ต้นไม้ แห่งความทรงจำ : เรื่องราวเล่าขานจาก 9 ต้นไม้ในตำนาน

ต้นไม้ แห่งความทรงจำ : เรื่องราวเล่าขานจาก 9 ต้นไม้ในตำนาน

ต้นไม้ แห่งความทรงจำ : เรื่องราวเล่าขานจาก 9 ต้นไม้ในตำนาน

เรื่อง แคที นิวแมน

ภาพถ่าย ไดแอน คุก และเลน เจนเชล

ต้นไม้ ทุกต้นบอกเล่าเรื่องราว แม้บางเรื่องอาจสะเทือนอารมณ์เกินพรรณนา ทั้งยังเก็บรักษาความทรงจำ โอบอุ้มความเชื่อ และเป็นอนุสรณ์ความเศร้า

ต้นไม้ สร้างแรงบันดาลใจที่โด่งดังที่สุดเห็นจะไม่พ้นต้นแอ๊ปเปิ้ลในสวนผลไม้ที่มณฑลลิงคอล์นเชียร์ ประเทศอังกฤษ ซึ่งเล่าขานกันว่า ในปี 1666 แอ๊ปเปิ้ลผลหนึ่งร่วงหล่นจากต้น และกระตุ้นให้ชายหนุ่มนามไอแซก นิวตัน สงสัยว่า ทำไมแอ๊ปเปิ้ลถึงร่วงในแนวดิ่งลงสู่พื้นดินเสมอ

ต้นฉบับลายมือสมัยศตวรรษที่สิบแปดบอกเล่าเรื่องราวของต้นไม้ต้นนี้ว่า นิวตันซึ่งเดินทางกลับบ้านจากเคมบริดจ์ (หลังกาฬโรคระบาดทำให้ต้องปิดมหาวิทยาลัย) เดินเข้าไปในสวนและครุ่นคิดใคร่ครวญ วิลเลียม สตูกลีย์ เพื่อนและนักเขียนชีวประวัติของเขา บรรยายไว้ว่า “ความคิดเรื่องแรงโน้มถ่วงผ่านเข้ามาในหัว…จากการร่วงสู่พื้นของผลแอ๊ปเปิ้ล ขณะที่เขานั่งนึกตรึกตรองอยู่”

นี่ไม่ใช่ช่วงเวลาแห่งการหยั่งรู้ครั้งแรกที่เกี่ยวพันกับต้นไม้ พระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ ขณะประทับใต้ต้นโพธิ์มิใช่หรือ

ต้นไม้เป็นที่เก็บความทรงจำของธรรมชาติ กระทั่งในระดับโมเลกุล เบนจามิน สเวตต์ ผู้เขียนหนังสือ นิวยอร์ก นครแห่งแมกไม้ (New York City of Trees) กล่าวในการสัมภาษณ์ทางวิทยุว่า “เนื้อไม้ในแต่ละชั้นของวงปีประกอบด้วยอากาศบางส่วนของปีนั้นๆ ซึ่งต่อมาเปลี่ยนเป็นคาร์บอน และนั่นเองที่ทำให้ต้นไม้บันทึกเรื่องราวปีแล้วปีเล่าของเมืองเอาไว้ในเชิงกายภาพ”

ทว่าความทรงจำบางอย่างกลับทำให้หัวใจรานร้าว เฉกเช่นที่ถ่ายทอดผ่านต้นเชสต์นัตซึ่งยืนต้นอยู่หน้าบ้านหลังหนึ่งในกรุงอัมสเตอร์ดัม ที่ซึ่งเด็กหญิงนามอันเนอ ฟรังค์ (หรือแอนน์ แฟรงค์) และครอบครัวหลบซ่อนตัวจากพวกนาซี จากหน้าต่างห้องใต้หลังคาเพียงบานเดียวที่ไม่ถูกปิดตาย อันเนอมองเห็นต้นไม้ซึ่งช่วยบ่งบอกฤดูกาลที่ผันผ่าน ก่อนที่ตำรวจลับเกสตาโปจะจับกุมเธอและครอบครัวไปในวันที่ 4 สิงหาคม ปี 1944

หลายปีต่อมา หลังจากได้อ่านสมุดบันทึกของลูกสาว พ่อของอันเนอเอ่ยปากว่า “ผมไม่เคยรู้เลยว่า การได้เห็นเศษเสี้ยวของท้องฟ้าสีครามมีความหมายกับอันเนอมากแค่ไหน…และเชสต์นัตต้นนั้นสำคัญกับลูกมากเพียงใด”

ความทรงจำบางเรื่องเป็นที่รับรู้ของคนหมู่มาก เฉกเช่นเรื่องราวความไร้เดียงสาและความสูญเสียซึ่งแฝงเร้นอยู่ในต้นไม้แห่งการรู้ดีรู้ชั่ว ณ สวนสวรรค์อีเดน ต้นไม้ต้นนี้ออกผลเป็นแอ๊ปเปิ้ลแห่งการล่อลวง และการกินผลไม้ต้องห้ามนั้นจะนำไปสู่ผลลัพธ์อันเจ็บปวด

หากด้านมืดของความเป็นมนุษย์ถือกำเนิดจากใต้ต้นไม้แล้วไซร้ ก็คงเหมาะสมแล้วที่ร่มไม้เขียวขจีช่วยปลอบประโลมใจมนุษย์ได้เช่นกัน ดังเช่นต้นเอล์มอเมริกันต้นหนึ่งในเมืองโอคลาโฮมาซิตี ย้อนหลังไปเมื่อวันที่ 9 เมษายน ปี 1995 เหตุระเบิดที่วางแผนและก่อการโดยทิโมที แมกเว ทหารผ่านศึกผู้ต่อต้านรัฐบาล ถล่มอาคารอัลเฟรด พี. เมอร์ราห์ สูงเก้าชั้นของรัฐบาลกลางในย่านใจกลางเมือง และคร่าชีวิตผู้คน 168 คน

แรงระเบิดเผาไหม้ลำต้น ทำให้ใบร่วงหล่นจนหมดสิ้น พร้อมฝังสะเก็ดและเศษซากลงในเนื้อไม้ของต้นเอล์มสูง 10 เมตรที่เติบโตในลานจอดรถใกล้เคียง ทุกวันนี้ “ต้นไม้ผู้รอดชีวิต” ไม่เพียงเป็นจุดเด่นของพิพิธภัณฑ์และอนุสรณ์สถานแห่งชาติโอคลาโฮมาซิตี แต่ยังช่วยปลอบประโลมใจคนอย่างดอริส โจนส์ ผู้สูญเสียแคร์รี แอนน์ เลนซ์ ลูกสาววัย 26 ปีที่กำลังตั้งครรภ์ไปในเหตุระเบิดครั้งนั้น เธอบอกว่า “ฉันรู้สึกดีขึ้นเมื่อได้เห็นต้นเอล์มค่ะ มันเป็นสิ่งดีๆที่รอดพ้นเหตุการณ์เลวร้ายมาได้”

1. ต้นสนบริสเซิลโคนไพน์, ป่าแห่งชาติอินโย, แคลิฟอร์เนีย

ต้นไม้
เอดมันด์ ชุลแมน นักวิทยาศาสตร์ผู้เชื่อมั่นว่า วงปีต้นไม้เผยประวัติภูมิอากาศโลกได้ ใช้เวลาช่วงฤดูร้อนหลายปี ในภูมิภาคแถบตะวันตกของสหรัฐฯ เพื่อเสาะหาตัวอย่างต้นไม้อายุมากที่สุดที่ยังยืนต้นอยู่ เมื่อปี 1957 ชุลแมน ค้นพบเมทูเซลาห์ สนบริสเซิลโคนไพน์ที่มีวงปี 4,789 วง นักวิจัยค้นพบสนที่น่าตื่นตาตื่นใจอีกต้นในรัฐเนวาดา แต่การเจาะแก่นเพื่อตรวจหาอายุไม่ประสบผลเพราะสว่านหัก จึงตัดสินใจโค่นมันลงและพบว่ามีวงปีถึง 4,862 วง เท่ากับว่าพวกเขาได้โค่นต้นไม้อายุยืนที่สุดไปแล้วโดยไม่ตั้งใจ

2. ต้นแปะก๊วยขอลูก, โตเกียว, ญี่ปุ่น

ต้นไม้
ตามประเพณีเชื่อกันว่า ต้นแปะก๊วยซึ่งยืนต้นอยู่ในสวนของวัดโซะชิงะยะคิชิโมะจินในกรุงโตเกียว ช่วยให้ผู้มาขอพรมีลูกได้ดังหวัง แม้เทพธิดาคิชิโมะจินจะเป็นผู้พิทักษ์เด็ก แต่เรื่องราวความเป็นมากลับน่าสะพรึงกลัวไม่น้อยเพราะพระนางเลี้ยงดูลูกๆ ที่น่าจะมีจำนวนหลายพันคนด้วยการลักพาลูกของคนอื่นมาเป็นอาหาร เพื่อให้บทเรียนแก่พระนาง พระพุทธองค์จึงทรงซ่อนลูกคนหนึ่งของพระนางในบาตร เมื่อคิชิโมะจินวิงวอนต่อพระพุทธองค์ จึงทรงเทศนาถึงความทุกข์ทรมานที่พระนางก่อแก่ผู้อื่น ทำให้พระนางคิดได้และกลับใจปวารณาตนเพื่อปกป้องเด็กๆ ทุกคน

3. ต้นสะเดา, พาราณสี, อินเดีย

ต้นไม้
ทางตอนเหนือของอินเดีย ต้นสะเดาได้รับการขนานนามว่า ต้นไม้แห่งการเยียวยา และเป็นภาคหนึ่งของพระแม่ศีตลาเทวี  สำหรับผู้คนในชุมชนรอบวัดนังฆันพีร์บาบาในเมืองพาราณสี ต้นสะเดาต้นนี้เป็นมากกว่านั้น ชายผู้หนึ่งเล่าให้เดวิด แฮเบอร์แมน ศาสตราจารย์ด้านศาสนาจากมหาวิทยาลัยอินดีแอนา ผู้บันทึกเรื่องราวเหล่านี้ ฟังว่า “ลูกชายผมคลอดก่อนกำหนดครับ… คุณหมอบอกว่าคงอยู่ได้อีกไม่นาน แต่ผมเฝ้าสวดขอพรจากสะเดาต้นนี้ และ…แกก็รอดมาได้” ต้นสะเดานี้ห่มสาหรีและใส่หน้ากากพระแม่เพื่อตอกยํ้าความเชื่อมโยงระหว่างพระแม่กับผู้สักการบูชา

4. ต้นแอ๊ปเปิ้ลของนิวตัน, ลิงคอล์นเชียร์, อังกฤษ

ต้นไม้
ผลแอ๊ปเปิ้ลที่หล่นจากต้นหน้าคฤหาสน์วูลส์ทอร์ป บ้านในวัยเด็กของเซอร์ไอแซก นิวตัน ไม่ได้หล่นใส่ศีรษะของเขาตามที่เล่าขานกัน หากร่วงสู่พื้นดิน กระนั้น รายงานที่ตีพิมพ์ในปี 1752 ยืนยันว่า เหตุการณ์ดังกล่าวนำไปสู่กระบวนการทางความคิดซึ่งท้ายที่สุดตกผลึกเป็นกฎแรงโน้มถ่วงสากล พายุได้พัดต้น “แรงโน้มถ่วง” ต้นเดิมโค่นลงเมื่อราวปี 1820 แต่รากยังคงฝังอยู่และงอกใหม่เป็นต้นแอ๊ปเปิ้ลดังในภาพ

นี่ไม่ใช่ช่วงเวลาแห่งการหยั่งรู้ครั้งแรกที่เกี่ยวพันกับต้นไม้ พระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ ขณะประทับใต้ต้นโพธิ์มิใช่หรือ

5. ต้นสนมอนเทซูมาไซเปรส, ซานตามารีอาเดลตูเล, โออาซากา, เม็กซิโก

ต้นไม้
นักเรียนชั้นประถมหกจากโรงเรียนโกเลเคียวโมโตลีนีอาเดอันเตเกรา เข้าแถวหน้ากระดานหน้าต้นสนมอนเทซูมาไซเปรส ที่รู้จักกันในนามเอลอาร์บอลเดลตูเล ลำต้นซึ่งมีขนาดเส้นรอบวง 36 เมตรและเส้นผ่านศูนย์กลางราว 11.5 เมตรช่วยประคองเรือนยอดที่แผ่กว้างเกือบเท่าสนามเทนนิสสองสนาม ในทศวรรษ 1990 รัฐบาลเม็กซิโกเปลี่ยนเส้นทางทางหลวงสายแพน-อเมริกา และอนุมัติงบประมาณในการขุดบ่อนํ้าสำหรับใช้หล่อเลี้ยงต้นสนไซเปรสนี้ เพื่อบรรเทาความเสียหายที่เกิดจากควันท่อไอเสียและระดับนํ้าใต้ดินที่ลดตํ่าลง

6. ต้นเบาบับ, ดาร์บี, ออสเตรเลีย

ต้นไม้
ต้นเบาบับในรัฐเวสเทิร์นออสเตรเลียต้นนี้เป็นที่รู้จักในนามต้นไม้คุกแห่งดาร์บี ซึ่งคริสติน ฮาร์แมน นักประวัติศาสตร์จากมหาวิทยาลัยแทสเมเนีย และเอลิซาเบท แกรนต์ นักมานุษยวิทยาสถาปัตย์จากมหาวิทยาลัยแอดิเลด เห็นว่าผิดถนัด แม้จะเล่าลือกันว่า ต้นไม้นี้เป็นที่คุมขังหรือพื้นที่กักกันนักโทษชาวอะบอริจินระหว่างขนย้ายไปดาร์บี ทั้งฮาร์แมนและแกรนต์แย้งว่า เรื่องเล่าดังกล่าวเป็น “ความจงใจที่จะนำเสนอต้นเบาบับให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวซึ่งมีประวัติด้านมืด เพื่อแสดงถึงชัยชนะที่นักล่าอาณานิคมมีเหนือชาวอะบอริจิน”

หากด้านมืดของความเป็นมนุษย์ถือกำเนิดจากใต้ต้นไม้ เฉกเช่นต้นไม้แห่งการรู้ดีรู้ชั่ว ณ สวนสวรรค์อีเดน… ก็คงเหมาะสมแล้วที่ร่มไม้เขียวขจีช่วยปลอบประโลมใจมนุษย์ได้เช่นกัน

7.ต้นแพร์ “ผู้รอดชีวิต” อนุสรณ์สถาน 9/11 นิวยอร์กซิตี, นิวยอร์ก

ต้นไม้
หลังเหตุก่อการร้าย 9/11 ทำลายตึกแฝดเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์สูง 110 ชั้นในย่านโลเวอร์แมนแฮตตันจนเหลือเพียงซากเศษเหล็ก หลังจากวันแห่งควันดำทะมึนและเถ้าถ่านอันน่าสะพรึงกลัว หลังจากการสูญเสียชีวิตผู้คน 2,753 คน สิ่งมีชีวิตสุดท้ายที่ถูกดึงออกจากซากปรักคือต้นแพร์แคลเลอรีที่กลายมาเป็นแบบอย่างของพฤกษาแห่งความอาดูร (บนและล่าง)  ทว่าแฝงไว้ซึ่งความสามารถในการหยัดยืนอีกครั้ง ต้นแพร์ต้นนี้ถูกเพลิงเผาไหม้เกรียมด้านหนึ่งซึ่งเป็นด้านที่ผู้ออกแบบเลือกให้หันออกสู่ทางเดินหลักที่ผู้มาเยี่ยมชมใช้ “เพื่อให้พวกเขาได้เห็นห้วงเวลาที่โลกเปลี่ยนไปครับ” โรนัลโด เวกา อดีตผู้อำนวยการฝ่ายออกแบบอาวุโสของอนุสรณ์สถาน ให้เหตุผล

ต้นไม้

8. ต้นเควกกิงแอสเพน, ป่าแห่งชาติฟิชเลก, ยูทาห์

ต้นไม้
ต้นเควกกิงแอสเพนชื่อ “แพนโด” ซึ่งประกอบด้วยลำต้น 47,000 ต้น ครอบคลุมพื้นที่เกือบ 270 ไร่ และมีนํ้าหนักรวมกันราว 5.9 ล้านกิโลกรัมนี้ ถือเป็นสิ่งมีชีวิตเดี่ยวที่อาจถือกำเนิดขึ้นเมื่อหลายหมื่นปีก่อนจากเมล็ดพันธุ์เควกกิงแอสเพนเมล็ดเดียว และแพร่พันธุ์ด้วยการแตกหน่อจากระบบรากที่ขยายตัวต่อเนื่อง (คำว่าแพนโดในภาษาละตินแปลว่า “แพร่กระจาย”) แต่ละลำต้นมีเอกลักษณ์ทางพันธุกรรมเหมือนกันทุกประการ และมีอายุไม่เกิน 150 ปี  แต่ระบบรากอาจเป็นสิ่งมีชีวิตที่อายุยืนที่สุดในโลก

9. ต้นมะม่วง, นาอุนเด, โมซัมบิก

ต้นไม้
ต้นมะม่วงในเมืองนาอุนเด ประเทศโมซัมบิก ให้มากกว่าแค่ร่มเงา เช่นเดียวกับต้นไม้ที่ได้รับการขนานนามว่า “รุกขชาติแห่งการสานเสวนา” อื่นๆ มะม่วงต้นนี้เป็นสถานที่สำหรับการบอกเล่าเรื่องราวตามประเพณี จัดพิธีกรรม และการวางระเบียบชุมชน โคฟี อันนัน อดีตเลขาธิการองค์การสหประชาชาติผู้ล่วงลับ จากประเทศกานา บันทึกไว้ว่านี่คือ “สถานที่แห่งการพบปะสนทนา แสวงหาการประนีประนอมและระงับข้อพิพาท เพื่อก้าวข้ามความแตกต่างและฟูมฟักความสามัคคี หากเรามีปัญหาและหาทางออกไม่ได้ เราก็จะมาพบกันอีกในวันพรุ่งนี้และสนทนากันต่อไป”

อ่านเพิ่มเติม

นี่ไม่ใช่ภาพตัดต่อ แต่คือสะพานต้นไม้จริงที่ปลูกในอินเดีย

Recommend