ภิกษุณี : หนึ่งในสี่พุทธบริษัทที่ขาดหาย

ภิกษุณี : หนึ่งในสี่พุทธบริษัทที่ขาดหาย

ภิกษุณี : หนึ่งในสี่พุทธบริษัทที่ขาดหาย

สัมภาษณ์พิเศษ ภิกษุณีธัมมนันทา

ภิกษุณี ธัมมนันทา หรืออดีต รศ.ดร.ฉัตรสุมาลย์ กบิลสิงห์ เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางในแวดวงวิชาการด้านศาสนาและสตรี หลังรับราชการเป็นอาจารย์ประจำภาควิชาศาสนาและปรัชญา คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์อยู่นานถึง 27 ปี และเกษียณอายุราชการก่อนสามปี เพื่อบรรพชาเป็นสามเณรีเมื่อปี พ.ศ 2544 ณ ประเทศศรีลังกา และต่อมาอุปสมบทเป็นภิกษุณีเถรวาทรูปแรกของไทยในปี พ.ศ. 2546 ปัจจุบัน ภิกษุณีธัมมนันทาเป็นเจ้าอาวาสและประธานภิกษุณีสงฆ์วัตรทรงธรรมกัลยาณีภิษุณีอาราม อำเภอเมืองจังหวัดนครปฐม ซึ่งก่อตั้งขึ้นโดยภิกษุณีวรมัย กบิลสิงห์ ผู้เป็นมารดา แม้จะไม่ได้รับการยอมรับอย่างเป็นทางการจากคณะสงฆ์ไทย อีกทั้งภิกษุณีก็ไม่ได้รับสถานะนักบวชตามกฎหมาย ทว่าตลอดระยะเวลา 18 ปีในสมณเพศ ภิกษุณีธัมมนันทา ยังคงมุ่งมั่นทำภารกิจสำคัญอย่างการประดิษฐานภิกษุณีเถรวาทในประเทศไทย เพื่อหวังสืบทอดเจตนารมณ์แห่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และทำให้พุทธบริษัทสี่ [ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา] กลับมาครบถ้วนสมบูรณ์อีกครั้ง

ในโอกาสที่ เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก จัดทำนิตยสารฉบับพิเศษเดือนพฤศจิกายน 2562 ที่อุทิศเนื้อที่ทั้งฉบับให้แก่ผู้หญิง (ผู้หญิง : ศตวรรษแห่งการเปลี่ยนแปลง) กองบรรณาธิการได้รับความเมตตาจากภิกษุณีธัมมนันทาให้เข้าสัมภาษณ์พูดคุยถึงเรื่องต่างๆ อาทิ อุปสรรคและความท้าทายของการฟื้นฟูภิกษุณีสงฆ์ขึ้นในประเทศไทย และความเท่าเทียมทางเพศในสังคมไทย  เป็นต้น 

ภิกษุณี
ภิกษุณีธัมมนันทาได้รับการคัดเลือกให้เป็นหนึ่งในร้อยผู้หญิงที่สร้างแรงบันดาลใจและทรงอิทธิพลที่สุดในโลกประจำปี 2019 โดยสำนักข่าวบีบีซี สหราชอาณาจักร

NGThai:  การอบรมเลี้ยงดูในวัยเยาว์ของท่านโดยบิดาและมารดามีส่วนหล่อหลอมให้ท่านเติบโตขึ้นเป็นผู้หญิงที่แตกต่างจากผู้หญิงรุ่นราวคราวเดียวกันอย่างไร เช่น การส่งไปเรียนอินเดียคนเดียวในยุคหลายสิบปีก่อน

 ภิกษุณีธัมมนันทา: เริ่มจากพ่อ [ก่อเกียรติ ษัฏเสน] ก่อน  ท่านเป็นผู้ชายที่เปิดกว้างมากๆ พ่อไม่เคยวางกรอบอะไรกับเรา ลูกอยากทำอะไรทำ อยากมีกล้องถ่ายรูป ซื้อกล้องถ่ายรูปให้ตอนอายุ 12 ปี… พ่อเป็นคนสนับสนุนให้เราเป็นคนทันสมัย   เป็นคนใจกว้าง แล้วก็ไม่เคยแสดงท่าทีว่าผู้ชายเป็นใหญ่หรือกดขี่ ไม่มีในบ้าน ส่วนแม่ต้องบอกว่าเป็นสาวเปรี้ยวในสมัยของท่าน นั่นคือ พ.ศ. 2475 เป็นเนตรนารี (girl scout) ถีบจักรยานไปสิงคโปร์ 29 วัน ท่านเองก็หัวก้าวหน้า ทั้งพ่อและแม่เป็นคนหัวก้าวหน้า เราไม่เคยรู้ว่า โลกข้างนอกเขาเลี้ยงลูกผู้หญิงอีกแบบหนึ่ง จนกระทั่งไปทำงานที่ธรรมศาสตร์ อายุ 33 ปี มีอยู่ครั้งหนึ่งในที่ประชุม พอเราพูดอะไรขึ้นมา ก็จะมีอาจารย์ผู้หญิงบอกว่า นั่นให้ผู้ชายเขาทำ เรารู้สึกตกใจเพราะไม่เคยมีความคิดนี้อยู่ในหัว ไม่เคยมองว่า ผู้ชายต้องอย่างนั้น ผู้หญิงต้องอย่างนี้ เพราะฉะนั้น การเลี้ยงดูในวัยเด็กจึงสำคัญมาก การปลูกฝังและหล่อหลอมในบริบทของครอบครัวจึงสำคัญจริงๆ

NGThai: หลังจากโยมแม่อุปสมบทเป็นภิกษุณี (วรมัย กบิลสิงห์) และเผชิญการต่อต้านและการไม่ยอมรับสารพัด มีส่วนทำให้ท่านสนใจหรือลุกขึ้นมาจับงานเกี่ยวกับผู้หญิงในพุทธศาสนาช่วงที่เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยอย่างไร

 ภิกษุณีธัมมนันทา: เราก็เห็นท่านมาตลอด แต่เราแยกแยะว่า นั่นเป็นเรื่องส่วนตัว การที่เรามีแม่เป็นนักบวช การที่เรากลับมาวัตร เป็นเรื่องส่วนตัว เพราะเราถูกสอนมาว่า เป็นนักวิชาการต้องเป็นกลาง (objective) ถ้าเราเอาเรื่องส่วนตัวมาใส่ในวิชาการ จะทำให้งานวิชาการของเรามีความเป็นกลางน้อยลง ตอนที่ได้รับเชิญไปพูดที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดครั้งแรก ก็ไปพูดเรื่อง ‘หลวงย่า’ นี่แหละ แต่เวลาที่เรานำเสนอท่านในสไลด์ ไม่มีใครรู้ว่า นั่นคือแม่เรา เพราะเขาเจาะจงให้เราไปพูดเรื่อง อนาคตของภิกษุณีไทย ซึ่งตอนนั้นมีหลวงย่าอยู่รูปเดียว เราก็พูดถึงท่านเหมือนกับที่เราจะพูดถึงคนที่เราศึกษาโดยไม่จำเป็นต้องบอกคนคนนี้เป็นแม่ แต่จากการประชุมครั้งนั้นซึ่งใช้ชื่อว่า ผู้หญิง ศาสนา และการเปลี่ยนแปลงทางสังคม (Women, Religion and Social Changes) ทำให้เราเห็นชัดว่า ถ้าเราเป็นที่ไปเล่าเรียนมาทางพุทธศาสนา และเรามีข้อมูลเกี่ยวกับผู้หญิงมาก แต่เราเองเป็นนักวิชาการที่อยู่บนหอคอยงาช้าง ไม่ทำอะไรเพื่อที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ความรู้ทั้งหลายที่เรามีอยู่ก็เท่ากับสูญเปล่า เพราะเหตุนี้ในปีรุ่งขึ้นหลังการประชุมคือ พ.ศ. 2527 เราก็เริ่มขยับที่จะเป็นนักกิจกรรม (activist) ลงไปสู่การแบ่งปันแลกเปลี่ยนความรู้ที่เรามีกับคนอื่นๆ ทั้งจัดการประชุม ทำหนังสือ เป็นต้น

ภิกษุณี
รูปหล่อของภิกษุณีวรมัย กบิลสิงห์ หรือ “พระมหาโพธิธรรมาจารย์ วงศ์ศากยะภิกษุณีโพธิสัตต์” ประดิษฐาน ณ วัตรทรงธรรมกัลยาณี จังหวัดนครปฐม ภิกษุณีวรมัย กบิลสิงห์ หรือที่ลูกศิษย์ลูกหาเรียกด้วยความเคารพว่า “หลวงย่า” นับเป็นภิกษุณีรูปแรกของไทยที่อุปสมบทอย่างถูกต้อง

การออกบวชของเราเป็นสิ่งที่งดงามมาก แม้ว่าเรายังอาจปฏิบัติไปไม่ถึงไหน แต่สิ่งที่เราได้สัมผัส เพียงแค่ชีวิตของเราที่ได้สัมผัสสิ่งนี้แล้ว เราพบว่าเรามีความสุขมากขึ้น

NGThai: เคยได้ยินท่านเล่าให้ฟังถึงวันที่ตัดสินใจออกบวชว่า เช้าวันหนึ่งตอนแต่งหน้า เกิดคำถามขึ้นมาในใจตอนนั้นว่า นี่เราจะต้องทำแบบนี้ไปอีกนานเท่าไร อยากให้ท่านขยายความถึงเหตุการณ์ที่พลิกชีวิตตอนนั้น

 ภิกษุณีธัมมนันทา: ช่วงนั้นเราทำรายการโทรทัศน์ ปกติแล้วเป็นคนรักสวยรักงามทีเดียว มีความสุขกับการแต่งหน้า ขนาดเล็บยังต้องทาทุกวัน เพราะถ้ายังทาเล็บอยู่จะนอนไม่หลับ เลยต้องล้างออก พอวันรุ่งขึ้นก็ทาใหม่ รักสวยรักงามถึงขนาดนั้น พอแต่งหน้าเสร็จก็รู้สึกมีความสุข แต่เช้าวันนั้น พอแต่งหน้าเสร็จ กลับถามตัวเองในกระจก หรือคนในกระจกถามเรากลับมาว่า จะต้องทำแบบนี้อีกนานไหม ถ้าเป็นศาสนาคริสต์ เขาถือว่าเป็นการรับกระแสเรียกจากพระเจ้า เป็นจุดพลิกผันที่เรามีความรู้สึกว่า พอแล้ว นั่นเป็นจุดหักเหจริงๆ แล้วก็เข้ามาสู่ปี 2000 พอดี ขึ้นสหัสวรรษใหม่ เลยคิดว่าเราน่าจะทำอะไรที่มีความหมายกับชีวิตของเรา ปีนั้นก็เลยไปรับศีลโพธิสัตว์ที่ไต้หวัน ซึ่งเป็นเหมือนบันไดขั้นแรกของการที่เราอุทิศตนให้กับเส้นทางนี้ ปีรุ่งขึ้นคือปี 2001 ถึงได้บวช จะว่าไปก็เหมือนกับเราได้เตรียมชีวิตมาเป็นขั้นๆ

NGThai: ในสังคมไทย ประเพณีการบวชมีส่วนช่วยในเรื่องการเลื่อนชั้นทางสังคม เช่น เด็กชายยากจนในชนบทมีโอกาสได้รับการศึกษาผ่านการบวชเรียน แต่โอกาสลักษณะนี้มีน้อยมากสำหรับผู้หญิง สังคมไทยจะได้อะไรหากลูกผู้หญิงมีโอกาสได้บวชเรียนแบบเดียวกัน   

 ภิกษุณีธัมมนันทา: ถ้าเรามองในทางกลับกัน ถ้าลูกผู้หญิงสามารถทำได้เหมือนลูกผู้ชาย ก็ย่อมเป็นการช่วยยกระดับสังคมโดยเฉพาะในชนบท เพียงแต่เกิดกับผู้หญิง แทนที่จะเป็นผู้ชาย แต่ปรากฏว่าการบวชผู้หญิงถูกทำให้ยากเหลือเกิน ทั้งๆ ที่การบวชเปิดประตูให้มากๆ ในสมัยพุทธกาล ในวัฒนธรรมไทยกลับถูกปิดกั้น ก็เลยไม่มาถึงจุดที่เราคุยกัน ไม่มาถึงตรงที่จะเปิดโอกาสให้ลูกผู้หญิงได้ไต่ระดับขึ้นมาโดยผ่านการบวช กลับกลายเป็นว่า ถ้าจะบวช ต้องมีฐานหรือต้นทุนทางสังคมมากพอสมควร ไม่เช่นนั้น เข้ามาก็มักอยู่ไม่รอด จนสุดท้ายก็ต้องกลับออกไปใหม่ 

ภิกษุณี
ภิกษุณีธัมมนันทาขณะประกอบพิธีบรรพชาสามเณรีให้แก่กุลธิดา ณ วัตรทรงธรรมกัลยาณี เมื่อเดือนธันวาคม 2562 ที่ผ่านมา

NGThai: ท่านคิดว่าอะไรคืออุปสรรคสำคัญที่สุดในการทำงานเพื่อประดิษฐานภิกษุณีสงฆ์ในสังคมไทย   

 ภิกษุณีธัมมนันทา: อุปสรรคสำคัญที่สุดคือการยึดมั่นถือมั่นในตัวเรา การไม่ยอมรับซึ่งกันและกัน ตอนที่บวชเข้ามาใหม่ๆ เราก็จะมีทิฐิ อัตตาตัวตนสูงโดยที่เราไม่รู้ตัว เราเป็นลูกคนเดียว เรามีการศึกษาดี เราเป็นครูบาอาจารย์ เรามีประสบการณ์นานาชาติมากมาย เราไม่รู้ตัวว่า ทำตัวเหมือนคนมีอภิสิทธิ์ เวลาทำอะไรก็มักทำตามวิธีที่เราคิด โดยที่ลืมหรือไม่ได้ตระหนักว่า วัดอยู่ด้วยสงฆ์หรือสังฆะ เวลาพูดอะไรไป เขาไม่เข้าใจเรา เพราะเราพูดจากอีกระดับหนึ่ง ต้องมาตั้งหลักใหม่ ใช้เวลากว่าสองปีถึงได้ตระหนักว่า เราต้องการสร้างสังฆะใช่ไหม ถ้าเราไม่ละวาง ไม่คลี่คลายความยึดมั่นถือมั่นตามแบบของเรา ก็ไปไม่รอดนะ   

 ถ้าลูกผู้หญิงสามารถ [บวชเรียน] ได้เหมือนลูกผู้ชาย ก็ย่อมเป็นการช่วยยกระดับสังคมโดยเฉพาะในชนบท…  แต่ปรากฏว่าการบวชผู้หญิงถูกทำให้ยากเหลือเกิน ทั้งๆ ที่การบวชเปิดประตูให้มากๆ ในสมัยพุทธกาล

NGThai: มีคนพูดว่า การปฏิบัติธรรมหรือการเจริญงอกงามทางจิตวิญญาณเป็นเรื่องของปัจเจกบุคคล บทบาทหรือรูปแบบภายนอกจริงๆ แล้ว ไม่ได้สำคัญอะไร คุณจะเป็นอะไรก็ได้

 ภิกษุณีธัมมนันทา: เป็นความคิดที่ผิดนะ ตอนที่พระพุทธเจ้ามอบหมายพระศาสนาไว้กับคนสี่กลุ่ม ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ทรงมอบหมายให้ หนึ่ง ศึกษาคำสอน  สอง นำไปปฏิบัติ สาม หากมีคนนอกจ้วงจาบ สามารถจะแก้ต่างได้ สี่ ให้เผยแผ่ออกไป ถ้าทำได้เช่นนี้ จึงจะเรียกว่าสืบสานได้ คำว่า ‘สืบสาน’ ไม่เกิด หากเราปฏิบัติได้ และรู้ได้ตามลำพัง เพราะเมื่อเราตาย พระศาสนาก็หมดที่ตัวเรา ตอนที่พระพุทธเจ้าทรงส่งพระภิกษุออกไปประกาศพระศาสนา ทั้งหมดบรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ ทรงกำชับว่า ‘จงยังประโยชน์ตน และประโยชน์ท่าน’ นี่คือสองส่วนที่อย่าลืม ระหว่างที่เราปฏิบัติเพื่อมรรคผลซึ่งเป็นสิ่งที่ดี  แต่ในระหว่างที่เรายังไม่บรรลุมรรคผล เราก็ช่วยเหลือสังคมไปด้วย ถ้าทำได้พระพุทธศาสนาก็จะเป็นพุทธศาสนาสำหรับสังคม ทีนี้ถ้าผู้หญิงเราได้บวช ผู้หญิงช่วยเข้ามากันศึกษา  มาช่วยกันแก้ตรงนี้  เราไม่ได้บวชผู้หญิงเพื่อผู้หญิง   แต่เป็นการบวชผู้หญิงเพื่อพัฒนาสังคม เพื่อรักษาและสืบสานพระศาสนา

 NGThai: ทุกวันนี้ เราพูดเรื่องความเท่าเทียมระหว่างเพศกันมาก แม้แต่ในกฎหมายสูงสุดอย่างรัฐธรรมนูญก็กำหนดไว้ และผู้หญิงก็เข้าไปมีบทบาทในหลายพื้นที่ที่เคยเป็นของผู้ชายมาก่อน แต่ทำไมจึงดูเหมือนว่า ศาสนากลับเป็นพื้นที่ท้ายๆ ที่ผู้หญิงไม่สามารถมีที่ยืนได้อย่างทัดเทียมกับผู้ชาย

 ภิกษุณีธัมมนันทา: เป็นเรื่องจริง มีปัญหาและอุปสรรคมาก ซึ่งจริงๆ แล้วควรจะเป็นพื้นที่เปิด เรามาช่วยทำงาน ต้องคิดใหม่ คิดจากบริบทใหม่ กรอบความคิดเป็นกรอบความคิดที่ไปต่อไม่ได้ ไปไม่รอด แต่เราคงรอไม่ได้ เราต้องทำของเราไปเรื่อยๆ ทำในส่วนของเรา แม้จะน้อยนิด เวลานี้คนที่ออกบวชเป็นสามเณรีและภิกษุณีมีอยู่ด้วยกัน 285 รูปแล้ว นี่ก็ผ่านมา  18 ปีแล้วตั้งแต่เราบวชมา 

ภิกษุณี
ภาพบนและล่าง: สามเณรีได้รับการฝึกฝนเพื่อขัดเกลาจิตใจ และปฏิบัติศาสนกิจ เช่น การออกบิณฑบาต จากภิกษุณีที่วัตรทรงธรรมกัลยาณี

ภิกษุณี

เราไม่ได้บวชผู้หญิงเพื่อผู้หญิง แต่เป็นการบวชผู้หญิงเพื่อพัฒนาสังคม เพื่อรักษาและสืบสานพระศาสนา

NGThai: เวลาที่ยังเหลืออยู่ในชีวิต ท่านอยากเห็นอะไรเกิดขึ้นกับผู้หญิงไทย อาจจะสักในอีกสิบปีข้างหน้า  

 ภิกษุณีธัมมนันทา: ถ้าเป็นในส่วนของภิกษุณีสงฆ์เอง ก็อยากให้มีคุณภาพมากขึ้น คุณภาพในที่นี้หมายถึงทั้งข้างในและข้างนอก เรื่องการศึกษาสำคัญมากพอๆ กับการปฏิบัติภายใน เพราะจะช่วยให้ท่านสื่อสารออกไปสู่คนภายนอกให้เข้าใจได้ ดีขึ้นว่า การออกบวชของเราเป็นสิ่งที่งดงามมาก แม้ว่าเรายังอาจปฏิบัติไปไม่ถึงไหน แต่สิ่งที่เราได้สัมผัส เพียงแค่ชีวิตของเราที่ได้สัมผัสสิ่งนี้แล้ว เราพบว่าเรามีความสุขมากขึ้น ไม่ต้องไปถึงขั้นว่า เราเป็นผู้สำเร็จขนาดไหน แต่เราได้เข้าไปลิ้มรสพระธรรม แล้วสิ่งนี้ดีต่อใจเราอย่างไร เรามีการเปลี่ยนแปลงที่ตัวเราอย่างไร สิ่งนี้สำคัญมาก อยากเห็นตรงนี้ และอีกอย่างที่อยากเห็นคือ คนที่ออกบวชทั้งผู้หญิงและผู้ชายละวางตัวตน เข้ามาเป็นลูกพระพุทธเจ้าจริงๆ

ภิกษุณี
กิจวัตรหนึ่งของภิกษุณีธัมมนันทา คือการให้โอวาสและอบรมความรู้ทั้งทางโลกและทางธรรมแก่ภิกษุณีสงฆ์ที่วัตรทรงธรรมกัลยาณี

NGThai: ท่านอยากฝากหรือให้คำแนะนำอะไรถึงผู้หญิง ไม่ว่าจะในฐานะแม่ หรือ ภิกษุณี  

 ภิกษุณีธัมมนันทา: ผู้หญิงเรามีความพิเศษบางอย่างที่เหนือกว่าผู้ชาย คือเวลาผู้หญิงให้ เราจะให้แบบไม่มีเงื่อนไข เป็นความรักแบบไม่มีเงื่อนไข (unconditional love) ไม่มีความคิดว่า ให้แล้ว เธอต้องทำอะไรให้ฉันกลับคืนเท่านั้นเท่านี้  คนเป็นแม่ส่วนใหญ่จะมีคุณลักษณะนี้อยู่ในตัว และคุณลักษณะนี้ถ้าเผื่อแผ่ไปสู่สังคมวงกว้าง สังคมเราจะเป็นสังคมที่เอื้ออาทรต่อกันมากกว่านี้

 สัมภาษณ์และเรียบเรียง:  โกวิทย์ ผดุงเรืองกิจ

ภาพถ่าย: เอกรัตน์ ปัญญะธารา 

*** อ่านสารคดีเรื่องอื่นๆ ได้ในนิตยสาร เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย เดือนพฤศจิกายน 2562

 


สารคดีแนะนำ

ผู้หญิง : การเดินทางผ่านภาพถ่าย

 

 

Recommend