สถานการณ์อันยากลำบากในมัณฑะเลย์, เมียนมา ช่วงไวรัสโคโรนา และการช่วยเหลือกันของชาวเมือง

โค วิน อ่อง ซึ่งเป็นครู ทำหน้าที่เป็นผู้จัดการกลุ่มภาคประชาสังคมของคน มัณฑะเลย์ ที่ชื่อว่า ป้องกันมัณฑะเลย์จาก COVID-19 (Stop Mandalay from COVID-19) “บางคนกล่าวว่าพวกเรามีภูมิคุ้มกันเนื่องระบบสาธารณสุขของเรามีขีดความสามารถจำกัด” วิน อ่อง กล่าวติดตลกแล้วเสริมว่า “เราปรับตัวแล้ว แอนติบอดีของเราไม่กลัวไวรัสหรอกครับ”


ผู้คนใน มัณฑะเลย์ เมืองใหญ่อันดับสองของเมียนมากำลังรวมตัวกันเพื่อเตรียมเผชิญหน้ารับมือกับภัยพิบัติที่อาจเกิดขึ้น

มัณฑะเลย์, เมียนมา – “คุณรู้วิธีการแจกจ่ายอาหารไหม”

อ่อง โค โค (Aung Ko Ko) พยายามเรียนรู้วิธีการบรรเทาภัยพิบัติที่รวดเร็ว เขาเป็นผู้จัดการหนุ่มของโรงแรมในเมืองมัณฑะเลย์ เมืองที่ใหญ่เป็นอันดับสองของเมียนมา เขาเอามือไถโทรศัพท์สมาร์ตโฟน ค้นหาคำแนะนำด้านโภชนาการสำหรับความช่วยเหลือทางอาหารระหว่างภัยพิบัติทางอาหาร (ทุกขภิกขภัย) ซึ่งอาจเป็นจุดจบที่เป็นไปได้ของการระบาดของไวรัส COVID-19 ท่ามกลางเศรษฐกิจโลกที่อ่อนแรง

เขาส่งข้อความหาบรรดาเพื่อนฝูงเพื่อจัดการนับจำนวนกลุ่มประชากรผู้เปราะบางที่สุดในเมือง ซึ่งโดยหลักแล้วจะเป็นผู้ไร้บ้าน แต่ก็มีแรงงานรายวันผู้ยากจนที่ไม่สามารถกักตัวร่วมกับความหิวโหยได้เช่นกัน

“เราไม่รู้เลยว่ากำลังทำอะไร” โค โค ยอมรับระหว่างดึงถุงมือพลาสติกสำหรับทำอาหารที่ต้องนำมาใช้เป็นเครื่องมือสำหรับป้องกันไวรัส และออกไปส่งถุงขนมปังกรอบโดยรถสามล้อเครื่อง “แต่เราก็พยายามช่วยเหลือกันอยู่”

อ่อง โค โค ผู้จัดการของโรงแรมที่ไม่มีแขกเข้าพักเนื่องจากไวรัส แจกจ่ายอาหารให้กับคนไร้บ้านในเมือง

หนึ่งในประเทศที่ยากจนที่สุดในโลกด้วยรายได้ต่อประชากรเพียง 1,200 ดอลลาร์สหรัฐ ( ราว 40,000 บาท) ต่อปีอย่างเมียนมากำลังถูกบดขยี้จากการโจมตีของไวรัส COVID-19 สายพันธุ์ใหม่ที่ส่งผลกระทบรุนแรงต่อทั้งเศรษฐกิจและการสาธารณสุขแม้กระทั่งในประเทศที่่ร่ำรวย

เมื่อวันที่ 4 เมษายน รัฐบาลเมียนออกมาประกาศว่าในประเทศมีผู้ติดเชื้อ 21 คน แต่บรรดาแพทย์ของที่นี่เตือนว่า นั่นอาจเป็นจำนวนที่ต่ำกว่าที่เป็นจริง เนื่องจากมีการตรวจเชื้อที่ต่ำ และเมื่อเทียบกับจำนวนประชากร 54 ล้านคน จำนวนผู้ติดเชื้อที่แท้จริงอาจมากกว่านั้น ในกรณีที่จำนวนผู้ติดเชื้อขึ้นสู่จุดสูงสุด ก็อาจส่งผลให้ระบบสาธารณสุขของประเทศที่เปราะบางอยู่ในภาวะการณ์อันยากลำบาก

และในมัณฑะเลย์ เมืองที่มีประชากร 1.2 ล้านคน มีเครื่องช่วยหายใจเพียง 6 ตัวในแผนก (ward) กักตัวของโรงพยาบาลที่มีเพียงแห่งเดียว

“จะพูดถึงเครื่องช่วยหายใจทำไม” คุน คยอว์ อู (Khun Kyaw Oo) แพทย์ที่เป็นคณะกรรมการวางแผนในสถานการณ์ฉุกเฉินของเมืองกล่าวสั้นๆ “เราไม่มีแม้กระทั่งหน้ากากอนามัยที่เพียงพอด้วยซ้ำ”

แม้แต่ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขอนามัยขั้นพื้นฐานอย่างเจลล้างมือ (hand sanitizer) ก็หาไม่ได้ในมัณฑะเลย์ คยอว์ อู กล่าว นักศึกษาด้านเคมีของมหาวิทยาลัยท้องถิ่นต่างถูกเกณฑ์มาเพื่อผสมสารล้างมือเพื่อป้องกันไวรัสในห้องแล็บของพวกเขา

เจ้าหน้าที่ด้านสุขอนามัยของเมืองมัณฑะเลย์ เมืองศูนย์กลางทางตอนเหนือของเมียนมาใส่ชุดป้องกันเพื่อพ่นสารฆ่าเชื้อโรคตามถนนในเมือง

นับตั้งแต่มีการระบาดของไวรัส COVID-19 ในช่วงเดือนธันวาคมที่ผ่านมาและได้มีการแพร่ระบาดข้ามทวีปจากการเดินทางโดยสายการบิน ส่งผลกระทบอันเจ็บแสบต่อบรรดาประเทศที่ร่ำรวยและพัฒนาแล้วทั้งในยุโรปและสหรัฐอเมริกา

แต่ในขณะนี้สถานการณ์เริ่มเปลี่ยนไป ผู้เชี่ยวชาญด้านการบรรเทาภัยพิบัติเตือนว่าไวรัสที่มีอัตราการติดต่อกันสูงนี้เริ่มแพร่ระบาดไปยังส่วนของสังคมที่ยากจนหลายแห่งของโลก สถานที่ที่การรักษาพยาบาลไม่เพียบพร้อม การรักษาระห่างทางสังคม (Social Distancing) ไม่อาจเกิดขึ้นได้ในชุมชนแออัด และการไร้ซึ่งความปลอดภัยทางเศรษฐกิจที่อาจส่งผลให้เกิดโศกนาฏกรรมในรูปแบบหายนะรุนแรงอย่างฉับพลัน

“ขณะนี้ บรรดาประเทศที่ร่ำรวยต่างเป็นศูนย์กลางการแพร่ระบาดของไวรัสมรณะ” โจเซ่ มาเรีย เวรา ผู้อำนวยการบริหารชั่วคราวขององค์การอ็อกแฟม (Oxfam International) กล่าว และได้เรียกร้องใหัมีโครงการช่วยเหลือขนาดใหญ่เพื่อหยุดผลกระทบที่เกิดจากไวรัสในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา “เราต้องพูดกันในระดับโลก เราต้องการความช่วยเหลือซึ่งกันและกันในขณะนี้ มันชัดเจนแล้วว่าจะไม่มีใครปลอดภัยจนกว่าพวกเรา (ประชากรโลก) ทั้งหมดจะปลอดภัย”

เมียนมา หรือที่เคยรู้จักกันในชื่อว่าพม่า กำลังรอการมาถึงของพายุลูกใหญ่

ในช่วงแรก รัฐบาลเมียนมาถูกวิพากษ์วิจารณ์เนื่องจากการรับมือกับโรคระบาดที่เชื่องช้า (เดือนที่แล้ว โฆษกของรัฐบาลออกมายืนยันว่า “วิถีชีวิตและอาหาร” ของเมียนมาเป็นเกราะป้องกันที่ดีต่อไวรัส COVID-19) อย่างไรก็ตาม จากนั้นเจ้าหน้าที่รัฐได้ดำเนินมาตรการปิดร้านอาหาร พรมแดนระหว่างประเทศ กระตุ้นให้ประชาชนอยู่ภายในบ้าน และให้มีการกักตัวแรงงานอพยพที่เร่งรีบกลับมายังบ้านเกิด

ในประเทศที่ร่ำรวย มาตรการเช่นนั้นดูเป็นเรื่องที่ทำได้ชัดเจน แต่ในประเทศที่คนนับล้านมีรายได้วัดกันที่สัปดาห์ต่อสัปดาห์ หรือที่ย่ำแย่ขั้นสุด ก็คือมื้อต่อมื้อ การทำแบบนั้นคือตัวเลือกที่เจ็บปวด

แม่น้ำอิรวดีที่มีชื่อเสียงของเมียนมาไหลผ่านเมืองมัณฑะเลย์ คนงานรายวันที่ทำหน้าที่ขนของลงจากเรือแทบไม่ได้ทำอะไรเนื่องจากการระบาดของไวรัส พวกเขาเป็นหนึ่งในกลุ่มคนที่เปราะบางที่สุดของเมือง ผลพวงจากโรคระบาดที่ร้ายแรงในประเทศยากจนอาจเป็นความหิวโหย

“ธุรกิจของผมล่มไปแล้ว” ยิน ยัน มาร์ (Yin Yan Mar) เจ้าของแผงก๋วยเตี๋ยวในมัณฑะเลย์ที่ถูกสังปิดเนื่องจากมาตรการกักกันโรคกล่าวและเสริมว่า “จนถึงตอนนี้ ผมตุนอาหารไว้ 2 อาทิตย์ แต่หลังจากนั้นก็ยังไม่มีแผนสำรอง มีคนอีก 5 คน ที่ต้องพึ่งพาผม”

ครั้งหนึ่ง เคยมีรถบรรทุก มอเตอร์ไซค์ และรถสามล้อที่เคยส่งเสียงอื้ออึง แต่ในวันนี้บนท้องถนนของมัณฑะเลย์กลับมีบรรยากาศที่เงียบเชียบ

ในช่วงเวลาที่หายนะจาก COVID-19 เริ่มใกล้เข้ามา ชาวเมืองหลายคนต่างร่วมมือกันเพื่อหวังสร้างแนวป้องกันไม่ให้เมืองต้องล่มสลาย

ผู้ผลิตแผ่นทองคำรายหนึ่งให้ที่พักคนงาน 15 คนโดยไม่คิดเงิน “พวกเขาจะได้อาหารฟรีเช่นกัน ตราบเท่าที่เรายังพอมีเงินซื้อให้พวกเขา” สิธู เนียง ผู้จัดการการขาย กล่าว

มีเจ้าของที่ดินรายหนึ่งผู้หวาดกลัวการติดเชื้อ ได้ขับไล่หมอและพยาบาลจากอะพาร์ตเมนต์ แต่ก็มีเกสต์เฮาท์หลายแห่งที่ไม่มีนักท่องเที่ยวเข้าพักเป็นเวลานานได้เสนอห้องพักให้พวกเขาโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย

ส่วนผู้จัดการโรงแรมอย่างอ่อง โค โค ตระเวนไปทั่วเมืองมัณฑะเลย์อย่างยากลำบากเพื่อมองหาผู้คนที่หิวโหย เขารู้ว่าบรรดาคนยากจนไม่สามารถหุงหาอาหารได้ เขาจึงมอบผลไม้และอาหารกระป๋องให้กับพวกเขาแทน

“ไม่ต้องทำอะไร ไม่เข้าหาฝูงชน แล้วคุณจะปลอดภัย” โค โค กล่าวถึงคำพังเพยของเมียนมา แล้วเสริมว่า “มันไม่จริงอีกต่อไปแล้วล่ะครับ”

เรื่อง/ภาพ PAUL SALOPEK


อ่านเพิ่มเติม การปิดเขาเอเวอเรสต์จากโควิด-19 ก่อให้เกิดความกังวลครั้งใหญ่ของชาวบ้าน

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.