นักวิทยาศาสตร์หญิง : เวลานี้คือยุคทอง

นักวิทยาศาสตร์หญิง : เวลานี้คือยุคทอง 

อนาคตของแวดวงงานวิจัยกำลังมีผู้หญิงเพิ่มมากขึ้น  โครงการต่างๆ ซึ่งบ่มเพาะเยาวชนหญิงที่สนใจอาชีพทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์  ไม่เพียงท้าทายอุปสรรคที่เคยบั่นทอนกำลังใจผู้หญิงรุ่นก่อน แต่ยังผลักดันให้เกิด นักวิทยาศาสตร์หญิง รุ่นใหม่เพิ่มมากขึ้นอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน 

ชรียา เรดดี วัย 16 ปี จำไม่ได้ว่าเคยมีเวลาใดที่เธอไม่ตื่นเต้นกับวิทยาศาสตร์ ตอนเจ็ดขวบ เธออ่านหนังสือชีววิทยากับแม่ ซึ่งกำลังอ่านตำราเตรียมสอบบรรจุเป็นแพทย์ พออยู่ชั้นประถมศึกษาปีที่หก เรดดีก็เข้าร่วมประกวดตามงานแสดงวิทยาศาสตร์อย่างเอาจริงเอาจังแล้ว ในฤดูร้อนก่อนขึ้นชั้นมัธยมศึกษาปีที่สาม เธอเริ่มทำโครงการวิจัยในห้องปฏิบัติการวิศวกรรมชีวเวชที่มหาวิทยาลัยเวย์นสเตตในเมืองดีทรอยต์ รัฐมิชิแกน โดยคิดค้นวิธีที่ไม่รุกล้ำเข้าสู่ร่างกายซึ่งช่วยให้วินิจฉัยรอยโรคของมะเร็งเมลาโนมาได้อย่างรวดเร็ว โครงการนี้ส่งให้เธอได้รับรางวัลสูงสุดในงานแสดงวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์นานาชาติ หรือไอเอสอีเอฟ (International Science and Engineering Fair: ISEF) เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา

“วิทยาศาสตร์เป็นการหาคำตอบว่า สิ่งต่างๆเกิดขึ้นอย่างไรและเพราะเหตุใดค่ะ” เรดดีบอกและเสริมว่า “หนูอยากมีส่วนในเรื่องนี้มากๆ” ความมุ่งมั่นของเรดดีพ้องกับความพยายามที่กำลังแพร่ขยายไปทั่วสหรัฐฯ เพื่อผลักดันส่งเสริมนักเรียนนักศึกษาหญิงจำนวนหนึ่ง ซึ่งหมายมั่นจะประกอบอาชีพในสายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์ หรือเรียกย่อๆ ว่าสาขาเอสทีอีเอ็ม (STEM: Science, Technology, Engineering, Mathematics) มหาวิทยาลัยและสถาบันต่างๆ ตั้งแต่องค์การนาซาไปจนถึงโรงเรียนนายเรือสหรัฐฯ กำลังเป็นเจ้าภาพจัดงานสัปดาห์เอสทีอีเอ็มสำหรับเด็กผู้หญิงโดยเฉพาะ ขณะที่องค์กรต่างๆ เช่น สถาบันวิทยาศาสตร์นิวยอร์ก ทำหน้าที่จับคู่ผู้หญิงที่ประกอบอาชีพในสาขาเอสทีอีเอ็ม ให้กับเยาวชนหญิงที่กำลังมองหาคำแนะนำและที่ปรึกษา ส่วนไอเอสอีเอฟ อันเป็นโครงการหนึ่งของสมาคมเพื่อวิทยาศาสตร์และสาธารณชน (Society for Science & the Public) ซึ่งมีสำนักงานใหญ่อยู่ในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. เปิดสนามให้นักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลายที่ได้รับคัดเลือกลงประกวดแข่งขันในระดับนานาชาติ โดยงานที่จัดในปีนี้มีผู้เข้ารอบสุดท้ายถึง 1,842 คน แบ่งเป็นหญิงและชายฝั่งละเท่าๆ กัน และรางวัลสูงสุดสามในสี่ตกเป็นของเยาวชนหญิง รวมถึงเรดดีด้วย “แค่ได้เป็นส่วนหนึ่งของประสบการณ์นี้ก็ทำให้หนูดีใจสุดๆแล้วค่ะ” เธอบอก

นักเรียนมัธยมปลายจากประเทศ ภูมิภาค และดินแดนต่างๆ รวม 80 แห่ง เข้าร่วมประกวดในงานไอเอสอีเอฟ ปี 2019 ในเมืองฟีนิกซ์ รัฐแอริโซนา รมิตา เชื้อเมืองพาน (ทางซ้าย) นัทธมน ศรีพรม (ตรงกลาง) และพันธ์อนงค์ ชื่นโชคชัย (ทางขวา) เดินทางจากประเทศไทยเพื่อเข้าประกวดในหมวดวิทยาการพืช นักเรียนร่วมชั้นจากจังหวัดเชียงรายทีมนี้สร้างไฮโดรเจลที่ช่วยปกป้องพืชผลจากหอยทากรุกราน โดยไม่ทำอันตรายต่อพืชและสัตว์ในบริเวณใกล้เคียง
ในงานไอเอสอีเอฟ ปี 2019 อินนา ลารีนา นักเรียนมัธยมปลายชาวรัสเซีย มองผ่านอุปกรณ์แสดงผลหน้าจอที่เธอออกแบบร่วมกับเพื่อนร่วมทีม นาตาลียา อิฟลีวา อุปกรณ์ไร้สายชิ้นนี้ติดตั้งเซ็นเซอร์วัดระยะห่างของสิ่งกีดขวาง เช่น ขอบทางเท้า ซึ่งช่วยนำทางคนตาบอดและผู้บกพร่องทางการมองเห็นในพื้นที่ที่ไม่คุ้นเคยได้

แมรี ซู โคลแมน นักชีวเคมีและประธานสมาคมมหาวิทยาลัยสหรัฐฯ มองเห็นความสดใสในอนาคตทางวิทยาศาสตร์ของผู้หญิง สมัยที่เธอเข้าร่วมประกวดในงานไอเอสอีเอฟตอนเป็นนักเรียนมัธยมปลายเมื่อปี 1959 และ 1960 นั้น มีผู้เข้าร่วมประกวดเป็นเด็กหญิงราวร้อยละ 35 เธอบอกว่า ความสมดุลของจำนวนเชิงเพศสภาพเป็นเรื่องสำคัญ เพราะผู้หญิงจะนำมุมมองสดใหม่เข้ามาช่วยต่อกรกับปัญหายากๆทางวิทยาศาสตร์ได้ “ผู้คนที่มีประสบการณ์ชีวิตแตกต่างกันย่อมตั้งคำถามแตกต่างกันด้วยค่ะ” เธอกล่าว แต่ช่องว่างที่ชัดเจนก็ยังมีอยู่ ในงานไอเอสอีเอฟปีนี้  มีเยาวชนหญิงจำนวนสูงกว่าฝ่ายชายที่เข้าประกวดในหมวดจุลชีววิทยาและชีวเคมี แต่มีเยาวชนหญิงไม่ถึงหนึ่งในสามของผู้เข้ารอบสุดท้ายในหมวดคณิตศาสตร์และกลศาสตร์วิศวกรรม สมาคมเพื่อสตรีในวงการวิทยาศาสตร์ (Association for Women in Science) ให้ข้อมูลว่า มีผู้หญิงจำนวนมากขึ้นที่จบปริญญาขั้นสูงในสาขาเอสทีอีเอ็ม แต่ผู้ชายครองตำแหน่งผู้นำและบทบาทระดับมืออาชีพเป็นส่วนใหญ่ในอุตสาหกรรมที่อาศัยวิทยาการด้านเอสทีอีเอ็ม

อแมนดา เชย์นา อาห์เทก จากเมืองโฮล์มเดล รัฐนิวเจอร์ซี ค้นพบแรงบันดาลใจทางวิทยาศาสตร์ ขณะถักโครเชต์อยู่ใต้โต๊ะนักเรียนของเธอในคาบวิชาฟิสิกส์ เธอใช้เส้นด้ายนำไฟฟ้าทำจากเหล็กกล้าไม่เป็นสนิมถักโครเชต์เป็นห่วงร้อยเกี่ยวต่อกันเป็นสายโซ่ เพื่อให้เป็นเซ็นเซอร์ที่นุ่มและยืดได้เหมือนเส้นเอ็นในมือ อาห์เทกหวังว่า อุปกรณ์บลูทูทสวมใส่ได้ของเธอชิ้นนี้จะช่วยส่งเสริมให้มีการใช้เทคโนโลยีอย่างเช่นความจริงเสมือนได้อย่างไม่รู้สึกเป็นส่วนเกิน รวมทั้งช่วยให้ผู้ใช้ที่เป็นผู้บกพร่องทางร่างกายหรือทางการมองเห็น มีปฏิสัมพันธ์กับคอมพิวเตอร์ได้อย่างเป็นธรรมชาติยิ่งขึ้น
เอสเทอร์ อันยันซวา (ทางซ้าย) และซาโลเม อึนเจรี สร้างเครื่องมือเป็นจานหมุนที่ช่วยให้คนหูหนวกและผู้บกพร่องทางการมองเห็นวัดระยะวัตถุได้ ที่บ้านในเคนยา นักเรียนทั้งสองถูกกังขาในความสามารถทางวิทยาศาสตร์เพราะเป็นเด็กผู้หญิง “หนูอยากพิสูจน์อย่างมากว่าสังคมเข้าใจผิดค่ะ” อึนเจรีบอกกับสมาคมเพื่อวิทยาศาสตร์และสาธารณชน

ทว่ารูปโฉมวงการนี้กำลังเปลี่ยนแปลงไป ไมยา แอจเมรา ประธานและซีอีโอสมาคมเพื่อวิทยาศาสตร์และสาธารณชน เชื่อเช่นนั้น เหล่าเยาวชนหญิงที่มีความคิดสร้างสรรค์และมุ่งมั่นเด็ดเดี่ยว กำลังใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีเพื่อต่อกรกับปัญหาที่พวกเธอสนใจ ไม่ว่าจะเป็นข้าวตัดต่อด้วยเทคนิคพันธุวิศวกรรมที่ให้คุณค่าอาหารสูงขึ้น หรือการใช้เทคนิคการถักโครเชต์ในการออกแบบอุปกรณ์บลูทูทแบบสวมใส่ได้ สำหรับนักวิทยาศาสตร์ที่กำลังแจ้งเกิดเหล่านี้ “อะไรต่างๆจะเปลี่ยนไปค่ะ” แอจเมราบอก “ฉันมั่นใจมากว่า เยาวชนหญิงรุ่นนี้จะมีโอกาสสูงขึ้นมากในการเอาชนะปัญหาต่างๆที่แก้ไขได้ยากที่สุดของโลก”

เรื่อง คลอเดีย คัลบ์

ภาพถ่าย ดีนา ลิทอฟสกี

*** อ่านสารคดีฉบับเต็มได้ในนิตยสาร เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก  ฉบับภาษาไทย เดือนพฤศจิกายน 2562


สารคดีแนะนำ

ภิกษุณี : หนึ่งในสี่พุทธบริษัทที่ขาดหาย

© COPYRIGHT 2024 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.