ในหมู่บ้านห่างไกลทางตะวันออกเฉียงเหนือของ อินเดีย ฝนตกหนักกัดเซาะโครงสร้างพื้นฐาน ชาวบ้านจึงสร้างสะพานมีชีวิตขึ้นจากต้นไม้ในหมู่บ้าน
‘ผมอยากจะคิดว่าสะพานมีชีวิตเหล่านี้หลุดออกมาจากเรื่อง ลอร์ดออฟเดอะริงส์ แต่เอาเข้าจริงกลับพูดว่า
‘ไม่ใช่แล้ว นี่ไม่ใช่นิยาย พวกมันเป็นของจริง’ ” — ประเสนชิต ยาทวะ ช่างภาพ
ในรัฐเมฆาลัยของอินเดีย สถานที่ที่เปียกชื้นที่สุดแห่งหนึ่งในโลก คนในหมู่บ้านช่วยกันถักทอรากของต้นยางที่ยังมีชีวิตให้เป็นสะพานคนเดินที่แข็งแกร่ง ในการเดินทางสำรวจเพื่อบันทึกสารคดีเกี่ยวกับประเพณีนี้ ประเสนชิต ยาทวะ ถ่ายภาพสะพานรากไม้ราว 30 แห่งตลอดช่วงเวลาหนึ่งปี
จะได้ภาพเด็ดมาอย่างไร
ยาทวะไม่เคยไปเยือนสะพานรากไม้ที่มีชีวิตมาก่อนที่จะเริ่มทำโครงการนี้ แต่เขารู้จักสะพานที่ว่านี้แห่งหนึ่งใกล้หมู่บ้านโนห์เวต ความที่มีนักท่องเที่ยวมาถ่ายภาพมากมาย ยาทวะอยากให้ภาพถ่ายของเขาโดดเด่นออกมา “ไม่ง่ายเลยครับที่จะทำให้ต้นไม้ดูมีเสน่ห์ขรึมขลัง” เขาบอก เพื่อเตรียมการ เขาปรึกษาช่างภาพคนอื่นๆ และศึกษาภาพวาดภูมิทัศน์ เขาตัดสินใจถ่ายภาพภาพนี้หลังจากมืดแล้ว ซึ่งเป็นเรื่องเสี่ยง เพราะฝนที่ตกหนักอย่างกะทันหันอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน ซึ่งเป็นอันตรายโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเวลากลางคืน
การเตรียมสัมภาระที่จำเป็น
เนื่องจากนี่เป็นการเดินทางไปยังภูมิภาคนี้ครั้งที่สี่ของยาทวะ เขาจึงรู้ว่าต้องเตรียมสัมภาระอะไรบ้าง อุปกรณ์กันน้ำเป็นสิ่งจำเป็น เขานำเสื้อกันฝนขนาดเล็กไปสำหรับตัวเอง และที่สำคัญคือเพื่อให้กล้องถ่ายภาพแห้งสนิท
‘วาดภาพ’ ด้วยแสง
ยาทวะนั่งเครื่องบินจากบ้านของเขาที่เมืองบังคาลอร์ไปยังเมืองคุวาหติ แล้วนั่งรถรับจ้างไปที่หมู่บ้านโนห์เวต จากที่นั่น เขาเดินเป็นเวลา 30 นาทีไปที่สะพาน ในช่วงสามสัปดาห์ที่พักอยู่ที่นั่น ยาทวะทดลองใช้แสงไฟ “วาดภาพ” ส่วนต่างๆของสะพาน และสภาพแวดล้อมโดยรอบระหว่างการเปิดหน้ากล้องไว้นานๆ ในช่วง 438 วินาทีที่เปิดหน้ากล้องเพื่อถ่ายภาพนี้ ยาทวะขยับไปตามตำแหน่งต่างๆ เพื่อส่องไฟ ความที่ซ่อนตัวอยู่ในเงามืด ตัวเขาจึงไม่ปรากฏอยู่ในภาพถ่าย
ว่าด้วยตัวเลข
200 ปี คืออายุโดยประมาณของสะพานแห่งนี้
11,500 มิลลิเมตร คือปริมาณฝนเฉลี่ยต่อปีในรัฐนี้
6,460 คือจำนวนหมู่บ้านโดยประมาณในรัฐ
ภาพถ่ายสะพานมีชีวิตจากช่างภาพคนอื่นๆ
อ่านสารคดีเพิ่มเติมได้ในนิตยสาร เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย เดือนธันวาคม 2562
สารคดีแนะนำ