ประธานาธิบดี ไช่ อิงเหวิน แห่งไต้หวัน (ซ้าย) และนายกรัฐมนตรี ลี เซียนลุง แห่งสิงคโปร์ (ขวา) ขอบคุณภาพจาก Facebook: tsaiingwen และ leehsienloong
สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อ COVID-19 หรือไวรัสโคโรนาในประเทศไทยเริ่มเข้าสู่ภาวะน่าเป็นห่วง เนื่องจากมีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง หลังจากที่โรคนี้เริ่มแพร่ระบาดอย่างหนักมาเป็นระยะเวลาราว 2-3 เดือน
และในช่วงเวลาก่อนหน้านี้ ทั้งจีน (โดยเฉพาะเมืองอู่ฮั่น ซึ่งเป็นศูนย์กลางการระบาดของโรค) สิงคโปร์ ไต้หวัน และเกาหลีใต้ ต่างพบเจอกับปัจจัยต่างๆ ที่ทำให้สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโรคชนิดนี้อยู่ในภาวะน่าวิตกกังวล อย่างไรก็ตาม ในช่วงเวลานี้ ประเทศเหล่านี้ต่างอยู่ในสถานการณ์ที่ดีขึ้น และสามารถควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสได้เป็นที่น่าพอใจแล้ว
นี่คือเรื่องราวโดยคร่าวๆ ของมาตรการแต่ละประเทศในการใช้รับมือกับไวรัส
ไต้หวัน
ด้วยจำนวนประชากรไต้หวัน 85,000 คนที่ทำงานอยู่ในฝั่งจีนแผ่นดินใหญ่ และด้วยตำแหน่งที่อยู่ใกล้ประเทศศูนย์กลางการระบาดของโรค ทำให้มีการคาดการณ์กันว่าดินแดนเกาะที่มีประชากรราว 11 ล้านคนแห่งนี้จะต้องประสบกับภาวะยากลำบากในการรับมือกับไวรัส COVID-19 แต่ในความเป็นจริงกลับมีรายงานผู้ติดเชื้อสะสมเพียง 108 คนและมีผู้เสียชีวิตเพียงแค่ 1 รายเท่านั้น (20 มีนาคม 2563)
โดยเคล็ดลับความสำเร็จของไต้หวันอยู่ที่การรับมือด้วยความตื่นตัวอย่างยิ่งยวด (super alert) ภายใต้การนำของประธานาธิบดี ไช่ อิงเหวิน ที่เพิ่งรับการเลือกตั้งเป็นสมัยที่ 2 เมื่อต้นปีที่ผ่านมา
ในการรับมือไวรัส ไต้หวันได้จัดตั้งศูนย์บัญชาการโรคระบาดส่วนกลาง (Central Epidemic Command Center) เพื่อเป็นศูนย์กลางในการประสานความร่วมมือจากหลายกระทรวงเพื่อกำหนดนโยบายและกลยุทธ์ในการบรรเทาสถานการณ์โรคระบาด
โดยมาตรการเด่นๆ ที่ไต้หวันใช้รับมือนั้นมีทั้งการควบคุมการเดินทางเข้า-ออกประเทศ ทั้งทางอากาศและทางน้ำ การระบุตัวผู้ป่วยและกักกันผู้ที่เข้าข่ายติดโรคโดยเร็วที่สุด การจัดการทรัพยากรที่จำเป็น สรุปข่าวสถานการณ์การระบาดของโรคเป็นประจำทุกวัน รวมไปถึงการระบุข่าวเท็จ และใช้นโยบายช่วยเหลือทางเศรษฐกิจทั้งผู้ประกอบการและภาคครัวเรือนไปพร้อมกัน
ปัจจัยที่สำคัญอย่างหนึ่งที่ทำให้ไต้หวันประสบความสำเร็จคือการรวบรวมข้อมูลเพื่อรับมือกับโรคระบาด ภายใต้หลัก “ความโปร่งใส” ให้ข้อมูลกับประชาชนอย่างต่อเนื่อง การรีบจัดผู้เชี่ยวชาญไปยังหน่วยงานต่างๆ และมีการประสานงานระหว่างรัฐบาลและหน่วยงานทางการแพทย์ทั่วทั้งเกาะเพื่อระดมคนในการรักษาพยาบาล
โดยในส่วนการแจ้งข่าวสารประชาชน ประธานาธิบดีไช่ได้มอบหมายและรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุข Chen Shih-chung เป็นผู้ควบคุมการทำงานด้วยตัวเอง และมีการจัดแถลงข่าวต่อสาธารณชนทุกวัน
นอกจากนี้ ประธานาธิบดีไช่ยังให้ความสำคัญกับการผลิตและจัดสรรทรัพยากรอย่างเพียงพอ ดังจะเห็นได้จากมาตรการงดส่งออกหน้ากากอนามัย เพื่อให้คนไต้หวันได้มีใช้อย่างเพียงพอก่อน และเร่งขยายกำลังการผลิตหน้าอนามัยจนสามารถผลิตได้มากถึงราว 10 ล้านชิ้นต่อวัน อันเป็นอุปกรณ์สำคัญในการควบคุมโรคของประชาชน ซึ่งไช่ ในฐานะประธานาธิบดีได้กล่าวถึงเรื่องนี้ในบัญชีทวิตเตอร์ของตัวเอง รวมไปถึงการพัฒนาระบบการแจ้งว่ามีหน้ากากอนามัยขายที่ไหนบ้าง เพื่อให้ประชาชนรู้ว่าตัวเองควรไปซื้อหน้ากากอนามัยได้ที่ไหน
เมื่อถึงปลายเดือนมกราคม ไต้หวันมีสต็อกหน้ากากอนามัยมากถึง 44 ล้านชิ้น หน้ากากอนามัยประเภท N95 1.9 ล้านชิ้น และมีห้องกักตัวเพื่อเฝ้าดูอาการมากถึง 1.1 พันห้อง เพียงพอต่อการรับมือโรคระบาด ส่งผลให้ตัวเลขผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตมีจำนวนน้อย ดังที่ได้กล่าวไป
สิงคโปร์
สิงคโปร์มีมาตรการควบคุมโรคทันทีนับตั้งแต่มีรายงานผู้ติดเชื้อคนแรกของประเทศ ซึ่งมาตรการเด่นที่สิงคโปร์ใช้ควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อคือ “การติดตาม” ผู้ที่มีเชื้ออย่างเข้มงวด โดยใช้เจ้าหน้าที่ทหารจากกองกำลังสิงคโปร์และตำรวจติดตามเส้นทางการเดินทางของผู้ที่ติดเชื้อแล้วเร่งทำความสะอาด จัดการพื้นที่ รวมไปถึงควบคุมญาติหรือคนรู้จักที่มีประวัติใกล้ชิดผู้ป่วยด้วย เพื่อยุติผู้ติดเชื้อเพิ่มเติม
นอกจากนี้ กระทรวงสาธารณสุขของสิงคโปร์ได้ออกคำแนะนำด้านการควบคุมโรคที่ต่างกันออกไปตามแต่ละหน่วยงาน และมีการออกมาตรการงดการชุมนุมในสถานที่ต่างๆ และมีการแนะนำให้สถานศึกษา ยุติการสอนชั่วคราว เป็นต้น
ในส่วนของการควบคุมการเดินทาง สิงคโปร์ได้ห้ามชาวจีนเข้าประเทศเมื่อกลางเดือนมกราคมที่ผ่านมา รวมไปถึงเที่ยวบินที่มาจากอู่ฮั่น และมีมาตรการตรวจคนเข้าประเทศอย่างเข้มงวดทั้งทางอากาศ ทางทะเล และทางบก รวมไปถึงงดออกวีซ่าเช้าประเทศให้กับผู้ถือหนังสือเดินทางประเทศจีน
นอกจากนี้ การปรากฏตัวและแถลงข่าวต่อสาธารณะหลายครั้งของนายกรัฐมนตรีสิงคโปร์อย่าง ลี เซียน ลุง ในฐานะผู้นำประเทศ ก็สร้างความชื่นชมให้กับชาวโลกเป็นอย่างมาก ด้วยการชี้แจงสถานการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างตรงไปตรงมา ชี้แจงมาตรการที่ใช้แก้ปัญหาและดำเนินการ เรียกร้องความร่วมมือและความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันจากประชาชน และมีเนื้อหาให้กำลังประชาชนท่ามกลางสถานการณ์ที่เกิดขึ้นเพื่อฝ่าฝันไปด้วยกัน
(ชมวิดีโอ นายกรัฐมนตรี ลี เซียนลุง กับการแถลงการณ์ชี้แจ้งสถานการณ์ต่อประชาชนได้ที่นี่)
เกาหลีใต้
ในช่วงแรกของการระบาดของไวรัส เกาหลีใต้มียอดผู้ติดเชื้อสูงเป็นอันดับสองรองจากจีน ซึ่งสาเหตุของยอดดังกล่าว นอกจากการที่เกาหลีใต้ต้องพบเจอเหตุการณ์ที่นำไปสู่ภาวะ Super spreader แล้ว แต่ก็มีสาเหตุ (ที่ดี) สาเหตุหนึ่งคือ เกาหลีใต้มีการตรวจหาผู้ป่วยเป็นจำนวนมากภายในเวลาอันรวดเร็ว
โดยเฉลี่ย เกาหลีใต้สามารถตรวจหาผู้ป่วยติดเชื้อ COVID-19 ได้โดยเฉลี่ยมากถึง 12,000-15,000 ครั้งต่อวันทั่วประเทศ และมีขีดความสามารถในการตรวจได้มากสูงสุดถึง 20,000 ครั้งต่อวัน หากตรวจแล้วพบคนที่มีอาการเข้าข่ายก็จะขึ้นสถิติเป็นผู้ป่วยเฝ้าระวังทันที การตรวจในวงกว้างด้วยจำนวนที่รวดเร็วเช่นนี้เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกาหลีใต้สามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้อย่างรวดเร็ว
นางคัง คยอง-ฮวา รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศของเกาหลีใต้ได้ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวบีบีซี ถึงวิธีการอื่นๆ ที่เกาหลีใต้ใช้รับมือกับไวรัสว่า “การตรวจหาเชื้อคือวิธีที่สำคัญที่สุด เพราะจะทำให้ควบคุมไวรัสได้ตั้งแต่เนิ่นๆ ก่อนที่จะแพร่กระจายไปในวงกว้าง”
นอกจากนี้ยังกล่าวถึงปัจจัยที่สำคัญคือการให้ข้อมูลต่อประชาชนอย่างต่อเนื่อง ทั้งการยืนยันตำแหน่งที่พบผู้ติดเชื้อผ่านแอพลิเคชันโทรศัพท์มือถือเพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้ผู้คนไปตรงนั้น สั่งงดการชุมนุมสาธารณะ รวมไปถึงสั่งปิดโรงเรียนและอาคารสำนักงาน ตามมาตรการการสร้างระยะห่างทางสังคม (Social Distancing)
นอกจากนี้ ประชาชนในเกาหลีใต้นั้นก็ได้ประโยชน์จากการสื่อสารข้อมูลแบบเปิดเผยจากรัฐบาลและหน่วยงานสาธารณสุขเช่นกัน
ประเทศจีน
ในฐานะที่เป็นประเทศที่เป็นศูนย์กลางของโรคนี้ (ในช่วงแรก) จีนได้มีการใช้มาตรการที่สำคัญอย่างทันท่วงที ดังต่อไปนี้
– รวบรวมแพทย์ที่มีความรู้จากทั่วประเทศมารักษาผู้ป่วยที่เมืองศูนย์กลางการระบาด (อู่ฮั่น) และพื้นที่ที่มีรายงานการติดเชื้อ
– รวบรวมและจัดส่งเวชภัณฑ์ที่จำเป็นไปยังพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ
– สร้างโรงพยาบาลชั่วคราวเพื่อรับมือกับไวรัส COVID-19 ภายในเวลา 10 วัน ขนาด 1,000 เตียง และภายหลังได้มีการเปิดโรงพยาบาลเพื่อการกักกันโรคแห่งที่ 2 ชื่อ Leishenshan ในเมืองอู่ฮั่น ขนาด 1,500 เตียง นอกจากนี้ได้มีการเปลี่ยนสถานที่ส่วนกลางในเมือง เช่นศูนย์การประชุม ยิมเนเซียม ศูนย์กีฬาให้เป็นสถานพยาบาลชั่วคราวรวมจำนวน 10,000 เตียงอย่างรวดเร็ว
– ยกเลิกงานกิจกรรม รวมถึงการรวมตัวของผู้คน
– งดเที่ยวบินขาออกจากอู่ฮั่นทั้งหมด
– มีการจัด “โรงพยาบาลเคลื่อนที่” และพยาบาลจากอู่ฮั่นไปตามที่ต่างๆ เพื่อรักษาผู้ที่มีอาการอยู่ในขั้นกลาง (Mild symptoms)
และยังมีการทดลองพัฒนาแนวทางการรักษาต่างๆ ในช่วงที่สถานการณ์การแพร่ระบาดอยู่ในขั้นวิกฤต ทั้งการพัฒนาการวิเคราะห์การติดเชื้อภายใน 2 ชั่วโมง ซึ่งจะช่วยให้ทั้งการรักษาและฟื้นฟูเป็นไปอย่างรวดเร็ว และตั้งระบบแบ่งปันข้อมูลการวิจัย วิธีการรักษา เพื่อให้กับบรรดานักวิจัยและแพทย์พัฒนาแนวทางการรับมือกับไวรัสได้ในที่สุด
สำหรับบทบาทของผู้นำจีนอย่างประธานาธิบดี สีจิ้นผิง เมื่อสถานการณ์การแพร่ระบาดเริ่มควบคุมได้ เขาก็รีบเดินทางไปยังเมืองอู่ฮั่นเพื่อให้กำลังใจทีมแพทย์ผู้ปฏิบัติงาน และเมื่อวันที่ 18 มีนาคม ที่ผ่านมา ในช่วงเวลาที่จำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มในเมืองอู่ฮั่นเป็นศูนย์ สีจิ้นผิงได้กล่าวสุนทรพจน์ในการประชุมพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศจีนว่า แนวโน้มในการป้องกันและควบคุมโรคระบาดมีความมั่นคงและขยายไปในวงกว้างมากขึ้น และการฟื้นฟูภาคการผลิตและวิถีชีวิตประจำวันเป็นไปอย่างรวดเร็วมากขึ้น
อย่างก็ตาม ประธานาธิบดีสีกล่าวเพิ่มเติมว่า ยังมีสถานการณ์และปัญหาใหม่ๆ โดยเฉพาะการแพร่ระบาดในต่างประเทศ และผลกระทบเชิงลบในทางเศรษฐกิจทั่วโลก ที่จะนำพาความท้าทายมาให้มากขึ้น