การขุดค้นที่เป็นกรณีพิพาทใต้นคร เยรูซาเลม อันศักดิ์สิทธิ์กำลังเผยให้เห็นขุมทรัพย์ทางศาสนาและวัฒนธรรมอายุหลายพันปี และโหมกระพือความตึงเครียดเก่าแก่ให้ลุกโชนอีกครั้ง
‘ก้มต่ำไว้’ เป็นคำพูดติดปากของโจ อูเซียล ผมพยายามเดินตามนักโบราณคดีชาวอิสราเอลคนนี้ให้ทัน ทางเดินคับแคบนี้อยู่ใต้ทิวเขาขรุขระซึ่งดันตัวขึ้นทางใต้ของเมืองเก่าในเยรูซาเลม แนวสันเขาแคบๆ อันเป็นที่ตั้งเมืองเก่าเยรูซาเลมยุคต้นและปัจจุบันคลาคล่ำไปด้วยบ้านเรือนที่มีผู้อาศัยเป็นชาวปาเลสไตน์ส่วนใหญ่ ซ่อนเร้นเขาวงกตใต้ดินของถ้ำธรรมชาติ ทางส่งน้ำของชาวคานาอัน อุโมงค์ของชาวยูดาย และเหมืองหินของชาวโรมันเอาไว้เบื้องล่าง
เรากำลังยืนอยู่ในโบสถ์สมัยศตวรรษที่ห้าที่สร้างขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์ตรงบริเวณที่ว่ากันว่าพระเยซูทรงรักษาคนตาบอด ใกล้สระสิโลอัม สักการสถานแห่งนี้ถูกทอดทิ้ง หลังคาพังลงมา และอาคารโบราณหลังนี้ก็กลายเป็นส่วนหนึ่งของโลกใต้พิภพอันกว้างใหญ่ไพศาลของเยรูซาเลม
โบสถ์แห่งนี้คือความยุ่งยากซับซ้อนล่าสุดในโครงการโบราณคดีราคาแพงที่สุดและมีความขัดแย้งมากที่สุดแห่งหนึ่งในโลก ภารกิจของเขาคือการขุดค้นถนนอายุ 2,000 ปี ยาว 600 เมตร ซึ่งครั้งหนึ่งเป็นเส้นทางสัญจรที่นำเหล่าผู้จาริกแสวงบุญ พ่อค้าวาณิช และผู้มาเยือนคนอื่นๆ มายังสถานที่มหัศจรรย์แห่งหนึ่งของปาเลสไตน์ยุคโบราณ นั่นคือวิหารยิว (Jewish Temple) เส้นทางสายยิ่งใหญ่นี้เคยถูกเศษซากทับถมระหว่างที่กองทัพโรมันเผาทำลายเมืองเมื่อปี ค.ศ. 70 จนหายไปจากสายตา
ตอนที่นักขุดค้นชาวอังกฤษเจาะโพรงเข้าไปยังโบสถ์แห่งนั้น การขุดอุโมงค์ยังเป็นธรรมเนียมปฏิบัติกันอยู่ ทว่าปัจจุบัน การทำเช่นนี้ถือว่าเป็นอันตรายและไม่เป็นวิทยาศาสตร์ เว้นเสียแต่จะอยู่ในสถานการณ์พิเศษเท่านั้น อย่างไรก็ดี การขุดค้นจากพื้นผิวลงสู่ใต้ดินไม่อาจทำได้จริงที่นี่ เพราะมีคนอาศัยอยู่บนพื้นดินสูงขึ้นไปไม่กี่เมตรเท่านั้น ด้วยเหตุนี้ กองทัพวิศวกรและคนงานก่อสร้างจึงขุดเจาะปล่องไปตามแนวสันเขา ขณะที่งานดำเนินไป อูเซียลกับทีมงานเคลื่อนย้ายเครื่องปั้นดินเผา เหรียญเงิน และศิลปวัตถุอื่นๆออกมา คนงานขุดอุโมงค์ต้องสู้กับดินร่วนซุยที่ทำให้เกิดดินถล่ม ในขณะที่ผู้อยู่อาศัยด้านบนพากันบ่นถึงความเสียหายของบ้านเรือน โครงการที่หวังไว้สูงซึ่งได้รับเงินสนับสนุนส่วนใหญ่จากองค์กรช่วยเหลือด้านที่อยู่อาศัยของชาวยิว ตั้งอยู่ ณ จุดอ่อนไหวเป็นพิเศษในเยรูซาเลมตะวันออก ซึ่งเป็นพื้นที่เมืองส่วนที่อิสราเอลผนวกเป็นของตนเองเมื่อปี 1967 และประเทศส่วนใหญ่ในโลกมองว่าเป็นอาณาเขตที่ถูกยึดครอง (การขุดสำรวจในพื้นที่เช่นนี้ถือว่าผิดกฎหมายระหว่างประเทศ) ชาวปาเลสไตน์เรียกที่นี่ว่า วาดีฮิลเวห์ (Wadi Hilweh) ส่วนชาวยิวเรียกว่า นครแห่งดาวิด (City of David) หรือสถานที่ที่กษัตริย์ดาวิดทรงสร้างเมืองหลวงแห่งแรกของอิสราเอลขึ้น
“ความสัตย์จริงจะพุ่งขึ้นจากแผ่นดินโลก” หนังสือสดุดี (Psalms) ว่าไว้ แต่ความสัตย์จริงนั้นจะเป็นของใคร นั่นคือคำถามที่เฝ้าหลอกหลอนเยรูซาเลม ในเมืองศูนย์กลางของศาสนาหลักสามศาสนาที่นับถือพระเจ้าหนึ่งเดียวแห่งนี้ การกระแทกพลั่วลงในดินอาจก่อให้เกิดผลพวงชนิดฉับพลันและกว้างขวาง มีสถานที่เพียงไม่กี่แห่งบนโลกนี้ที่เมื่อนักโบราณคดีลงมือขุดค้น แล้วจะก่อให้เกิดการจลาจล จุดชนวนสงครามในภูมิภาค หรือทำให้โลกทั้งใบตึงเครียดได้อย่างที่นี่
เมื่อปี 1996 หลังรัฐบาลอิสราเอลเปิดทางออกใหม่จากทางเดินใต้ดินตามแนวกำแพงตะวันตก (Western Wall) ในเขตมุสลิมของย่านเมืองเก่า ผู้คนราว 120 คนในภูมิภาคต้องจบชีวิตลงระหว่างการประท้วงรุนแรงหลายครั้ง ข้อพิพาทที่ตามมาว่าด้วยเรื่องใครควรควบคุมดูแลสิ่งที่อยู่ใต้ผืนดินศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งชาวยิวเรียกว่า ฮาร์ฮาบายิต (Temple Mount – เทมเพิลเมานต์ หรือเนินพระวิหาร) และชาวอาหรับเรียกว่า ฮารัมอัลชารีฟ (the Noble Sanctuary) ทำให้ข้อตกลงตามกระบวนการสันติภาพออสโลล้มเหลว แม้แต่การก่อสร้างพิพิธภัณฑ์แห่งขันติธรรมในเยรูซาเลม เมื่อไม่นานมานี้ยังตกเป็นเป้าของการประท้วงต่อต้านกรณีทำลายสุสานชาวมุสลิม
“โบราณคดีในเยรูซาเลมเป็นเรื่องอ่อนไหวมากเสียจนส่งผลกระทบไม่เพียงแต่ในแวดวงนักวิจัย แต่ยังรวมถึงนักการเมืองและสาธารณชนทั่วไปด้วยครับ” ยูวาล บารูค จากสำนักงานโบราณคดีแห่งอิสราเอล หรือไอเอเอ (Israel Antiquties Authority: IAA) บอก เขาเป็นหัวหน้าสำนักงานไอเอเอประจำเยรูซาเลม ภายใต้การกำกับดูแลของเขา เมืองนี้กลายเป็นแหล่งขุดค้นทางโบราณคดีที่พลุกพล่านที่สุดแห่งหนึ่งในโลก โดยมีการขุดค้นร่วมร้อยโครงการในแต่ละปี
มาห์มูด อับบาส ประธานาธิบดีปาเลสไตน์ แสดงความวิตกว่า การขุดค้นอยู่เนืองๆ เป็นส่วนหนึ่งของการรณรงค์เพื่อทำลายมรดกอายุ 1,400 ปีของชาวมุสลิมด้วยศิลปวัตถุของชาวยิว “โบราณคดีที่นี่ไม่ได้เป็นแค่เรื่องความรู้ทางวิทยาศาสตร์หรอกนะครับ แต่เป็นเรื่องรัฐศาสตร์ด้วย” ยูซูฟ นัตเชห์ ผู้อำนวยการโบราณคดีอิสลามเพื่อเยรูซาเลมอิสลามวะกัฟ (Jerusalem Islamic Waqf) ซึ่งเป็นกองทุนที่ดูแลศาสนสถานอันศักดิ์สิทธิ์ของชาวมุสลิมในเยรูซาเลม
บารูคปฏิเสธเสียงแข็งว่า การขุดค้นไม่มีการเลือกข้างใดๆ และย้ำว่า ไม่ว่าจะเป็นสมัยคานาอันหรือครูเสด แต่ละยุคล้วนมีความสำคัญทางวิทยาศาสตร์อย่างเท่าเทียมกัน ไม่ต้องสงสัยว่านักโบราณคดีชาวอิสราเอลเป็นหนึ่งในกลุ่มที่เก่งที่สุดในโลก และไม่ต้องสงสัยเช่นกันว่า โบราณคดีตกเป็นอาวุธทางการเมืองท่ามกลางความขัดแย้งระหว่างชาวอาหรับกับชาวอิสราเอล โดยฝ่ายหลังได้เปรียบเพราะเป็นผู้ควบคุมการออกใบอนุญาตการขุดค้นทั้งหมดภายในและรอบๆ เยรูซาเลม
สิ่งที่อยู่ลึกลงไปเบื้องล่างของเยรูซาเลมเผยให้เห็นว่า ประวัติศาสตร์ของเมืองรุ่มรวยและซับซ้อนเกินกว่าจะจับใส่ลงในท้องเรื่องเพียงเรื่องเดียวได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของชาวยิว คริสต์ หรือมุสลิม ไม่ว่าใครจะมีอำนาจเหนือสถานที่ที่ต้องต่อสู้ช่วงชิงกันอย่างหนักหนาสาหัสแห่งนี้ หลักฐานจากอดีตย่อมต้องผุดขึ้นสู่ผิวดินอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง และท้าทายเรื่องราวที่ถูกประดิษฐ์ขึ้นเพื่อรองรับวาระทางการเมืองและศาสนาอันคับแคบ
เรื่อง แอนดรูว์ ลอว์เลอร์
ภาพถ่าย ไซมอน นอร์โฟล์ก
***อ่านสารคดีฉบับเต็มได้ใน นิตยสาร เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย เดือนธันวาคม 2562
สารคดีแนะนำ