า “สังคมไทยมีความเท่าเทียมทางเพศแล้วหรือยัง?” คุณจะตอบว่าอย่างไร
เมื่อผู้เขียนลองถามคำถามนี้กับคนรอบๆ ตัว นี่คือบางคำตอบที่ได้รับ
“ก็เท่ากันแล้วนะ ผู้หญิงทุกวันนี้ทำอะไรได้เยอะแยะ ผมมองไม่เห็นว่าผู้หญิงมีโอกาสไม่เท่าผู้ชายตรงไหน” คือคำตอบจากชายหนุ่มวัยยี่สิบต้นๆ ที่เพิ่งจบปริญญาตรีและตอนนี้ทำงานด้านสื่อ
“ไม่รู้สิ ที่บ้านพ่อแม่ทำงานนอกบ้านทั้งคู่ งานในบ้านก็ช่วยๆ กัน เลยไม่เห็นความไม่เท่าเทียม แต่ก็โกรธนะเวลาที่ได้ยินนักการเมืองผู้หญิงถูกวิจารณ์เรื่องรูปร่างหน้าตา แทนที่จะพูดถึงความสามารถ” เป็นคำตอบของหญิงสาวจากครอบครัวชนชั้นกลางที่เพิ่งเริ่มชีวิตการทำงานหลังจบปริญญาตรีไม่นาน
“ก็มีบ้างที่กังวลเรื่องอาชีพการงานในอนาคต เพราะมองไปทางไหนก็เห็นแต่ว่าคนที่ได้เป็นหัวหน้าหรือมีตำแหน่งใหญ่ๆ ส่วนใหญ่เป็นผู้ชาย เลยมองไม่เห็นภาพว่าวันข้างหน้าเราที่เป็นผู้หญิงจะอยู่ตรงไหน” หญิงสาวคนเดิมพูดต่อ
“ความไม่เท่าเทียมมันมี แต่คนส่วนใหญ่มองไม่เห็น เพราะมันเป็นเรื่องละเอียด” ผู้หญิงวัยกลางสามสิบอีกคนหนึ่งตอบ “เราอยู่กรุงเทพฯ อาจไม่ค่อยเจอความไม่เท่าเทียม แต่พอกลับไปบ้านที่ต่างจังหวัด เจอคนรุ่นพ่อรุ่นแม่มันมีความไม่เท่าเทียมเต็มไปหมด”
ดูเหมือนว่าเรายังไม่มีคำตอบที่ลงรอยกัน กับคำถามเรื่อง ความเท่าเทียมทางเพศ ข้างต้น
โลกนอกบ้าน: เหมือนจะเท่าแต่ไม่เท่า
หากจะหาคำตอบเรื่อง ความเท่าเทียมทางเพศ จากสถิติ ข้อมูลหลายด้านของประเทศไทยก็ย้อนแย้งขัดกันไปมา
ในด้านการศึกษา ปัจจุบันมีผู้หญิงเข้าเรียนในระดับอุดมศึกษาตั้งแต่ปริญญาตรีถึงปริญญาเอกมากกว่าผู้ชาย เฉพาะในระดับปริญญาตรี ปีการศึกษา 2561 ในจำนวนนักศึกษา100 คน จะมีนักศึกษาหญิงอยู่ 60 คน และนักศึกษาชาย 40 คน หรือมีผู้หญิงมากกว่าผู้ชายถึงร้อยละ 20
เมื่อดูสาขาวิชาที่เรียนจะพบว่านักศึกษาหญิงส่วนใหญ่กระจุกตัวอยู่ในสาขาวิชาด้านสังคมศาตร์และมนุษยศาสตร์ แต่ในกลุ่มวิชาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เช่น วิศวกรรมศาสตร์ เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ซึ่งเป็นสาขาที่จะสร้างโอกาสทางอาชีพได้มากกว่า กลับมีนักศึกษาหญิงน้อยกว่าชาย คือจากนักศึกษาสาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี 100 คน จะมีนักศึกษาชาย 54 คน และหญิง 46 คน หรือผู้หญิงน้อยกว่าผู้ชายอยู่ร้อยละแปด
ข้อมูลข้างต้นสะท้อนว่า แม้โอกาสทางการศึกษาระหว่างหญิงกับชายจะค่อนข้างเท่าเทียมกันแล้ว แต่ทางเลือกอาชีพของคนในสังคมยังถูกกำกับด้วยวิถีการแบ่งบทบาทหญิงชายตามค่านิยมเดิมๆ อยู่ไม่น้อย อาชีพที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีสมัยใหม่ เช่น วิศวกรรม การสื่อสาร รวมถึงปัญญาประดิษฐ์ (artificial intelligence) จึงยังถูกมองว่าเป็นอาชีพที่เหมาะกับผู้ชายมากกว่าผู้หญิง
เฉพาะในเรื่องของความรู้และอาชีพด้านเทคโนโลยี แนวโน้มของประเทศไทยดูจะไม่แตกต่างจากภาพรวมระดับโลกมากนัก รายงานเรื่องช่องว่างด้านเพศสภาพระดับโลกประจำปี 2561 ของเวทีเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum) ระบุว่า สัดส่วนของนักวิชาชีพด้านปัญญาประดิษฐ์ที่เป็นผู้ชายยังนำลิ่วทิ้งห่างผู้หญิง โดยทั่วโลกขณะนี้มีผู้ชายที่ทำงานด้านปัญญาประดิษฐ์อยู่ร้อยละ 78 และมีผู้หญิงเพียงร้อยละ 22
เมื่อหันไปมองตลาดแรงงาน งานศึกษาของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ระบุว่า ปัจจุบันแม้จะมีผู้ชายทำงานหารายได้นอกบ้านมากกว่าผู้หญิง แต่ผู้หญิงที่ทำงานนอกบ้านมีระดับการศึกษาโดยเฉลี่ยสูงกว่าผู้ชาย สอดคล้องกับข้อมูลด้านการศึกษาข้างต้น แต่เมื่อดูอัตราการว่างงานของคนที่เรียนจบปริญญาตรีในช่วงปี 2550-2559 ผู้หญิงกลับมีอัตราว่างงานสูงกว่าผู้ชาย กล่าวคือ ในจำนวนคนจบปริญญาตรี 100 คน จะมีผู้ชายว่างงาน 2 คน และมีผู้หญิงว่างงาน 2.2 คน
สาเหตุส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะบางสาขาวิชาที่ผู้หญิงเลือกเรียนไม่ตอบโจทย์ความต้องการของตลาดแรงงานปัจจุบัน แต่สาเหตุอีกส่วนหนึ่งน่าจะเกิดจากมุมมองของผู้ว่าจ้างในตลาดแรงงาน ที่มองว่าแรงงานหญิงในวัยที่กำลังสร้างครอบครัวและมีบุตรจะไม่สามารถทุ่มเทให้กับการประกอบอาชีพนอกบ้านได้เท่าแรงงานชาย และสิทธิที่กฎหมายกำหนดให้แรงงานหญิงลาคลอดบุตรได้นานสามเดือนโดยได้รับค่าจ้าง กลับถูกนายจ้างมองว่าเป็นภาระต่อต้นทุนของสถานประกอบการ
ที่สำคัญ งานศึกษาของทีดีอาร์ไอระบุว่า “แม้ว่าหญิงจะมีการลงทุนเพื่อการศึกษาและมีประสบการณ์ในการทำงานที่ดีขึ้นแล้วก็ตาม หญิงโดยเฉลี่ยก็ยังคงได้รับค่าจ้างต่ำกว่าชาย” โดยผู้หญิงได้รับค่าจ้างเฉลี่ยต่ำกว่าผู้ชายในทุกระดับการศึกษา ข้อมูลปี 2560 ระบุว่า เมื่อเทียบระหว่างผู้หญิงกับผู้ชายที่เรียนจบปริญญาตรีเท่ากัน ผู้หญิงได้รับค่าจ้างเฉลี่ยน้อยกว่าผู้ชายเป็นเงินถึง 5,000 บาท/เดือน
นอกจากสถิติที่ยกมา ประเทศไทยยังเผชิญกับสถานการณ์อื่นที่ตอกย้ำความไม่เท่าเทียมทางอาชีพของผู้หญิง
ต้นเดือนกันยายน 2561 สำนักงานตำรวจแห่งชาติของไทยประกาศยกเลิกไม่รับผู้หญิงเข้าเรียนในโรงเรียนนายร้อยตำรวจ ทั้งที่ในช่วง 10 ปีก่อนหน้านี้ โรงเรียนนายร้อยแห่งนี้ได้เปิดรับผู้หญิงให้สอบแข่งขันเข้าเรียนมาโดยตลอด จนสามารถผลิตนายร้อยตำรวจหญิงหลายร้อยคนทำหน้าที่ดูแลคดีเกี่ยวกับเยาวชน ครอบครัว ความรุนแรงทางเพศ และการค้ามนุษย์ โดยสำนักงานตำรวจแห่งชาติให้เหตุผลของการยกเลิกรับผู้หญิง เพียงเพื่อให้เป็นการปฏิบัติเหมือนเหล่าทัพอื่นที่ไม่เคยรับผู้หญิงเข้าเรียนเป็นนายร้อย
นี่คือหนึ่งในหลักฐานทางสังคมที่บ่งชี้ว่าความไม่เท่าเทียมระหว่างเพศยังมีอยู่จริงในสังคมไทย
การเมืองยังเป็นเรื่องของผู้ชาย?
นับแต่ครั้งแรกที่มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของประเทศไทยเมื่อ 86 ปีที่แล้ว พลเมืองหญิงไทยดูเหมือนจะโชคดีเพราะได้รับสิทธิในการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งเท่าเทียมกับพลเมืองชายมาตั้งแต่แรก โดยไม่ต้องต่อสู้เรียกร้องสิทธิในการเลือกตั้งสำหรับผู้หญิงเหมือนในประเทศตะวันตก
นอกจากนี้ ไทยยังได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งในประเทศที่เคยมีนายกรัฐมนตรีผู้หญิง แม้จะต้องดำรงตำแหน่งท่ามกลางมรสุมทางการเมืองและพ้นจากตำแหน่งไปก่อนที่จะครบวาระ
อย่างไรก็ตาม โอกาสการมีส่วนร่วมทางการเมืองที่กล่าวมายังไม่ได้พาผู้หญิงไทยให้เข้าใกล้ความเท่าเทียมในโลกการเมือง
ที่ผ่านมา การมีส่วนร่วมของผู้หญิงไทยในเวทีการเมืองระดับประเทศอยู่ในระดับที่ไม่น่าประทับใจนัก รายงานช่องว่างด้านเพศสภาพระดับโลกโดยเวทีเศรษฐกิจโลกประเมินช่องว่างระหว่างหญิงชายในด้านการเมืองในปี 2561และจัดให้ประเทศไทยอยู่อันดับที่ 130 จากทั้งหมด 149 ประเทศ แต่หากเจาะเฉพาะสัดส่วนจำนวนผู้หญิงในรัฐสภา สองปีที่แล้ว ประเทศไทยในปีที่แล้วอยู่รั้งท้ายสุดของประเทศในภูมิภาคอาเซียนทั้งหมด ด้วยสัดส่วนผู้หญิงในสภาเพียงร้อยละ 5.3 เทียบกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างฟิลิปปินส์ที่มีผู้หญิงในสภาร้อยละ 29.5 ลาวร้อยละ 27.5 เวียดนามร้อยละ 26.7 และกัมพูชาร้อยละ 20 เป็นต้น
หลังการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเมื่อเดือนมีนาคม 2562 ที่ผ่านมา สัดส่วนผู้แทนราษฎรหญิงรวมถึง สส. ที่เป็นคนข้ามเพศของไทยขยับขึ้นเป็นร้อยละ 16.2 ถือเป็นพัฒนาการที่มาพร้อมกับสภาพการเมืองที่กลับมาเปิดกว้างมากขึ้นอีกครั้ง
นอกจากการวัดกันที่ตัวเลขจำนวนสภาชิกสภาแต่ละเพศแล้ว คุณภาพและการยอมรับในบทบาทและความสามารถทางการเมืองและนิติบัญญัติของนักการเมืองทุกเพศอย่างเท่าเทียมกันยังเป็นประเด็นที่ต้องจับตามองในการเมืองไทยปัจจุบัน เพราะตัวอย่างจากปฏิกิริยาของสังคมและขั้วตรงข้ามทางการเมืองที่ผ่านมา ที่มักจับจ้องประเมินนักการเมืองเพศหญิงที่รูปร่างหน้าตา การแต่งกาย และการโจมตีด้วยประเด็นเรื่องเพศ ยังเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง
สุขภาพ การทำแท้ง และความรุนแรง
ในด้านสุขภาพ ข่าวดีสำหรับผู้หญิงคือ ผู้หญิงมีแนวโน้มจะอายุยืนกว่าผู้ชาย โดยผู้หญิงที่เกิดในยุคนี้จะมีชีวิตอยู่โดยเฉลี่ยได้ถึงอายุ 80 ปี ขณะที่ผู้ชายมีชีวิตอยู่โดยเฉลี่ยถึงอายุ 73 ปี
แต่ข่าวร้ายคือ ผู้หญิงมักมีชีวิตอยู่ยืนยาวกว่าผู้ชายด้วยภาวะสุขภาพที่ย่ำแย่กว่า
รายงานเรื่องความเหลื่อมล้ำด้านสุขภาพของทีดีอาร์ไอระบุว่า ในจำนวนประชากรไทยทุก 100,000 คน จะมีผู้หญิงป่วยมากผู้ชายอยู่ประมาณ 4,000-5,000 คน โดยผู้หญิงชนบทมีอัตราป่วยสูงกว่าผู้หญิงในเมือง
แม้ผู้หญิงจะป่วยมากกว่า แต่งบประมาณของโรงพยาบาลต่างๆ กลับถูกจ่ายไปเพื่อการรักษาพยาบาลผู้ป่วยชายมากกว่าผู้ป่วยหญิง เพราะผู้ชายจำนวนมากเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลไม่ใช่เพราะโรคภัยไข้เจ็บตามปกติ แต่เพราะได้รับบาดเจ็บจากอุบัติเหตุจราจรและสาเหตุอื่น ซึ่งโยงต่อไปได้ถึงพฤติกรรมเสี่ยงของเพศชายที่อาจนำมาสู่อุบัติเหตุและการบาดเจ็บ เช่น การดื่มสุรา และการทะเลาะวิวาท ทำให้โดยเฉลี่ยแล้วผู้ป่วยชายมีแนวโน้มจะต้องนอนโรงพยาบาลนานกว่า และใช้ทรัพยากรในการรักษาสิ้นเปลืองกว่าผู้ป่วยหญิง ซึ่งส่วนใหญ่ต้องนอนโรงพยาบาลด้วยสาเหตุที่เกี่ยวกับการตั้งครรภ์และอาการข้างเคียง
เมื่อพูดถึงการตั้งครรภ์ ในจำนวนการตั้งครรภ์ของผู้หญิงทั้งหมดทั่วโลกในช่วงปี 2553-2557 มีเพียงร้อยละ 56 เท่านั้นที่เป็นการตั้งครรภ์โดยตั้งใจ ส่วนที่เหลืออีกเกือบครึ่งหนึ่ง หรือร้อยละ 44 เป็นการตั้งครรภ์ที่ผู้หญิงไม่ได้ตั้งใจ ไม่พร้อม หรือไม่ต้องการ ด้วยเหตุผลต่าง ๆ เช่น ยังอยู่ในวัยเรียน การตั้งครรภ์นั้นเป็นอันตรายต่อสุขภาพของผู้หญิง ทารกในครรภ์มีความพิการ ความยากจนไม่พร้อมมีลูกเพิ่ม หรือตั้งครรภ์เพราะถูกข่มขืน เป็นต้น
ร้อยละ 56 ของการตั้งครรภ์ไม่พร้อมที่เกิดขึ้นทั่วโลกจบลงที่การยุติการตั้งครรภ์หรือการทำแท้ง
แต่ประเด็นเรื่องการทำแท้งยังเป็นที่ถกเถียงในแง่ศีลธรรมและกฎหมายในหลายประเทศ รวมทั้งประเทศไทย
กฎหมายไทยเปิดช่องให้มีการทำแท้งโดยถูกกฎหมายเฉพาะกรณีการตั้งครรภ์จากการถูกข่มขืน และกรณีที่ครรภ์จะเป็นอันตรายต่อสุขภาพของผู้หญิง แต่ไม่ยอมให้มีการทำแท้งด้วยเหตุผลทางสังคมหรือเศรษฐกิจ และไม่ให้ทำแท้งแม้ในกรณีที่ทารกในครรภ์มีความพิการ
ประเทศไทยยังเป็นเพียงไม่กี่ประเทศในโลกที่มีกฎหมายเอาผิดถึงขั้นจำคุกผู้หญิงที่ทำแท้งและแพทย์ผู้ให้บริการทำแท้งนอกเหนือจากที่กฎหมายกำหนด ผู้หญิงไทยจำนวนไม่น้อยที่จำเป็นต้องทำแท้งด้วยเหตุผลอื่น ตลอดจนแพทย์ผู้ให้บริการจึงเสี่ยงที่จะถูกดำเนินคดีทางกฎหมาย
นอกจากกฎหมาย อีกสิ่งหนึ่งที่ผู้หญิงทำแท้งต้องเผชิญ คือการตัดสินเชิงศีลธรรมว่าการทำแท้งเป็นบาป และอคติของสังคมที่มักมองผู้หญิงทำแท้งในแง่ลบ
กำแพงทางศีลธรรมและกฎหมายดังกล่าวทำให้ผู้หญิงจำนวนมากถูกปิดกั้นโอกาสที่จะได้รับบริการทำแท้งที่ปลอดภัยโดยแพทย์ ผลคือ ในช่วงปี 2548-2558 มีผู้หญิงไทยได้รับบาดจนเจ็บต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเนื่องจากการทำแท้งที่ไม่ปลอดภัย เฉพาะที่ใช้สิทธิสวัสดิการบัตรทองเป็นจำนวนถึง 93,182 ราย และมีผู้หญิงต้องเสียชีวิตเพราะการทำแท้งที่ไม่ปลอดภัย เป็นจำนวน 203 ราย
ในท่ามกลางข่าวร้ายยังมีข่าวดี คือ จากการต่อสู้อันยาวนานขององค์กรภาคประชาสังคมและผู้ให้บริการสาธารณสุข ขณะนี้รัฐบาลไทยยอมให้มีการขึ้นทะเบียนยาสำหรับการทำแท้งที่พัฒนาขึ้นใหม่ชื่อMedabon ให้มีการใช้ได้อย่างถูกกฎหมาย ทำให้การทำแท้งในอายุครรภ์น้อยๆ เป็นสิ่งที่ทำได้อย่างปลอดภัยและลดขั้นตอนที่ยุ่งยากลงได้ โดยมีการจ่ายยาผ่านโรงพยาบาลของรัฐที่เข้าร่วมโครงการ และขณะนี้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติได้ยอมรับให้บริการทำแท้งเป็นบริการสุขภาพที่เบิกค่ารักษาพยาบาลได้ภายใต้หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าแล้ว
อย่างก็ตาม ขณะนี้โรงพยาบาลของรัฐที่ยอมเข้าร่วมโครงการให้บริการทำแท้งด้วยยายังมีเพียงไม่กี่แห่ง และแพทย์ที่ยินดีให้บริการทำแท้งก็มีจำนวนจำกัด จนยังไม่สามารถให้บริการครอบคลุมทั่วทุกจังหวัด
อุปสรรคขวางกั้นการเข้าถึงความเท่าเทียมทางเพศสำหรับผู้หญิงที่สำคัญอีกประการหนึ่ง คือ ความรุนแรงที่เกิดกับผู้หญิง
องค์การสหประชาชาติประเมินว่าหนึ่งในสาม หรือประมาณร้อยละ 33 ของผู้หญิงทั่วโลกตกเป็นเหยื่อของการกระทำความรุนแรงในชีวิตคู่และความรุนแรงทางเพศ แต่ในประเทศไทยสถิติความรุนแรงต่อผู้หญิงกลับแซงหน้าสถิติโลกไปไกล
การสำรวจปัญหาความรุนแรงต่อผู้หญิงในประเทศไทยที่ได้รับการสนับสนุนจากองค์การอนามัยโลกพบว่า ร้อยละ 44 หรือเกือบครึ่งหนึ่งของผู้หญิงไทยอายุระหว่าง 15-49 ปี เคยถูกสามีหรือแฟนทำร้ายร่างกายหรือใช้ความรุนแรงทางเพศ หรือเคยถูกบุคคลอื่นล่วงละเมิดทางเพศ สถิติดังกล่าวของประเทศไทยยังสูงกว่าตัวเลขเฉลี่ยของประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งพบว่ามีผู้หญิงถูกใช้ความรุนแรงร้อยละ 37.7
กระแส #MeToo ต่อต้านการคุกคามและล่วงละเมิดทางเพศผ่านสื่อสังคมออนไลน์ ที่จุดกระแสโดยเหล่านักแสดงหญิงแห่งโลกฮอลลีวู้ดตั้งแต่ปี 2560 และแพร่หลายไปในหลายประเทศ เป็นส่วนหนึ่งที่ปลุกให้ผู้หญิงที่เคยถูกคุกคามหรือล่วงละเมิดทางเพศกล้าแสดงตัว และทำให้ปัญหาความรุนแรงทางเพศกลายเป็นประเด็นสาธารณะที่ถูกพูดถึงอย่างกว้างขวางมากขึ้น
ในประเทศไทย แม้กระแส #MeToo อาจไม่ได้ช่วยปลุกความสนใจของประชาชนทั่วไปต่อประเด็นการคุกคามและล่วงละเมิดทางเพศโดยตรงมากนัก แต่ในช่วงสองสามปีที่ผ่านมา มีความพยายามจุดประเด็นความสนใจต่อปัญหาความรุนแรงต่อผู้หญิงผ่านการรณรงค์และสื่อสังคมออนไลน์ที่น่าสนใจ อาทิ เพจ Thaiconsent เปิดพื้นที่ให้ผู้ที่เคยถูกใช้ความรุนแรงทางเพศบอกเล่าเรื่องราวของตนเอง แคมเปญ Don’t tell me how to dress ของนางแบบชื่อดัง ซินดี สิรินยา บิชอป ที่มุ่งขจัดการคุกคามทางเพศและลดการตีตราผู้หญิงที่ตกเป็นเหยื่อ แคมเปญ “#ทีมเผือก” โดยเครือข่ายเมืองปลอดภัยเพื่อผู้หญิง มุ่งลดปัญหาการคุกคามทางเพศในที่สาธารณะ เพจ Free From Fear ที่สร้างความเข้าใจประเด็นความรุนแรงในคนรุ่นใหม่ แอปพลิเคชัน iCanPlan สำหรับประเมินระดับความรุนแรงในชีวิตคู่ และ MySis Bot แชตบอตให้คำปรึกษาเรื่องความรุนแรงในครอบครัว เป็นต้น
ข้อท้าทายของงานสื่อสารรณรงค์เหล่านี้ คือทำอย่างไรจึงจะปลุกคนในสังคมไม่ให้ชาชินและยอมรับความรุนแรงในชีวิตคู่และความรุนแรงทางเพศว่าเป็นปัญหาส่วนตัว เป็นเรื่องปกติ หรือเป็นเรื่องที่คนนอกไม่ควรยุ่งเกี่ยว และทำอย่างไรจึงจะลบล้างอคติของสังคมที่มักกล่าวโทษเหยื่อผู้เสียหายว่าเป็นต้นเหตุของปัญหาความรุนแรง เช่นกรณีที่มักมีผู้วิพากษ์วิจารณ์ผู้เสียหายว่าแต่งตัวโป๊หรือไม่รู้จักระวังตัวเอง แทนที่จะประณามพฤติกรรมการใช้ความรุนแรงซึ่งเป็นแกนหลักของปัญหา
โลกในบ้าน: เมื่อความไม่เท่าเทียมถูกทำให้เป็นเรื่องปกติ
ทุกวันนี้ ดูเหมือนโอกาสต่างๆ ในโลกนอกบ้าน ทั้งการศึกษา อาชีพ และรายได้ จะเปิดกว้างมากขึ้นสำหรับผู้หญิง โดยเฉพาะผู้หญิงชนชั้นกลางในเมือง แต่การแบกรับภาระงานบ้านและการดูแลสมาชิกในครอบครัวก็ยังเป็นสิ่งที่ผู้หญิงจำนวนมากไม่สามารถสลัดให้พ้นไปจากตัวได้
เมื่อปีที่ผ่านมา สื่อสังคมออนไลน์เผยแพร่ภาพรัฐมนตรีกระทรวงหนึ่งของไทยที่มีหน้าที่ในการส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศขณะยืนอยู่ท่ามกลางห้อมล้อมของผู้หญิงกลุ่มใหญ่ บนภาพมีข้อความที่เป็นคำพูดของรัฐมนตรีชายท่านดังกล่าวในการบรรยายพิเศษต่อกลุ่มผู้นำสตรีว่า “สตรีทุกท่านมี DNA ของความเป็นแม่และภรรยา จงหาให้พบและใช้ให้เป็นประโยชน์ต่อสังคม”
ปฏิเสธไม่ได้ว่าคำพูดของผู้มีอำนาจในการกำหนดนโยบายดังกล่าวสอดคล้องต้องกันพอดีกับบรรทัดฐานเดิมของสังคม ที่ผูกโยงเพศหญิงไว้กับบทบาทการเป็นภรรยาและแม่ รวมทั้งการเป็นลูกสาวที่ดี ทำให้ผู้หญิงจำนวนมากต้องรับภาระหนักในการดูแลบ้านและสมาชิกในครอบครัวอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
คำพูดของรัฐมนตรีดังกล่าว ไม่เพียงตอกย้ำความคาดหวังของสังคมว่าผู้หญิงต้องทำหน้าที่ในบ้านในฐานะภรรยาและแม่ให้ดีเท่านั้น แต่ผู้หญิงยังถูกบอกให้ใช้ศักยภาพตามธรรมชาติ (ซึ่งแฝงอยู่ในดีเอ็นเอ) ของตน เพื่อสร้างประโยชน์แก่สังคมนอกบ้านอีกชั้นหนึ่งด้วย นับเป็นการวางภาระสองด้านไว้บนบ่าของผู้หญิงอย่างแนบเนียน
ในหนังสือ ว่างยังวุ่น: ชนชั้น เพศสภาพ และเวลาว่างของผู้หญิง สมสุข หินวิมานศึกษาการใช้เวลาว่างของผู้หญิงและสมาชิกครอบครัวไทย พบว่าเพศเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้สมาชิกในครอบครัวเดียวกันมีเวลาว่างไม่เท่ากัน และมีรูปแบบการใช้เวลาว่างต่างกัน โดยวิถีทางสังคมมักเอื้อให้ผู้ชายสามารถแบ่งแยกได้ชัดเจนระหว่างเวลา “งาน” ซึ่งคือสิ่งที่ทำเมื่ออยู่ในสถานที่ทำงาน (ทั้งที่เป็นสำนักงาน ร้านค้า เรือกสวนไร่นา รถแท็กซี่ อู่ซ่อมรถ หรืออื่นๆ) กับเวลา “ว่าง” ที่ผู้ชายมักใช้เพื่อนันทนาการกับเพื่อนฝูงนอกบ้าน หรือพักผ่อนเมื่ออยู่ในบ้าน
แต่สำหรับผู้หญิงซึ่งมักถูกกล่อมเกลาให้ “ต้องรู้สึกอาทร (caring) ต่อคนอื่น ๆ ในครอบครัว” เมื่อเสร็จจากงานนอกบ้านแล้วก็มักต้องกลับมารับภาระ “งาน” ดูแลสมาชิกครอบครัวในบ้านอีกต่อหนึ่ง ทำให้ชั่วโมงการทำงานของผู้หญิงทั้งนอกบ้านและในบ้านยืดยาวออกไป พร้อมกับเวลาว่างที่หดสั้นลง และแม้เมื่อพอจะมีเวลาว่างอยู่บ้าง “ผู้หญิงจะใช้เวลาว่างส่วนใหญ่เพื่อสามีและลูก ในขณะที่สามีและลูกจะใช้เวลาว่างเพื่อตนเองเป็นหลัก”
ความไม่เท่าเทียมของภาระงานบ้านไม่ได้เกิดเฉพาะในประเทศไทย รายงานของธนาคารพัฒนาเอเชียระบุว่า โดยเฉลี่ยผู้หญิงใช้เวลาทำงานบ้านเป็นสองเท่าของผู้ชาย และใช้เวลาดูแลลูกมากเป็นสี่เท่าของผู้ชาย งานบ้านที่ดูเหมือนเป็นประเด็นเล็กๆ และเป็นเรื่องส่วนตัว จึงเป็นภาพสะท้อนของความไม่เท่าเทียมทางเพศที่ยังมีอยู่ในสังคม
แม้งานบ้านและการดูแลสมาชิกครอบครัวจะเป็นงานที่จำเป็น เพราะส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของคนในสังคม แต่ก็มักถูกมองว่าเป็นงานที่ไม่สลักสำคัญ เป็นหน้าที่ตามธรรมชาติของผู้หญิงเป็นงานที่ไม่สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ เป็นเรื่องส่วนตัวที่ไม่กระทบต่อสาธารณะ จึงไม่จำเป็นต้องได้รับการจัดสรรทรัพยากรหรือมีการจัดการทางสังคมอย่างเป็นระบบ
เราจึงแทบไม่ค่อยเห็นสถานที่ราชการหรือสถานประกอบการในประเทศไทยจัดให้มีศูนย์รับเลี้ยงเด็กลูกของพนักงาน ไม่เห็นนโยบายจัดเวลาทำงานแบบยืดหยุ่นเพื่อรองรับการทำหน้าที่ทั้งนอกบ้านและในบ้านของผู้หญิง ไม่เห็นการกำหนดวันลาหยุดงานเฉพาะสำหรับการดูแลเด็กหรือผู้สูงอายุในบ้านที่เจ็บป่วยหรือต้องไปพบแพทย์ และไม่เห็นการเรียกร้องให้มีการขยายระยะการลาคลอดและดูแลบุตรแรกเกิดเพิ่มขึ้นจากที่เป็นอยู่
ออกจากความไม่เท่าเทียม: ข้อท้าทายสำหรับสังคมมนุษย์
สาเหตุหนึ่งที่ทำให้การเปลี่ยนแปลงไปสู่ความเท่าเทียมทางเพศเป็นเรื่องยาก คือความเชื่อว่าความแตกต่างระหว่างผู้หญิงและผู้ชายเป็นเรื่องธรรมชาติเปลี่ยนแปลงไม่ได้ สังคมจึงต้องวางกฎเกณฑ์สำหรับผู้หญิงและผู้ชายไว้แตกต่างกันและกฎเกณฑ์เหล่านั้นเป็นสิ่งที่สืบทอดมายาวนานจนกลายเป็นวัฒนธรรมที่เหมาะสมดีงาม จึงไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนแปลง
เมื่อมองจากอีกมุมหนึ่ง นี่คือการยกข้ออ้างเรื่องความแตกต่างทางกายภาพบางประการระหว่างเพศหญิงและเพศชายมาขยายผลจนเกิดเป็นระบบการจัดการทางสังคมที่กำหนดสถานะ สิทธิ อำนาจ และโอกาสทางสังคมของคนเพศต่างๆ ให้ไม่เท่าเทียมกัน
สิ่งที่ตรรกะข้างต้นไม่ได้อธิบายไว้คือ ทำไมความแตกต่างทางกายภาพบางประการระหว่างเพศหญิงและเพศชาย จึงควรถูกใช้เป็นเหตุผลรองรับความไม่เท่าเทียมทางสังคม และหากวัฒนธรรมเป็นสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้น วัฒนธรรมย่อมเป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงได้ และได้เปลี่ยนแปลงมาแล้วโดยตลอด
ดังนั้น เมื่อเวลาผ่านไปและวิถีชีวิตและสภาพแวดล้อมทางสังคมของมนุษย์เปลี่ยนไป เราจะหาวิธีการจัดการทางสังคมแบบใหม่ๆ หรือสร้างวัฒนธรรมใหม่ ที่ความแตกต่างไม่ใช่ข้ออ้างสำหรับความไม่เท่าเทียมได้หรือไม่
นี่ไม่ใช่ข้อท้าทายเฉพาะสำหรับนักสตรีนิยมหรือผู้หญิง แต่เป็นข้อท้ายทายสำหรับสังคมมนุษย์ เพราะหากเรายอมรับการเลี้ยงดูกล่อมเกลาเด็กหญิง เด็กชาย และเด็กเพศอื่นๆ ให้เติบโตขึ้นโดยยอมรับหรือสยบยอมต่อความไม่เท่าเทียมในสังคม ย่อมหมายถึงว่าในอนาคตเราจะมีผู้ใหญ่ที่เป็นสมาชิกหรือผู้นำของสังคมที่ไม่เคารพซึ่งกันและกัน ไม่มีความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น เอารัดเอาเปรียบ หรือยอมถูกเอารัดเอาเปรียบ กระทั่งใช้ความรุนแรงหรือสยบยอมต่อการถูกใช้ความรุนแรง ไม่เฉพาะระหว่างคนต่างเพศหรือต่างเผ่าพันธุ์ แต่รวมถึงการใช้ความรุนแรงในเพศและเผ่าพันธุ์เดียวกันด้วย
ทางออกสำหรับความไม่เป็นธรรมทางเพศมีได้หลายทาง ทั้งการเปลี่ยนกฎหมาย นโยบาย และระบบการจัดการทางสังคม กระทั่งการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมรวมทั้งการหันกลับมามองที่บ้านและชีวิตส่วนตัวของเราและเริ่มเปลี่ยนจากที่นั่นด้วย เพราะความเท่าเทียมทางเพศคือประตูบานหนึ่งที่จะเปิดไปสู่ประตูความเท่าเทียมบานอื่นต่อๆ ไป
—————————————————
เกี่่ยวกับผู้เขียน: ดร.วราภรณ์ แช่มสนิท เป็นผู้จัดการแผนงานสุขภาวะผู้หญิงและความเป็นธรรมทางเพศ สมาคมเพศวิถีศึกษา เธอคิดค้นและพัฒนาแนวทางสร้างการเปลี่ยนแปลงทางสังคมผ่านการสื่อสาร รณรงค์ และทำโครงการพัฒนต่างๆ เพื่อสร้างวัฒนธรรมที่เคารพในความเท่าเทียมและเป็นธรรม และลดปัญหาความรุนแรงต่อผู้หญิงและความรุนแรงในครอบครัว
อ่านสารคดีฉบับเต็มได้ในนิตยสาร เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย เดือนพฤศจิกายน 2562
สารคดีแนะนำ