กำเนิดผีน้อยไทยในเกาหลีใต้

อะไรคือสาเหตุที่ทำให้คนไทยจำนวนหนึ่งยอมเป็น ผีน้อย หรือแรงงานผิดกฎหมายเพื่อไปขายแรงงานแบบหลบๆ ซ่อนๆ แม้จะมีเสียงตำหนิก่นด่าจากเพื่อนร่วมชาติไว้เบื้องหลัง

สำหรับในประเทศไทย ค่านิยมการออกไปค้าแรงงานในต่างประเทศไม่ใช่เรื่องใหม่ เมื่อ 30-40 ปีที่แล้ว ไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่ส่งออกแรงงานไปต่างประเทศจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแถบตะวันออกกลาง หลังจากนั้น ค่านิยมการไปขายแรงงานในต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นตะวันออกกลาง เอเชีย แม้กระทั่งยุโรปหรืออเมริกา ก็เริ่มเป็นที่นิยมในหมู่คนไทยที่ต้องการค่าตอบแทนที่มากกว่าการทำงานในประเทศของตัวเองเรื่อยมา แม้จะต้องแลกกับชีวิตที่ต้องห่างไกลบ้านและต้องปรับตัววิถีชีวิตที่แตกต่างกับบ้านเกิดอย่างมาก

อย่างไรก็ตาม ในระยะหลังเริ่มปรากฏปัญหาของแรงงานไทยที่ผิดกฎหมายมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในประเทศเกาหลีใต้ที่กระทรวงยุติธรรมของเกาหลีใต้ออกมาให้ข้อมูลในปี 2018 ว่ามีคนไทยอาศัยอยู่ 188,206 คน และกว่าร้อยละ 65 หรือประมาณ 120,000 เป็นแรงงานที่ไม่มีเอกสารการทำงานและอาศัยอยู่ในเกาหลีใต้เกินอายุวีซ่า

นอกจากการได้ค่าตอบแทนที่สูงแล้ว ปัจจัยใดที่ทำให้คนไทยนับแสนต้องยอมเสี่ยงละเมิดกฎหมาย

การไปทำงานแบบถูกกฎหมายที่ยังมีอุปสรรคสำคัญ

เป็นที่ทราบกันดีว่า ค่าตอบแทนที่สูงกว่าเมื่อเทียบกับการค้าแรงงานในประเทศ คือแรงจูงใจหลักที่ทำให้คนไทย โดยเฉพาะกลุ่มแรงงานภาคเกษตรกรรมที่ไม่ได้อาศัยอยู่ในเมืองใหญ่ ซึ่งต้องพบเจอปัญหาการเข้าถึงแหล่งเงินทุน และปัญหารายได้ในการทำเกษตรกรรมที่ไม่เพียงพอต่อค่าใช้จ่าย สนใจเข้ามาค้าแรงงานในเกาหลีใต้ และยังมีแรงงานในหัวเมืองใหญ่ที่พบว่าค่าตอบแทนที่ได้รับไม่เพียงพอในการตั้งตัวและมีชีวิตที่ดีกว่าได้ จึงเริ่มต้นกระบวนการหางานในต่างประเทศ โดยเกาหลีใต้คือหนึ่งในนั้น โดยงานที่คนไทยนิยมมักเป็นงานภาคการผลิตที่อยู่ในโรงงาน งานก่อสร้าง แรงงานภาคเกษตร งานนวดแผนไทย เป็นต้น ซึ่งจะมีการส่งแรงงานถูกกฎหมายจากประเทศไทยไปทำงานอยู่เป็นระยะๆ

ตลาดกลางคืนจองโร ในเกาหลีใต้ ภาพถ่ายโดย ADAM DEAN

กระบวนการจัดส่งแรงงานไปประเทศเกาหลีใต้อย่างถูกกฎหมายโดยคร่าวๆ ต้องเริ่มจากการเข้าระบบ EPS ที่ย่อมาจาก Employment Permit System (ระบบอนุญาตการจ้างงาน) ที่ดำเนินการโดยรัฐบาลทั้งสองประเทศ

เงื่อนไขสำคัญของผู้ที่ต้องการทำงานแบบถูกกฎหมายคือต้องผ่านการทดสอบ EPS-TOPIK (สอบวัดระดับภาษาเกาหลีเพื่อไปทำงานตามระบบจ้างงาน) ซึ่งจะมีโรงเรียนที่สอนภาษาเกาหลีในไทยที่ได้รับอนุญาตจากกระทรวงศึกษาธิการไทยเปิดหลักสูตรเพื่อการทดสอบนี้โดยเฉพาะ อันจะมีค่าใช้จ่ายเบื้องต้นอยู่ประมาณ 9,500 บาทขึ้นไป เมื่อสอบผ่านแล้วก็จะเข้าสู่กระบวนการรายงานตัวกับกระทรวงแรงงานของไทยเพื่อขึ้นทะเบียนเป็นผู้หางานในเกาหลีใต้ และทางกระทรวงฯ จะส่งข้อมูลให้นายจ้างชาวเกาหลีใต้ที่กำลังมองหาแรงงาน

แน่นอนว่าผู้ที่ลงทะเบียนก็ต้องรอให้มีนายจ้างเรียกตัวไปทำงาน ซึ่งในขั้นตอนนี้อาจใช้เวลารอนานหลายเดือน หรืออาจเป็นปี ซึ่งถ้านายจ้างได้เลือกแรงงานคนใดก็จะมีการเรียกตัวมาเซ็นสัญญาจ้างที่กระทรวงแรงงาน จากนั้นก็จะมีการเรียนภาษาหรือทดสอบทักษะแรงงานเพิ่มเติมเพื่อเตรียมความพร้อมก่อนเดินทางอีกครั้ง หลังจากนั้นก็รอกำหนดวันเดินทางเพื่อเดินทางไปทำงานที่เกาหลีใต้ต่อไป

การไปแบบผิดกฎหมายนั้นใช้เวลาและขั้นตอนน้อยกว่า

แม้ขั้นตอนการไปทำงานที่เกาหลีใต้แบบถูกกฎหมายนั้นมีระบบที่ชัดเจนและได้รับการดูแลจากหน่วยงานราชการไทยแบบไม่เสียค่าบริการ อีกทั้งได้รับการประกันรายได้ตามค่าแรงในสัญญาจ้าง รวมไปถึงการคุ้มครองตามกฎหมายแรงงานของเกาหลีใต้ แต่ก็ยังมีสิ่งที่ผู้ที่อยากไปทำงานมองว่าเป็นอุปสรรคสำคัญ ทั้งค่าเล่าเรียนภาษาที่เฉียดหลักหมื่นบาท โดยเข้าเรียนแล้วก็ใช่ว่าจะสอบได้ และถึงแม้จะสอบผ่านและได้ขึ้นทะเบียนเป็นผู้หางานแล้ว ก็ยังต้องผ่านการรอการเลือกจากนายจ้างที่อาจจะนานนับปี สองปี หรืออาจนานกว่านั้น

ในขณะที่แรงงานจำนวนมากต้องการเงินด่วนเพื่อปลดหนี้สินในทุกเดือน จึงไม่อาจรอทำตามกระบวนการได้ หรือแม้กระทั่งแรงงานที่เข้าสู่ช่วงวัยกลางคน (อายุ 40 ปี ขึ้นไป) ที่หางานได้ลำบาก และมองว่าตัวเองหมดช่องทางการทำงานในประเทศบ้านเกิด จึงอยากไปเสี่ยงดวง-ดิ้นรน โดยการทำงานแบบผิดกฎหมายที่เกาหลีใต้ ซึ่งกลับกลายเป็นช่องทางที่ได้รับความนิยมมากที่สุด จึงทำให้เกิดแรงงานที่ไม่มีใบอนุญาตทำงาน หรือ “ผีน้อย” ขึ้นมา

ผู้คนต่างหลงใหลในบรรยากาศของคลองชองกเยชอน (Cheong¬gyecheon, 청계천) โซล, เกาหลีใต้

กระบวนการเกิดขึ้นของผีน้อยมักเริ่มต้นจากการที่พวกเขาเห็นคนที่ไปทำงานเกาหลีใต้สามารถส่งเงินกลับให้ครอบครัวได้มากมาย หรือส่งต่อเรื่องราวแบบปากต่อปากว่าไปคนไทยสามารถไปทำงานที่เกาหลีใต้โดยใช้ช่วงเวลาพำนักแบบไม่ต้องใช้วีซ่าได้ถึง 90 วัน ซึ่งก็มากเพียงพอในการทำงานเพื่อให้ได้เงินจำนวนหนึ่ง หรือถ้าอยู่ทำงานนานกว่านั้น เช่น 3 หรือ 5 ปีขึ้นไป (หากไม่ถูกจับกุมเสียก่อน) ก็สามารถหาเงินในระดับที่สร้างความมั่งคั่งให้กับครอบครัวได้ ซึ่งแน่นอนการทำงานเก็บเงินที่เมืองไทยเพียงอย่างเดียวไม่สามารถให้ผลตอบแทนที่สูงเช่นนั้นได้ จึงเลือกที่จะไปทำงานแบบผิดกฎหมาย ซึ่งมีวิธีทั้งแบบติดต่อนายจ้างเกาหลีโดยตรง ที่อาจจะรู้จักผ่านสายสัมพันธ์ส่วนตัว, หาผ่านนายหน้าหางานที่สามารถพบเจอได้จากการค้นหาในอินเตอร์เน็ตหรือกลุ่มใน Facebook และวิธีการชักชวนกันของแรงงานที่ไปทำงานแบบผิดกฎหมายในเกาหลีใต้อยู่ก่อนแล้ว

เมื่อพวกเขาเล็ดลอดกระบวนการตรวจจับของเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองได้แล้ว พวกเขาก็จะกลายเป็นส่วนหนึ่งชอง “ชุมชนผีน้อย” หรือกลุ่มเครือข่ายแรงงานไทยผิดกฎหมายที่เกาหลีใต้ ซึ่งจะมีการช่วยเหลือทั้งในด้านการหางาน (ทั้งงานที่ถูกและผิดกฎหมาย) เจรจากับนายจ้าง หรือแม้กระทั่งคอยดูแลความเป็นอยู่ คอยส่งต่อข่าวสารเวลามีการจับกุมของเจ้าหน้าที่ หรือบอกต่อข้อมูลองค์กรสังคมสงเคราะห์ที่คนหลบหนีเข้าเมืองสามารถได้รับการดูแลเช่นการรักษาพยาบาลแบบไม่คิดค่าใช้จ่ายได้ ซึ่งเครือข่ายที่เหนียวแน่นเช่นนี้เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้จำนวนแรงงานเหล่านี้รู้สึกคลายความกังวลที่จะมาทำงานในเกาหลีใต้แม้จะมาอย่างผิดกฎหมาย และอาจถูกนายจ้างเอาเปรียบหรือละเมิดในเรื่องต่างๆ ก็ตาม

สังคมขาดแคลนแรงงานในเกาหลีใต้ – เศรษฐกิจที่ถดถอยในไทย ตัวเร่งเพิ่มจำนวนผีน้อย

ถึงแม้ว่าแรงงานเหล่านี้จะผิดกฎหมาย แต่ทั้งบรรดานายจ้าง หรือแม้กระทั่งทางการเกาหลีเองในบางครั้งก็อาจจะ “มองข้าม” สถานะของพวกเขาไปบ้าง เนื่องจากทางเกาหลีใต้ซึ่งเป็นประเทศอุตสาหกรรมกำลังพบกับวิกฤตขาดแคลนแรงงานในหลายภาคส่วน จึงต้องมองหาแรงงานจำนวนมากที่แม้จะผิดกฎหมายจากหลายๆ ประเทศ โดยนอกจากไทยที่มีแรงงานนับแสนคนแล้ว ยังมีจากประเทศจีน เวียดนาม รัสเซีย อินโดนีเซีย มาเลเซีย ประเทศแถบเอเชียกลาง และประเทศอื่นๆ โดนการขาดแรงงานเหล่านี้ย่อมส่งผลต่อการดำเนินกิจการหลายแห่งในระดับภาพใหญ่ของเกาหลีใต้ได้

ในขณะที่ประเทศไทยเองก็อยู่ในสภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวมาเป็นระยะเวลานานหลายปี ส่งผลให้อัตราการจ้างงานถดถอย หลายบริษัทมีการปรับพนักงาน ภาวะค่าแรงที่แทบไม่เพิ่มขึ้นในขณะที่ค่าครองชีพหรืออัตราเงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้นทุกปี หรือแรงงานภาคเกษตรก็ต้องพบเจอกับภัยธรรมชาติ ต้นทุนการผลิตสูง ชาวบ้านธรรมดาไม่สามารถเข้าถึงแหล่งทุน ส่งผลให้เกิดหนี้สินครัวเรือนล้นพ้นตัว แม้ว่ายังมีคนไทยจำนวนมากมองว่ายังสามารถแก้ปัญหาเหล่านี้โดยดิ้นรนทำงานในประเทศต่อไปได้ แต่ก็มีคนไทยจำนวนมากที่มองว่าตัวเองไร้ซึ่งทางเลือกจนต้องไปเป็นแรงงานผิดกฎหมาย หรือผีน้อยในที่สุด

การทยอยอพยพกลับมาของพวกเขาในช่วงการระบาดของไวรัส COVID-19 อาจทำให้แรงงานเหล่านี้ลดลงไปพักหนึ่ง แต่เมื่อมองจากปัญหาทั่งรากลึกของทั้งสองประเทศ ปัญหาแรงงานผีน้อยนั้นจึงดูเป็นเรื่องยากที่จะแก้ไขได้ และยังคงเป็นเรื่องที่บั่นทอนจิตใจผู้ที่ปฏิบัติตามกฎหมายอยู่ไปแบบไม่เห็นจุดสิ้นสุด

แหล่งข้อมูล

รีวิวขั้นตอนการไปทำงานที่เกาหลีใต้ อย่างถูกกฎหมายล้านเปอร์เซ็นต์

รัฐบาลเกาหลีเผยร้อยละ 36 ของแรงงานผิดกฎหมายเป็นคนไทย

การไปทำงานต่างประเทศ

ไปเกาหลี(ใต้)กันดีกว่า! คนอีสานแห่สมัคร เผยทำเกษตร 3 ปี มีเงิน3 ล.

สนทนากับ “ผีน้อย”: ประสบการณ์คนงานไทยผิดกฎหมายในเกาหลีใต้

‘ผีน้อยไทยในเกาหลี’ ทางรอดจากสังคมไร้ทางเลือก


อ่านเพิ่มเติม ชีวิตที่จำจากจรของแรงงานอพยพ

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.